แจกพิกัดรสอร่อย นางเลิ้ง ตลาดแบบไทยๆ ที่ถือกำเนิดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
Lite

แจกพิกัดรสอร่อย นางเลิ้ง ตลาดแบบไทยๆ ที่ถือกำเนิดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

Focus
  • ครั้งหนึ่งนางเลิ้งได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงอาหารกลางวันของหน่วยงานราชการจำนวนมากที่รายล้อม
  • จุดเด่นอีกอย่างของนางเลิ้ง คือนอกจากนั่งกินตามร้าน ยังสามารถหิ้วห่อเล็กจานน้อยจากกองทัพแผงอาหารทั้งแบบปรุงสดและบรรจุสำเร็จพร้อมกินซึ่งล้วนถูกจัดระเบียบเรียบร้อยให้อยู่ภายใต้หลังคาใหญ่หลังเดียว มานั่งกินบนโต๊ะเก้าอี้กลางตลาดได้หลายเจ้าไปพร้อมกัน

ในบรรดาย่านพระนครที่อุดมด้วยร้านอาหารมีตำนานของกินมีตำรับและอยู่พิกัดถิ่นเก่าแก่ นางเลิ้ง นับว่าไม่แพ้ใคร แม้ว่าจะต้องตั้งใจเดินทางไปสักนิดด้วยรถไฟฟ้ายังไม่ผ่านจะขึ้นรถเมล์ก็ต้องเดินต่อ ขับรถก็ต้องลุ้นที่จอดนิด แต่นี่คือเสน่ห์ของอดีตย่านตลาดแบบไทยๆ ที่กำเนิดเมื่อ 100 กว่าปีก่อนเพื่อรองรับการขยายตัวของพระนครตามแนวเส้นคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดขึ้นใหม่

ข้าวแกงรัตนา

ครั้งหนึ่ง นางเลิ้ง ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงอาหารกลางวันของหน่วยงานราชการจำนวนมากที่รายล้อม การโยกย้ายของหน่วยงานเหล่านี้ออกไปจำนวนมากในปัจจุบันทำให้นางเลิ้งซบเซาไปช่วงหนึ่ง แต่ด้วยเสน่ห์ความอร่อยที่พ่อค้าแม่ขายรุ่นลายครามที่ปรุงกันร้อนๆ และเอกลักษณ์ของอาคารบ้านเรือนที่เหมือนหยุดนาฬิกาไม่ให้หมุนมานับทศวรรษ ทำให้ “ซิงตั๊กลัก” (คำที่คนจีนใช้เรียกสื่อถึงตลาดใหม่เทียบกับ “ตลาดเก่า” ที่เยาวราช) ยังคงมีลมหายใจอยู่ ยิ่งหลังๆ ได้ทั้งดาราและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศหลายคนมาแวะช่วยโปรโมตทางอ้อม รวมถึงตัวช่วยของการสั่งผ่านไรเดอร์ทำให้หลายร้านขายหมดแม้ยังไม่ถึงเวลาเที่ยง

บรรยากาศในตลาดนางเลิ้ง

จุดเด่นอีกอย่างของ นางเลิ้ง คือนอกจากนั่งกินตามร้าน ยังสามารถหิ้วห่อเล็กจานน้อยจากกองทัพแผงอาหารทั้งแบบปรุงสดและบรรจุสำเร็จพร้อมกินซึ่งล้วนถูกจัดระเบียบเรียบร้อยให้อยู่ภายใต้หลังคาใหญ่หลังเดียว มานั่งกินบนโต๊ะเก้าอี้กลางตลาดได้หลายเจ้าไปพร้อมกัน

นางเลิ้ง

นางเอกของตลาดดูจะเป็นขนมไทยและของกินเล่นทั้งแบบแห้งเก็บกินข้ามวันและแบบทำสดกินร้อนทันที ไม่ว่าจะกลุ่มขนมทำจากกะทิ ทำจากไข่แดง และที่นึ่งสด แต่ก็มีอาหารจานเดียวสารพันเมนู คอยบริการ Sarakadee Lite รวมโพยมาให้ ทอดน่องไปชิมไป ไว้เป็นกลุ่ม ทั้งคาวหวาน และทั้งร้านเก่าร้านใหม่ ดังนี้

นางเลิ้ง
ไส้กรอกปลาแนม

3 ตำนานขุนพลความอร่อยแห่งย่านนางเลิ้ง

เมื่อเอ่ยถึงเมนูนางเลิ้ง สามร้านนี้คือภาคบังคับ ด้วยอายุร้านนับหลายทศวรรษ อ่อนแก่พรรษากันไปไม่มาก ทั้งหมดล้วนนำเสนอตำรับรุ่นปู่ย่าอากงอาม่า บางคนอาจจะติงว่ารสไม่จัดจ้านอย่างที่คนร่วมสมัยคุ้น แต่หารสมือแบบนี้ได้ยากเต็มที เรียกว่าส่วนหนึ่งที่ยังยืนหยัดมาได้อย่างยาวนานเพราะลูกค้าขาประจำอุดหนุนต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ยุคนั่งรถรางมากินยันยุคสั่งผ่านไรเดอร์

นางเลิ้ง

ไส้กรอกปลาแนมแม่เล็ก: ของกินเล่นไทยโบราณที่ทำแบบเล่นๆ ไม่ได้ เพราะมากด้วยเครื่องเครา และกระบวนการตั้งแต่ตอนปรุง จัดเรียง ไปจนถึงกินเลยทีเดียว แต่เจ้าเก่าแก่กว่า70ปี รุ่นที่3นี้กลับจัดสรรได้อย่างครบสูตร แม้กระแสความนิยมจะทำให้มีเจ้าอื่นในย่านอื่นเป็นทางเลือก แต่หาใครโค่นตำแหน่งแชมป์ของแม่เล็กไปได้ ด้วยรสมือที่ลงตัวของสองส่วน ทั้งไส้กรอก ที่จัดมาทั้งแบบข้าวและแบบหมู และตัวปลาแนมที่นิ่มฟูแต่เต็มคำ ส่วนผสมหายากทำเหนื่อยก็ไม่เคยขาด ทั้งส้มซ่าสด ถั่วคั่วใหม่ และกระเทียมดองซอย รสครบทั้งหวานอมเปรี้ยวเผ็ดพริกปลายลิ้นกับหอมสมุนไพรติดปลายจมูก รวมถึงผักเคียงที่จัดมาให้ครบรส โดยที่ไม่ลืมจะมีใบชะพลูมาให้ทุกครั้ง จากความนิยมทำให้ขายได้หมดแทบทุกวัน พลอยให้คนซื้อได้กินของปรุงสดใหม่ แนะให้จองไว้ก่อนจะดีสุดหากชอบกินเป็นบางอย่างก็สามารถขอซื้อไส้กรอกหรือปลาแนมแยกขายเป็นขีดได้

นางเลิ้ง

“จิ๊บกี่” สถาบันประจำนางเลิ้ง : เห็นคำลงท้ายว่ากี่ ก็ยืนยันได้ดีว่าเป็นกวางตุ้งคู่พระนครเก่าแก่ ด้วยอายุไขร้านถึงกว่า 8 ทศวรรษ หลักฐานชั้นดีคือรูปบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกร้านกับเฟอร์นิเจอร์ไม้รุ่นเก่ารวมถึงจานช้อนส้อมที่เสริมความขลังของตึกแถวสามคูหาแห่งนี้ ให้เป็นสถาบันอาหารประจำย่าน แต่ที่ต้องยอมรับคือความคงเอกลักษณ์ด้านรสชาติและการนำเสนอ ทั้งตูดเป็ด ไส้แก้ว หม้อตุ๋น ข้าวร่วนๆ น้ำจิ้มพริกสด ที่โดดเด่นสุดคือน้ำราดแบบรสยุคก่อนที่เค็มนำหวาน ออกใสไม่ข้นแป้งมันแบบร้านรุ่นใหม่ และตัวเนื้อเป็ดที่บรรจงหั่นโชว์หนังติดมาให้แทบทุกชิ้น โดยสีไม่ได้แดงจัด แต่กลับติดเกรียมนิดๆ และหอมย่างด้วยถ่านคนที่มาสายก็จะทันแค่หมูย่างที่ไม่ได้หวานมากเช่นกัน และหมูกรอบเนื้อนุ่มหนังติดเค็มหน่อย ย้อนอดีตถึงรสกวางตุ้งแบบไทยๆ ที่มีกลิ่นอายของแต้จิ๋ว ความคลาสสิกอีกอย่างนอกจากตัวอาหารก็คือวิวถนนฝั่งตรงข้าม และอาม่าที่คอยเฝ้าร้าน จะให้ดีต้องมาแต่เช้า ตอนลูกค้ายังไม่มากออร์เดอร์ไรเดอร์ยังไม่หลั่งไหล  นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่มายึดโต๊ะ แล้วสั่งชุดเครื่องในพร้อมไส้แก้วผสมตูดเป็ด ขอน้ำราดแยกใส่ถ้วย เป็ดตุ๋นกรุ่นพริกไทยไร้กลิ่นมะนาวดองสักโถมาพุ้ยกับข้าวสวยที่ยางน้อยอย่างที่หลายคนบ่นไม่ชอบ นับเป็นเซตหาที่ไหนเทียบได้

นางเลิ้ง

สตู-กะหรี่รสโบราณ : อีกดาวเด่นที่ซ่อนตัวอยู่บนถนนศุภมิตร แยกจากถนนกรุงเกษมริมคลอง แต่เป็นทางเข้าตลาดด้านหลัง ร้านอายุกว่าครึ่งศตวรรษนี้ไร้ชื่อ แต่ไม่จำเป็น เพราะใบหน้าของสองสาวศรีพี่น้องรุ่นเก๋านับเป็นตราร้านได้เป็นอย่างดี อาหารจานเดียวตักเสิร์ฟไวเมนูประหยัดนี้เคยยอดฮิตในอดีต ที่ไม่ใช่ทั้งสตูแบบฝรั่ง หรือกะหรี่แบบแขกหรือญี่ปุ่น แต่เป็นแนวจีนที่ทั้งหากินยากและหาอร่อยแบบสูตรโบราณยากขึ้นไปอีก ร้านที่กว้างถึง2คูหา แต่ขายกับเพียงแค่ 2 หม้อ คือ แกงกะหรี่หมู และสตูลิ้นหมูแบบจีน และแทบทุกโต๊ะจะสั่งกุนเชียงมาแกล้ม เพราะน้ำแกงไม่เค็มหรือฉุนเครื่องพะโล้แบบร้านอื่น ส่วนเนื้อเองก็นุ่มจากการเคี่ยวตุ๋นที่ไม่เละจนเกินไป น่าเสียดายอยู่นิดที่ร้านนี้เลิกขายเนื้อและก๋วยเตี๋ยวไปแล้วแต่ยังมีกะเพราไก่ (เฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี) ไว้เป็นทางเลือก หากไม่รู้จะสั่งอย่างไร ก็ขอแบบผสมทั้งสตูและกะหรี่ราดข้าวบนจานเดียวกัน และกุนเชียงแนม

สวรรค์คำน้อยๆ ของอาหารว่าง

ถ้ายังไม่อิ่มจากจานหลัก นางเลิ้งก็พร้อมทำให้จุกด้วยอาหารว่างที่จะกินต่อเลย หรือหิ้วกลับไปกินยามบ่ายหรือยามเย็นที่บ้านก็ได้ แต่ดีสุดคือกินภายในวันที่ซื้อเลย เพราะจะได้ผัสสะสดรสไม่ต่างจากที่ทำเสร็จใหม่ ท่ามกลางสารพัดอาหารว่างตำรับ นางเลิ้ง คงพลาดรายการตามนี้ไปไม่ได้ 

สาคูพอดีคำสูตรแม่สะอิ้ง : แม่สอิ้งทำสาคูของเธอออกแนวหวานนำ ไม่เค็มไช้โป๊อย่างเจ้าอื่นแต่กินได้เนื้อหมูแท้ๆ ที่ไม่ใช่มาเพียงแต่วิญญาณ เครื่องทั้งหมดพร้อมถั่วและหอมได้สับละเอียดเนื้อแน่นกัดแล้วไม่ร่วง ด้วยคำไซซ์มินิทำให้กินง่ายโดยขายมากว่าครึ่งศตวรรษข้างไส้กรอกปลาแนมนั่นเองแถมมีปากหม้อเมนูคู่แฝดของไส้หมูที่มักหมดก่อนเพราะแป้งบางชนะใจสายโลว์คาร์บ ทั้งหมดควรรีบกิน หากข้ามคืนเม็ดสาคูหรือแป้งปากหม้ออาจเกาะกันด้วยไม่ได้ราดน้ำมันเคลือบจนโชกอย่างเจ้าอื่น ของแนมก็คัดมาดีทั้งหอมผักชีกระเทียมเจียวกรอบ พริกขี้หนูสวนเม็ดจิ๋วๆ อยากได้ของเสริมก็มีสองข้าวตัง ทั้งหน้าตั้งและเมี่ยงลาวให้สลับรส

เบื้องญวนวิภาวรรณ

เบื้องไทยประชันเบื้องญวน : แก้อาการคนแยกไม่ออกระหว่างเบื้องไทยกับเบื้องญวน ที่ไม่รู้อันไหนเป็นคาวหรือหวาน อาหารหรือขนม ได้ด้วยการพามาดูอาหารสองชนิดนี้ที่ละเลงแป้งกันร้อนๆ ได้ที่นางเลิ้ง โดยมีทั้งหมด 3 พิกัด เจ้าแรกคือร้าน เบื้องญวนวิภาวรรณ ในบริเวณตลาดด้านในที่ขายตลอดวัน ซึ่งนอกจากมีทั้งแบบแป้งกรอบเป็นแพและแบบแป้งนิ่มใส่ไข่แล้ว ยังมีผัดไทยและขนมผักกาดให้เลือกพร้อมกัน ส่วนอีกเจ้า เบื้องญวนย่าแช่ม อยู่ริมถนนโดยตั้งเตาถ่านเรียงรายตรงปากซอยนครสวรรค์ 4 ขนความเก๋ามาทั้งสูตรและวิธีทำ ไส้จะเน้นมะพร้าวสั่งพิเศษขูดเป็นเส้นไม่ใช่ฝอยผัดปรุงรสผสมกุ้งแม่น้ำนิดๆ สีออกธรรมชาติไม่แดงจัด แนะให้สั่งแบบกรอบมาคลุกกับอาจาดเปรี้ยวนำด้วยน้ำส้มสายชูสับปะรดหมักผสมขิงอ่อนซอยไม่เหมือนใคร ที่ให้มาแบบจัดเต็มถ้วยไม่หวงของไว้คอยตัดเลี่ยน ส่วนขาชอบแป้งนิ่มต้องรอนิด เพราะแม่ค้าจะนำมาทอดซ้ำรีดน้ำมันออกเพิ่มความกรอบ คนที่โชคดีได้คิวเบื้องญวนแล้วแต่รอทนหิวไม่ไหว ก็กินปังหน้าหมูที่มีเตาปิ้งรีดน้ำมันประทังไปก่อนได้

ส่วน เบื้องไทยลุงน้อย เพิ่งย้ายไปขายแผงในตลาดใต้หลังคา หลังขายปากซอยเดียวกันกับย่าแช่มมานานเอกลักษณ์ (อีกแล้ว) อยู่ที่การทำคำเล็กๆไม่ต้องคอยประคองถือให้เมื่อย จบได้ในหนึ่งหรือสองคำ แต่อาจยังร่วงลงพื้นอยู่บ้างด้วยแป้งที่กรอบพรุนซึ่งทำจากแป้งถั่วเขียวแท้โม่เองที่ติดหวานนิดด้วยคาราเมลจากไข่ขาวผสมน้ำตาลมะพร้าวที่ละเลงบางๆ ก่อนโปรยไส้ที่มีทั้งแบบหวานเครื่องฝองทองเมืองเพชรผสมงาคั่วพุทราสับและลูกเกด และแบบไส้เค็มเครื่องมะพร้าวผัดสามเกลอที่ได้ผัสสะเนื้อกุ้งและกลิ่นมันกุ้งที่พอใส่ให้ออกแดงซีดๆ แซมด้วยใบผักชีเพิ่มกลิ่นด้านบนหากมาสายอาจจะไม่ทันเห็นตอนทำสด แต่ประกันความกรอบที่ยังกรุบตลอดวัน และฝากสั่งให้มาส่งที่ร้านย่าแช่มได้ 

ละลานตาขนมไทย

หลายคนดั้นด้นไปต่างจังหวัด ทั้งเมืองเพชร หรือแปดริ้ว โดยลืมไปว่ายังมีแหล่งรวมขนมไทยชั้นดีอยู่ใจกลางพระนครอย่างนางเลิ้งนี่เอง และไม่ได้มีเพียงแค่เจ้าสองเจ้า แต่นับด้วยนิ้วทั้ง 10 เกือบไม่ถ้วน บางเจ้าที่เก่าแก่หน่อยก็แตกหน่อเป็นเครือญาติกันมา ส่วนเจ้าที่ใหม่หน่อยก็พยายามหาจุดเด่นให้ไม่ซ้ำใคร  

แม่สมจิตต์: เพื่อนบ้านร้านปลาแนมที่เด่นด้วยขนมใส่กล่องพลาสติกใสเรียงสวยงามด้วยสัดส่วนพอดีมื้อและหลากหลาย ตัวชูโรงคือแปบไส้กุ้ง ที่ไม่ใช่ถั่วแปบ ที่ต้องลุ้นนิดว่าทำขายไหมและหมดไวมาก ส่วนของพื้นฐานอย่างถั่วแปบ ขนมกลุ่มทองหยิบทองหยอด ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ กับขนมกลุ่มกะทิ ก็จะสลับเวียนกันมาวางในแต่ละวัน ขาเก่าแก่จะทราบว่าแม่สมจิตต์เป็นขนมทางเดียวกับร้านแม่กวา อีกเจ้าเก่าแก่ที่ปัจจุบันตั้งเป็นแผงอยู่ในตัวตลาดใต้หลังคา

นันทา: อีกเจ้าที่อยู่ในตึกแถวเก่าข้างตัวตลาดด้านใน ที่สร้างแบรนด์ด้วยการทำขนมให้ออกมาขนาดเดียวกันในกระทงใบตองขนาดพอดีสองนิ้วหยิบได้ โดยแยกขนมเป็นสองสายหลัก คือกลุ่มข้าวเหนียวหน้าต่างๆ กับกลุ่มขนมนึ่งผสมแป้งข้าวเจ้าทั้งขนมมัน เผือก กล้วย ข้าวโพด และฟักทอง รวมถึงขนมตาล แต่จะกลุ่มไหนก็เอาไปฝากใครหรือจัดเสิร์ฟต่อเองได้อย่างสวยงาม

แม่มณฑา: ยืนหนึ่งในตองอูในบรรดากลุ่มเจ้าขนมในตลาด คือขนมถ้วยเจ้านี้ที่นึ่งใหม่ทุกวัน ราดส่วนแป้งหวานกับส่วนกะทิเค็มกันให้เห็นๆ พร้อมเรียงรายให้เห็นถ้วยตะไลที่แคะออกมาให้ประจักษ์เป็นหลักฐาน โดยแม้ทำแบบถ้วยใหญ่ที่เริ่มหายากแต่เนื้อกลับไม่เละหลังแคะเรียงลงกล่อง สำหรับคนที่รู้สึกยังกลืนกะทิไม่พอ ก็มีขนมสอดไส้เป็นตัวเสริม พร้อมข้าวต้มมัด ถั่วแปบ และมันเชื่อม

และหากอาการน้ำตาลตกยังไม่หาย ตลาดนางเลิ้งยังมีขนมเทียนแม่อรุณไส้เค็มสูตรเก่าที่ขายมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ป้าหงส์ขนมไทยร้านใหญ่ใกล้อดีตโรงหนังที่เป็นสวรรค์ของขนมแห้ง กล้วยเชื่อมน้องเดียร์ในตึกริมตลาดอีกฝั่งที่ละลานตาด้วยสารพัดกล้วยเชื่อมหลากสีแปลกตากว่าเจ้าอื่น และอีกนานาเจ้า

บุญเลิศ โดดเด่นด้วยหมูย่าง

สามขุนพลหมี่เตี๋ยว

 ไม่ต่างจากย่านเก่าคู่พระนครย่านอื่นที่มีสำรับจีนไว้คอยยั่วน้ำลาย แม้จะไม่ถึงกับระดับเหลาแต่นางเลิ้งก็ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมบะหมี่ก๋วยเตี๋ยวแนวจีนที่แต่ละเจ้าบรรจงสร้างเอกลักษณ์ของตนไม่แพ้ที่อื่น โดยส่วนใหญ่จะหนักไปทางเครื่องหมูเครื่องเป็ด มากกว่าสายลูกชิ้นปลา

บุญเลิศ สารพันจานหมูย่าง : จุดเรียกแขกของบุญเลิศก็คือหมูย่างที่หมักด้วยซีอิ๊วอย่างดี ที่ทำให้คนออกันเต็มปากซอยนครสวรรค์ 8 จนทำให้ได้ป้ายมิชลินมาเป็นแม่เหล็กสำคัญให้กับตลาดเก่าแก่อย่างนางเลิ้ง โดยย่างออกมาได้สีธรรมชาติจากเครื่องปรุง ไม่ได้หวานนำและแดงแสบตาจากสีผสมอาหาร ยิ่งพอได้กัดกลืนความหอมก็กระทบนาสิก น้องๆ หมูชาชูตามร้านราเมงหลักร้อย แต่ดีสุดก็คือขอประดับชามให้ครบสามหมู ทั้งหมูแดง หมูกรอบ และหมูสับ จะโรยปูหรือไม่ก็แล้วแต่กำลังศรัทธา จะต่อด้วยเมนูหมูอบหรือจานเป็ดไก่อื่นๆ ที่พลิกแพลงก็คงแล้วแต่กำลังพุง

รุ่งเรืองหมี่เหนียวนุ่ม : ถัดมาด้านในของซอยนครสวรรค์ 8 เช่นกัน คือร้านติดป้ายเชลล์ชวนชิม ดังได้ด้วยเส้นบะหมี่สูตรฮกเกี้ยนเหนียวสู้ฟันแบบไร้สารกันบูดที่มีคนติดใจขอแยกซื้อกลับบ้านจนต้องบรรจุบะหมี่สดขายเปล่าๆ อาศัยมีปริมาณเนื้อที่ร้านเยอะจากการขยายร้าน เลยแตกไลน์มาขายไก่ตุ๋นเป็ดย่างและขาหมูให้ลูกค้าไม่ต้องนอกใจไปต่อไหน กินกันได้จบหลายอย่างในร้านเดียว แน่นอนว่าจะเครื่องอะไรก็ตามก็เข้ากันกับบะหมี่เส้นใหญ่หนานุ่มของรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี

นางเลิ้ง

ก๋วยเตี๋ยวรสละมุน : สำหรับคนที่แสวงหาก๋วยเตี๋ยวรสย้อนอดีตที่ไม่หวานเจี๊ยบเค็มจัดกัดไต นางเลิ้งคือแหล่งที่ควรมาย้อนศึกษาประวัติศาสตร์รสชาติก๋วยเตี๋ยวตำรับพระนคร ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นนางเลิ้ง ที่มีอาณาจักรของตัวเองอยู่ในซอยนครสวรรค์ 2 ริมตลาดซึ่งหลายคนเลือกที่จะซึมซับรสของเนื้อที่ตุ๋นจนเปื่อยและซดซุปรสหวานกระดูกเจือเครื่องเทศอ่อนๆ แบบงดปรุง สูตรประจำคือเกาเหลารวมมิตรพร้อมข้าวสวย คนที่มักเมินลูกชิ้นด้วยเกรงผสมแป้งก็ให้ไว้ใจได้ว่าที่นี่เนื้อล้วนๆ 

นางเลิ้ง
เนื้อตุ๋นนางเลิ้ง

ขาก๋วยเตี๋ยวแคะก็ต้อง ร้านสุวิมล ในตัวตลาดใต้หลังคาที่สีสันอาจจะไม่สดใสเพราะทำลูกชิ้นเอง ชนิดที่สดสะอาดไปยันน้ำซุปสูตรไร้ผงชูรส และหากเดินมาทางเส้นริมคลอง ร้าน ก.ชวนชิม สาขา68 ที่ขายมาเกินครึ่งศตวรรษก็ไม่ได้มีดีเพียงการตกแต่งสีแดงฉานเกือบทั้งร้านจากป้ายทีมปีศาจแดงและแบรนด์น้ำซ่าแต่ยังเด็ดด้วยสูตรน้ำซุปใสแบบเชงๆ ไม่แพ้เจ้าดังแถวศรีย่าน โดยปรุงแยกหม้อเนื้อกับหมูที่สองอาแป๊ะยังแยกกันทำคนละฝั่งให้สบายใจคนที่งดเนื้อสัตว์อีกอย่างด้วย และกล่าวได้ว่าทั้งรสลูกชิ้น เนื้อเปื่อย และเนื้อสด (แบบลวกทีละชามไม่ทิ้งไว้) มีมาตรฐานเกินหน้าตาของร้านไปอยู่มาก

นางเลิ้ง
Buddha & Pals

เก็บตกรสนางเลิ้งร่วมสมัย

นอกจากรสชาติแห่งประตูกาลเวลา นางเลิ้งยังนำเสนอรสร่วมสมัยไว้ไม่น้อย อย่างแจซบาร์บริการค็อกเทลแสนครีเอต Buddha & Pals ที่ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกับ Kanvela โฮสเทลแสนเท่ห์ ฝั่งริมคลองผดุงที่คอแจซจะคอยเช็กการแสดงดีๆ ในแต่ละค่ำคืนพิเศษ หรือ Na Café at Bangkok 1899  ที่แอบอยู่ในบ้านเก่าขุนนางสำคัญทรงขลังริมถนนนครสวรรค์ที่มักมีกิจกรรมส่งเสริมสังคมโดยเฉพาะประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยผ่านจานอาหารมาให้ตามติดในเฟซบุ๊กของร้านอยู่ทุกเดือน

นางเลิ้ง

ไม่นับร้าน วราภรณ์สาขาแรก ที่อยู่ริมถนนข้ามคลองไปด้านธนาคาร ธ.ก.ส. ที่แปลงตึกแถวสองคูหาจุดกำเนิดของซาลาเปาร้อยล้านสูตรไหหลำให้เป็นต้นแบบติ่มซำคาเฟ่อีกนับสิบๆ สาขา ส่วนร้านในตำนานรอบนอกอื่นๆทั้ง เกาเหลาสมองหมู ริมถนนจักรพรรดิพงษ์ หรือร้านสุกี้โบราณชื่อยาวอย่าง เอี้ยย่งเฮงกุ่ยฮวด คงต้องขอรบกวนให้ทำการบ้านเพิ่มเอง เรียกได้ว่า นางเลิ้ง มีตั้งแต่รสชาติแห่งอดีต ประวัติศาสตร์ย่าน และความร่วมสมัยของนักกินในยุคสมัยปัจจุบันให้ได้ตระเวนกินอย่างสนุกไม่แพ้ย่านใด

การเดินทาง

ที่จริงการเดินทางมา นางเลิ้ง ไม่ได้ยากจนเกินไป ง่ายสุดสำหรับรถเมล์ คือจับสาย 53 ลงทางริมคลองใกล้สภาพัฒน์แล้วเดินเข้าซอยศุภมิตรมาทะลุด้านหลังตลาด หรือตามเส้นกรุงเกษมเลียบคลองแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกใกล้ชื่อป้ายตลาด หรือจับสารพัดสายที่ผ่านด้านถนนหลานหลวง ลงป้ายเยื้องโรงแรม Royal Princess แล้วเข้าถนนพะเนียงมาทะลุซอยศุภมิตร หรือจะเข้าทางสี่แยกริมคลองอ้อมสาขาต้นกำเนิดของร้านบุญถาวรมาตามแต่ความช่ำชองในการย่ำพระนคร 

สำหรับคนที่มาด้วยรถยนต์ หากเบื่อที่จะลุ้นที่ว่างริมคลองผดุงที่มีเจ้าหน้าที่ กทม.ตระเวนเก็บค่าจอดไปมาด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ สามารถจอดได้ที่วัดโสมนัส วัดสุนทรธรรมทาน หรือที่ใกล้สุดคือในโครงการชัยพัฒนาประชาเกษมริมคลองผดุงฯ ที่จอดฟรีช่วงกลางวัน เว้นเสาร์-อาทิตย์ และแน่นอนหลายเจ้าอร่อยร้านเก่าแก่ที่ไล่เรียงมาข้างต้นสามารถซื้อผ่านแอปบริการรับส่งอาหารเจ้าหลักๆ ได้เกือบหมด


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ
ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม