หมอศิลปะ “ขวัญจิต เลิศศิริ” มากกว่านักอนุรักษ์ คือผู้ซ่อมแซมประวัติศาสตร์
“เราต้องเข้าใจคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชิ้นงานที่เรากำลังอนุรักษ์ด้วย เช่น คราบเลือด เราเคยซ่อมธงทหารที่ถูกยิงและมีคราบเลือด เราก็ต้องเข้าใจว่านั่นคือประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เราต้องเก็บไว้ เวลาทำความสะอาดเราก็ต้องระวัง ต้องเก็บคราบเลือดนี้ไว้เพราะมันสำคัญทางประวัติศาสตร์”

Meet the Master พาไปรู้จักมาสเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังงานอนุรักษ์มาร่วม 30 ปี ขวัญจิต เลิศศิริ หมอศิลปะผู้ทำหน้าที่อนุรักษ์ซ่อมแซมตั้งแต่งานจิตรกรรม ภาพวาด ไปจนถึงโบราณวัตถุ ซึ่งในประเทศไทยนั้นหากไม่ใช่นักอนุรักษ์ที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรมศิลปากร ก็แทบจะหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้น้อยนัก เพราะหมอศิลปะต้องเข้าใจทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ ไปจนถึงเทคนิค สี และวัสดุของช่างไทยโบราณ

“งานหลายชิ้นมีคุณค่ามาก ทว่าถูกมองว่าเป็นแค่ของผุๆ พังๆ ไร้ค่า บางชิ้นเป็นกระดาษแผ่นเดียว บางชิ้นถูกทิ้งถังขยะ แต่หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการเอาองค์ความรู้ที่เรามีไปชุบชีวิตงานชิ้นนั้น ทำให้งานชิ้นนั้นกลับมามีคุณค่า ให้ผู้คนได้รับรู้อีกครั้ง หลายชิ้นเป็นผลงานชั้นครูที่ครั้งหนึ่งเคยถูกละเลย มองไม่เห็นคุณค่า ดังนั้นอาชีพ นักอนุรักษ์ จึงมีความสำคัญที่ก้าวข้ามคำว่าอาชีพทำเงินเพราะเราไม่ได้มองว่างานนี้เป็นงานอนุรักษ์ด้วยฝีมือของเรา แต่เรากำลังรักษาฝีมือของครูบาอาจารย์และส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป …หากเราไม่ตระหนักรู้ถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำ จากอนุรักษ์ก็กลายเป็นการทำลายชิ้นงานได้เช่นกัน”
