ทรงวาด : ความอร่อยที่สืบทอดจิตวิญญาณไชน่าทาวน์ฉบับพระนคร
Lite

ทรงวาด : ความอร่อยที่สืบทอดจิตวิญญาณไชน่าทาวน์ฉบับพระนคร

Focus
  • ขาประจำเยาวราชรู้กันดีว่าในดงสตรีตฟู้ดไทย นอกจากเยาวราชแล้ว ร้านที่สืบทอดจิตวิญญาณไชน่าทาวน์ฉบับพระนครจำนวนไม่น้อยจะแอบอยู่ตามซอกซอย ทรงวาด
  • คำ ทรงวาด ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนใหม่เพื่อจัดระเบียบบริเวณสำเพ็งด้วยเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้ง

ขาประจำเยาวราชรู้กันดีว่า ในดงสตรีตฟู้ดไทยที่ดังทั่วโลกแห่งนี้ ไม่นับบรรดาเหลาแล้ว ร้านที่สืบทอดจิตวิญญาณไชน่าทาวน์ฉบับพระนครจำนวนไม่น้อยจะแอบอยู่ตามซอกซอย โดยเฉพาะโซนริมขอบย่านอย่างวงเวียน 22 พลับพลาไชย เสือป่า ตรอกสุกร ที่เหล่านักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นมักสัญจรไปไม่ถึง อีกย่านหนึ่งที่สำคัญก็คือถนนเส้นสั้น ๆ อย่าง ทรงวาด

ทรงวาด
ห่านอุไร

แม้จะเป็นเส้นทางวันเวย์ 2 เลนเล็กแคบไร้ต้นไม้เรียงราย แต่ ทรงวาด ก็พอเดินสบายตัวด้วยพิกัดเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในยามเย็นและช่วงวันหยุดที่ปลอดกิจกรรมค้าขาย มีร้านเด็ดตั้งกันอยู่พอหลวม ๆ บรรดาคาเฟ่ชิกๆ ภัตตาคารไฟน์ไดน์นิงที่ราคาต้องกระโดดนิด ต่างเริ่มเข้ามาจับจองตึกแถวของถนนเส้นที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดเส้นหนึ่งของกรุงเทพฯ ทั้งทางฝั่งริมน้ำและทางฝั่งหลังสำเพ็ง แต่ร้านเก่าแก่แบบขายมารุ่นสู่รุ่นก็ยังอยู่กันเกือบครบ โดยขึ้นชื่อมานานทั้งในความเป็นดงลูกชิ้นปลาชั้นดี และอาหารจานแต้จิ๋วชั้นเลิศ

ทรงวาด

Sarakadee Lite ขอพาไป ทอดน่องท่องพระนคร ปักหมุดทรงวาด ด้วยการไปเก็บตกร้านนอกโผที่อาจเดินผ่านแต่ลืมแวะชิมร้านแนวร่วมสมัย รวมถึงเช็กซ้ำเหล่าร้านดังแผงเด็ด

ทรงวาด
ขนมจีบอาเหลียง

ท่าราชวงศ์ ยังคงมนตร์อร่อย

เริ่มต้นการตระเวนที่หัวเส้นทรงวาดฝั่งถนนราชวงศ์ ซึ่งจัดเป็นถนนเส้นสำคัญของเยาวราชอีกเส้น ราชวงศ์เคยได้ชื่อว่าเป็นดงภัตตาคารหรูหรา ถึงขนาดถูกเอ่ยอยู่บ่อย ๆ ในหัสนิยายชุดพลนิกรกิมหงวน แม้ตำนานเหลาแห่งราชวงศ์อย่างร้านสีฟ้าและอาเล็กได้ย้ายออกไปนานมากแล้ว แต่เสน่ห์ความอร่อยรุ่นอากงอาป๊าก็ยังพอเหลืออยู่บ้างในถนนเศรษฐกิจค้าส่งสำคัญเส้นนี้ขอคัดเฉพาะร้านที่กระจุกอยู่บริเวณท่าน้ำที่เชื่อมท้องมังกรเยาวราชเข้ากับการคมนาคมทางเรือ

ขนมจีบอาเหลียง หัวมุมหน้าร้านสะดวกซื้อจัดเป็นสถาบันหลักหนึ่งของ ทรงวาด ราชวงศ์ แม้ความอร่อยราคาถูกในยุคที่อาเหลียงตัวจริงเคยเข็นขายไปทั่วถนนกว่าหลายสิบปีจะกลายเป็นตำนาน แต่รุ่นลูกที่สืบทอดก็ไม่ได้น้อยหน้าไปเสียทีเดียวยังคงนึ่งด้วยหม้อทองเหลือง นอกจากแห้วยังผสมไข่ให้เนื้อหมูบดมันน้อยมีผัสสะที่ต่างเสิร์ฟพร้อมใบตองรอง เด็ดด้วยกระเทียมเจียวใหม่กรอบ จัดจ้านด้วยเครื่องปรุงพริกน้ำส้มสีสดและจิ๊กโฉ่วกลิ่นคลาสสิก ว่ากันว่าอาเหลียงเป็นพี่น้องกับแป๊ะเหลียงหน้าวัดญวนถนนแปลงนามที่ขายภาคกลางวัน แต่รสไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ต้องสะกิดไว้ก่อนว่าขนมจีบสกุลนี้เป็นตำรับแต้จิ๋วเก่าแก่ ไม่ได้แน่นเนื้อกุ้งหอมน้ำมันงาแบบกวางตุ้งที่นิยมกัน

ทรงวาด
ข้าวแกงเจ๊ดาว

ทรงวาดก็เหมือนกับจุดอื่นในเยาวราชที่อาหารไทยแท้รสเข้มข้นยังมีไว้บริการ เทียบกับข้าวแกงรสไทยแท้ในจุดอื่น ๆ ของเยาวราช ข้าวแกงเจ๊ดาว ท่าน้ำราชวงศ์ถือว่าไม่เป็นรองใคร ไม่นับหมูสามชั้นสูตรดังที่ราคาได้กระโดดเด้ง เมนูอื่น ๆ ก็เรียงรายให้เลือกจุใจ สนนราคามิตรภาพ เด่นตรงมีที่นั่งให้กินเป็นเรื่องราว แต่ก็ควรเลี่ยงช่วงเที่ยง ปกติบ่าย ๆ ก็ค่อนข้างจะวายด้วยกับข้าวทยอยหมด

คนที่ติดกาแฟและต้องการหาที่จุดพักแอร์เย็นพร้อมราคาเอื้อมถึง Riri Café คือคำตอบ แม้คาเฟ่แนวเกาหลี ขนาด 1 คูหา ตกแต่งเรียบง่ายด้วยโทนสีขาวแต้มสีน้ำตาลแห่งนี้จะมีขนมเพียงไม่กี่อย่าง แต่สลับสับเปลี่ยน และรสชาติไม่เลว โดยเฉพาะ Lemon Scone Cakeนอกจากเครื่องดื่มแนวกาเฟอีนยังมี ยูซุโซดา ให้ชื่นใจกับรสเปรี้ยวอมหวาน

ทรงวาด
Riri Café
ทรงวาด

แต่คนที่ต้องการเพียงน้ำดื่มแนวแก้ว ๆ ถุง ๆ ดับกระหาย แนวน้ำรากบัว แห้ว และจับเลี้ยง มีขายบนรถเข็นของ ร้านน้ำรากบัวพี่ตี๋ ในช่วงกลางวัน ที่ต้มสด ๆ บนเตาถ่านเสียด้วย สนนราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท ได้ทั้งแบบร้อนและเย็น จะหวานน้อยและหวานปกติ สั่งได้หมด ตั้งอยู่หัวมุมตรงข้ามร้านสะดวกซื้อนั่นเอง จะหิ้วแก้วน้ำสมุนไพรไปจิบที่ม้านั่งตรงท่าน้ำ พร้อมพกซาลาเปาจากร้านเซี่ยงไฮ้ตรงตึกแถวลูกชิ้นปลาทอดหรือของกินแนวรถเข็นอื่น ๆ ที่อยู่รายรอบไปแกล้มพร้อมชมวิวลำน้ำเจ้าพระยาในฉบับประหยัดก็ไม่ผิดกติกา

ทรงวาด
ก๋วยจั๊บถังไม้ ตรอกอาเนี๊ยเก็ง

ซอกแซกความอร่อยในร้านตามตรอก

หลายคนเกรงว่าจะหลงทางในเครือข่ายใยแมงมุมของดงสำเพ็งที่ต่อเชื่อมได้ถึงยันพาหุรัด การเริ่มต้นสำรวจย่านพาณิชย์เก่าแก่แห่งนี้ด้วยการเข้าทางถนนทรงวาดนับเป็นแบบฝึกหัดที่ดีตรอกที่มีชื่อบ้างไม่มีชื่อบ้างฝั่งที่ไม่ติดน้ำจะนำพาไปสู่ซอกหลืบต่าง ๆ ทั้งยังมีของโบนัสเป็นร้านที่คนสำเพ็งแท้ ๆ บริโภคกันมารุ่นต่อรุ่น ที่ยืนหนึ่งเป็นภาพจำก็คือร้านกับข้าวต้มพุ้ยแนวจับเกี๊ยมแต้จิ๋วที่วางประชิดผนังตรอกโรงโคมท้าทายบางคนให้ชั่งใจว่าจะซื้อกินหรือไม่

ก๋วยจั๊บถังไม้ ตรอกอาเนี๊ยเก็ง เป็นอีกร้านที่อาศัยการตั้งชื่อง่าย ๆ จากชื่อตรอกมาบ่งพิกัด และเอามาใช้เป็นชื่อร้านในที่สุดไม่กี่ชั่วโมงหลังวางขายตอน 9 โมงก็หมด เดี๋ยวนี้สะดวกขึ้นในการรับประทาน หลังปรับโฉมจากร้านรถเข็นปากตรอกให้นั่งกินในทางสัญจรแบบหลบหลีกคนเดินผ่าน มาอยู่ในห้องแถวห่างกันไม่กี่ก้าวจากจุดเดิม นอกจากป้ายขาตั้งชื่อร้าน ตัวผนังตึกปากตรอกอาเนี๊ยเก็งเองก็วาดรูปดอกไม้ใหม่สีสันสดใส ทำให้หาง่ายขึ้นไปอีก นอกจากเอกลักษณ์ของถังไม้ที่ใช้ใส่เส้นก๋วยจั๊บเพื่อคอยรักษาอุณหภูมิให้อุ่น ยังมีน้ำซุปรสอูมามิเข้มข้นจากเครื่องหมูชัดเจน กลมกล่อมไม่เผ็ดพริกไทย และเครื่องในสด ๆ ที่ไร้กลิ่นคาว อร่อยจนคนที่ไม่กินเครื่องในจะต้องเสียดาย

เดินต่อไปสักหน่อยเลยผ่านหน้าร้านนางเอกย่านอย่าง F.V (ย่อมาจาก Fruit & Vegetable) ที่บรรจงแปลงร่างผักและผลไม้ให้กลายเป็นของกินและของใช้สารพัดอย่าง และพระเอกย่านอย่าง อุไรห่านพะโล้ ของสายกินห่านที่ต้องพกดวงมาด้วยถ้าตื่นสายและไม่ได้จองและร้านดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง อี_กา จนถึงช่วงกลางทรงวาด ถัดจากตรอกทางเข้ามัสยิดหลวงโกชาอิศหาก(สุเหร่าวัดเกาะ) ก็จะเจอตรอกสะพานญวน ในซอกเก่าแก่นี้นอกจากจะมี Pieces Café & Bed หนึ่งในกิจการรุ่นใหม่ที่บุกเบิกทรงวาด ยังมีเพื่อนบ้านใหม่แต่หน้าเก่าที่ย้ายมาจากตรอกมัสยิด อย่าง ร้านไอศกรีมหนูรี่ “เกาลัดหิมะ” ซึ่งเพิ่งย้ายมาขายตรงตึกแถวบ้านของเจ้าของเองหลังจากอาศัยขายในโกดังตรงมัสยิดมาสิบกว่าปี

ทรงวาด
ร้านไอศกรีมหนูรี่ “เกาลัดหิมะ”

จุดเด่นของร้านหนูรี่ที่ได้ชื่อมาจากลูกสาวเจ้าของคือการนำเกาลัดที่ปกติมักกินแบบคั่วร้อน ๆ มาเสิร์ฟแบบแช่แข็งเย็นจัด โรยบนไอศกรีมครีมนมที่มีให้เลือก 3 รส (กะทิ กาแฟ ช็อกโกแลต) โดยตัวเกาลัดเองก็ยังมีให้เลือกอีกถึง 3 แบบ นอกจากทำเลใหม่นั่งสบายกว่าเก่า เหมือนไปแอบนั่งห้องนั่งเล่นบ้านเพื่อนผู้ดีจีนเก่า เมนูก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งท็อปปิงใหม่ ๆ ตั้งแต่ผลไม้ น้ำผึ้ง ยันวอดก้า

Woodbrook

ลิ้มรสฉบับเลาะริมน้ำ

ท่ามกลางกระแสของการไล่ช้อนซื้อและเซ้งตึกเก่าริมน้ำมาทำธุรกิจกินดื่มเที่ยวกัน ในไม่ช้านี้เราอาจได้เห็นโกดังริมน้ำของทรงวาดในโฉมใหม่ที่อาจจะไฉไลไม่แพ้ท่าเตียนหรือตลาดน้อยหลายอาคารก็ติดป้ายประกาศขายกันแล้ว แต่ละหลังก็มีลักษณะเฉพาะตัว สร้างมาแบบเป็นอาคารเดี่ยว (Stand Alone) ไม่ใช่เป็นแนวยาวเป็นพืด และชดช้อยด้วยลวดลายปูนปั้นอายุหลายทศวรรษ

ร้าน ปูปู่

เริ่มที่โซนหัวถนนฝั่งราชวงศ์จะมีร้านข้าวต้มพุ้ยแปลงโฉมให้ดูสะอาด น่ากิน และอร่อยไม่แพ้(หรืออร่อยกว่า)ร้านตามแผงตรอกด้วยราคาที่เขยิบขึ้นมานิดเดียว ร้าน ปูปู่ เคยตั้งบนทำเลเด่นริมถนนเตะตาด้วยปิ่นโตและเครื่องจานจีนโชว์หน้าร้าน โดยเพิ่งย้ายมาในตรอกแป้งมันที่เป็นซอยตันริมน้ำตรงข้ามซอยมังกร (ที่หัวมุมมีคาเฟ่ Jing Jang เปิดใหม่ของเจ้าของเดียวกัน) ด้วยที่นั่งที่สบายขึ้นอยู่บนชั้นล่างของโรงแรมเปิดใหม่ จานห้ามพลาดคือใบปอที่คัดมาอย่างดีแถมเด็ดก้านไม่ให้ระคายคอและเคี้ยวง่ายขึ้นส่วนจานอื่นอย่างไชโป๊ผัดไข่ กานาฉ่าย แม้จะเป็นเมนูจับเกี๊ยมพื้น ๆ แต่ก็ล้วนแต่คัดของดี ๆ มาปรุง

คาเฟ่ Woodbrook จัดว่าเป็นผู้บุกเบิกในการรังสรรค์ตึกเก่าทรงวาดด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่ บนตัวอาคารที่เคยเป็นห้องเย็นรุ่นแรก ๆ ของกรุงเทพฯ (ทรงวาดเป็นแหล่งส่งปลาและอาหารทะเลป้อนเข้าเยาวราช) มาทำเป็นคาเฟ่ในชั้นบน รวมถึงมีบาร์ Barbon ในชั้น3 ชั้นเดียวกัน และ Urby Hostel บริเวณ ชั้น 2 กว่า 5 ปีแล้วที่คาเฟ่นี้มาสร้างสีสันให้แก่ถนนโบราณ ในช่วงที่ธุรกิจค้าส่งสมุนไพร ของเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์จากยาง ยังคึกคักสุดขีดไม่ซบเซาลงอย่างปัจจุบัน แม้ว่ารสชาติกาแฟอาจจะไม่ซับซ้อน แต่ก็เข้มข้นและมีลูกเล่นในการผสมกับวัตถุดิบเพิ่มเติมให้ไม่เบื่อในการจิบ รวมถึงมีชานชาลาด้านนอกที่จะนั่งห้อยขาหรือเอนตัวบนเบาะชมวิวริมเจ้าพระยาที่มี ล้ง1919 และเจดีย์ทรงจีนขององค์กรการกุศลจีจินเกาะตรงฝั่งธนเป็นฉากหลัง

ความคึกคักของร้านลิ้มเล่าซา

ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ หากได้มาเดินต่อ จะแปลกใจกับรูเล็กแคบระหว่างซอกตึกฝั่งริมน้ำอยู่จุดหนึ่ง สว่างพอประมาณด้วยดวงไฟไม่กี่ดวง แต่แน่นไปด้วยคิวผู้คนรอกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่ว่ากันว่ามีเกี๊ยวปลาที่อร่อยที่สุด ถ้าได้ลองนั่งสั่งเมนูเด็ดอย่างบะหมี่เป๊าะแห้งแบบพิเศษ เหยาะจิ๊กโฉ่ว พร้อมน้ำซุปใสแต่อร่อยนัวแบบที่เรียกว่าเชง ๆ ข้างผนังปูนของตึกอายุร่วมร้อยปี ก็อาจจะคิดว่ากำลังอยู่ในฉากหนังของหว่องกาไวสักเรื่องเป็นแน่ ชื่อ ร้านลิ้มเล่าซา ยังคงสร้างความสงสัยว่าเป็นญาติกันกับอีกร้านที่ชื่อคล้ายกันหรือไม่ แต่ไม่ว่าคำตอบจะคืออะไร เจ๊พรพิมล รุ่นลูกสาว ผู้สืบทอดตำรับลูกชิ้นปลาเต้นได้จากรุ่นพ่อ ก็ยังยืนหยัดในนโยบายขายดีชนิดไม่ต้องง้อประกาศนียบัตรติดแค่ป้ายชื่อร้านตัวอักษรเล็ก ๆ สีแดงบนพื้นขาวว่า ‘ลูกชิ้นปลาเต้นได้’ และงดเสิร์ฟเกาหลาเกี๊ยวปลาล้วนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ชิจูย่า

ทรงวาด ไม่ได้มีแต่อาหารจีน แต่ยังมีอาหารญี่ปุ่น แถมเป็นญี่ปุ่นแบบเจอีกต่างหาก ชนิดที่เรียกได้ว่ามีหนึ่งเดียวซึ่งอยู่ในซอยริมน้ำขององค์กรกุศลจีนขนาดใหญ่ที่ไม่ไกลจากลิ้มเล่าซา ร้าน ชิจูย่า ปรุงเมนูเจออกมาได้ไม่ใช่แค่หน้าตาใกล้เคียงอาหารญี่ปุ่นปกติ แต่รสชาติยังใช่แนะนำให้ไปกินกันหลายคนเพื่อสั่งกันได้หลายจาน เนื่องจากแม่ครัวเตรียมไว้เกือบครบทุกประเภทของอาหารญี่ปุ่นมากเมนูทั้งปลาไหลย่าง ปลาดิบ ซูชิ เทมปุระ หรือข้าวหน้าต่าง ๆ เสริมด้วยเมนูคิดค้นแนวสุขภาพ ที่เสริมอะโวคาโดหรือมันม่วงในเมนูข้าวปั้นเหตุหนึ่งที่ขายอาหารญี่ปุ่นเจเพราะอยู่ในอาณาเขตของศาสนสถานริมแม่น้ำอย่างวัชรโพธิสถานมงคลธัญญ์ ชวนให้แวะทำบุญหลังอิ่มบุญต่อ

ยามเย็นที่เวิ้งเจียไต๋

เวิ้งวัดเกาะ สวรรค์ของสายสตรีตฟู้ด

หากต้องการพาใครไปสัมผัสอาหารเยาวราชแท้ ๆ แบบจบในจุดเดียว ไม่พลุกพล่านนั่งกลางแจ้งแบบปลอดควันรถแต่โชยควันอาหารปรุงสด ก็ต้องพาไปเวิ้งรถเข็นอาหารที่อยู่ตรงข้ามกับวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ) แบบเดินเยื้องไปหน่อย แม้ออกนอกตัวเส้นทรงวาดไปนิด แต่จัดอยู่ในโซนด้านปลายที่ตัดกับถนนทรงสวัสดิ์ที่สุดแสนจะคึกคักยามเย็น

ลิ้มเหล่าโหงว

จุดแข็งของเวิ้งนี้คือเป็นแหล่งชุมนุมอาหารจานเดียวเกือบสิบเจ้าที่พร้อมใจกันแบ่งอาหารขายให้ไม่ซ้ำชนิดกัน แต่ไม่ลืมที่จะปรุงรสให้ได้ใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นหมูสะเต๊ะ กระเพาะปลา ขนมจีบ (ญาติกับเจ้าอาเหลียงตรงหัวถนนแต่แยกทำแยกขาย แต่ชวนถกเถียงว่าใครทำอร่อยกว่า) บัวลอยงาดำ น้ำส้มคั้น โดยเจาะขายเฉพาะมื้อเย็น และสามารถสั่งข้ามร้านกันได้ แต่หลังช่วงโรคระบาดก็เริ่มออกร้านไวขึ้นตั้งแต่ราวบ่ายแก่ ๆ ก็ตั้งแผงกันแล้ว

แน่นอนดาวเด่นเป็นไข่แดงของเวิ้งคือ ลิ้มเหล่าโหงว ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาติดป้ายทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ดังมานานจนมีสาขาทั่วกรุง (ด้วยสนนราคาและรูปแบบบริการที่ต่างระดับกันไป) แต่ที่วัดเกาะนับว่าเป็นต้นตำรับ และได้วัตถุดิบที่ใหม่สดจากฐานผลิตหากมีโอกาสชิมให้รวมได้ครบกับอีก 2 ร้านในดงทรงวาด คือ ลิ้มเล่าซา และ ร้านย้ง (ใกล้หัวถนนมังกรที่ต่างจากอีก 2 เจ้าตรงมีเครื่องหมูและราคาสูงที่สุด)ที่พร้อมใจกันขายในช่วงเย็น จะถือว่าครบร้าน 3 ตัวพ่อในยุทธจักร เอาไว้ถกกับคอลูกชิ้นปลาได้ว่าร้านไหนถูกปากกว่ากัน

เมลอนสดปั่นของเจียไต๋

เวิ้งนี้ บางทีก็ถูกเรียกว่า เวิ้งเจียไต๋ เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ตั้งจุดกำเนิดของกลุ่มบริษัทดังชื่อเดียวกันฝั่งตรงข้ามมีตึกแถวหน้ากว้างแต่แคบเป็นโชว์รูมของ บ.เจียไต๋ เอง นอกจากจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรสดใหม่จากไร่ ยังมีเมลอนสดปั่นเย็นหวานหอมให้ถือจิบดับกระหายระหว่างเดินทอดน่องหรือระหว่างรออาหารฝั่งตรงข้ามที่สั่งอยู่ก็ดี

ซิงเตี่ยซัว

สำหรับคนที่ต้องการมื้อพิเศษ ไม่ไกลจากเวิ้งวัดเกาะนัก ในจุดรอยต่อกับโซนตลาดน้อยตรงหัวมุมแยกที่ ทรงวาด กับทรงสวัสดิ์ตัดกันมีร้านที่ว่ากันว่านำเสนอเมนูแบบแต้จิ๋วแท้ ๆ ชื่อ ร้าน เตี่ยซัว เป็นจุดนัดพบที่คนเยาวราชสำเพ็งแท้ ๆ ที่ไม่ว่าจะยังอาศัยอยู่ที่นี่หรือย้ายออกไปจะมาสังสรรค์กัน แม้ว่าเพิ่งย้ายมาจากทำเลเก่าตรงฝั่งราชวงศ์ที่ค่อนข้างคับแคบมาได้ไม่นาน แต่ก็ยังคงจานเด็ดไว้ครบถ้วน ทั้ง ข้าวต้มปู หวานสดไม่คาว ที่ต้องคอยเช็กราคารายวันคือไอเท็มห้ามพลาดอย่างปลาไหลและปลาบู่  ส่วน เต้าหู้ทอดจิ้มน้ำเกลือ ไส้ข้างในนุ่มราวครีมคัสตาร์ด ผัดเนื้อสัตว์ใหญ่ที่ผัดออกมาได้มีกลิ่นและรสซับซ้อนไร้ความสาปคาว รวมถึง ห่านพะโล้ ที่ทั้งเนื้อและเครื่องในวางโชว์ยั่วน้ำลายไว้ตรงกระจกด้านหน้า และยังอีกหลายอย่างให้เลือก ด้วยราคาที่ไม่สูงนักเทียบกับบรรดาเหลาด้านหน้าถนนเยาวราชเว้นเมนูปูและปลาบางอย่างที่ต้องสอบถามราคาประจำวัน

Fact File

  • ขนส่งสาธารณะ : หากมาด้วยรถเมล์จะมีสาย 204 จอดบริเวณท่าน้ำราชวงศ์เลย ไม่ก็สายอื่นแล้วลงทางด้านถนนเยาวราช จะที่ป้ายตลาดเก่าหรือป้ายคลองถมก็ได้ แล้วเดินต่อเข้าถนนราชวงศ์หรือซอยอื่นที่ขนานกันซึ่งมีกับดักคอยตัดกำลังกระเพาะอยู่เพียบ หรือไม่ก็เข้าทางอีกฝั่ง ด้านวัดสัมพันธวงศ์ผ่านเส้นถนนทรงสวัสดิ์จากแยกเฉลิมบุรีหรือทางถนนตรีมิตรผ่านทางวงเวียนโอเดียนหากลงป้ายรถแถววัดไตรมิตรฯ
  • รถไฟฟ้าใต้ดิน : หลังจากออกจากสถานีวัดมังกร สำหรับผู้ยังไม่ชำนาญในผจญเขาวงกตเยาวราชให้ใช้เส้นถนนมังกร เดินผ่านยาวทะลุเยาวราชและสำเพ็งมาตลอดเส้นถนนจนค่อย ๆ แคบขนาดเท่าตรอกจะเจอถนนทรงวาดตรงสุดซอยมังกรนั่นเอง
  • เรือ : การเดินทางทางเรือมายัง ทรงวาด นับเป็นทางเลือกที่สะดวก เพราะจอดทั้งเรือข้ามฟากจากท่าดินแดงและเรือด่วนเจ้าพระยามาลงท่าน้ำราชวงศ์ในฐานะเป็นป้ายท่าเรือหลักของเรือทุกสีธง
  • ที่จอดรถ : การจราจรหนาแน่นรอบด้านในช่วงกลางวันผสมระบบถนนวันเวย์ทำให้หลายคนท้อใจที่จะมาแต่ ทรงวาด ก็มีที่จอดรถพอสมควรสำหรับผู้ตะลุยขับถึง และโล่งพอควรในช่วงเย็นและวันอาทิตย์ โดยจอดได้ในวัดสัมพันธวงศ์ หรือลานจอดรถเอกชนริมน้ำด้วยคำค้น‘ลานตู้เหลือง’ซึ่งมีภาพกราฟิตีขนาดใหญ่รูปช้างไต่อยู่บนผนังตึก นับเป็นแลนด์มาร์กโดดเด่นมานานหลายปี ส่วนที่จอดรถติดถนนของศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง/โรงเรียนเผยอิงสะดวกสุดแต่มีที่จำกัด

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ