Bangkok Naruemit Pride 2022 ไพรด์พาเหรดเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ
Pic Talks

Bangkok Naruemit Pride 2022 ไพรด์พาเหรดเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ

Focus
  • Bangkok Naruemit Pride 2022 หรือ “นฤมิตไพรด์” งานไพรด์พาเหรดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ จัดโดยทีมบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรม ร่วมด้วยภาคเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
  • กรุงเทพฯ เคยจัดงาน Bangkok Gay Festival เพื่อเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในรูปแบบใกล้เคียงกับงาน Pride ถือเป็นงาน Pride ครั้งแรกในประเทศไทย งานจัดขึ้นวันเดียวคือวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2542 แต่จุดประสงค์หลักของงานเพื่อรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ สนับสนุนการเปิดเผยตัวตน และสนับสนุนการท่องเที่ยวย่านบันเทิงในกรุงเทพฯ

นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกสำหรับ Bangkok Naruemit Pride 2022 หรือ นฤมิตไพรด์ งานไพรด์พาเหรดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ จัดโดยทีมบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรม ร่วมด้วยภาคเอกชนที่มารวมตัวส่งเสียงดังๆ ให้รู้ว่าโลกนี้ยังมีความแตกต่างหลากหลายที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศ ทำให้งานนี้จึงไม่ได้เล่าแค่เรื่องความแตกต่างหลากหลายของเรื่องเพศ แต่ยังมีเสียงของคนตัวเล็กๆ ที่สังคมไม่เคยยอมรับว่าพวกเขามีตัวตน เช่น Sex Worker เข้ามาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วย

Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022

ขบวนพาเหรดเริ่มต้นเวลา 16.00 น. ของวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่บริเวณด้านหน้าวัดแขก ถนนสีลม กรุงเทพฯ ยาวไปถึงบริเวณหน้าซอยธนิยะ แบ่งเนื้อหาในขบวนออกเป็น 6 เฉดสีตามความหมายของธงสีรุ้งทั้ง 6 เฉด ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สากลของความแตกต่างหลากหลายเรื่องเพศ ระหว่างทางมีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่กล่าวย้ำในงานว่า

“ความสวยงามของบางกอกไพรด์มาจากความร่วมมือของหลากหลายส่วน เป็นความสวยงามในการยอมรับความแตกต่าง เป็นความใส่ใจเพื่อนที่มีความหลากหลาย”

Bangkok Naruemit Pride 2022
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าร่วมงาน
มอลลี่  นำ Crybaby เฉดสีรุ้งมาร่วมงาน
SILVY หรือ ซิลวี่-ภาวิดา มอริจจิ ศิลปินไทยลูกครึ่งอิตาลี

ในงานยังมีศิลปินหลากหลายสาขาเข้าร่วม เช่น มด-นิสา ศรีคำดี หรือ มอลลี่  ก็นำน้องแก้มป่องน้ำตาซึม Crybaby เฉดสีรุ้งที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ Cry Me A River มาร่วมขบวนด้วย เช่นเดียวกับ SILVY หรือ ซิลวี่-ภาวิดา มอริจจิ ศิลปินไทยลูกครึ่งอิตาลีที่มักสะท้อนแนวคิดการรักตัวเองออกมาในผลงานของเธอก็มาร่วมขบวนไพรด์ในครั้งนี้พร้อมกับกล่าวว่า

“ไม่คิดว่าจะมีงานไพรด์พาเหรดแบบนี้เกิดขึ้นได้จริงในเมืองไทย ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่คนส่วนใหญ่จะหันมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง”

นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ ที่ถูกตะโกนออกมาดังๆ จากไพรด์พาเหรดครั้งนี้แล้ว อีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจคือ สิทธิและสวัสดิภาพของเหล่าพนักงานบริการ หรือ Sex Worker ซึ่งทาง มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ได้ออกมาบอกเล่าถึงปัญหาที่พนักงานเหล่านี้ต้องเจอ พร้อมผลักดันให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียม และผลักดันให้เห็นความสำคัญของอาชีพพนักงานบริการและย้ำว่า Sex work is work

แม้งานไพรด์พาเหรด Bangkok Naruemit Pride 2022 จะจบลงแต่เชื่อว่าเสียงตะโกนดังๆ ในครั้งนี้จะทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายอย่างกรุงเทพฯ และรัฐบาลได้เห็นความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์ ตัวตน เพศ อาชีพ และหันมามองตัวบทกฎหมายที่จะเข้ามารับรอง คุ้มครองความหลากหลายนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง และสำหรับชาวกรุงเทพฯ นั้นกิจกรรม Pride Month ถูกบรรจุอยู่ในนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วเป็นที่เรียบร้อย

Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022
Bangkok Naruemit Pride 2022

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว