กระตั้วแทงเสือ : มรดกจาก กระอั้วแทงควาย ของดีคู่ฝั่งธนบุรี
Pic Talks

กระตั้วแทงเสือ : มรดกจาก กระอั้วแทงควาย ของดีคู่ฝั่งธนบุรี

Focus
  • กระตั้วแทงเสือ หรือ บ้องตันแทงเสือ เป็นการแสดงของฝั่งราษฎร์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากการแสดงของหลวงในรั้ววังที่เรียกว่ากระอั้วแทงควาย
  • กระอั้วแทงควาย เป็นการแสดงที่มาจากเมืองทวายซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองประเทศราช

ใครมีโอกาสไปโรงเรียนกงลี้จงซัน ย่านตลาดพลู กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 คงได้ชมการแสดง กระตั้วแทงเสือ โดย คณะศิษย์หลวงปู่ผาด วัดบางสะแกนอก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเช่นกัน แต่สำหรับใครที่พลาดโอกาสชมการแสดงที่กลายเป็นมหรสพหาชมยากในปัจจุบัน Sarakadee Lite ได้ประมวลภาพพร้อมเก็บเกร็ดความเป็นมาของการแสดงที่ชื่อแปลกว่ากระตั้วแทงเสือมาฝากกัน

 กระตั้วแทงเสือ
 กระตั้วแทงเสือ

กระตั้วแทงเสือ หรือ บ้องตันแทงเสือ เป็นการแสดงของฝั่งราษฎร์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากการแสดงของหลวงในรั้ววังที่เรียก “กระอั้วแทงควาย” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่ใน “กระอั้วแทงควาย” กับ “กระตั้วแทงเสือ”: ประวัติและ พัฒนาการของการละเล่นโบราณ โดย “เกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง” ได้กล่าว่า กระอั้วแทงควายมีรากฐานมาจากการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับควายในสังคมเกษตรกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 กระตั้วแทงเสือ
กระตั้วแทงเสือโดย คณะศิษย์หลวงปู่ผาด วัดบางสะแกนอก
 กระตั้วแทงเสือ
 กระตั้วแทงเสือ

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า กระอั้วแทงควายเป็นการแสดงที่มาจากเมืองทวายซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองประเทศราช ทางทวายได้นำกระอั้วแทงควายมาแสดงถวายในงานพระราชพิธีโสกันต์รวมทั้งงานมหรสพสมโภชในงานพระเมรุ จึงทำให้ กระอั้วแทงควาย กลายเป็นหนึ่งในการละเล่นของหลวง ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ พร้อมกับการเปลี่ยนเค้าโครงเรื่องจากควายกลายเป็นเสือ และจากของหลวงในรั้ววังก็กลายเป็นการละเล่นที่ในอดีตนิยมมากในฝั่งธนบุรี

กระอั้วแทงควาย
กระอั้วแทงควาย

กระอั้วแทงควายนอกจากจะเป็นการละเล่นของหลวงแล้วยังได้พัฒนามาเป็นการแสดงเบิกโรงของมหรสพทั้งหนังใหญ่ โนรา และหนังตะลุง สำหรับใครที่อยากเห็นกระอั้วแทงควาย มีภาพประกฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า (วัดบวรสุทธาวาส) ซึ่งก็น่าเสียดายว่าไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม

กระอั้วแทงควาย

ส่วนกระตั้วแทงเสือนั้น สันนิษฐานคำว่า “กระตั้ว” อาจแผลงมาจากคำว่า “กระอั้ว” และเนื้อเรื่องของกระตั้วแทงเสือก็ดัดแปลงมาจากบทละคร เรื่องมโนราห์ ตอน พรานบุญจับนางมโนราห์ถวายแด่พระสุธน ทั้งยังมีดนตรีประกอบ มีบทพากย์ บทเจรจา และบทร้องคล้ายกับโนราของภาคใต้แต่ไม่ได้ประณีตเรื่องบทหรือดนตรีมากนัก เน้นความสนุกสนานความตื่นเต้นของการจับเสือเป็นหลัก และจากที่มีเสือ 1 ตัวก็กลายเป็นเสือหลายตัวเพิ่มความสนุกสนานเข้าใป

กระอั้วแทงควาย

ปัจจุบันคณะกระตั้วแทงเสือหลงเหลืออยู่เพียงฝั่งธนบุรี ซึ่งอาจะเป็นไปได้ว่าผลมาจากเหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ฟื้นฟูมหรสพครั้งกรุงเก่าให้ฟื้นคืนเมื่อคราวสร้างเมืองใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ฝั่งธนบุรีมีคณะกระตั้วแทงเสือมากถึง 30 คณะ ปัจจุบันกลายเป็นการแสดงที่หาชมยาก มักเล่นกันในพิธีแห่ หรืองานฉลองสำคัญๆ เท่านั้น

อ้างอิง


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว