พระนครทอดน่อง: คลองสาน-ท่าดินแดง ทวนเข็มนาฬิกาสำรวจชุมชนริมเจ้าพระยา
Lite

พระนครทอดน่อง: คลองสาน-ท่าดินแดง ทวนเข็มนาฬิกาสำรวจชุมชนริมเจ้าพระยา

Focus
  • คลองสาน-ท่าดินแดง ย่านพหุวัฒนธรรมที่หลายศาสนา ต่างความเชื่อ และนานาชาติพันธุ์ต่างร่วมกันอยู่ร่วมกันอาศัยกันอย่างกลมกลืนมานานกว่า 200 ปี
  • ย่านนี้มีหลายสิ่งให้แปลกตาและตื่นใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นกับวิถีชีวิตชาวฝั่งธนแบบดั้งเดิม

ท่ามกลางกระแสตื่นตัวทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมย้อนยุคในกรุงเทพฯ จะหาย่านไหนที่อุดมไปด้วยร่องรอยของบ้านเรือนอาคารที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้ดีไปกว่าย่าน คลองสาน-ท่าดินแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของความเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลายศาสนา ต่างความเชื่อ และนานาชาติพันธุ์ต่างร่วมกันอยู่ร่วมกันอาศัยกันอย่างกลมกลืนมานานกว่า 200 ปี

คลองสาน-ท่าดินแดง

คลองสาน-ท่าดินแดง ชุมชนเก่าแก่ที่มีเพื่อนบ้านอย่างชุมชนกะดีจีน ชุนชนวัดทองธรรมชาติ และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของจวนสมเด็จเจ้าพระยาสายสกุลบุนนาคถึง 4 ท่าน เป็นถิ่นย่านที่เดินไปไม่กี่ก้าวก็พบกับร่องรอยทางประวัติศาสตร์เก่า-ใหม่คั่นสลับแตกต่างกันเต็มไปหมด บางจุดอาจทรุดโทรมและถูกทิ้งร้างไปบ้าง แต่ก็ค่อย ๆ ได้รับการเอาใจใส่เก็บกวาดเจริญตาขึ้น โครงการพัฒนาจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนก็รอจ่อคิว ทำให้ในอนาคตย่านนี้น่าเดินเพลิน สมควรไปสำรวจก่อนที่เสน่ห์ความเก๋าจะเลือนหายไป Sarakadee Lite ขอนำเสนอจุดน่าเช็กอินเที่ยว คลองสาน-ท่าดินแดง โดยแบ่งเป็น 3 โซนสำคัญ ดังนี้

คลองสาน-ท่าดินแดง
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ฟากฝั่งอารามงาม

ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามด้านพระนครอุดมไปด้วยอารามหลวงสำคัญ ๆ มากมาย แต่สำหรับคอท่องวัด 3 พระอารามหลวงเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรีล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้หมุดหมายหลักคือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (สร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)) ด้านฝั่งชุมชนกะดีจีน ที่เจดีย์ขนาดใหญ่เคยได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์จากยูเนสโก (Unesco) มาแล้ว แต่อีก 2 อารามคนละด้านฝั่งสะพานก็มีคุณค่า และเสริมแสดงให้เห็นถึงบารมีของสกุลขุนนางชั้นสูงอย่างบุนนาค ที่อาณาเขตบ้านเรือนของสมาชิกในตระกูลเคยมีอย่างกว้างใหญ่ในเขตคลองสาน

คลองสาน-ท่าดินแดง
วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

หลังจากลงสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า หรือจะสะพานสวนลอยฟ้าก็ตามแต่ คนทั่วไปก็อดที่จะชื่นชมกับความสง่าของพระปรางค์สามยอดของ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร บริเวณเชิงสะพานด้านซ้าย ที่แม้จะถูกบดบังด้วยสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่มากมาย แต่ก็ยังเล็ดลอดอวดโฉม ยิ่งได้เดินมาใกล้ ๆ ตามแนวคลองสานที่ผ่านหน้าวัดอย่างมีสะพานขนาดเล็ก ๆ คั่น ก็ยิ่งอดข้ามเข้าไปสักการะไม่ได้ผู้เยี่ยมเยือนส่วนใหญ่มักจะรีบมุ่งเดินขึ้นไปส่วนบนของพระปรางค์เพื่อชมวิวมุมสูงของฝั่งธนบุรี ที่มีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นมากมายเป็นเส้นขอบฟ้า แต่ก็มิควรลืมโบสถ์สไตล์จีนด้านหน้าที่สร้างตามแนวพระราชนิยมในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ในช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ปรับปรุงวัดนี้จากที่เคยเป็นวัดร้างมาก่อน

คลองสาน-ท่าดินแดง
วัดอนงคารามวรวิหาร

เคียงกันคืออารามอกแตกที่มีถนนและคลองคั่นกลางอย่าง วัดอนงคารามวรวิหาร ซึ่งมีซุ้มประตูหน้าต่างงดงามที่สุดแห่งหนึ่ง รวมถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างพระแก้วขาวไว้ให้สักการะ อีกชื่อหนึ่งของวัดคือ “วัดน้อยขำแถม” ตามชื่อของท่านผู้หญิงน้อย ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ผู้สร้างวัดนี้ แต่คนร่วมสมัยมักจะนึกถึงว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงเคยมาร่ำเรียนก่อนย้ายไปที่โรงเรียนศึกษานารี และเคยได้พักอาศัยในชุมชนใกล้วัดนี้ด้วย รวมไปถึง “หลวงปู่นวม” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เกจิดังที่ท่านทรงนับถือ

คลองสาน-ท่าดินแดง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน

ด้านหลังของวัดอนงค์แอบมีเรือนไม้ขนมปังขิงที่ทางวัดร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดเป็น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ที่มีวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของเขตคลองสาน ที่เด็ดคือเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการด้านข้อมูลแบบเจาะลึก ถึงเกร็ดเรื่องราว ของดีของเด็ดในชุมชน คลองสาน-ท่าดินแดง ชนิดกางแผนที่ให้ขีดให้วงลากเส้นกันเดินหลงกันได้เลยทีเดียว เพียงแต่เปิดในเวลาราชการเท่านั้น

คลองสาน-ท่าดินแดง
หอนาฬิกาที่มีป้ายบอกจุดเริ่มต้นของเขตคลองสาน

เยือนวงเวียน ยลศาล ย่ำสวน ส่องเงาอดีต

หลังวัดวาเสร็จ ก็ถึงตาของการสำรวจชุมชน คลองสาน-ท่าดินแดง ซึ่งมีหลายสิ่งให้แปลกตาและตื่นใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นกับวิถีชีวิตชาวฝั่งธนบุรีแบบดั้งเดิม หอนาฬิกาที่มีป้ายบอกจุดเริ่มต้นของเขตคลองสานเตือนให้คนเก่าแก่ระลึกถึงอดีตอันรุ่งเรืองของวงเวียนเล็ก ประตูสู่ฝั่งธนที่เคยคึกคักทั้งวันทั้งคืนยังมีหลักฐานให้เห็นจากตลาดพญาไม้และตรอกดิลกจันทร์ที่อุดมไปด้วยสตรีตฟู้ดอร่อยและไม่แพง ถัดจากหอนาฬิกาไล่ไปตามแถวคูน้ำของคลองสานที่ขนานกันกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา ก็จะเห็นตึกแถวย้อนยุคทั้งริมถนนและในซอยซึ่งหลายหลังยังเป็นเรือนไม้ มีร้านเก่าแก่ที่ดำเนินกิจการมานานหลายสิบปีหลงเหลือพร้อมรูปลักษณ์ราวพิพิธภัณฑ์ชุมชนชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา ร้านชุดนักเรียน ร้านขายของชำ ฯลฯ

สวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

ผู้คนที่อาศัยถนนสมเด็จเจ้าพระยานี้เป็นทางผ่านก็อาจพบเห็นเค้าลางของความเปลี่ยนแปลงบริเวณริมถนน ที่อาคารเก่าไปร้านรวงใหม่มาอยู่บ้าง แต่จะยิ่งเห็นชัดหากย่ำลุยเข้าไปด้านในหลังวัดอนงค์มี สวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ที่เป็นเสมือนทั้งปอดสร้างความร่มรื่นและเป็นหัวใจกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของชุมชน นอกจากนิทรรศการถาวรแสดงให้เห็นพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน รวมถึงการจำลองบรรยากาศยุคสมัยครั้งที่พระองค์ท่านยังทรงอาศัยอยู่ในย่านนี้เมื่อเยาว์วัย ยังมีกิจกรรมพิเศษอยู่เรื่อย ๆ

คลองสาน-ท่าดินแดง
ศาลเจ้ากวนอู
คุณพูนศักดิ์ ทังสมบัติ ผู้ดูแลโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ

ด้านหลังสวน ตรงลานริมแม่น้ำคือ ศาลเจ้ากวนอู ที่ว่ากันว่าอายุกว่า 280 ปี สร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระเจ้าตากสินเคยเสด็จมาสักการะ โดยมีรูปท่านกวนอูองค์เล็กที่แกะจากไม้จันทร์หอมเป็นองค์ที่เก่าแก่ที่สุด ติดกันมีเก๋งจีนยุคต้นรัตนโกสินทร์ อดีต โรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ที่บูรณะโครงสร้างเสร็จและรอเปิดประตูอย่างเป็นทางการ โดยมีคาเฟ่ริมน้ำกิจการเดียวกัน ชื่อ บ้านอากงอาม่า ที่จำลองบรรยากาศเรือนไม้ริมน้ำแบบย้อนยุคไว้ให้คอยพักเหนื่อย และใช้เป็นจุดตั้งต้นมุดเซาะสถานที่ที่อยู่ลึกเข้าไป หากจังหวะดี จะพบ คุณพูนศักดิ์ ทังสมบัติ เจ้าของกิจการและผู้ดูแลการอนุรักษ์เดินไปมา เพื่อให้ได้พอพูดคุยอีกด้วย

เล่นซ่อนหากับโกดังเก๋าและมัสยิดลับ ๆ

หลายคนไม่ทราบว่าพื้นที่ประหนึ่งเขาวงกตถัดจาก ซุ้มประตู RBMCO ข้างสวนสมเด็จย่าถึงตลาดท่าดินแดงคือ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งย้อนอดีตกรุงรัตนโกสิทนร์ชั้นดีแต่เดิมทั้งรกและร้างไม่ชวนพิสมัยให้เข้าไปยล แต่หลังจากโครงการศิลปะชุมชนหลายสำนักเข้ามาจัดงาน ตามมาด้วยคาเฟ่ลับบ้างหรูบ้างเข้ามาบุกเบิก แถมด้วยทัวร์เดินเท้าของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและทัวร์สองล้อของนักท่องเที่ยวเทศ ทำให้เสน่ห์ของชุมชนในตรอกซอกโบราณแห่งนี้เริ่มเผยโฉมอย่างรวดเร็ว สำหรับนักท่องสายพาตัวเองเที่ยวการพูดคุยกับชาวบ้านด้วยปาก เริ่มจากอุดหนุนร้านค้าชุมชนอย่างน้ำดื่มสักขวด คือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสอบถามเส้นทางอันค่อนข้างซับซ้อนโซนนี้

พิกัดแรกที่สามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นโดยอยู่ไม่ไกลนักจากสวนสมเด็จย่า คือ โรงเกลือแหลมทอง เรือนไม้ขนาดใหญ่ริมน้ำ ที่แม้จะยุติการโม่เกลือไปหลายปีแล้ว แต่ยังคงเก็บอุปกรณ์และมีเกลือถุงให้พอชมและจำหน่ายอยู่บ้าง พื้นที่โล่งด้านข้างที่เคยเป็นลานตะกร้อของคนงานก็กำลังรอวันทางราชการปรับปรุงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้สาธารณชนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาใช้สอยด้วยกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและคุณภาพชีวิต ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมโซนนี้ไปอีกขั้นเลยทีเดียว

โกดังเซ่งกี่ (SK Building) อดีตคลังหนังวัว

ติดกันยังมีทางเดินริมน้ำ นำสายตาไปสู่แนวด้านหน้าของอาคารคอนกรีตใหญ่หน้าตามอมแมม แหล่งสังสรรค์และตกปลายามเย็นของชายในชุมชน จ้องดี ๆ ก่อนออกไปท่าเรือท่าดินแดง จะมีบันไดและช่องทางเข้าไปสู่ โกดังเซ่งกี่ (SK Building) อดีตคลังหนังวัวควายที่แปรสภาพมาเป็นคลังสมุนไพร ซึ่งก็เหลือส่งกลิ่นหอมโชยเพียงไม่กี่หลังในปัจจุบัน เวิ้งลับสายตานี้เป็นเป้าหมายของบรรดาตากล้องที่ชอบเก็บภาพที่มีร่องรอยของกาลเวลา หากตาดีสักหน่อยก็จะเห็นลวดลายปูนปั้นตัวอักษร SK ชื่อย่อของโกดังประดับบนบางหน้าจั่วและหากยืนหันหลังให้แม่น้ำเจ้าพระยา หลังกลุ่มโกดังด้านขวามือจะมีตรอกลับพาดป้ายไม้ พร้อมคำ MASJID SAIFEE บ่งพิกัดเข้าไปยังมัสยิดเก่าแก่ของกลุ่ม มุสลิมดาวูดีโบห์รา (Dawoodi Bohra) นิกายชีอะห์ จากอินเดีย ที่อพยพมาทำมาค้าขายในกรุงสยามมากกว่าร้อยปี โดยหลายท่านกลายเป็นเจ้าของกิจการสำคัญ

มัสยิดตึกขาว

อาคารสไตล์กอทิกที่มีอีกชื่อเรียกว่า มัสยิดตึกขาว มีส่วนประกอบไม้ที่ฉลุกสลักเสลาอย่างสวยงาม พร้อมกระจกประดับหลากสีและโครงสร้างแบบไร้เสาคานตรงกลาง ในปัจจุบันการชื่นชมเพชรเม็ดงามของสถาปัตยกรรมอิสลามของไทยแห่งนี้ยังต้องอาศัยการชะเง้อมองแค่วิวภายนอก จากประตูแคบด้านหน้า หรือลานข้างโรงเกลือแหลมทองเป็นหลักการเข้าเยี่ยมชมด้านในโดยหลักในช่วงนี้ยังต้องอาศัยมากับกลุ่มเดินทัวร์ศิลปวัฒนธรรม หรือรอขออนุญาตในช่วงที่เปิดละหมาดวันศุกร์ (โดยสุภาพสตรีต้องมีผ้าคลุมผมและงดเข้าชมสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน)

นอกจากนี้ยังมี มัสยิดกูวติลอิสลาม ศาสนสถานหลังเล็กริมเจ้าพระยาแม้จะเห็นเด่นจากสะพานพุทธ แต่กลับลึกลับว่าอยู่ในตรอกซอยไหนกันแน่หลังสวนสมเด็จย่า เรียกอีกชื่อว่ามัสยิดตึกแดง ได้มาจากนามเดิมของอาคารที่เคยเป็นคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ในสกุลบุนนาค ซึ่งได้โอนบริจาคให้แก่ชุมชนมุสลิมเพื่อนบ้านเชิงสะพานพุทธ โดยว่ากันว่าเป็นหลักฐานของสายสัมพันธ์ระหว่างสกุลขุนนางใหญ่นี้กับสกุลนานา คหบดีมุสลิมสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์

Fact File

นอกเหนือจากจุดน่าชมซอยน่าเดินย่าน คลองสาน-ท่าดินแดง ยังอุดมไปด้วยของกินแนวสตรีตฟู้ด ทั้งโซนตลาดพญาไม้เชิงสะพานพุทธ และตลาดท่าดินแดง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คลองสาน-ท่าดินแดง ลิ้มรสประวัติศาสตร์ กลมกล่อมด้วยชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา

จริง ๆ เขตคลองสานกว้างกว่าที่นำเสนอ ยังมีอีก 2 โซนหลัก โซนแรกอยู่ถัดจากตลาดท่าดินแดงไปทางท่าคลองสานใหม่ที่มีซากป้อมป้องปัจจามิตรป้อมโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 ซ่อนอยู่ ซึ่งมีวัดทองนพคุณและวัดทองธรรมชาติวรวิหารที่ควรแวะสักการะ โดยมี ล้ง1919 ที่กำลังรอวันพลิกโฉมใหม่เป็นแม่เหล็กหลัก ซึ่งเพิ่งมีคาเฟ่เล็ก ๆ กลับมาเปิดให้บริการคั่นจังหวะพร้อมกับอาคารวังค้างคาว ที่นักเลงตึกเก่ารู้จักกันดี ที่เพิ่งมีข่าวออกมาว่ามีนายทุนช้อนไปพัฒนาแล้ว กับโซนที่ 2 ใกล้ห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ ที่มีชุมชนมุสลิมมัสยิดสุวรรณภูมิริมน้ำและวัดสุวรรณ รวมถึงถนนเส้นเครื่องหนังอย่างเจริญรัถไว้ให้สำรวจ

คนที่มีรถสามารถนำมาจอดในย่านนี้ได้ที่ศาลกวนอู วัดพิชยญาติการามวรวิหาร และลานจอดรถหลังตลาดท่าดินแดง แต่แนะนำให้มาด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางน้ำหรือทางบกจะดีที่สุด โดยลงเรือข้ามฟากมายังท่าดินแดงจากท่าเรือราชวงศ์ที่ไม่ไกลจากเยาวราชนัก หรือรถโดยสารสาธารณะจากฝั่งพาหุรัด ที่แวะจอดป้ายใกล้สี่แยกวงเวียนเล็กเก่า หรือสามารถเดินข้ามทางเท้าผ่านสะพานสวนลอยฟ้า (ซึ่งเชื่อมต่อมาจากเส้นถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง และขนานกันกับสะพานพุทธกับสะพานพระปกเกล้า) ไม่นับอีกวิธีคือการเดินต่อมาจากสถานีคลองสานของรถไฟฟ้าสายสีทองด้วยระยะทางที่พอเดินได้เพลิน ๆ ตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา หรือจะแบบผสมผสานวิธีสัญจรวนเป็นลูปไม่ซ้ำเส้นทางก็ไม่ผิดกติกา


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม