วรรณาคดี : ห้วงชีวิตและประสบการณ์วรรณกรรมของ ศรีดาวเรือง
Lite

วรรณาคดี : ห้วงชีวิตและประสบการณ์วรรณกรรมของ ศรีดาวเรือง

Focus
  • วรรณาคดี คือหนังสือเล่าเรื่องเชิงอัตชีวประวัติของ วรรณา ทรรปนานนท์ นักเขียนผู้คร่ำหวอดในยุคสมัยอันรุ่งเรืองของวรรณกรรมไทย ฝีไม้ลายมือทางวรรณกรรมระยะเวลากว่า 50 ปี
  • ความน่าสนใจของหนังสือเริ่มขึ้นตั้งแต่การวางวิธีการทางวรรณกรรมที่ ศรีดาวเรือง วางตัวเองไว้ในตำแหน่งนามปากกาที่กำลังเล่าเรื่องตัวเองผ่านมุมมองทางวรรณกรรม

วรรณาคดี อัตชีวประวัติของ วรรณา ทรรปนานนท์ โดย ศรีดาวเรือง หนังสืออัตชีวประวัติของนักเขียนผู้คร่ำหวอดในยุคสมัยอันรุ่งเรืองของวรรณกรรมไทย ฝีไม้ลายมือทางวรรณกรรมระยะเวลากว่า 50 ปี ศรีดาวเรือง ได้เล่าเรื่องของสามัญชนคนแรงงานอันถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศผ่านรูปแบบวรรณกรรมทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายมากมายร่วม 100 เรื่อง 

ใน วรรณาคดี เล่มนี้ได้เล่าเรื่องเชิงอัตชีวประวัติของ “วรรณา ทรรปนานนท์” ซึ่งก็คือชื่อจริงของ ศรีดาวเรือง กล่าวได้ว่าเธอกำลังเล่าเรื่องชีวิตของเธอเองโดยเริ่มจากปฐมบทของชีวิตวัยเด็ก ก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย ความน่าสนใจของหนังสือเริ่มขึ้นตั้งแต่การวางวิธีการทางวรรณกรรมที่ ศรีดาวเรือง วางตัวเองไว้ในตำแหน่งนามปากกาที่กำลังเล่าเรื่องตัวเองผ่านมุมมองทางวรรณกรรม ทำให้แต่ละบทมีการจัดวางด้วยท่าทีที่ออกแบบสุนทรียะทางวรรณกรรมมาอย่างเจนปากกา จนเรียกได้ว่างานชิ้นนี้คือ อัตชีวประวัติ ที่หมายถึงการเขียนเล่าเรื่องของตนเองด้วยขนบวิธี การเขียนสร้างสรรค์ (เป็นการใช้เทคนิคที่ก้าวเหยียบวิธีการอันหลากหลายในการเล่าเรื่องและสื่อความ เช่น การเอาการละเล่น บทเพลง บทกลอน ในความทรงจำหลากหลายวัยมาใช้เล่าเรื่อง แสดงให้เห็นทั้งความรู้ที่ได้จาก “วรรณกรรม” ในชีวิตประจำวันที่สะท้อนผ่านการละเล่นพื้นบ้านวัยเด็ก ซึ่ง ศรีดาวเรือง เองไม่ได้เขียนในเชิงวิเคราะห์บทเพลงบทกลอนแบบขยายองค์ความรู้แบบที่หนังสือแสดงทัศนะมักจะขยายความ แต่เธอกลับเขียนเล่าผสานไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้อย่างสุนทรีย์

ต่อเมื่อผัสสะที่ซึมซับสุนทรียะของชีวิตเข้ามารวมกับเรื่องราวประวัติของตนเอง ทำให้คนอ่านสามารถเข้าใจได้ถึงแรงบันดาลใจทางวรรณกรรมของนักเขียนสามัญชนคนนี้ว่าแรงบันดาลใจของเธอคือ การโอบรับความงามที่สังเกตได้ในชีวิตเข้ามารวมกับความทรงจำ และถ่ายทอดมันออกมาด้วยภาษาที่งดงาม และหากใครเคยได้อ่านงานเขียนของ ศรีดาวเรือง มาบ้างแล้วจะสามารถจินตนาการข้ามจากเล่มนี้ไปเชื่อมโยงกับผลงานเล่มอื่นๆ ในเชิงสุนทรียะวรรณกรรมได้ และส่วนนี้เองที่ทำให้งานของอัตชีวประวัติศรีดาวเรืองน่าสนใจอย่างยิ่ง และชวนให้อยากย้อนกลับไปอ่านเล่มอื่นซ้ำหลังจากการอ่าน วรรณาคดี 

ความสำคัญอันน่าสนใจในการผลิตงานวรรณกรรมจากชีวิตคล้องไปกับการที่ ศรีดาวเรือง มักอยู่ในนักเขียนที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นสามัญชนเขียนเรื่องสามัญชน เพราะนอกจากเธอจะมีประสบการณ์ในการเป็นแรงงานแล้ว เธอยังไม่ได้อยู่ในขอบเขตการศึกษาวิชาวรรณกรรมใดๆ เธอไม่ได้ศึกษาวรรณกรรมผ่านหลักวิชาจากสถาบันทางความรู้ แต่ในเล่มนี้จะมีบทที่เธอเล่าถึงการศึกษาผ่านการอ่านด้วยตนเองและทดลองเขียนขึ้นมา ทำให้วรรณกรรมของเธอมีความพิเศษตรงที่ผสานระหว่างเนื้อหาจากชีวิตจริงเข้ากับวิธีทางวรรณกรรมที่เธอซึมซับด้วยการอ่านอย่างอิสระ ไม่ได้อยู่ในกรอบทางสถาบันความรู้กระแสหลักแต่อย่างใด

หากเรากล่าวถึงความสร้างสรรค์แล้วบ่อยครั้งมันมักจะ “แปลก” หรือแหกขนบและไม่ใช่ความปกติ เนื่องจากคำนี้มักมีความหมายถึงความเป็นอื่นจากขนบทางความรู้ที่ถูกสถาปนา หนังสือเล่มนี้คลี่คลายให้เห็นว่างานเขียนของศรีดาวเรืองเป็นงานเขียนสร้างสรรค์ด้วยวิธีวิทยาของเธอเอง ไม่ใช่การพยายามตีตนออกห่างจากสถาบัน แต่เป็นเพราะเธอไม่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมกับสถาบันตั้งแต่แรก จนเราสามารถจะคิดไปได้ว่าหรือแท้จริงอีกมุมของความสร้างสรรค์อันอบอวลอยู่รอบตัวเป็นธรรมชาติ แต่ความ “ไม่สร้างสรรค์” ต่างหากที่ถูกสร้างจากการสถาปนาองค์ความรู้ทางขนบจนเป็นแนวทางหลักและทำให้ถนนหนอื่นต้องไปอยู่ในเขตสร้างสรรค์ กล่าวโดยง่ายคือหรือความไม่สร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แต่ความสร้างสรรค์มีอยู่แล้วภายนอกหอคอยงาช้าง มีอยู่แล้วในสามัญชนที่มักเป็นคนนอก ไม่ว่าแนวคิดดังกล่าวจะฟังขึ้นหรือไม่อย่างน้อยที่สุดทั้ง วรรณาคดี และงานของ “ศรีดาวเรือง” ทั้งหลายก็เป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากน้ำหมึกผสานฝีมือของกรรมกรผู้จบการศึกษาปฐมศึกษาปีที่ 4 

การศึกษาของ “ศรีดาวเรือง” ถูกพูดถึงอย่างมากทั้งในบทความที่กล่าวถึงเธอและในหนังสือ วรรณาคดี เล่มนี้ ในนัยหนึ่งแสดงให้เห็น “ความอัจฉริยะ” ทางฝีมือวรรณกรรม แต่อีกทางและเป็นทางที่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นคือ มันอาจไม่ได้มีการมองแบบนั้นอย่างเดียว แต่ในทางกลับกันหากเชื่อในความอัจฉริยะแสดงว่าเชื่อในความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางปัญญาและเป็นการมองปัญญาแบบมีหอคอยที่ลำดับจากต่ำไปสูง หากมองว่าปัญญาเป็นแนวระนาบจะสามารถมองเห็นว่าเรื่องเล่าของ “ศรีดาวเรือง” อาจเป็นเรื่องของคนปกติส่วนใหญ่ในประเทศด้วยซ้ำไป แต่ความพิเศษคือเธอได้รับ “เกียรติ” ทั้งการได้รับการบรรณาธิการ ตีพิมพ์ จนไปถึงการมีนักอ่านสนใจ 

ในบทที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “กำเนิดศรีดาวเรือง ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติแก่ผู้ใช้แรงงาน” แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการให้เกียรติและแสดงให้เห็นถึงการได้รับการอ่านงานเธอในสังคมด้วย เพราะการได้อ่านวรรณกรรม “ศรีดาวเรือง” เป็นเสมือนการเอียงหูฟังเสียงแรงงานจากชนชั้นกลางนักอ่านไปในตัว ดังนั้นงานของเธอไม่ได้พิเศษด้วยความอัจฉริยะ แต่เธอมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกฟังซึ่งตำแหน่งแห่งที่นี้ควรขยายไปให้กว้างขึ้นด้วยการลบล้างความต่ำสูงและความเชื่อเรื่องความอัจฉริยะจนเหลือเพียงการฟังเสียงจนพื้นที่อันกว้างขวาง ทั้ง วรรณาคดี และงานอื่นๆ ของ “ศรีดาวเรือง” สะท้อนเรื่องนี้ตลอดมาว่าแรงงานควรสำคัญทั้งในโลกวรรณกรรมและภายนอกมากกว่านี้

วรรณาคดี โดย “ศรีดาวเรือง” ถือเป็นเล่มใหม่ของ ศรีดาวเรือง ที่ดำเนินชีวิตมากว่า 80 ปี เล่าเรื่องย้อนมองตัวเธอเองก่อนจะมาถึงวันนี้ในความทรงจำ และสำหรับผู้อ่านหากย้อนมองกลับมาที่วิธีการลำดับของหนังสือที่ไม่ได้ลำดับตามวัยหรือช่วงชีวิตทางสังคม แต่ลำดับด้วยการเล่าแบบบันทึกความทรงจำ (memoir) ที่กระโดดไปมาสร้างเรื่องเล่าที่ไม่ผูกมัดกับการเดินหน้าทางเวลา แต่เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่สลับซับซ้อนผูกโยงวัตถุในความทรงจำต่างๆ ร้อยจนเป็นชีวิตซึ่งขนบวิธีที่เลือกใช้ประกอบกับเรื่องเล่าทั้งหมดในเล่มนี้ก็ทำให้ตระหนักถึงชีวิตในฐานะความทรงจำเท่าที่เหลือ และจริงหรือไม่ว่าชีวิตเราคือทั้งหมดที่เราจะนึกขึ้นได้ นี่คือคำถามที่ได้รับจากการอ่านวรรณกรรมแห่งชีวิตของ “ศรีดาวเรือง” เล่มนี้

Fact File:

วรรณาคดี อัตชีวประวัติของ วรรณา ทรรปนานนท์ 

ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง 

สำนักพิมพ์ : อ่าน


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน