พระนครทอดน่อง : ศรีย่าน เที่ยวพิพิธภัณฑ์ วัด วัง ครบ จบในหนึ่งย่าน
- ศรีย่าน คือย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณที่สี่แยกเกือบสุดสายรถรางเส้นสามเสนในอดีต
- เขตดุสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของศรีย่าน ประกอบไปด้วยวังเล็กวังน้อยของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมากมาย เช่น วังสวนสุนันทา วังศุโขทัยวังปารุสกวัน วังสวนกุหลาบ วังลดาวัลย์ และวังรพีพัฒน์
กว่าร้อยปีก่อนช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ศรีย่าน จัดว่าเป็นย่านแถบชานพระนครที่เหล่าขุนนางยุคสยามใหม่มาตั้งบ้านเรือน คู่คี่กับย่านสาทร การก่อตัวของพื้นที่เขตดุสิตที่รายล้อมอาณาเขตพระราชวังใหม่อย่างพระราชวังดุสิต ทำให้ชุมชนริมถนนสามเสนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศเหนือที่เคยอยู่กันอย่างบางตา กลับหนาแน่นขึ้นด้วยทั้งตึกแถวของชาวไทย ชาวจีนไหหลำและชาวจีนอื่น ๆ (ไม่รวมถึงชาวไทยเชื้อสายญวนและเขมรที่มาอาศัยแต่ต้นกรุง) โดยไล่มาตั้งแต่โซนเชิงสะพานซังฮี้ มีอาคารบ้านเรือนสวยงามเป็นจำนวนมากแทรกแซมที่เข้าขั้นคฤหาสน์ก็ไม่น้อย ที่ล้วนยังเหลือแอบซ่อนตามซอกซอยต่าง ๆ รวมถึงที่ ศรีย่าน ด้วย
คนนอกพื้นที่มักวาดภาพ ศรีย่าน ว่าเป็นเพียงตลาดขนาดกะทัดรัดที่อุดมด้วยของดีราคาประหยัด ที่คึกคักพอประมาณในเวลากลางวันวันธรรมดาจากพนักงานหน่วยงานรัฐออกมาหาของกินมื้อเที่ยง และมีสีสันแบบพอดี ๆ ในช่วงเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยแผงลอยร้านค้า แต่ย่านที่ตั้งอยู่ที่สี่แยกเกือบสุดสายรถรางเส้นสามเสนในอดีตแห่งนี้มีของดีรอการมาชมอยู่พอสมควร เหมาะแก่การเดินเล่นสำรวจร่องรอยการเปลี่ยนผ่านของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วไปพร้อม ๆ กับคลายจังหวะชีวิตเมืองกรุงให้ช้าลงด้วยวัดวัง คาเฟ่ ร้านหนังสือ และพิพิธภัณฑ์ ที่มีทั้งที่ปรับปรุงและเปิดเรียบร้อยแล้ว และที่รอปรับปรุงให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเปิดให้สาธารณชนได้ชื่นชมในเร็ววัน
1 วัง 2 คฤหาสน์ กลิ่นอายยุโรป ที่รอวันเปิดบานประตู
นอกจากเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิตที่ทวีความสำคัญยิ่งในรัชกาลปัจจุบัน เขตดุสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของศรีย่าน ยังประกอบไปด้วยวังเล็กวังน้อยของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมากมาย (เช่น วังสวนสุนันทา วังศุโขทัยวังปารุสกวัน วังสวนกุหลาบ วังลดาวัลย์ และวังรพีพัฒน์) ที่บ้างยังคงเป็นเขตพระราชฐาน บ้างปรับบทบาทไปเป็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
แต่ที่กำลังรอวันเผยโฉมให้คนทั่วไปได้เยี่ยมเยือนคือ วังพายัพ ริมถนนนครไชยศรี ฝั่งท่าพายัพ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐกรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี พระราชโอรสในรัชกาลที่5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกษรเจ้านายฝ่ายเหนือ และเป็นสมาชิกราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน(Tübingen) ประเทศเยอรมนี โดยทรงเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันหัวข้อ “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม”
ความโดดเด่นของวังของพระองค์คือมีกลิ่นอายความเป็นเยอรมัน เนื่องจากได้ คาร์ล ซิกเฟร็ด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring) สถาปนิกหนุ่มชาวเยอรมันที่เคยรับราชการในกรมรถไฟหลวง และกรมศุขาภิบาล ผลงานอื่นที่พอคุ้นกันของเขาก็คือ พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) วังวรดิศ และตำหนักในวังบางขุนพรหม ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานภายหลังวังพายัพแห่งนี้
น่าดีใจที่วังงดงามที่ครั้งหนึ่งตกอยู่ในสภาพโทรมจนนึกว่าจะถูกรื้อทิ้งแห่งนี้ หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ได้รับการบูรณะจากเจ้าของปัจจุบันอย่างการไฟฟ้านครหลวง สาขาสามเสน โดยทำการรื้ออาคารรุ่นใหม่ที่บดบังทัศนียภาพด้านหน้า ทำให้มองเห็นความสง่างามได้จากริมถนน และรอวันอวดโฉมในไม่นานนี้
อีกอาคารที่ไม่ต้องรอการบูรณะเพราะยังใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานรัฐมาโดยตลอดคือ อาคาร 3 ชั้นทรงคล้ายหอคอย ที่เคยเป็นของ บ้านพระยาดำรงแพทยคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) ที่เป็นสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพของกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยกศรีย่านพอดี ไม่ไกลจากวังพายัพนัก ซึ่งเปิดให้เข้าชมความสวยงามด้านในได้หากทำการติดต่อมาเป็นหมู่คณะ แต่ต้องรอภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลายตัวอย่างแน่นอนก่อน เนื่องจากยังใช้สถานที่ทำงานราชการอยู่ (โทรศัพท์ 02-243-0596)
ความสำคัญของของพระยาดำรงแพทยคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) คือนอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรมแพทย์ทหารบก และเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแล้ว ยังเคยทำการรักษาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากอาการเข็มเย็บผ้าแทงฝ่าพระหัตถ์ ระหว่างที่ยังทรงเป็นนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา และได้ชักชวนพระองค์ท่านให้เข้าเรียนพยาบาล จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา
“บ้านหิมพานต์” จากสวนเศรษฐี มาสถานพยาบาล สู่พิพิธภัณฑ์
เขยิบเลยแยก ศรีย่าน ไปอีกนิด ใกล้แยกถนนสุโขทัยตัดสามเสน อาหารตาจุดหนึ่งที่เพิ่งเปิดโฉมกับผู้สัญจรบริเวณแยกเชิงสะพานซังฮี้ฝั่งพระนครที่จัดว่ารถติดสาหัสติดอันดับ คืออาคารวชิรานุสรณ์วชิรพยาบาล อดีตตึกเหลืองของ บ้านหิมพานต์ ในอาณาเขตของโครงการปาร์คสามเสนของพระสรรพการหิรัญกิจ ที่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชซึ่งเพิ่งซอฟต์โอเพนนิง (Soft Opening) ไปเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565
หลังที่พ้นจากมือของพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิสรภักดี) ผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจล อาคารแนวนีโอคลาสสิกผสมการตกแต่งแบบกอทิกและอาร์ตนูโวหลังนี้ ได้ตกมาอยู่กับแบงก์สยามกัมมาจล และขายต่อให้แก่พระคลังข้างที่จนล้นเกล้ารัชกาลที่6พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสำหรับพระนครทิศเหนือ โดยใช้ชื่อว่า วชิรพยาบาล ซึ่งหลังจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมานาน ทางคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้บูรณะให้กลับมางดงามคล้ายเก่า เพื่อรับกับวาระ “110ปีวชิรพยาบาลแห่งทุ่งสามเสน”
ในปัจจุบัน ส่วนโครงสร้าง ผนัง และส่วนประกอบอาคารต่าง ๆ อย่างบันได ประตู หน้าต่าง ซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถชมจากภายนอกได้ แต่ส่วนการตกแต่งภายในเพื่อเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถทำเรื่องนัดหมายเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ หรือคอยติดตามข่าวสารของทางโรงพยาบาลว่ามีวาระพิเศษเพื่อเปิดให้เข้าชมหรือไม่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติทั้งความเป็นมาของหน่วยงานและผู้ก่อสร้าง แต่ยังจะใช้สอยเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ เชิงสาธารณประโยชน์อีกด้วย
“วัดโบสถ์” อยุธยา ณ รัตนโกสินทร์
วัดสมัยอยุธาในเขตเมืองหลวงไม่ได้มีแค่วัดเดียว แต่ที่มีเอกลักษณ์ เก็บตัวเงียบในเส้นทางที่ผู้คนสัญจรพลุกพล่านไปมา คงจิตรกรรมงดงาม และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชวนสักการะมีแทบนับนิ้วได้ หนึ่งในนั้นคือวัดโบสถ์ หรือที่เรียกว่าวัดโบสถ์สามเสน ที่ไม่ไกลจากแยกศรีย่าน ความโดดเด่นของวัดมหานิกายขนาดเล็กแห่งนี้คือตัววิหารฐานโค้งสำเภาที่เคยเป็นอุโบสถเก่า แต่เสียหายจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าจนหลังคารั่วเสียหายหนักจนต้องไปสร้างโบสถ์หลังใหม่อยู่ด้านใน แยกจากส่วนที่เป็นพุทธาวาสหลัก
แต่ด้วยความที่ได้รับความสนใจจากคอโบราณสถานในเขตชุมชนเมือง ทำให้ส่วนวิหารได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง หลังจากซ่อมแซมโบราณวัตถุบางชิ้น ก็ถึงคิวตัวจิตรกรรมที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำฝนแต่ยังคงความขลัง และโชคดีที่ได้ช่างมีฝีมือส่งตรงจากกรมศิลปากรมาร่วมบูรณะ
นอกเหนือจากภาพมารผจญที่ผนังด้านหน้า และทศชาดกบริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง จุดเด่นของจิตรกรรมที่นี่คือรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถด้านกำแพงเหนือซุ้มประตูหน้าโบสถ์และรูปพระจันทร์ด้านหลัง และไฮไลต์หลักคือองค์หลวงพ่อสุขเกษม พระประธานศักดิ์สิทธิ์ที่ประวัติที่มาไม่แน่ชัด แต่แปลกด้วยรูปพระพักตร์ที่มองซ้าย ไม่มองตรงอย่างพระพุทธรูปทั่วไป
A Book with No Name ร้านหนังสือนิรนาม
หากอยากดูร่องรอยของกรุงเทพฯ ในยุคหลังสงครามโลก โดยเฉพาะส่วนอาคารพาณิชย์ ศรีย่าน นับเป็นย่านหนึ่งที่ยังมีตึกแถวสมัยนั้นหลงเหลืออยู่ ทั้งที่ทอดยาวตลอดเส้นสานเสน และตามเส้นถนนที่ตัดขวางอย่างนครไชยศรี หลายร้านเป็นกิจการที่สืบต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น น่าเสียดายว่าหลังการทยอยหดตัวของหน่วยงานรอบ ๆ ประกอบกับการที่รุ่นลูกหลานเริ่มไม่ทำต่อทำให้หลายร้านปิดตัวกันไป โชคดีที่ยังมีหน่วยงานรัฐอย่างโรงพยาบาลวชิระ กรมชลประทาน และการไฟฟ้านครหลวง คอยหล่อเลี้ยงชุมชนอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ใกล้ชิดเขตพระราชฐาน ที่ทำการสำคัญของรัฐ และกรมกองทหาร ทำให้ผังเมืองโซนนี้ไม่สามารถขึ้นอาคารสูงได้ ศรีย่านในช่วงนอกวันเวลาทำงานจึงพลุกพล่านน้อย คล้ายต่างจังหวัดกลางมหานคร และแม้ว่าแลนด์มาร์กอย่างโรงหนังศรีย่านและโรงหนังจันทิมาจะกลายเป็นตำนานให้เล่าขานถึงยุคทองของศรีย่าน แต่ก็ยังพอมีร่องรอยให้ถวิลถึง อย่างร้านลูกโป่ง A La Carte ริมสะพานข้ามคลองสามเสนที่ย้ายมาอยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วนหนึ่งของอาคารขายอุปกรณ์มือถือและสินค้าจุกจิกที่เคยเป็นห้างเครื่องไฟฟ้าชื่อดังเอดิสัน ซึ่งบนศูนย์อาหารชั้น2 เป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนเก่า ๆ ที่รวมกลุ่มกันร้องเพลงคาราโอเกะ
แต่ดาวเด่นที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ในตึกแถวสองคูหาฝั่งตรงกันข้ามมาได้หลายปีแล้วคือร้านหนังสือ A Book with No Name ที่มีกาแฟให้จิบ มีขนมนมเนยให้เล็ม มีงานศิลปะให้ชม มีงานคราฟต์ให้สอยกลับบ้าน และมีแมวให้เกาคาง พร้อมกิจกรรมประเทืองปัญญาและอารมณ์อย่างดนตรีและเสวนาด้านหนังสือและหัวข้อต่าง ๆ ตามวาระ และบ่อยครั้งก็จะได้อาหารตาเป็นหุ้นส่วนร้านศิลปินมือดีนั่งดรออิ้งรูปไปเฝ้าร้านไปอีกด้วย ซึ่งหนังสือที่จำหน่ายในร้านก็จะเป็นไปในแนวทางของเครือข่ายร้านหนังสืออิสระที่เน้นเนื้อหาด้านส่งเสริมสมองและวรรณศิลป์เป็นหลักนอกจากนี้ บาริสตาสาวเจ้าของร้านใจดี ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนรอบข้างเก่าแก่นี้ได้เป็นอย่างดี
วิวเด็ดสุดของศรีย่านก็อยู่กลางทางเดินสะพานข้ามคลองสามเสนฝั่งตรงข้ามร้านหนังสือนี่เอง เป็นท่าน้ำริมคลองใกล้วัดโบสถ์ ที่อดทำให้ผู้เดินผ่านพยายามชะเง้อมองข้ามรั้วต้นไม้ครึ้มขจีของบรรดาบ้านหลังงาม ๆ ไปไม่ได้ ซึ่งเป็นที่พักของทายาทสายสกุลบุนนาคที่ซ่อนตัวเงียบอยู่ตามแนวคลองมากว่าศตวรรษที่ดินผืนใหญ่ข้างหลังแนวคลองนั่นเป็นส่วนหนึ่งของ สวนนอก ที่เจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาหลายพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายออกมาพำนักภายหลังวังสวนสุนันทาหมดสถานะให้อยู่อาศัย
ศรีย่าน…ย่านรอเยือน
อีกจุดลับริมน้ำที่รอการมาเยือน คือ ศาลเจ้าปุนเถ้าก๋ง ที่สามารถอาศัยเป็นที่จอดรถเฉพาะในช่วงกลางวันสำหรับการแวะ ร้านเตี๋ยวก็เตี๋ยวริมน้ำ & บาร์ ที่อยู่ติดกัน ซึ่งแนะนำไปในบทความก่อน ศาลเจ้าที่มีเวทีงิ้วเป็นสัดส่วนของตัวเองริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ อยู่สุดถนนนครไชยศรี แล้วเลี้ยวซ้ายแยกเดินต่อออกมาเข้ารูตรอกข้างลานจอดรถของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง น่าเสียดายว่าการบูรณะหลังจากเกิดน้ำท่วมเรื้อรังที่ผ่านมาทำให้มีการตกแต่งที่เพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ยังอุดมด้วยรอยฝีมือช่างจีนเก่าอยู่หลายจุด ยิ่งช่วงที่มีงิ้วแสดงจะได้บรรยากาศเป็นพิเศษ
เพื่อนบ้านของศรีย่านก็มีของดีชวนให้แวะชมไม่แพ้กัน ทั้งโซนราชวัตร(ตลาดเก่าแก่) โซนบ้านญวน(แหล่งประวัติศาสตร์ของ 3 ศาสนาความเชื่อ) และโซนเชิงสะพานซังฮี้(เรียงรายด้วยอาคารสวย ๆ ในสกุลไกรฤกษ์)ไปถึงบางกระบือ ที่แม้ข่าวเศร้าอย่างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ในย่านจะเพิ่งปิดไป แต่พิพิธภัณฑ์สิงห์(Singha Museum)ในโรงกลั่นเบียร์ของค่ายสิงห์ที่เคยเปิดให้ชม พร้อมมีร้านอาหารริมน้ำ ก็รอกำหนดการกลับมาเปิดใหม่ให้ชมแบบสาธารณะหลังปิดชั่วคราวช่วงโควิด-19 อยู่
ในถิ่นย่านเลียบเส้นสามเสนเหล่านี้ ก่อนสถานการณ์โรคระบาด มีกลุ่มเดินทัวร์วัฒนธรรมจัดเดินชมอาคารบ้านเรือนงาม ๆ ทั้งที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว และที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยองครักษ์ ซอยสามเสน 22 ตลอดจนริมถนนสุโขทัยและถนนราชสีมา ซึ่งเป็นการเข้าชมอย่างเหมาะสมได้รับการอนุญาตจากเจ้าของบ้าน
ในระหว่างที่รอกิจกรรมชมเมืองเก่าต่าง ๆ ฟื้นตัว ก็พอมี Sriyan Tearoom เบเกอรีคาเฟ่ใกล้ท่าน้ำท่ายัพ ให้ได้ผ่อนคลายในอาคาร ที่มีความสง่างามของสถาปัตยกรรมตามแบบรัตนโกสินทร์ใหม่ในฉบับย่อ