
ป่าช้าวัดดอน : สุสานชาวจีนสมัย ร.5 สู่สวนสุขภาพในวงล้อมเมืองที่ทำให้ความน่ากลัวหายไป
- วัดดอน หรือ วัดบรมสถล เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชาวทวายชื่อ “มังจันจ่า” ซึ่งได้หนีจากแผ่นดินพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
- แม้วัดดอนจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่กลับปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้ง สุสานของคนจีนในสมัยรัชกาลที่ 5
- ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนสร้างสวนสุขภาพในชื่อ สวนสวยแต้จิ๋ว อยู่ในความดูแลของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย
เมื่อเอ่ยถึงตำนานสุสานกลางกรุงเทพฯ แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ป่าช้าวัดดอน หรือ สุสานวัดดอน หรือ สุสานแต้จิ๋ว เป็นหนึ่งในสุสานกลางกรุงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นอกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าผีดุแล้ว ตัวสุสานยังมีขนาดใหญ่เบอร์ต้นๆ ของเมือง ด้วยเนื้อที่กว่า 150 ไร่ ตั้งอยู่กลางเมืองในซอยเจริญกรุง 57 ซึ่งปัจจุบันพื้นที่สุสานส่วนหนึ่งถูกปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นสวนสุขภาพชื่อว่า สวนสวยแต้จิ๋ว Sarakadee Lite ชวนไปรู้จักประวัติศาสตร์ ป่าช้าวัดดอน กันสักนิด ผ่านเรื่องลับๆ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ของ ป่าช้าวัดดอน ที่ย้อนไปได้ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว



1. วัดดอน หรือ วัดบรมสถล เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชาวทวายชื่อ มังจันจ่า ซึ่งได้หนีจากแผ่นดินพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และในราวปี พ.ศ.2335 ก็ได้พระราชทานที่ดิน ณ บริเวณตำบลคอกกระบือให้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาวทวายที่อพยพเข้ามา พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งให้มังจันจ่าขึ้นเป็นผู้ดูแลชาวทวายในย่านนี้ กระทั่งใน พ.ศ.2340 มังจันจ่าและชาวทวายได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นบนที่ดอน ชาวบ้านแถวนั้นจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดดอนทวาย และแม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบรมสถล” แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดดอนทวาย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดดอน” นั่นเอง
2. แม้วัดดอนจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่กลับปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้ง สุสานของคนจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2442 เมื่อย่านเจริญกรุงเรื่อยมายังปลายสายสุดถนนตกมีกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาค้าขายและตั้งบ้านเรือนกันมากขึ้น กลุ่มพ่อค้าเอกชนและห้างร้านต่างๆ ที่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วจึงได้ร่วมกันบริจาคเงินช่วยกันสร้างสุสานเพื่อฝังศพบรรดาชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วที่เสียชีวิตในแผ่นดินไทย โดยตัวสุสานสร้างบริเวณบ้านทวายเดิมติดกับเขตวัดดอน และต่อมามีการเรียกสุสานแห่งนี้ว่า “สุสานวัดดอน” หรือในภาษาจีนเรียกว่า “หงี่ซัวเต๊ง” โดยเริ่มแรกใช้เป็นที่ฝังร่างราว 4,000 หลุม


3. ในระยะแรกการฝังศพส่วนใหญ่เป็นแบบ “หลุมฮวงซุ้ย” ซึ่งไม่ได้มีการจัดระเบียบและยังไม่มีการเก็บค่าบริการดูแล ทำให้หลุมฝังศพเริ่มเต็มจึงได้มีการซื้อที่ดินสุสานขยายไปกว่า 150 ไร่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 3 องค์กร คือ สมาคมแต้จิ๋วแห่งแประเทศไทย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้ ส่วนหลุมศพก็เริ่มมีหลากหลายขึ้นทั้งฝังในลักษณะแบบฮวงซุ้ยดั้งเดิม ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิ และศพไร้ญาติ ส่วนปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนสร้างสวนสุขภาพเอกชนในชื่อ สวนสวยแต้จิ๋ว อยู่ในความดูแลของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย
4. สุสานวัดดอนฝังร่างผู้ตายมาแล้วกว่า 1 แสนร่างซึ่งนี่จึงเป็นที่มาของตำนานที่ว่าป่าช้าวัดดอนผีดุ ไม่เพียงเท่านั้นรุ่นตายายยังมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า “ปลาไหลวัดดอน” นั้นเป็นปลาไหลที่คนชอบกินปลาเข็ดขยาด เพราะเชื่อกันว่าเหตุที่ปลาไหลวัดดอนนั้นตัวอวบอ้วน มีเนื้อสีเหลือง เพราะได้กินเนื้อศพที่นำมาล้างในคลอง รวมทั้งน้ำเหลืองที่ถูกฝนชะล้างลงคลองด้วย

(ภาพ : พิชญ์ เยาว์ภิรมย์, ฝ่ายข้อมูลนิตยสารสารคดี )




5. เมื่อหลุมศพในสุสานมากขึ้น สวนทางกับพื้นสุสานที่ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิด พิธีกรรมล้างป่าช้า เพื่อจัดการกับหลุมฝังศพที่ฝังไว้นานและไม่มีลูกหลานมาดูแลอีกต่อไป รวมทั้งจัดการกับหลุมฝังศพของศพไร้ญาติที่ทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งรับมา โดยพิธีการล้างป่าช้าของสุสานวัดดอนมีการนำขั้นตอนของพิธีการต่างๆ ตามอย่างเมืองจีน อันเป็นความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายานและในลัทธิเต๋า ในการล้างป่าช้าแต่ละครั้งจะมีการขุดศพขึ้นมาทำความสะอาดและทำบุญบังสกุล หรือสวดส่งวิญญาณเพื่อเตรียมขึ้นสู่เมรุทำการฌาปนกิจต่อไป เฉพาะขั้นตอนการขุดศพมาล้างทำความสะอาดกระดูกก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 วัน และต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก



6. ในการอาสามาล้างป่าช้าทำความสะอาดกระดูกนั้น หลายคนเชื่อว่า “ศพเป็นของสูง” ทำให้มีบางคนเชื่อว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนให้หลีกเลี่ยงการมาทำพิธีล้างป่าช้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศพ เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ร่างกายไม่สะอาด บางศพแห้งเหลือแต่กระดูก บางศพก็ยังมีเส้นผมและเศษเนื้อติดอยู่เรียกว่า “ศพสด” หรือ “ชีห่วย” หลายคนเชื่อว่าหากได้ทำความสะอาดศพสดจะได้บุญมากเพราะเป็นศพที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำความสะอาด
7. พิธีการล้างป่าช้า ซึ่งเป็นพิธีบำเพ็ญกุศลแก่ศพไร้ญาติที่สุสานวัดดอนนั้นถูกจัดขึ้นครั้งแรกปี พ.ศ. 2480 โดยจัดขึ้นในบริเวณของสุสานส่วนที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งดูแล และสืบทอดการทำพิธีล้างป่าช้าเรื่อยมา โดยทางมูลนิธิจะดูจากจำนวนหลุมศพ เมื่อเริ่มเต็มก็จะมีพิธีล้างป่าช้าเกิดขึ้น จนเมื่อปี พ.ศ.2539 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สุสานของมูลนิธิฯ ได้ย้ายไปตั้งใหม่ที่ ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากพื้นที่เดิมของสุสานวัดดอนนั้นบางส่วนถูกเวนคืนจากทางราชการเพื่อไปสร้างทางด่วนสายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ



8. พิธีกรรมการล้างป่าช้าที่จัดขึ้น ณ สุสานวัดดอนจนถึงปี พ.ศ.2539 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง และจากนั้นสุสานวัดดอนก็ไม่ได้เปิดรับศพใหม่อีกเลยเพราะถือว่าเต็มพื้นที่ ที่เห็นอยู่เป็นเพียงฮวงซุ้ยบรรพบุรุษที่ลูกหลานยังคงมาดูแลและทำพิธีเคารพกราบไหว้อยู่เท่านั้น

9. ป่าช้าวัดดอนบางส่วนได้ถูกพัฒนาไปเป็นพื้นที่สวนสุขภาพมาตั้งแต่ พ.ศ.2538 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีแผนการในการย้ายสุสานออกไปยังพื้นที่ใหม่ จากนั้น สวนสวยแต้จิ๋ว จึงได้ถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในเมืองกรุงเช่นปัจจุบัน
ต้นเรื่อง
- ล้างป่าช้าในบางกอก โดย เมธินีย์ ชอุ่มผล, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
- พิธีขุดศพล้างป่าช้าวัดดอน โดย เกษศิรินทร์ แซ่ตัน นิตยสารสารคดี มกราคม 2532
Fact File
- สวนสวยแต้จิ๋ว (ป่าช้าวัดดอน) ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุงซอย 57 กรุงเทพฯ ในส่วนของสวนสุขภาพเปิดบริการทุกวัน เวลา 5.00-10.00 น. และ 15.0-19.00 น.
- สวนสวยแต้จิ๋ว ไม่ใช่สวนของ กทม. ดังนั้นจึงมีการเก็บค่าบำรุงรักษาผ่านค่าสมาชิกรายปีที่มาวิ่ง ทางสวนจึงขอความร่วมมือผู้ที่มาออกกำลังกายสมัครสมาชิกชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว
