ค้นพบประติมากรรมหินสลักมากกว่า 100 ตัวใน วัดพระแก้ว คาดย้อนอายุไปได้สมัย ร. 4
- ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ในระหว่างการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวังได้มีการขุดค้นพบประติมากรรมสลักหินจำนวนมากกว่า 100 ตัว
- มีหลักฐานในภาพถ่ายในหนังสือ Unseen Siam Early Photography 1860 – 1910 ที่ทำให้เชื่อได้ว่าตุ๊กตาสลักหินเหล่านี้เคยประดับอยู่ที่วัดพระแก้วแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
นาทีนี้ถนนสายประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทุกสายในกรุงเทพฯ ต่างมุ่งไปที่ วัดพระแก้ว กับข่าวการค้นพบ ประติมากรรมหินสลัก ไม่ต่ำกว่า 100 ตัว และมีหลักฐานบันทึกภาพถ่ายในหนังสือ Unseen Siam Early Photography 1860 – 1910 ว่าเคยประดับอยู่ที่ วัดพระแก้ว แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ทางเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ได้ลงข่าว ว่ามีการค้นพบประติมากรรมสลักหินช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ในระหว่างการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู “มณีนพรัตน์” ไปยังประตู “สวัสดิโสภา” ซึ่งระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ทำการขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ทั้งยังพบจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัวระบุเป็นภาษาจีนถึงที่มาว่าทำขึ้นที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว ประเทศจีน
ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ยังระบุอีกว่าจากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินสลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆ มา ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับใน วัดพระแก้ว บริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ
สำหรับตุ๊กตาหินเหล่านี้นั้นยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์มาก แต่ละตัวมีลวดลายหินที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีการระบุจากกรมศิลปากร หรือทางวัดพระแก้ว รวมทั้งเว็บไซต์หน่วยราชการซึ่งเป็นต้นทางของการประกาศข่าวนี้ถึงหลักฐานเกี่ยวกับตุ๊กตาหินนับร้อยตัว แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็น ตุ๊กตาอับเฉา หรือไม่ เพราะเป็นตุ๊กตาหินที่มีการนำมาถวายวัดในยุคนั้น โดยตามประวัติศาสตร์การค้าสำเภาจากไทยไปเมืองจีนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีสินค้าที่บรรทุกจากไทยไปขายจีนเต็มลำเรือ ส่วนใหญ่มักเป็นข้าวสาร หนังสัตว์ เขาสัตว์ ตะกั่ว ดีบุก ดินประสิว ไม้หอมชนิดต่างๆ ตลอดจนไม้สัก ไม้แดงที่ล้วนมีน้ำหนักมาก แต่ขากลับเมื่อจำหน่ายสินค้าหมด ก็บรรทุกข้าวของจากเมืองจีนกลับมาขาย ส่วนใหญ่ได้แก่เครื่องเหล็ก เครื่องทองเหลือง เครื่องเรือน ใบชา ถ้วยชาม และผ้าแพรพรรณชนิดต่างๆ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า เมื่อเรือเบาถูกคลื่นลมแรงจะทำให้เรือโคลง จึงต้องหาเครื่องถ่วงน้ำหนักเรือหรือที่เรียกว่า “อับเฉา” คือใช้ตุ๊กตาศิลาจีนทำจาก “แผ่นหินที่หาได้ง่าย และมีราคาถูก” มาใส่ในท้องเรือ อันเป็นเหตุให้ตุ๊กตาและแผ่นศิลาเหล่านี้ ถูกเรียกตามศัพท์ดังกล่าวว่า “ตุ๊กตาอับเฉา”
การนำตุ๊กตา และเครื่องศิลาจีนต่างๆ เข้ามาในเมืองไทยมีมานานพร้อมๆ กับการค้าสำเภากับจีน แต่ที่ปรากฏให้เห็นตามวัดวาอารามทุกวันนี้ ส่วนใหญ่นำเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 3 ที่การค้าสำเภารุ่งเรือง และทรงมีพระราชนิยมในศิลปกรรมจีน เครื่องศิลาที่นำเข้ามา นอกจากเป็นรูปตุ๊กตาประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าเป็นภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กระถางธูป แจกัน ศาลเจ้าจำลอง ฯลฯ ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม เช่น กำแพง เสามังกร ซุ้มโขลนทวาร ถะ (เจดีย์แบบจีน) เขามอ ฯลฯ ในระยะหลังมีการออกแบบโดยช่างไทย แล้วส่งไปให้ช่างจีนแกะสลักส่งเข้ามาอีกด้วย จึงไม่แปลกเลยที่บางวัด เราจะพบตุ๊กตาจีนรูปสัตว์ในเทพนิยายไทย อย่างครุฑ กินรี คชสีห์ กระทั่งรูปสตรีนุ่งห่มแบบไทย แต่หน้าตาเป็นสาวจีน
ส่วนชุดตุ๊กตาหินที่ วัดพระแก้ว จะใช่ตุ๊กตาอับเฉาหรือสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในเหตุการณ์ใดหรือไม่นั้น ยังคงต้องรอติดตามข้อมูลที่แน่ชัดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง