เช็กอิน 18 ศิลปะบนฝาท่อ อัตลักษณ์ของไชนาทาวน์เยาวราช เคล้าประวัติศาสตร์เมืองเก่า ต้นกำเนิดสตรีทฟูดและสวรรค์ชั้น 7
Lite

เช็กอิน 18 ศิลปะบนฝาท่อ อัตลักษณ์ของไชนาทาวน์เยาวราช เคล้าประวัติศาสตร์เมืองเก่า ต้นกำเนิดสตรีทฟูดและสวรรค์ชั้น 7

Focus
  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมมือกับชุมชนและเครือข่าย นักวิชาการประวัติศาสตร์ และศิลปินอิสระ สร้างสรรค์ศิลปะบนฝาท่อทึบจำนวน 18 ฝา บอกเล่าอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของเยาวราช
  • ฝาท่อเหล่านี้ถูกนำไปติดตั้ง ณ จุดที่เชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนตลอดเส้นถนนตั้งแต่วงเวียนโอเดียน มุมหัวถนนเยาวราช ไปสิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่างตรงมุมหัวถนนบริพัตร
  • สายประวัติศาสตร์ สายถ่ายรูป หรือสายสตรีทฟู้ดสามารถตามรอยได้ตามพิกัดในแผนที่ พร้อมกับเก็บฝาท่อเวอร์ชันดิจิทัลจาก Coral เพื่อรับของรางวัลมากมาย

กรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ พร้อม 8 ศิลปินผู้ออกแบบฝาท่อ ร่วมกับแพลตฟอร์มของสะสมดิจิทัล Coral ชวนออกไปตามหาฝาท่อดีไซน์ใหม่ 18 ฝา พร้อมเก็บดิจิทัลพาสปอร์ตฝาท่อที่ให้ ศิลปะบนฝาท่อ บอกเล่าอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของ เยาวราช โดยฝาท่อเหล่านี้ถูกนำไปติดตั้ง ณ จุดเชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนตลอดเส้นถนนเยาวราช ตั้งแต่วงเวียนโอเดียน มุมหัวถนนเยาวราช ไปสิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่างตรงมุมหัวถนนบริพัตร

ศิลปะบนฝาท่อ

ถนนเยาวราช หรือ ย่านไชนาทาวน์ ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นถนนสายสั้นๆ ระยะทางเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่เป็นจุดกำเนิดประวัติศาสตร์มากมาย เช่น ตึกสูง 7 ชั้นที่มีลิฟต์แห่งแรกของไทยและเป็นแหล่งรวมความบันเทิงเริงรมย์ครบวงจรจนเป็นที่มาของวลี “สวรรค์ชั้น 7” ตำนานสตรีทฟู้ดที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์กลางการค้าทองคำของประเทศจึงถูกเรียกว่า “ถนนสายทองคำ” การก่อตั้งมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย และห้างสรรพสินค้ายุคแรกที่สร้างกลยุทธ์ลดราคาสินค้าแบบล้างสต๊อกจนเกิดคำว่า “รุสต๊อก” ขึ้นเป็นครั้งแรกก็อยู่ในย่านเยาวราช

ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชุมชน เยาวราช ได้รับการนำมาบอกเล่าผ่าน ศิลปะบนฝาท่อ โดยทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมมือกับชุมชนและเครือข่าย นักวิชาการประวัติศาสตร์และศิลปินอิสระ สร้างสรรค์ ศิลปะบนฝาท่อทึบจำนวน 18 ฝา และนำไปติดตั้ง ณ จุดที่เชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตลอดเส้นถนนตั้งแต่วงเวียนโอเดียน มุมหัวถนนเยาวราช ไปสิ้นสุดที่สะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่างตรงมุมหัวถนนบริพัตร

ถนนเยาวราชสร้างขึ้นใน พ.ศ.2434 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยแทรกลงระหว่างถนนสำเพ็งและเจริญกรุงเพื่อเป็นการขยายพื้นที่ค้าขายและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

ศิลปะบนฝาท่อ
จากซ้าย : กฤษณสมพล เอมะสิทธิ์, ปรีดา ปรัตถจริยา และ ยุภาวรรณ ดวงอินตา

“ถนน เยาวราช มีความคดเคี้ยวตามธรรมชาติ เพราะตอนสร้างรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้กระทบชาวบ้านให้น้อยที่สุด และบางครั้งต้องหลบหลีกอาคารในปกครองของต่างชาติ จึงมิได้เป็นถนนตัดตรงเหมือนเจริญกรุงและทรงวาด ด้วยรูปทรงถนนที่คดเคี้ยวในย่านชุมชนจีนจึงเรียกว่า ‘ถนนสายมังกร’ โดยส่วนหัวอยู่ตรงวงเวียนโอเดียน ส่วนช่วงแปลงนามและแยกมังกรเป็นส่วนท้องพอดีกับที่เป็นแหล่งสตรีทฟู้ด และส่วนปลายอยู่แถวคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นแหล่งน้ำ นับเป็นชัยภูมิตามธรรมชาติของถนนที่ลงตัว”

ปรีดา ปรัตถจริยา ที่ปรึกษาโครงการด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนย่านไชนาทาวน์ และแฟนพันธุ์แท้เยาวราชปี 2003 กล่าว

ด้านฝาท่อผลิตจากโรงงานหล่อเหล็กในไทยด้วยเหล็กรีไซเคิลและลงสีด้วยโทนสีไทยโทนพร้อมเคลือบแข็ง

ศิลปะบนฝาท่อ

“ที่เมืองนอกอย่างเช่นอเมริกาและญี่ปุ่นใช้ ศิลปะบนฝาท่อ เป็นสื่อโปรโมตการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชน แต่ในเมืองไทยยังถือเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งผมคิดว่าสามารถนำมาเชื่อมโยงเรื่องราวของชุมชนเก่าแก่ที่เป็น living museum ได้ เมืองเก่าเต็มไปด้วยเสน่ห์และเรื่องเล่า ซึ่งถ้าไม่มีใครมาสานต่อก็จะหายไปตามกาลเวลา ศิลปะบนฝาท่อ เป็นสื่อที่รวบรวมและสะท้อนเรื่องราวบางส่วนของชุมชนผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ” ปรีดากล่าว

นอกจากจะใช้สตรีทอาร์ตเป็นตัวกระตุ้นเปิดพิกัดใหม่การท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน อีกแง่มุมหนึ่งคือการจุดประกายให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

“ใต้ฝาท่อเต็มไปด้วยกากไขมันมหาศาล เพราะอาหารจีนมีความมันเยอะ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้สร้างเครื่องต้นแบบผลิตไบโอดีเซลจากกากไขมัน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐสามารถผลิตเป็นพลังงานทดแทนและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” ดร. ยุภาวรรณ ดวงอินตา แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และที่ปรึกษาโครงการกล่าวเสริม

ศิลปะบนฝาท่อ

ส่วนใครที่อยากรู้ว่าฝากท่อแต่ละลายเล่าถึงประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์เยาวราชไว้อย่างไร เซฟโพสต์นี้ ดาวน์โหลดแอป bit.ly/Download_Coral_CHTOWN1 แล้วออกไปตามหา 18 ฝาท่อทั้งของจริงและแบบดิจิทัลพาสปอร์ตกันได้เลย แถมเมื่อโชว์แอป Coral ยังสามารถรับของที่ระลึกจากร้านค้าบนถนนเยาวราชได้อีกด้วย เช่น รับสติกเกอร์ลายฝาท่อสุดลิมิเต็ดที่ร้าน Culture Connex ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ใครอยากเปิดประสบการณ์เที่ยวเยาวราชในเส้นทางใหม่ตามมาได้เลย

ศิลปะบนฝาท่อ

Location : หน้าโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ

Title : “เราคือเพื่อนพ้องพี่น้องชาวจีน” ออกแบบโดย แทนใท พรจันทร์ทอง

History in brief : บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ วงเวียนโอเดียน ถือเป็นหัวถนนเยาวราชหรือหัวของมังกร และจุดเริ่มต้นของถนนเป็นที่ตั้งของ โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ สถานที่สำคัญที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวจีน 5 เชื้อชาติที่อาศัยในย่านเยาวราช ได้แก่ แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ และฮกเกี้ยน ในการก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เมื่อ พ.ศ. 2445 เพื่อให้บริการการแพทย์แผนจีน และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เป็นประธานพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2448 ต่อมาได้มีการขยายบริการสู่การแพทย์แผนปัจจุบันนับตั้งแต่ พ.ศ2500 เป็นต้นมา

โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ถือเป็นองค์กรการกุศลที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ถือเป็นลำดับที่ 1/1 นอกจากนี้ด้านหน้าของโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิคือ ศาลเจ้าแม่กวนอิม ประดิษฐานรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางประทานพร ที่แกะสลักจากไม้และเป็นศิลปะแบบราชวงศ์ถัง อายุเก่าแก่นับพันปี โดยอัญเชิญมาจากประเทศจีนราว พ.ศ. 2501 และเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของชุมชนชาวจีน

“ในสมัยก่อนชาวจีนไม่นิยมการรักษาแบบฝรั่ง บรรดาเจ้าสัวใน เยาวราช จึงร่วมใจกันก่อตั้งมูลนิธิโดยไม่แสวงผลกำไรเพื่อให้การรักษาชาวจีนด้วยวิธีแพทย์แผนจีนโบราณที่คุ้นเคย เช่น การแมะ ฝังเข็ม ครอบแก้ว และสมุนไพรจีน เมื่อก่อนตัวอาคารมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ด้านหน้าถนนและศาลเจ้าอยู่ด้านหลังทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่ามีศาลเจ้าอยู่ตรงนี้ ต่อมาได้มีการรื้อและสร้างอาคารโรงพยาบาลใหม่ด้านหลังศาลเจ้า ทำให้ปัจจุบันด้านหน้าศาลเจ้าเปิดโล่งเห็นได้ชัดเจน ส่วนพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นอัญเชิญมาจากประเทศจีนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม โดยอัญเชิญมาอยู่ที่บ้านเจ้าสัวท่านหนึ่งก่อนที่อดีตประธานมูลนิธิขอให้ย้ายมาประดิษฐานที่นี่ เพราะชาวจีนศรัทธาว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่ดูแลผู้คนให้หายเจ็บป่วยและพ้นทุกข์” กฤษณสมพล เอมะสิทธิ์ ไกด์ประวัติศาสตร์อิสระและที่ปรึกษาโครงการให้ข้อมูล

Design decode : ศิลปินใช้สัญลักษณ์รูปมือทั้ง 5 จับกันอยู่ตรงกลางภาพเพื่อสื่อถึงประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ โดยกลุ่มคหบดีชาวจีน 5เชื้อชาติที่อาศัยในย่านเยาวราช และภาพซุ้มประตูจีนของมูลนิธิฯ รอบๆ ภาพยังประกอบด้วยสัญลักษณ์สื่อถึงการรักษาแบบแพทย์แผนจีนโบราณ เช่น การแมะ ครอบแก้ว ฝังเข็ม การชั่งยาลูกกลอน และสมุนไพรจีนต่างๆ บริเวณขอบนอกของทุกฝาท่อออกแบบเป็นขอบสีดำ ด้านในเขียนคำว่า ไชนาทาวน์ และถนนเยาวราชเป็นภาษาไทยและอังกฤษ คั่นด้วยรูปค้างคาว 5 ตัว ที่ถือเป็นสัตว์มงคลของชาวจีน หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ และธาตุทั้ง 5 คือ น้ำ ไม้ ไฟ ดิน และทอง

ศิลปะบนฝาท่อ

Location : ทางม้าลาย ข้ามแยกถนนลำพูนไชย

Title : “เรืองรอง รุ่งเรือง เยาวราช” ออกแบบโดย แทนใท พรจันทร์ทอง

History in brief : ระบบรถรางในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ ปี 2431 โดยการใช้ม้าเทียมรถในการลาก ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะชนิดแรกของสยาม ต่อมามีการพัฒนาเป็นการใช้ระบบไฟฟ้าในปี พ.ศ.2436 โดยเส้นทางสายแรกวิ่งจากสนามหลวง เข้าถนนเจริญกรุงถึงถนนตก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถรางเริ่มเสื่อมความนิยมพร้อมๆ กับสัมปทานการเดินรถต่างๆ ของเอกชนสิ้นสุดลง จนในที่สุดกิจการรถรางถูกยกเลิกไปในปี 2511 และแทนที่ด้วยรถเมล์

Design decode : “รถรางจะวิ่งอยู่ฝั่งขวาของถนนเยาวราช รูปบนฝาท่อด้านซ้ายคือ โรงแรมเอ็มไพร์ ที่เป็นตึกสีฟ้าเขียว (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) และเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ส่วนขวามือสีน้ำตาลในรูปเป็นโรงหนังเฉลิมบุรี (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งถือเป็นโค้งแรกที่เป็นตึกสวยของเยาวราชที่รถรางวิ่งผ่าน ป้ายจอดรถรางที่หลงเหลืออยู่อันสุดท้ายอยู่ที่ถนนเยาวราช เป็นป้ายคล้ายธงสามเหลี่ยมสีแดงมีรูปดาวสีขาวอยู่ตรงกลาง ปัจจุบันทางเขตสัมพันธวงศ์เก็บรักษาไว้” ปรีดา ปรัตถจริยา ที่ปรึกษาโครงการด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนย่านไชนาทาวน์กล่าว

เยาวราช

Location : ทางม้าลายแยกเฉลิมบุรี หน้า 7-11

Title : “ความบันเทิงเยาวราชในอดีต” ออกแบบโดย วรภัค ทัศมากร

History in brief : “บริเวณย่านนี้เต็มไปด้วยแหล่งบันเทิงเริงรมย์ของนักท่องราตรีที่ขึ้นชื่อที่สุดในพระนคร มีโรงน้ำชา คาสิโนที่เป็นบ่อนเล่นไพ่นกกระจอก ระบำจ้ำบ๊ะ โรงแรม และอาบอบนวดแห่งแรกก็เกิดขึ้นที่เยาวราช สมัยก่อนเมื่อคนขึ้นเรือจากท่าแถวทรงวาดและราชวงศ์ก็จะมาที่เยาวราชเพื่อมาซื้อทองและนาฬิกา จากนั้นท่องราตรีต่อ เพราะมีครบทุกอย่าง เป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหล” ปรีดากล่าว

Design decode : ภาพผู้หญิงถือพัด โคมไฟสีแดง กาน้ำชา ป้ายโรงแรม ไพ่นกกระจอก ลูกเต๋า และทองแท่งโบราณ ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเยาวราช ที่เป็นศูนย์กลางของความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในอดีต

เยาวราช

Location : ทางม้าลายแยกเฉลิมบุรีหน้าร้านเฮง เฮง ซูเปอร์มาร์เก็ต

Title : “สวรรค์ชั้น 7” ออกแบบโดย วรภัค ทัศมากร

History in brief : ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปในอดีตมีความสูงอย่างมากแค่ 3-4 ชั้น แต่มีการสร้างตึกสูงเกิน 4 ชั้นครั้งแรกของประเทศที่ใจกลางเยาวราช โดยเฉพาะตึก 7 ชั้นที่สร้างเมื่อพ.ศ.2469 ในสมัยรัชกาลที่ 7 (ปัจจุบันคือโรงแรมไชน่าทาวน์) ซึ่งถือเป็นตึกที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในเวลานั้น และเป็นแหล่งรวมความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจนเป็นที่มาของวลี “สวรรค์ชั้น 7”

“ตึก 7 ชั้นนี้เป็นตึกที่มีลิฟต์แห่งแรกของไทย มีไนท์คลับบนยอดตึก มีภัตตาคาร คาสิโน โรงแรม ห้องจัดแสดงสัตว์แปลก และร้านค้าเพชรพลอย เรียกได้ว่าเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ที่ครบวงจร” ปรีดากล่าว

Design decode : ภาพชายหญิงเต้นรำ ไฟดิสโก ไมค์ และโน้ตดนตรี และภาพอาคารสีสันสดใส สื่อถึงตึก 7 ชั้นที่นำเสนอความบันเทิงหลากหลายรูปแบบเพื่อปลดเปลื้องความเครียดจนกลายเป็นวลีฮิต “สวรรค์ชั้น 7” ที่หมายถึงการมีความสุขอย่างมาก

เยาวราช

Location : ป้ายรถเมล์หน้าร้านปังปัง เยาวราช

Title : “โต๊ะจีน” ออกแบบโดย วรภัค ทัศมากร

History in brief : แหล่งรวมของอร่อยยืนหนึ่งทั้งในรูปแบบภัตตาคารเก่าแก่ระดับตำนานจนถึงสตรีทฟู้ดเจ้าดังรสเด็ดต้องยกให้ย่านเยาวราช ที่ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้ามาลองลิ้มชิมรสไม่ขาดสาย นอกจากนี้ลูกหลานเยาวราชยังได้ต่อยอดด้วยการนำวัตถุดิบดั้งเดิมในพื้นที่มาบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านร้านอาหารทั้งในรูปแบบไฟน์ไดนิงและฟิวชัน ที่นอกจากจะได้ลิ้มรสอร่อยแล้วยังเคล้าไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตในอดีต เช่น ร้าน โพทง (Potong) ของเชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของห้างขายยาโพทง ได้รีโนเวทร้านเก่าของครอบครัวให้เป็นร้านอาหารไฟน์ไดนิงรางวัลมิชลิน ที่เสิร์ฟอาหารไทยจีนประยุกต์ในอาคารเก่าซึ่งผ่านการอนุรักษ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และร้านอาหาร HOR FUN (หอฝัน) ที่นำวัตถุดิบในชุมชนตลาดเก่าเยาวราชที่หลายคนคุ้นตาอย่างกานาฉ่าย กุนเชียง และไชโป๊ มาทวิสต์เป็นเมนูแบบโฮมคุกฟิวชัน

Design decode : “ตรงบริเวณที่ตั้งธนาคารกรุงไทยเป็นจุดเริ่มต้นของภัตตาคารจีนที่เสิร์ฟติ่มซำและหูฉลาม แต่ในภาพลวดลายบนฝาท่อเราจะไม่นำเสนอภาพหูฉลาม แถวนี้มีร้านเก่าแก่มากมาย เช่น ภัตตาคารกวางเจา หรือร้านเล็กๆ ที่ขายโจ๊กและบะหมี่รสชาติดั้งเดิม” ปรีดากล่าว

เยาวราช

Location : หน้าร้านฮั่วเซงฮง

Title : “โรงงิ้ว” ออกแบบโดย วรภัค ทัศมากร

History in brief : .ในอดีตรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเยาวราช คือ งิ้ว จึงเต็มไปด้วยโรงงิ้วมากมายหลายสิบโรงและกระจัดกระจายไปถึงสำเพ็งและเจริญกรุง ต่อมาเมื่อละครเวทีและภาพยนตร์เข้ามามีบทบาทสร้างความบันเทิงจนกลายเป็นยุคโรงหนัง การเล่นงิ้วก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงและโรงงิ้วได้ล้มเลิกกิจการไปอย่างสิ้นเชิงในราว พ.ศ.2534 แต่หากต้องการย้อนรอยประวัติศาสตร์ของคณะงิ้วแนะนำให้ไปเยือน พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่ชื่อว่า “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” ตั้งอยู่ในชุมชนเจริญไชยซึ่งเป็นย่านตึกแถวเก่าอายุกว่า 100 ปีในซอยเจริญกรุง 23 และเป็นแหล่งค้าขายกระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

บ้านที่ใช้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นแต่เดิมเป็นที่อยู่ของนักแสดงงิ้วคณะเฮียเฮง และปล่อยทิ้งร้างมานาน นิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์จึงนำเสนอเรื่อง “หลังม่านงิ้ว” เพื่อรำลึกถึงผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องนี้ด้วยการจำลองบรรยากาศหลังเวทีการแสดงงิ้ว ประกอบด้วย เสื้อผ้า หีบใส่เครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับ อุปกรณ์แต่งหน้า โต๊ะแต่งตัว อาวุธที่ใช้ในการแสดง ส่วนมุมด้านล่างของโรงงิ้วจำลองจัดแสดงประวัติศาสตร์ย่อยของชุมชน มีข้าวของเครื่องใช้และรูปถ่ายเก่า

Design decode : “สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงงิ้ว 5 โรงที่เล่นประชันกัน ยุครุ่งเรืองของคณะงิ้วน่าจะถอยไปราว 60 ปีก่อน ตอนนี้ไม่มีหลงเหลืออีกแล้ว ส่วนคณะงิ้วที่เล่นเวลามีงานตามศาลเจ้ากลายเป็นคณะคาราวานและส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวที่ร้องเพลงจีนได้” ปรีดากล่าว

Location : หน้าซุ้มประตูทางเข้าตลาดเก่าเยาวราช

Title: “ตลาดเก่าเยาวราช” ออกแบบโดย จุฤทธิ์ กังวานภูมิ

History in brief : ตลาดเก่าเยาวราช หรือที่คนจีนเรียกกันว่า “เหล่าตั๊กลัก” ตั้งอยู่ใจกลางถนนเยาวราช รายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญมากมายทั้งศาลเจ้ากวนอู สำเพ็ง ตรอกโรงโคม ตรอกเล่งบ๊วยเอี๊ยะ และยังเป็นแหล่งรวมร้านอาหารน้อยใหญ่ทั้งห้องแถว รถเข็น และหาบเร่แผงลอยมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นทำเลท้องมังกรซึ่งอิ่มอร่อยได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

“ที่ศาลเจ้ากวนอู นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้ากวนอูที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากแล้ว ยังมีเทพเจ้าม้าซึ่งเป็นม้าประจำกายของเทพเจ้ากวนอู ผู้ที่มาสักการะที่นี่เชื่อว่าจะช่วยให้เติบโตในหน้าที่การงานจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มข้าราชการและบรรดานักการเมือง” ดร. ยุภาวรรณ ดวงอินตา แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และที่ปรึกษาโครงการฝาท่อเยาวราชกล่าวเสริม

Design decode : “ในภาพนำซุ้มประตูใหม่ของตลาดมาเป็นซิกเนเจอร์และเต็มไปด้วยร้านค้าที่ขายวัตถุดิบต่างๆ เช่น ปลาเค็ม หมึกแห้ง กุ้งแห้ง และกระเพาะปลา เป็นแหล่งสตรีทฟู้ดยุคแรกๆ ที่ชาวต่างชาตินิยมโดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่งชื่อ ไฟเขียว เพราะได้เห็น live cooking และอาหารรสชาติดีพร้อมกับได้จิบเบียร์ริมถนนทำให้บรรยากาศคึกคัก” ปรีดากล่าว

Location : หน้าทางเข้าตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

Title : “ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ” ออกแบบโดย จุฤทธิ์ กังวานภูมิ

History in brief : ตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยะ อยู่ในซอยเยาวราช 6 ตรงข้ามตลาดเก่าฝั่งถนนเยาวราช หรือถ้ามาจากทางถนนเจริญกรุงจะเป็นซอยเจริญกรุง 16 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ ที่นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเยาวราชที่จำหน่ายวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารจีนแทบทุกชนิด นอกจากนี้ในซอยยังมี ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี

ในอดีตมีชื่อเรียกว่า ตรอกเจ๊สัวเนียม โดยตั้งตามชื่อของชาวจีนแต้จิ๋วเจ้าของตลาดเก่า คือ เจ๊สัวเนียม คหบดีผู้มั่งคั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งมีอาชีพปล่อยกู้และผูกอากรจนได้ยศเป็นพระศรีทรงยศ อีกทั้งยังลงทุนเพื่อพัฒนาที่ดินโดยการให้เช่าตึกแถว ลูกสาวของเจ๊สัวเนียมได้แต่งงานกับพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) และมีลูกหลานดูแลธุรกิจและที่ดินทรัพย์สินของตระกูลในชื่อของบริษัทไพบูลย์สมบัติจนถึงปัจจุบัน ตรอกนี้จึงเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ตรอกอิศรานุภาพ

บรรยากาศตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยะ

ในการศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสันฐานย่านสำเพ็ง กรณีศึกษาตรอกอิศรานุภาพ” โดย ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ และ เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตลาดเจ๊สัวเนียมนับเป็นธุรกิจเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสยาม ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2390 และแต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นโรงฆ่าสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และด้านหลังตลาดเป็นแหล่งส่งออกปลาเค็มที่มีชื่อเสียง ที่ตั้งของตลาดเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีการค้าขายอย่างหนาแน่นทั้งในตลาดและบริเวณโดยรอบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการขนส่งสินค้าหลากหลายประเภทและมีโกดังสินค้าอยู่ไม่ไกล อีกทั้งยังเข้าถึงได้จากทั้งทางน้ำและทางบก และตั้งอยู่ในย่านชุมชนจีนที่มีประชากรจำนวนมาก

Design decode : “มาครบจบที่เดียว” ที่ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เพราะรวมร้านเก่าแก่ดั้งเดิมของชุมชนที่มีสินค้าให้เลือกมากมายทั้งของสด ของแห้ง ขนม ชา เครื่องเทศ และเครื่องปรุงต่างๆ เช่น ซอส เหล้าจีน หลายครอบครัวนิยมมาจัดหา “ซาแซ” หรือ “โหงวแซ” กันที่นี่และจะคึกคักอย่างมากในช่วงเทศกาลตรุษจีน

Location : ทางม้าลายปากซอยถนนมังกร หน้าร้านทองทองใบเยาวราช

Title : “ห้างทอง” ออกแบบโดย รัชดาภรณ์ เหมจินดา

 History in brief : ถนนเยาวราชถือเป็นจุดกำเนิดการค้าทองคำและเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำของประเทศจึงถูกเรียกว่า “ถนนสายทองคำ” ร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในเยาวราชคือ ร้านทองตั้งโต๊ะกัง ที่ดำเนินกิจการมากว่า 130 ปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งคือ นายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามและเริ่มก่อร่างสร้างตัวด้วยการรับจ้างเป็นช่างทำทองแถวท่าน้ำราชวงศ์จนสามารถเป็นเจ้าของกิจการร้านทองขนาดเล็กในซอยวานิช 1 หรือสำเพ็ง (ในเวลานั้นยังไม่ได้มีการตัดถนนเยาวราช) 

ร้านทองตั้งโต๊ะกัง ถือว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือของร้านทองในยุคบุกเบิกการค้าทองคำในไทยซึ่งประกอบด้วย ตั้งโต๊ะกัง, งี่ซุยเฮ็ง, เซ่งซุ่นหลี และอี้ซุนมุ่ย ที่มีอำนาจในการกำหนดราคาทองคำให้มีอัตราเดียวกันได้คล้ายกับสมาคมทองคำ แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงร้านทองตั้งโต๊ะกังที่ยังยืนหยัดมาถึง 4 ชั่วอายุคน ต่อมาเมื่อมีร้านทองขยายเพิ่มขึ้นมาเป็น 11 ร้าน จึงมีการก่อตั้ง “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง” ขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรฐานการค้าทองร่วมกันและภายหลังจึงมีการจัดตั้งเป็น “สมาคมค้าทองคำ” ในปี 2526 ปัจจุบันมีร้านค้าทองในย่านเยาวราช สำเพ็ง และเจริญกรุงมากกว่า 100 ร้าน

สองฝั่งถนนเยาวราชเต็มไปด้วยร้านทอง

Design decode : “ในภาพมีป้ายมงคลเป็นภาษาจีน แปลว่า เงิน ทอง นาก หยก บริบูรณ์เต็มบ้านเต็มเมือง และกำปั่นเพื่อใช้เก็บเงินเก็บทองเพื่อความมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังมีภาพมังกร เงินโบราณ ดอกไม้มงคล เห็ดหลินจือที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์และอายุยืนนาน เนื่องจากในสมัยโบราณนิยมนำมาเป็นของบรรณาการให้เจ้านายชั้นสูง รวมไปถึงภาพค้างคาวคาบเหรียญอยู่บนกองเงินกองทอง เพราะค้างคาวเป็นสัตว์มงคลของจีนสื่อถึงความโชคดีมีสุข” ปรีดาอธิบาย

Location : ทางม้าลายปากซอยถนนมังกร หน้าห้างทองเล่งหงษ์

Title : “ของขวัญ” ออกแบบโดย ดุสิตา วระพงษ์สิทธิกุล

History in brief : เยาวราชถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วพร้อมๆ กับการก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดให้พสกนิกรที่อาศัยบริเวณนั้นโยกย้ายออกไป มีทั้งชาวแขก มอญ และญวน สำหรับชาวจีนโปรดให้ย้ายไปอยู่รวมกันในพื้นที่แถบคลองวัดสามปลื้มขึ้นไปจนถึงคลองสำเพ็ง โดยเริ่มจากชาวจีนไม่กี่ร้อยคนที่ตั้งรกรากและค่อยๆ ขยายตัวเติบโตจนครอบคลุมเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน ย่านสำเพ็งถือเป็นศูนย์กลางการค้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยสินค้าจิปาถะในราคาขายส่ง โดยเฉพาะร้านกิฟต์ช็อปที่ตั้งเรียงรายจำนวนมาก

Design decode : ร้านกิฟต์ช็อปในย่านสำเพ็งเป็นจุดหมายลำดับต้นๆ ที่ผู้คนนิยมเดินทางมาจับจ่ายซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ รูปบนฝาท่อจึงออกแบบเป็น “แจกันใหญ่” ซึ่งเป็นสิ่งของที่นิยมมอบให้แก่กันเพื่อความเป็นสิริมงคลและแทนคำอวยพร ตามความเชื่อที่ว่าหากบ้านไหนที่มีแจกันใหญ่อยู่ บ้านนั้นก็จะมีแต่ความสันติสุข ลายมังกรและดอกบัวตรงกลางแจกันยังแทนตำแหน่งของฝาท่อนี้ที่อยู่บนถนนเยาวราชตรงจุดที่แบ่งถนนมังกรออกเป็นสองฝั่งพอดี

ลวดลายบนแจกันเป็นลายดอกไม้สี่ฤดู คือ ดอกเบญจมาศ (ฤดูใบไม้ร่วง) พ้องเสียงกับคำว่า คงอยู่ยาวนาน เป็นการอวยพรให้อายุยืนยาว ดอกบ๊วย (ฤดูหนาว) สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ ยังคงผลิดอกสวยงามได้แม้อยู่ท่ามกลางลมหนาว ดอกบัว (ฤดูร้อน) แทนความโชคดี และดอกกล้วยไม้ (ฤดูใบไม้ผลิ) หมายถึงความซื่อสัตย์ ถ่อมตัว และมั่งคั่ง จึงได้ซ่อนดอกกล้วยไม้เอาไว้ไม่ให้โดดเด่นเหมือนดอกอื่นๆ แต่รายล้อมด้วยเหรียญทองรอบๆ

Location : ทางเข้าตรอกวัดบำเพ็ญจีนพรต (ตรอกโคมเขียว)

Title : “สุกี้เยาวราช” ออกแบบโดย ณัฐพร เวสารัชตระกูล

History in brief : ตรอกวัดบำเพ็ญจีนพรต ในซอยเยาวราช 8 เป็นที่ตั้งของวัดจีนนิกายมหายานคือ วัดบำเพ็ญจีนพรต (วัดย่งฮกยี่) และบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของ วัดกันมาตุยาราม ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และวัดญวนคือ วัดกุศลสมาคร ตรอกนี้ยังเป็นต้นกำเนิดสุกียากี้เยาวราชแม้จะอยู่ใกล้กับวัดที่ถือศีลกินเจ

Design decode : “ในซอยนี้เป็นต้นกำเนิดสุกียากี้เจ้าแรกๆ ในไทย สมัยก่อนมีร้านสุกี้ตังปัก ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้วจะใช้หม้ออะลูมิเนียมตั้งบนเตาถ่าน แต่ร้านเก่าแก่ที่อยู่มาจนถึงปัจจุบันคือ ร้านไท้เฮง ที่อยู่ใกล้กับวัดบำเพ็ญจีนพรต เป็นสุกียากี้แบบแต้จิ๋ว ตั้งหม้อบนเตาถ่าน ต่อมาเปลี่ยนเป็นเตาแก๊ส และเตาไฟฟ้าในปัจจุบัน” ปรีดากล่าว

ศิลปะบนฝาท่อ

Location : ทางม้าลายแยกราชวงศ์ หน้าบริษัทแมวดำยูเนียน

Title : “ห้างใต้ฟ้า 8 bit” ออกแบบโดย ณัฐพร เวสารัชตระกูล

History in brief : ในอดีตบริเวณหัวมุมแยกเยาวราชตัดกับถนนราชวงศ์ถือเป็นทำเลทองและเป็นที่ตั้งของ ห้างใต้ฟ้า ห้างสรรพสินค้ายุคแรกของไทยและหรูหราที่สุดในย่านเยาวราช โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2475 ห้างใต้ฟ้าเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และเสื่อไม้ไผ่อย่างดีจากประเทศจีน จึงเป็นห้างยอดนิยมของคนไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของภัตตาคารชื่อดัง สากลภัตตาคาร หรือ ก๊กจี่เหลา ห้างดำเนินกิจการได้ประมาณ 50 ปี จนกระทั่งหมดสัญญาและตึกถูกทุบทิ้งไป ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ โรงแรมแกรนด์ไชน่า

Design decode : สื่อถึงห้างใต้ฟ้าในอดีตที่โด่งดัง ณ แยกราชวงศ์ และอยู่ในความทรงจำของศิลปินที่พ่อแม่เคยพามาเที่ยวที่ถนนเยาวราช โดยใช้กราฟิกเทคนิค 8 บิต เหมือนในเกมสมัยก่อน

ศิลปะบนฝาท่อ

Location : ทางม้าลายแยกราชวงศ์ หน้าร้าน LK BEAUTY

Title : “ห้างใต้ฟ้า” ออกแบบโดย ธนากร ดีอ่วม

History in brief : ยุคเริ่มแรกของถนนเยาวราช เกิดห้างสรรพสินค้าอย่างน้อย 2 แห่ง และห้างดังในยุคแรกคือ ห้างใต้ฟ้า และความตื่นเต้นก็คือนี่เป็นที่แรกในเมืองไทยที่มีการขายของเลหลังลดราคาแบบไม่อั้น หรือเรียกว่า “รุสต๊อก” เนื่องจากเมื่อเปิดกิจการมาได้ 25 ปี ในปี พ.ศ. 2500 ห้างใต้ฟ้าได้โฆษณาประกาศลดราคาสินค้าในห้างครั้งใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจึงหลั่งไหลกันมาซื้อของลดราคาที่ห้าง ทำให้คำว่า “รุสต๊อก” เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแรกจากการขายลดราคาของห้างในเยาวราช

Design decode : ถ่ายทอดบรรยากาศคึกคักของแยกราชวงศ์ในวันวาน และความนิยมของห้างใต้ฟ้าซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกเยาวราชตัดกับถนนราชวงศ์

ศิลปะบนฝาท่อ

Location : ทางม้าลายหน้าธนาคารกรุงไทย สาขาเยาวราช

Title : “เสื่อผื่นหมอนใบ” ออกแบบโดย ภัทรายุ วัฒนพานิช

History in brief : เยาวราชเป็นถนนสายเศรษฐกิจสำคัญและมีธนาคารหลายแห่งถือกำเนิดขึ้นบนถนนสายเศรษฐกิจเส้นนี้ หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงไทย ที่สาขาแรกตั้งอยู่บนถนนเยาวราชและเปิดดำเนินกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2509 จากการรวม 2 ธนาคารที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น ได้แก่ ธนาคารเกษตร จำกัด และธนาคารมณฑล จำกัด

Design decode : จากบรรพบุรุษที่หอบเสื่อผืนหมอนใบและข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย ชาวจีนดิ้นรนต่อสู้สร้างฐานะจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงและถ่ายทอดเลือดมังกรจากรุ่นสู่รุ่นจนสามารถสร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ทางการค้าในใจกลางกรุงเทพฯ และกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ในภาพจึงแทนด้วยสัญลักษณ์ เรือสำเภา เงินเหรียญ ทองคำโบราณ ซุ้มประตูเยาวราช และภาษาจีนแปลว่า ร่ำรวย

เยาวราช

Location : ทางม้าลายตรงข้ามธนาคารไทยเครดิต

Title : “คลองถม” ออกแบบโดย ธนากร ดีอ่วม

History in brief : บริเวณวัดตึก คลองถม และสะพานเหล็ก เป็นอีกย่านที่คึกคักที่สุดของเยาวราช มีสินค้าวางขายเกลื่อนกลาด ตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นตา นาฬิกา ของเล่น วิดีโอเกมและหนัง อุปกรณ์ถ่ายภาพ เครื่องเขียน เสื้อผ้า และของมือสอง ย่านนี้มีทั้งสินค้าของแท้ สินค้าหนีภาษี และของเลียนแบบ เริ่มแรกเป็นแผงลอยในบริเวณข้างทางตามตรอกซอกซอยของวัดตึกมาก่อน ต่อมาทางเขตและ กทม. จัดการให้มาขายเป็นสัดส่วนบริเวณคลองถม แล้วจึงขยายมายังบริเวณสะพานเหล็กและคลองโอ่งอ่าง ซึ่งนับเป็นแหล่งที่ผู้คนนิยมมาหาของเล่นกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรถบังคับ ฟิกเกอร์ ตุ๊กตา และแผ่นเกมต่างๆ ปัจจุบันร้านค้าถูกรื้อถอนเพื่อจัดระเบียบคลองและชุมชนแวดล้อมเมื่อ พ.ศ. 2558 และให้ย้ายมาขายรวมกันในห้างชื่อMega Plaza สะพานเหล็ก ซึ่งในอดีตคือ ห้างเมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา

Design decode : ถ่ายทอดความสนุกสนานราวกับว่าได้เล่นเกมค้นหาสมบัติท่ามกลางไฟสลัวของตลาดคลองถมในความทรงจำ เป็นแหล่งขายของสารพัด ตั้งแต่อะไหล่ นอต ของเล่นเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของสะสม หรือของมือสอง

เยาวราช

Location : ป้ายรถเมล์ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์

Title : “ชุมชนเลื่อนฤทธิ์” ออกแบบโดย แทนใท พรจันทร์ทอง

History in brief : กลุ่มอาคารพาณิชย์เก่ายุคนีโอคลาสสิก อายุกว่า 100 ปี ที่สร้างตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ของชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับการฟื้นฟู (rehabilitation) โดยแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพของอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันและยังเก็บรักษาคุณค่าของความเป็นกลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ของชุมชนกลับคืนมาได้อีกครั้ง ภารกิจฟื้นฟูสภาพของกลุ่มอาคารพาณิชย์จำนวนกว่า 230 คูหา ได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยามว่า “เป็นการปรับประโยชน์ใช้สอยตึกแถวเก่าเพื่อใช้งานสืบต่อไปที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการพื้นที่ที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม และถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเองเป็นครั้งแรก” จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566 ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดีมาก

กลุ่มอาคารในชุมชนเลื่อนฤทธิ์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2452 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 บนเนื้อที่ราว 7 ไร่ โดยคุณหญิงเลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์และได้ขายที่ดินให้แก่กรมพระคลังข้างที่และให้ประชาชนทั่วไปเช่า ต่อมาชาวจีนแคะเข้ามาเช่าตึกที่นี่ทำธุรกิจปักเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงกลุ่มชาวอินเดียจากแคว้นปัญจาบซึ่งมีอาชีพขายผ้าจึงทำให้กลายเป็นแหล่งขายผ้าและขายตาชั่ง จนกระทั่งปี 2544 ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และต่อมาได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งบริษัทและได้รับอนุมัติทำสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นระยะเวลาเช่า 30 ปี (สิ้นสุดสัญญาเช่าในปี 2593) โครงการฟื้นฟูกลุ่มอาคารพร้อมงานขุดค้นทางโบราณคดีจึงเริ่มดำเนินการในปี 2557 เมื่อชุมชนทยอยย้ายออกชั่วคราวและแล้วเสร็จเมื่อปี 2564  

Design decode : “เอกลักษณ์ของชุมชนคือสถาปัตยกรรมที่สวยงามของอาคารพาณิชย์และยังคงมีร้านเก่าแก่ที่ขายตาชั่ง เมื่อก่อนที่นี่เป็นจุดที่สวยมากจุดหนึ่งที่มองเห็นพระปรางค์ของวัดจักรวรรดิราชาวาสและเวลาที่แถวสะพานพุทธ มีจัดงานและจุดพลุ มุมตรงนี้ยิ่งสวยมากขึ้นไปอีก แต่ปัจจุบันตึกแถวบังจึงเห็นพระปรางค์เพียงครึ่งเดียว” ปรีดากล่าว

เยาวราช

Location : หน้าซุ้มประตูเวิ้งนาครเขษม

Title :  “เวิ้งนาครเขษม” ออกแบบโดย แทนใท พรจันทร์ทอง

History in brief : บริเวณเวิ้งนาครเขษมเป็นแหล่งค้าขายของชาวจีนมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ให้ชาวจีนย้ายมาอาศัยและค้าขายในย่านสำเพ็ง โดยเริ่มจากค้าขายแบบแบกะดินเรื่อยมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินบริเวณนี้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และมีการพัฒนาที่ดินและให้เช่าสิ่งปลูกสร้างกลายเป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องดนตรี เครื่องครัว เครื่องทองเหลือง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเก่า และของโบราณ

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณเวิ้งนาครเขษมซึ่งเป็นสมบัติกองมรดกรวมของ 5 ตระกูล ซึ่งเป็นทายาทของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต และมีสำนักงานบริพัตรเป็นผู้ดูแล ได้โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยราคาประมาณ  4,800 ล้านบาท ใน พ.ศ.2555 ซึ่งมีแผนจะลงทุนทำเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (mixed-use development) ประกอบด้วย โรงแรมลักชัวรี และพื้นที่ค้าปลีก

ชื่อของเวิ้งนาครเขษมกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อถูกใช้เป็นโลเคชันสำหรับถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง “Haegeum” ของ ชูก้า BTS เมื่อปี 2566 จนเกิดกระแสตามรอยย่านเก่าของกลุ่มแฟนคลับ

Design decode : “สมัยก่อนเมื่อชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยจะย้ายกลับประเทศ เขานิยมนำเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านต่างๆ มาขายที่เวิ้งนาครเขษม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าใครอยากจะหาของเก่าก็ต้องมาที่นี่ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีสากลมีครบทุกประเภทนำไปประกอบตั้งเป็นวงดนตรีได้เลย นอกจากนี้ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่นี่มีโรงหนังเล็กๆ เป็นโต๊ะไม้ เรียกว่าโรงหนังญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นมักนำหนังเงียบและสารคดีเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาฉายวนไปเพื่อแทรกซึมโปรโมทวัฒนธรรมของตัวเอง” กฤษณสมพลให้ข้อมูลซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินนำเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ มาเป็นไฮไลต์ของภาพเพื่อสื่อถึงย่านการค้าแห่งนี้

เยาวราช

Location : หัวมุมถนนบริพัตร

Title : “สะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง” ออกแบบโดย แทนใท พรจันทร์ทอง

History in brief : คลองโอ่งอ่าง คือหนึ่งในคลองรอบกรุงที่ขุดตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ความสำคัญของคลองแห่งนี้เชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดบก คือ สำเพ็ง พาหุรัด ที่ตั้งอยู่บนฝั่ง ทำให้สมัยก่อนย่านนี้จึงคึกคักทั้งส่วนของตลาดบกและตลาดน้ำทำให้บรรยากาศของบางกอกในยุคก่อนเปรียบได้กับเมืองเวนิสในซีกโลกตะวันออก แม้แต่สะพานหันที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้น (แบบดั้งเดิม) ก็สร้างตามรูปแบบซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากสะพานรีอัลโต ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

สองฝั่งซ้ายและขวาของคลองโอ่งอ่างคือพื้นที่ย่านค้าขายพาหุรัดและสำเพ็ง ส่วนถนนเลียบริมคลองต่อมาได้เป็นย่านร้านค้าที่แน่นขนัดของชาวสะพานเหล็ก โดยเฉพาะในยุค 80-90s ที่เป็นศูนย์รวมของร้านขายกล้อง เกม รถบังคับ หุ่นยนต์ และของเล่นนานาชนิด ก่อนจะถูกจัดระเบียบให้ย้ายไปขายอยู่ในห้าง Mega Plaza สะพานเหล็ก พร้อมกับการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ริมคลองโอ่งอ่างซึ่งแล้วเสร็จไปเมื่อต้นปี 2562 และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ถนนคนเดิน วาดสตรีทอาร์ต และลอยกระทง

Design decode : จากย่านขายของเล่น โมเดล เกมต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันพื้นที่ได้ถูกพัฒนาไปเป็นคลองโอ่งอ่างที่สวยงามและสะอาดมากขึ้น เป็นเสมือนการเติบโตของเมืองที่ผสานกันระหว่างสิ่งเก่าและใหม่

ขอบคุณสถานที่สัมภาษณ์ : โรงแรม ASAI Chinatown Bangkok www.asaihotels.com

Fact File

  • กรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ พร้อม 8 ศิลปินผู้ออกแบบฝาท่อ ร่วมกับแพลตฟอร์มของสะสมดิจิทัล Coral ชวนออกไปตามหาฝาท่อดีไซน์ใหม่ 18 ฝา พร้อมเก็บดิจิทัลพาสปอร์ต ศิลปะบนฝาท่อ ที่บอกเล่าอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของเยาวราช
  • ดาวน์โหลดแอป bit.ly/Download_Coral_CHTOWN1 แล้วออกไปตามหา 18 ดีไซน์ ศิลปะบนฝาท่อ ทั้งของจริงและแบบดิจิทัลพาสปอร์ตกันได้เลย

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว
ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม