สำรวจ พืชภูเขากึ่งอัลไพน์ ตามหาดอกไม้หายากในอ้อมกอด ดอยเชียงดาว
- ลักษณะภูมิประเทศของดอยเชียงดาว มีแนวเขายกตัวเป็นรูปเกือกม้า มีดอยหนอกและดอยพีระมิดที่ปลายเกือกม้า ด้านทิศเหนือ ดอยสามพี่น้องที่ปลายเกือกม้าด้านทิศใต้ ตรงโค้งกลางเกือกม้าเป็นที่ตั้งของยอดดอยหลวงเชียงดาว สถานะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำปิง
- ยูเนสโก ประกาศให้ ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 22 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกประจำปี 2021 และนับเป็นแห่งที่ 5 ในเมืองไทย
แม้ว่า ดอยเชียงดาว จะมีความสูงเป็นอันดับ 3 ของไทย (2,225 เมตร) แต่ในหมวดภูเขาหินปูนนั้น เชียงดาว มีความสูงยืนหนึ่งในประเทศ ด้วยสภาพของหินปูนที่ระดับสูงบวกด้วยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ส่งผลให้สังคมพืชที่ปรากฏอยู่บริเวณสันเขา และยอดเขา ดอยเชียงดาว เป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า สังคมพืชภูเขากึ่งอัลไพน์ อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นหลายชนิด ที่ไม่พบในที่อื่นใดในโลก
อย่างที่หลายคนทราบกันแล้วว่าความหลากหลายของระบบนิเวศทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ของ เชียงดาว ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก- UNESCO) ตัดสินใจประกาศให้พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 22 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกประจำปี 2021 และนับเป็นแห่งที่ 5 ในเมืองไทย ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑล จะให้ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ในพื้นที่ดอยเชียงดาว มีชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่รวมถึงชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งป่าเชียงดาวมีระบบนิเวศที่โดดเด่น คือ ป่าเปิดระดับสูง (Subalpine vegetation) ซึ่งพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบนิเวศที่บ่งชี้ความเชื่อมต่อทางระบบนิเวศในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ ทำให้พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นจำนวนมาก
ดอยเชียงดาวยังถูกยกให้เป็น สวรรค์ของนักดูนก ในประเทศไทย เพราะมีพบนกนานาชนิด มากกว่า 200 ชนิด รวมถึง นกไต่ไม้ใหญ่ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นนกประจำถิ่น ที่อาศัยป่าสนสามใบเป็นถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ดอยเชียงดาว ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ และเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา แต่ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งคือ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว เป็นผีเสื้อชนิดย่อยชนิดหนึ่งของผีเสื้อภูฐาน มีถิ่นอาศัยเฉพาะที่ดอยเชียงดาว บนความสูง 1,900-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันเชื่อว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยและจากโลกนี้ โดยมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณปี พ.ศ. 2525-2527 จากหลายสาเหตุ แต่การสูญเสียที่ถิ่นที่อยู่อาศัยและพืชอาหารนับเป็นสาเหตุหลัก
Sarakadee Lite ขอย้อนเปิดคลังภาพเก่านิตยสารสารคดีเมื่อครั้งที่ทีมงานออกเดินป่าไปตามหาดอกไม้เฉพาะถิ่นในอ้อมกอดของ ดอยเชียงดาว ซึ่งได้บันทึกความหลากหลายของดอกไม้ พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ทั้งนี้นักพฤกษศาสตร์ได้มีการค้นพบพืชเฉพาะถิ่น (endemic plants) ที่มีเพียงแห่งเดียวในโลกบน ดอยเชียงดาว มากถึง 40-50 ชนิด เช่น ชมพูเชียงดาว พิมพ์ใจ เหยื่อเลียงผา คำปองหลวง ดอกหรีดเชียงดาว ค้อดอยเชียงดาว และกุหลาบขาวเชียงดาว ดังนั้นดอยเชียงดาวจึงนับเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านพฤกษศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
“เอื้องศรีเชียงดาว”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sirindhorniapulchella หรือ สิรินธรเนีย เป็นพืชกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลกพบที่ดอยเชียงดาวแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ดอกสีม่วงอ่อน มีใบสีเขียวลายจุดม่วงแดงเข้ม เป็นดอกไม้ดินดอกเล็กๆ ที่ขึ้นตามซอกหินสลับกับมอส มักพบเจอในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง อยู่ที่ระดับความสูง 1,800-2,000 เมตร ดอกบานช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน
“พิมพ์ใจ”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Luculia gratissima var.glabra พืชเฉพาะถิ่นอีกชนิดของดอยเชียงดาว จัดอยู่ในวงศ์ Rubiaceae กระจายพันธุ์มาจากเทือกเขาหิมาลัย อยู่ในระดับความสูง 1,700-2,100 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่มสูงประมาณ 1-2 เมตร มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
“กุหลาบขาวเชียงดาว”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhododendron Ludwigianum ดอกไม้สีขาว พบแห่งเดียวในโลกที่ดอยเชียงดาวบริเวณซอกหินและสันเขาทั้งยังเคยถูกนำมาทำเป็นรูปชุดแสตมป์ท่องเที่ยวเชียงใหม่ ปัจจุบันกุหลาบขาวเชียงดาวจัดอยู่ในดอกไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
“ชมพูเชียงดาว”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pedicularis siamensis เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่หายาก พบได้แห่งเดียวในโลกบนยอดสูงของดอยเชียงดาว จัดอยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae มีดอกสีชมพูเข้ม ลักษณะคล้ายแตรอันเล็กๆ เรียงเป็นชั้นขึ้นไปตามส่วนยอดอย่างงดงาม ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ชมพูเชียงดาวเป็นพืชล้มลุกที่มีพุ่มสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร และยังเป็นพืชรากเบียนที่สามารถแผ่รากไปแย่งอาหารจากพืชอื่นได้ มักขึ้นอยู่ตามหน้าผา สันเขา และยอดเขาหินปูนที่ความสูง 1,900 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
“เหยื่อเลียงผา”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens kerriae เป็นพืชสกุลเทียน (Impatiens) พืชเฉพาะถิ่นของไทย มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ในรูปคือ เทียนหมอคาร์ หรือ เหยื่อเลียงผา พบที่ระดับความสูง 1,800 เมตรขึ้นไป
“Scarbiosa siamensis”
พืชเฉพาะถิ่นพบได้ที่เชียงดาวที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จัดอยู่ในวงศ์ Dipsacaceae จุดเด่นคือออกดอกสีขาวมีขนาดเท่าหัวแม่มือ ปลายเกสรสีม่วง ส่วนใบมีสีม่วงอมเขียว มีความสูงจากลำต้นถึงช่อดอกประมาณ 20 เซนติเมตร พบตามซอกหินในระดับความสูง 2,000 เมตรขึ้นไป
“สุวรรณนภา”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senecio Craibianus พืชหายากในวงศ์ Compositae ออกดอกสีเหลืองสดใสในเดือนธันวาคม-มีนาคม มักขึ้นอยู่ตามซอกหินที่ระดับความสูง 1,500-2,100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
“ศรีเชียงดาว”
ไม้ล้มลุกวงศ์ดอกหรีด (Gentianaceae) มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ออกดอกช่อแน่นมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวหรือเขียวอมแดง ส่วนกลีบดอก 5 กลีบมีสีม่วงอ่อน โคนกลีบมีแถบขวางสีม่วงเข้มและสีเขียว พบได้บนยอดเขาสูง ถือเป็นพืชชนิดใหม่ของไทยและชนิดใหม่ของโลก ได้รับการค้นพบที่ดอยเชียงดาวเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2542 ต่อมาพืชดอกกระจุกสีม่วงบนต้นหญ้านี้ได้รับการตั้งชื่อพืชตามหลักสากล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Swertia chiangdaoensis ชื่อสามัญเรียกว่า “ศรีเชียงดาว” พบเฉพาะในพื้นที่เปิดระดับความสูงกว่า 2,100 เมตร บนดอยเชียงดาวเท่านั้น เนื่องจากเป็นพืชล้มลุกที่เจริญเติบโตจากเมล็ดแบบปีต่อปี ศรีเชียงดาวจึงถือว่ามีจำนวนประชากรน้อยมาก และมีสถานภาพที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
“ดอกบัวคำสยาม”
เป็นดอกไม้สีเหลืองพบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว เช่นเดียวกับดอกฟองหินเหลือง ที่เกิดตามซอกหินบนดอย
“ค้อดอย”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trachycarpusoreophilus แม้ไม่ใช่ดอกไม้แต่ค้อดอยน่าสนใจตรงที่เป็นไม้ยืนต้น 1 ใน 2 ชนิดที่พบในสังคมพืชกึ่งอังไพน์ มักขึ้นกระจายอยู่ห่างๆ ตามสันเขาบนระดับความสูง 1,900-2,100 เมตร
“ฟองหินเหลือง”
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sedum susanaeHamet พบอยู่บนโขดหิน ผลิบานในฤดูฝนยาวไปถึงฤดูหนาว
Fact File
ปัจจุบันประเทศไทย มี พื้นที่สงวนชีวมณฑล ขึ้นทะเบียนโดย UNESCO ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จังหวัดลำปาง พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอม้า จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี กันยายน 2539 สิงหาคม 2546 และ กรกฎาคม 2547
- https://www.dnp.go.th/foremic/entomology/Web/Eminent/Eminent/Bhutan/Bhutan_1.htm
- https://www.dnp.go.th/botany/PDF/publications/ChiangDao_Plants.pdf
ภาพ : ฝ่ายภาพนิตยสารสารคดี