วักแว่นเวียนเทียน ประเพณีเก่าแก่ประจำวัดสุทัศน์ ที่ตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 3
Pic Talks

วักแว่นเวียนเทียน ประเพณีเก่าแก่ประจำวัดสุทัศน์ ที่ตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 3

Focus
  • วักแว่นเทียน เป็นพิธีกรรมสำคัญในงานสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดสุทัศน์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบัน
  • แว่นเทียน หมายถึง แว่นสำหรับใช้ติดเทียนเพื่อให้ผู้ประกอบพิธีสามารถจับเทียนได้อย่างถนัด แว่นเทียนนี้อาจทำจากเงิน ทอง นาก ให้มีลักษณะแบน ปลายแหลมเหมือนใบโพธิ์และมีด้ามถือ

วัดสุทัศน์ หรือ วัดสุทัศนเทพวราราม นอกจากจะยืนหนึ่งเรื่องขนาดความใหญ่ของพระวิหารหลวง บวกด้วยจิตรกรรมและงานเขียนสีบนกระจกภาพสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทยแล้ว วัดสุทัศน์ ยังมีธรรมเนียมประเพณีที่ตกทอดมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และยังคงถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือ วักแว่นเวียนเทียน หนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของงานสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัด ได้แก่ พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในไทย พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ และ พระพุทธเสรฏฐมุนี พระพุทธรูปที่หล่อขึ้นจากกลักฝิ่น

วักแว่นเวียนเทียน
พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในไทย

พิธีสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดสุทัศน์เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีพิธีกรรมสำคัญที่ผสมกลมกลืนความเชื่อระหว่างพุทธและพราหมณ์เข้าด้วยกันเรียกว่า วักแว่นเวียนเทียน  เป็นการนำ แว่นเทียน ซึ่งหมายถึง แว่นสำหรับใช้ติดเทียนเพื่อให้ผู้ประกอบพิธีสามารถจับเทียนได้อย่างถนัด แว่นเทียนนี้อาจทำจากเงิน ทอง นาก ให้มีลักษณะแบน ปลายแหลมเหมือนใบโพธิ์ และมีด้ามสำหรับจับ

วักแว่นเวียนเทียน
วักแว่นเวียนเทียน จะมีการส่งแว่นเทียนต่อๆ กัน
วักแว่นเวียนเทียน
ลักษณะของแว่นเทียน

หลายคนอาจจะเคยเห็นแว่นเทียนแบบนี้มาบ้างแล้วในงานพระราชพิธี รวมทั้งในพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งก็มักจะเป็นพิธีที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงทำให้คำว่า แว่นเทียน หรือ วักแว่นเทียน เป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ทว่าในพิธีสมโภชพระพุทธปฏิมาประธานที่วัดสุทัศน์ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมในขั้นตอนวักแว่นเทียนได้ โดยขั้นตอนการ วักแว่นเทียน นั้นผู้ร่วมพิธีจะ “วัก” หรือ “กวัก” แว่นเทียนเข้าหาตัว 3 ครั้งแล้วปัดควันเทียนออกไปหาพระประธาน 1 ครั้ง ซึ่งต่างจากการเวียนเทียน

วักแว่นเวียนเทียน
วัดสุทัศน์
ใบพลูสำหรับดับเทียน และเครื่องประกอบพิธี

พิธีสมโภชพระพุทธรูปองค์สำคัญประจำวัดสุทัศน์และพิธีวักแว่นเทียนนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อคราวฉลองพระอารามในปี พ.ศ. 2390 ตรงกับรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในปีต่อๆ มาก็กำหนดวันสมโภชพระพุทธรูปวัดสุทัศน์ให้ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน6 หรือ วันวิสาขบูชา

วัดสุทัศน์
ขนมหวาน ธัญพืช ผลไม้และเนย เป็นเครื่องบูชาที่ใช้ประกอบพิธีซึ่งไม่มีอาหารคาว
วัดสุทัศน์
วัดสุทัศน์

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงกำหนดให้ทุกวัดมีการเวียนเทียนในวันสิสาขบูชา ทางวัดสุทัศน์เลยเลื่อนวันพิธีสมโภชพระประธานไปเป็นวันแรม 9 ค่ำ เดือน 6 (หลังวันอัฐมีบูชา 1 วัน) ซึ่งใน พ.ศ. 2565 นี้พิธีสมโภชพระพุทธปฏิมาประธานจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม ทำพิธีทั้งหมด 3 แห่ง เริ่มตั้งแต่ภายในพระวิหารหลวง พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ โดยในการวักแว่นเทียนนั้น พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะทำการเจิมแว่นเทียนและส่งต่อให้กับพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมพิธีเวียนครบ 3 รอบ หลังจากนั้นพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะดับเทียนด้วยใบพลูที่เจิมเอาไว้ ส่วนเครื่องพุทธบูชาที่จัดขึ้นประกอบพิธีก็ยังคงยึดแบบโบราณคือผลไม้ ขนมหวาน ธัญพืช ที่สำคัญคือไม่มีอาหารคาว ซึ่ง Sarakadee Lite ไม่พลาดไปเก็บภาพบรรยากาศพิธี วักแว่นเวียนเทียน มาฝากกัน และสำหรับใครที่พลาดสำหรับปีนี้ เตรียมปากกามาวงวันแรม 9 ค่ำ เดือน 6 ของปีต่อๆ ไปไว้ได้เลย

วักแว่นเทียน
วัดสุทัศน์
พระพุทธเสรฏฐมุนี พระพุทธรูปที่หล่อขึ้นจากกลักฝิ่น
วักแว่นเทียน
การดับเทียนด้วยใบพลู
วักแว่นเทียน

Fact File

ติดตามข่าวสารของ วัดสุทัศนเทพวราราม ได้ที่ www.facebook.com/WatSuthatBangkok


Author

วาสนา แซ่จั่น
ฉายาเด็กประวัติสายติ่งไม่ได้มาเล่นๆ นิ่งเป็นหลับขยับเป็นติ่ง รักการซอกแซกซอกมุมต่างๆ ของประวัติศาสตร์

Photographer

พายุทราย พรายทะเล
วานนี้ เติบโตในสวนอักษร I วันนี้ พเนจรไปกับเสียงชัตเตอร์