ถอดดีไซน์ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดในไทย
- สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในเส้นทางของทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย
- สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด
เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมก่อนการเปิดใช้งานจริงแล้วสำหรับ สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และยังเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดในไทย Sarakadee Lite ชวนไปถอดรายละเอียดงานออกแบบสะพานแห่งใหม่กัน
01 สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เปิดตัววันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รองรับการสัญจร 8 ช่องจราจร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดในไทย
02 ความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร
03 ท้องสะพานมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร สูงเทียบเท่าสะพานพระราม 9 เดิม
04 ตัวสะพานสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง ทำให้สะพานมั่นคงแข็งแรงสามารถรองรับแรงลมได้มากถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แห่งนี้จึงมีความมั่นคงและแข็งแรงอย่างมากในการรองรับเหตุแผ่นดินไหวหรือพายุ
05 ในด้านความสวยงาม มีการนำเอกลักษณ์ของศิลปะไทยเข้าไปประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นพญานาคสีทองบริเวณโคนเสาสะพาน 4 ต้น หรือรั้วสะพานกันกระโดดเป็นลวดลายดอกรวงผึ้งสีทอง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10
06 ส่วนของเสาสะพานเองก็ดีไซน์ให้โค้งมน เพื่อลดความแข็งกระด้างของโครงสร้างคอนกรีต ทำให้ภาพรวมของสะพานดูอ่อนช้อยมากขึ้น
07 ราวกันตกบริเวณด้านนอกสุดของสะพาน ยังออกแบบให้โปร่ง เพื่อไม่ให้ต้านลมที่ปะทะตัวสะพาน ทั้งยังช่วยไม่ให้บดบังวิวของโค้งน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
08 จุดเริ่มต้นของสะพานคือบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนบุรี ในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และบรรจบกับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ในพื้นที่แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครโดยตรง รวมระยะทางทั้งโครงการจำนวน 2 กิโลเมตร โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้มากถึง 150,000 คัน/ วัน
09 ตัวสะพานเน้นสีทองอร่ามทั้งสายเคเบิ้ลและสีที่ตกแต่งสะพาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย และยังเป็นตัวแทนสีวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
10 มีการอัญเชิญและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้บนยอดเสา ของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้ทางพิเศษอีกด้วย
Fact File
- สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมก่อนเปิดใช้งานจริง ตั้งแต่วันที่ 14 – 18 และ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 -22.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม Expressway Thailand