นามิเบีย ดินแดนแห่งสัตว์ป่า ธรรมชาติและต้นไม้กลับหัว
- นามิเบีย (Namibia) ตั้งอยู่ห่างประเทศไทยราว 16 ชั่วโมงการเดินทาง อยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา
- คำว่า Namib มาจากภาษา Khoekhoegowab ของชาวพื้นเมือง หมายความถึง Vast Place หรือ ดินแดนอันกว้างใหญ่
คิดถึงการเดินทางที่สุดเลย เรียกว่าตอนนี้มี Bucket List เรียงคิวอยู่แน่นแบบไม่มีกั๊ก ยิ่งค้นเจอชื่อ นามิเบีย (Namibia) ประเทศที่อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยราว 16 ชั่วโมงการเดินทาง อันมีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาแล้ว ก็ยิ่งอยากเก็บกระเป๋าไปสัมผัสประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมชาติ ชมภาพผืนทรายจดมหาสมุทรให้เห็นกับตาตั้งแต่ตอนนี้
แต่ระหว่างรอเวลาที่จะได้ออกเดินทางกันอีกครั้ง Sarakadee Lite มีภาพมาฝากกันว่า นามิเบีย ประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบสองเท่านี้มีอะไรรอให้เราไปสำรวจกันบ้าง
Namib ทะเลทรายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งคำว่า Namib มาจากภาษา Khoekhoegowab ของชาวพื้นเมือง หมายความถึง Vast Place หรือดินแดนอันกว้างใหญ่ ซึ่งก็สมชื่อด้วยการกินพื้นที่ราว 80,000 ตารางกิโลเมตร ทอดยาวเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และมองเห็นเนินทรายสีแดงอยู่ไกล ๆ
นอกจากความเก่าแก่ของทะเลทราย หนึ่งเอกลักษณ์ที่ไม่อยากให้หายไปเลยคือ ความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ป่าแอฟริกา เช่น ม้าลายเบอร์เชลล์ (Burchell’s Zebra) ที่จะแพร่พันธุ์เฉพาะในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ความแตกต่างจากม้าลายสายพันธุ์อื่นๆ คือ สีผิวหนัง ลักษณะแผงคอ ขนาดของตัวและลวดลายที่โดยทั่วไปจะมีลายคาดขนาดกว้างในแนวดิ่ง
เจมส์บอก (Gemsbok) หรือ South African Oryx สัตว์แอนทิโลปขนาดใหญ่ ที่มีความแตกต่างไปจากตระกูลละมั่งมากที่สุด มีเขาที่เรียวยาว เอกลักษณ์คือลวดลายดำสลับขาวบนใบหน้าและแถบสีดำขนาดใหญ่บนขาส่วนบน กินพืชเป็นอาหาร ซึ่งจะพบได้ในทวีปแอฟริกาตอนใต้เท่านั้น
ภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของทะเลทรายนามิบทำให้สัตว์ที่อาศัยอยู่มีวิวัฒนาการจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามไปด้วย เช่น งู Peringuey’s Adder ที่มีเกล็ดบริเวณลำตัวคล้ายเม็ดทราย ทำให้พลางตัวโดยการฝังตัวเองอยู่ในทรายเพื่อรอจัดการเหยื่อได้อย่างแนบเนียน
Deadvlei หรือบึงแห่งความตาย ในอดีตต้น Camel Thorn พืชตระกูล Acacia ในภาพก็เคยเขียวชอุ่มมาก่อน แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปและสายน้ำจากแม่น้ำ Tsauchab ถูกกีดขวางด้วยเนินทรายที่ค่อย ๆ ก่อตัวสูงขึ้นทำให้แม่น้ำที่เคยหล่อเลี้ยงเหือดแห้งเหลือทิ้งไว้แต่แอ่งโคลนสีขาว และต้น Camel Thorn ที่ยืนต้นตายอยู่ท่ามกลางเนินทราย
กิ้งก่าคาเมเลียน (Namaqua Chameleon) พบได้ในทะเลทรายทางตะวันตกของ นามิเบีย เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเปลี่ยนสีให้อ่อนลงเพื่อพลางตัวให้แนบเนียนจากศัตรู และอีกสาเหตุหนึ่งคือเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย โดยสีโทนเข้มจะช่วยดูดซับแสงแดดได้ดีกว่า
ที่เห็นอยู่นี้คือต้นควิเวอร์ (Quiver tree) ซึ่งถือเป็นต้นไม้ประจำประเทศ นามิเบีย ควิเวอร์เป็นพืชวงศ์ว่านหางจระเข้ขนาดยักษ์ที่จะออกดอกสีเหลืองเป็นช่อรีอยู่ตรงปลายยอด จะแพร่กระจายเฉพาะพื้นที่ในประเทศนามิเบียและแอฟริกาใต้เท่านั้น ควิเวอร์มีฉายาว่าต้นไม้กลับหัวเพราะส่วนบนของต้นมีลักษณะคล้ายกับราก
บริเวณที่ทะเลทรายจดขอบมหาสมุทรแอตแลนติกนี้เรียกว่า Long Wall ซึ่งแนวนี้เมื่อราว 500 ล้านปีก่อนเป็นแนวชายฝั่งที่เคยติดกับแนวชายฝั่งของอเมริกาใต้ ก่อนที่การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกจะทำให้เกิดการแยกออกจากกัน
African Penquin จะพบเห็นได้มากบริเวณเกาะฮาลิแฟกซ์ (Halifax) ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กใกล้กับเมืองลูเดริตซ์ (Luderitz) ทางตอนใต้ของ นามิเบีย
Greater Flamingo บริเวณริมชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก จะชอบอยู่กันเป็นฝูงใหญ่และหาอาหารด้วยการใช้เท้าตะกุยทรายให้คลุ้งและใช้ปากกรองสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไรน้ำ ลูกกุ้ง แพลงตอนที่ปะปนมากับทรายกินเป็นอาหาร
บริเวณเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกส่วนนี้เรียกว่า Skeleton Coast จากการมีชุมนุมแมวน้ำเคปเฟอร์ซีล (Cape Fur Seal) มาเกยหาด ล่าเหยื่อหรือหากินบริเวณน้ำตื้นหลักแสนตัว ซึ่งนับเป็นโคโลนีแมวน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในแอฟริกาตอนใต้
แมวน้ำเคปเฟอร์ซีลจะขึ้นฝั่งบริเวณชายหาดที่เป็นโขดหินที่มีการขึ้น-ลงของน้ำทะเล พบได้มากในเขตแอฟริกาใต้และออสเตรเลีย
ใกล้กับเมืองท่าลูเดริตซ์ (Luderitz) เมื่อก่อนได้มีการสร้างเหมืองเพชรโคลแมนสคอป (Kolmanskop) ขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงที่ นามิเบีย ถูกเยอรมนียึดครองเป็นประเทศอาณานิคม และยังได้มีการสร้างระบบขนส่งทางรถไฟขึ้นเพื่อความสะดวกในการลำเลียงทรัพยากรของที่นี่ไปสู่ประเทศของตนเอง
ในสมัยนั้นเหมืองเพชรโคลแมนสคอปมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนได้รับการพัฒนากลายเป็นเมืองที่มีทั้งโรงแรม โรงไฟฟ้า โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล รวมไปถึงการมีเครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกในแถบแอฟริกาตอนใต้
แต่เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม แอฟริกาใต้ก็เข้าปกครอง นามิเบีย และเมื่อพบเหมืองเพชรที่ดีกว่า ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองโคลแมนสคอปก็เริ่มอพยพออกไปจนกลายเป็นเมืองร้างในปี ค.ศ.1956 และเริ่มจมลงไปในผืนทรายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ทางตอนเหนือของประเทศ นามิเบีย มีชาวฮิมบาอาศัยอยู่ราว 3-5 หมื่นคน พวกเขามีผิวกายและเส้นผมเป็นสีแดงอิฐ ที่เกิดจากการพอกด้วยแร่สีแดงเฮมาไทด์ (Hematite) ผสมไขมันสัตว์และสมุนไพรหอมที่เรียกว่า อ็อตจีซ (Otjize) ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการพอกตัวนี้ก็เพื่อป้องกันตัวเองจากสภาพอากาศและแสงแดด ชาวฮิมบาโดยเฉพาะผู้หญิงไม่อาบน้ำตั้งแต่เกิด แต่จะเผาสมุนไพรให้เกิดควันเพื่ออบตัว นำมาอังใต้คางและวงแขนแทนการอาบน้ำ
หญิงชาวฮิมบาจะถักวิกผมขนแกะและสวมมงกุฎหนังแกะที่เรียกว่า Erembe นุ่งกระโปรงหนังสัตว์ เปลือยอก ส่วนชายฮิมบาจะนุ่งผ้าหรือหนังสัตว์ ชาวฮิมบาจะเลาะฟันล่างออก 4 ซี่เพื่อให้พูดภาษาของพวกเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ชาวฮิมบาดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงวัวกับแพะขาย และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเสริม
ชุมชนของคนฮิมบาเป็นกระท่อมบ้านดินหลังเล็ก ๆ เรียงกันโดยมีบ้านของหัวหน้าเผ่าอยู่ตรงกลาง บริเวณหน้ากระท่อมของหัวหน้าชนเผ่าจะมีกองไฟศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมจิตวิญญาณของครอบครัวที่จะจุดไฟไว้ตลอด ห้ามดับ ซึ่งคนนอกเผ่าห้ามเดินตัดผ่านระหว่างกองไฟกับกระท่อมของหัวหน้าเผ่าเป็นอันขาด
Etosha ชื่อนี้แปลว่าแผ่นดินสีขาวอันกว้างใหญ่ สมชื่อด้วยพื้นที่ราว 5,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อหลายล้านปีก่อนบริเวณนี้เคยเป็นทะเลสาบ ก่อนที่การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกจะทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางทิ้งไว้แต่ดินสีขาว ซึ่งบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยน้ำในช่วงฤดูฝน
ในพื้นที่ของ Etosha มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่จนจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในที่สุด ในภาพคือวิลเดอบีสต์ (Wildebeest) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตระกูลแอนทิโลปที่กำลังเกลือกโคลนเพื่อกันแดดและความร้อน
นก Kori Bustard ถือเป็นนกประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา เป็นนกบินได้ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่จะไม่ค่อยบิน อาศัยการจิกกินสัตว์เล็ก ๆ บนดินมากกว่า
อิมพาลาหน้าดำ (Black-faced Impala) เป็นอิมพาลาชนิดย่อยที่จะพบได้เฉพาะทางตอนใต้ของประเทศแองโกลาและตอนเหนือของประเทศนามิเบียเท่านั้น ความแตกต่างระหว่างตัวผู้กับตัวเมียคือตัวผู้จะมีเขายาว ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา
ฝูงยีราฟ สัตว์ที่ถือว่าโดดเด่นในทวีปแอฟริกาด้วยตัวที่สูงและคอยาว กำลังเดินไปที่แหล่งน้ำ
ช้างป่าแอฟริกาที่มีอยู่มากบริเวณ Ethosha Pan ความแตกต่างจากช้างเอเชียคือใบหูที่ใหญ่และผิวหนังที่หยาบย่นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเทียบกันช้างแอฟริกาจะกินน้อยกว่าช้างเอเชีย ซึ่งอาหารก็จะเป็นจำพวกใบไม้ เปลือกไม้หรือผลไม้
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมกราคม 2562
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ