เปิดเบื้องหลังงานอนุรักษ์ บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น แห่งวัดราชประดิษฐ์
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชประดิษฐ์ ไม่ได้โดดเด่นเพียงสถาปัตยกรรมเจดีย์ประดับหินอ่อนทั้งองค์ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมที่สวยงามเท่านั้น ในส่วนของวิหารหลวงยังมีบานประตูไม้ และบานหน้าต่างไม้ ที่วิจิตรด้วย งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซ่อนอยู่ อายุเก่าแก่ย้อนหลักฐานไปได้ถึง 156 ปี (พ.ศ. 2408) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และนั่นจึงทำให้ปัจจุบันงานบานไม้ประดับมุก รวมทั้งแผ่นไม้ประดับรักลายนูนรวมทั้งหมด 114 ชิ้นได้รับความเสียหายและกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการอนุรักษ์
ความท้าทายของงานอนุรักษ์ บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าบานไม้ประดับมุกชุดนี้มาจากทางญี่ปุ่น จีน หรือเวียดนาม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของช่างมุกระดับอาจารย์ของทางญี่ปุ่น ร่วมด้วยนักวิจัยด้านอนุรักษ์จากญี่ปุ่นที่ศึกษาลงลึกไปถึงองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้ กาว ยางรัก และชนิดของหอยที่นำมาใช้ในงานประดับมุก
เมื่อชัดเจนแล้วว่างานชุดนี้เป็นฝีมือของช่างมุกแห่งเมืองท่านางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ความยากต่อมาคือขั้นตอนการอนุรักษ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของทีมอนุรักษ์ไทยภายใต้กรมศิลปากรที่ได้ทำงานอนุรักษ์ชิ้นงานประดับมุกแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีความแตกต่างจากงานประดับมุกไทย เฉพาะขั้นตอนอนุรักษ์ระยะที่ 3 นั้นต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานนานถึง 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)
“ความสำคัญของงานประตูประดับมุกชุดนี้ นอกจากจะยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นแล้ว ทางญี่ปุ่นเองยังได้ใช้งานประดับมุกชุดนี้ซึ่งมีหลักฐานบันทึกถึงอายุที่ชัดเจน เป็นตัวกำหนดอายุงานประดับมุกที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ” พระครูอุทิจยานุสาสน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ กล่าวถึงความสำคัญของงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นชุดนี้