เบื้องหลังงานอนุรักษ์ ฟิล์มกระจก
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้มีการเก็บและอนุรักษ์ ฟิล์มกระจก จำนวนมากที่สุดในเมืองไทยและในเอเชียอาคเนย์ นั่นคือราว 39,000 แผ่น เป็น ฟิล์มกระจก ที่ส่งผ่านเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 จนมาถึงห้วงเวลาปัจจุบัน และหนึ่งในสมบัติล้ำค่านั้นคือ “ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ” ซึ่งได้รับยกย่องขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ให้โลกได้รู้ว่า ณ ดินแดนทางตะวันออกแสนไกลแห่งนี้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ และตัวตนเช่นไร
Sarakadee Lite ชวนเปิดกล่องไม้สักที่ใช้บรรจุแผ่นฟิล์มมาตั้งแต่แรกเริ่ม เหมือนเป็นการนั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตสู่ครั้งที่กล้องถ่ายภาพเริ่มเข้ามาบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองไทย พร้อมชมขั้นตอนการอนุรักษ์ จากแผ่นฟิล์ม สู่ห้องเก็บรักษาที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นอย่างเคร่งครัด และการเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่อให้เรื่องราวในอดีตได้ออกไปสู่การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ดังที่ ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงคุณค่าของ ฟิล์มกระจก ไว้ว่า
“เมื่อภาพหนึ่งภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าพันคำ ภาพฟิล์มกระจกหนึ่งภาพจึงมีคุณค่าให้ได้ศึกษามากมาย ทั้งเรื่องการพัฒนาการของบ้านเมือง การแต่งกาย วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน สุดแล้วแต่ความสนใจของแต่ละคนว่าจะมองเห็นอะไรบนแผ่นฟิล์มกระจกนั้นๆ”