Green Route, Good Energy เที่ยวคาร์บอนน้อย แต่รักษ์ (โลก) มาก
หากพูดถึงเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม คำนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แปลกแยกออกจากชีวิตประจำวันและไลฟ์สไตล์ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองก็เป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมเมือง สิ่งแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติป่าเขา หรือสิ่งแวดล้อมในชนบทก็ตาม Sarakadee Lite พาไปรู้จักและเกี่ยวแรงบันดาลใจจาก 3 คนที่กระโดดเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีปลายทางสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และการสร้างชุมชนเกษตรปลอดสารเคมี ซึ่งพวกเขาเห็นตรงกันว่าความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดขึ้นได้ ขอเพียงอย่างเดียวให้ทุกคนได้เริ่มต้นลงมือทำ
ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา : นักสำรวจนิเวศในเมือง Ari Ecowalk
หากชวนเพื่อนออกไปสำรวจธรรมชาติในสุดสัปดาห์ แน่นอนว่าหลายคนจะคิดถึงผืนป่าใกล้กรุงอย่างเขาใหญ่ แก่งกระจาน แต่สำหรับ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา หนึ่งในสมาชิกชุมชนชาวอารีย์กลับมองว่าไม่เห็นจะต้องไปไหนไกล อารีย์หน้าบ้านก็มีธรรมชาติและนิเวศกลางเมืองที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำในอดีตของกรุงเทพฯ และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บาสลุกขึ้นมาเดินสำรวจนิเวศเมืองในย่านอารีย์จนพบว่าระบบนิเวศกลางเมืองที่ถูกมองว่าเป็นป่าคอนกรีตมันสามารถฮีลใจได้ไม่น้อย และขยายมาสู่การชักชวนเพื่อนฝูง และขยายมาสู่กิจกรรมวอล์กที่หลายๆ คนในเมืองรอคอยและถูกจองเต็มอย่างรวดเร็วทุกครั้งที่ประกาศรับสมัคร
“ผมทำ Ari Ecowalk ให้กับชาวชุมชนเมืองเพื่ออยากจะตอบลูกหลานว่า พื้นที่ที่อยู่อาศัยเคยเป็นและมีอะไรมาก่อนไหมนอกจากคนและบรรดาตึก แต่พอเดินไปด้วยความละเอียดลออได้ไม่กี่ครั้งก็พบความไม่ยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในเมืองมากมาย เลยกลับมาทบทวนว่าทำไปทำไม”
บาสอธิบายและได้คำตอบว่า ทำเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาเหล่านี้ให้กับคนที่มาเข้าร่วมด้วยตัวของเขาเอง และเพื่อสร้างกลุ่มก้อนที่มากพอในการเรียกร้องพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มด้วยวิธีต่างๆ ทั้งอย่างแนวคิดเก่าที่ต้องมีสวนสาธารณะ หรือด้วยแนวคิดใหม่ที่ให้ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวหน้าบ้านให้ทุกคนในชุมชนร่วมชมร่วมใช้กันได้…
“ผมอยากให้คนได้เดินออกมาแล้วพบว่าความสบายใจ ความรู้สึกเชิงบวกมันอยู่ที่หน้าบ้านเรานี่เอง ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติที่มากขึ้นมันจะทำให้เราแคร์มากขึ้น ง่ายๆ เลย เพื่อนบ้านที่เรารู้จัก เราจะแคร์มากกว่าเพื่อนบ้านที่ไม่รู้จัก ธรรมชาติก็เช่นกัน พอเราแคร์มากขึ้น มันจะเกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมาอย่างอัตโนมัติ เช่น เราจะแคร์มากขึ้น เราจะส่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ธรัฐ หุ่นจำลอง : นักจัดการและสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม
หากจะให้ระบุว่าอาชีพของ ท็อท-ธรัฐ หุ่นจำลอง นั้นคืออะไร ท็อทก็ยังไม่สามารถให้นิยามตัวเองได้อย่างแน่ชัด แต่ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Food Studies จาก New York University เขาได้ทำงานในตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในแวดวงร้านอาหาร คือผู้จัดการสิ่งแวดล้อมให้กับร้านอาหาร โบ.ลาน Bo.lan ของเชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ และเชฟดิลลัน โจนส์ โดยทำหน้าที่ออกแบบระบบการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและการกำจัดขยะอาหารภายในร้านให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด
นอกจากนี้ท็อทและเพื่อนๆ ยังร่วมกันเปิด Wasteland ที่เป็นมากกว่าค็อกเทลบาร์ เพราะพวกเขานิยามว่าเป็น Community Sipping Space โดยการนำวัตถุดิบที่เหลือจากในครัวของร้านโบ.ลานมาผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะหมัก ดอง และอบแห้ง มาสร้างสรรค์เป็นเมนูเครื่องดื่ม และยังเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ด้านการจัดการขยะอาหารและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้นท็อทได้ร่วมดำเนินโครงการ Establish Thailand to Be Sustainable Tourism Destination กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาให้กับองค์กรระหว่างประเทศชื่อ Mycelium ในการออกแบบกลยุทธ์ การอบรม และจัดทำหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในวงการอาหารและเครื่องดื่ม และยังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้าน Social Innovation & Sustainability ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกำลังทำวิจัยเรื่อง Food Literacy
“ปัจจุบันคนรู้เรื่องอาหารที่เชื่อมโยงกับบริบททางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะหลายคนโตในเมืองใหญ่และพบเจอแต่ของที่ทำสำเร็จแล้วในร้านสะดวกซื้อหรือในซูเปอร์มาร์เกต ผมมีโอกาสได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับวงการ F&B จึงได้เห็นทั้งห่วงโซ่อาหารซึ่งมีหลายมุมทั้งด้าน positive และ negative ปัญหาที่เจอคือเรื่องความโปร่งใส เช่น วัตถุดิบที่ใช้ระบุที่มาหรือการผลิตได้ไม่ชัดเจน หรือบางแห่งใช้วัตถุดิบที่ดีแต่มีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาให้เข้าใจและเท่าทัน” ท็อทกล่าว
นิพนธ์ พิลา : ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน PILA Farm Studio
จากอดีตพนักงานบริษัท แฟชั่นดีไซเนอร์ที่เข้ามาตามหาฝันในกรุงเทพฯ แต่วันหนึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องตัดสินใจกลับบ้านที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สิ่งที่ ตั้ม-นิพนธ์ พิลา เลือกทำไม่ใช่แค่กลับไปเป็นเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวและชาวหล่มสัก ทว่าเขากลับมองเห็นออร่าในสินค้าเกษตรรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว กระเทียม หัวหอม มะขาม ที่สามารถสร้างมูลค่าและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งวิสาหกิจชุมชนที่ใช้ชื่อแบรนด์ PILA Farm Studio แทนที่จะเป็นการตั้งชื่อตามชุมชนหรือสินค้าเหมือนที่เคยเป็นมา พร้อมปรับการผลิตจากเคมีเป็นออร์แกนิกและตั้งปลายทางไว้ที่เกษตรอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลเพียงสั้นๆ ว่า “อยากให้อาชีพเกษตรกรอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป”
“ที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบูรณ์ค่อนข้างได้เปรียบทางทรัพยากร คือ ดินดี น้ำดี อากาศดี ทำให้พืชพันธุ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เกษตรกรก็ยิ่งใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในการเข้ามาเร่งอีกทาง แต่อีกทางหนึ่งก็คือสิ่งนี้ไม่สามารถยั่งยืนได้ แต่แทนที่จะไปบอกว่ามาทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีกัน เมื่อกลับบ้านเราก็เริ่มทำให้เพื่อนบ้านรอบๆ ในชุมชนเราเห็นเลยว่า ถ้าเราไม่ใช้สารเคมีก็ยังมีตลาดที่รองรับและสร้างมูลค่าได้สูงกว่าด้วยซ้ำ และเมื่อเราทำให้เห็นว่าโอกาสของเกษตรอินทรีย์มันมีจริงๆ คนในชุมชนก็เริ่มปรับมาปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีโดยที่มีเราเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับชุมชน”
จากการปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมี ก็เริ่มขยายมาเป็นการวางแผนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในฟาร์มและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแยกขยะ ทำปุ๋ยใช้เอง การนำไม้มะขามที่ต้องถูกโค่นไปทำถ่านมาเพิ่มมูลค่าเป็นเขียง ใส่ดีไซน์ ตีแบรนด์ที่ต้องเดินทางมาซื้อที่เพชรบูรณ์เท่านั้น นำพลาสติกที่เหลือใช้มาทำรองเท้า ขยายไปสู่การสร้างแบรนด์ข้าวพื้นเมืองออร์แกนิก และล่าสุดกับโปรแกรมฟาร์มสเตย์ที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนชุมชน และทำให้คนในชุมชนได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้ว และมีคนภายนอกพร้อมที่จะสนับสนุนหัวใจสีเขียวของพวกเขา