ตามรอยแรกสร้างพระนคร ตามหาศูนย์กลางจักรวาล สะดือเมือง กรุงเทพฯ
Lite

ตามรอยแรกสร้างพระนคร ตามหาศูนย์กลางจักรวาล สะดือเมือง กรุงเทพฯ

Focus
  • ย่านเสาชิงช้าเป็นพื้นทีที่เรียกว่าสะดือเมืองหรือศูนย์กลางของพระนครเมื่อมีการวางผังเมืองและสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่
  • ย่านเสาชิงช้ายังเป็นศูนย์รวมศาสนสถานสำคัญคือวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งเปรียบเสมือนแกนกลางของจักรวาล และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์

เสาชิงช้า นอกจากจะเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของ กรุงเทพฯ แล้วยังเป็นพื้นทีที่เรียกว่า สะดือเมือง หรือศูนย์กลางของพระนครเมื่อมีการวางผังเมืองและสถาปนา กรุงเทพฯ เป็นราชธานีแห่งใหม่

อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมศาสนสถานสำคัญอันประกอบไปด้วยวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งเป็นคติการสร้างวัดคู่บ้านเมืองกลางพระนครและเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นแกนกลางของจักรวาล และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่นิยมสร้างเทวาลัยในใจกลางเมืองตามอย่างโบราณราชประเพณีเพื่อประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ราชสำนัก

รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียราจารย์คณะโบราณคดี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Sarakadee Lite ชวนตามรอย Walking Tour ศูนย์กลางจักรวาลที่ใจกลางกรุงเทพฯ นำโดย รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของเทศกาล Colorful Bangkok 2024 เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่จะพาย้อนรอยประวัติศาสตร์เมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2325 โดยมีการวางรูปแบบผังเมืองตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมสำคัญอันแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางและจุดกำเนิดของจักรวาลเมืองกรุงเทพฯ

วัดสุทัศนเทพวราราม

ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2350

คติการสร้าง : เขาพระสุเมรุแกนกลางของจักรวาลและที่ประทับของพระอินทร์

สัญลักษณ์สำคัญ : แผนผังอาคารรูปสัญลักษณ์จักรวาล

หากจะย้อนรอยถึงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันสำคัญของ กรุงเทพฯ หนึ่งในสถานที่ที่หลายคนมักจะนึกถึงคือ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2350 ถึง พ.ศ. 2352 เพื่อเป็นหอพระพุทธรูปใจกลางเมืองและได้มีการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานในพระวิหารหลวงจนกลายเป็นที่รู้จักกันในนามว่า วัดพระโต เมื่อแรกสร้าง

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่ประดับอยู่บริเวณหน้าบันของพระวิหารหลวง

“วัดแห่งนี้มีจุดประสงค์ที่ต้องการแสดงสัญลักษณ์ถึงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของกรุงเทพฯ” รศ. ดร. ประภัสสร์กล่าวถึงคติการสร้างรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่ประดับอยู่บริเวณหน้าบันของพระวิหารหลวงและเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าพระวิหารหลวงเป็นสุทัศนนครหรือนครหลวงของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

กรุงเทพฯ

เอกลักษณ์โดดเด่นของวัดสุทัศน์ที่หลายคนอาจมองข้ามคือการวางแผนผังวัดที่มีความเป็นระเบียบและสมมาตร จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในวัดที่มีภูมิทัศน์ (landscape) และตัวอาคารมีความสง่างาม การวางแผนผังในรูปแบบอาคารสัญลักษณ์จักรวาลที่ออกแบบขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกโดยช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ถือว่าเป็น แผนผังรูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย อาคารภายในวัดประกอบด้วยพระวิหารหลวงเป็นอาคารประธาน ภายนอกล้อมรอบด้วยเจดีย์ตามแบบของจีนและระเบียงคด ทางทิศใต้ของพระวิหารเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ และถัดไปเป็นศาลาการเปรียญ เขตสังฆาวาส และหมู่กุฏิเรียงกัน

การวางแผนผังในลักษณะนี้เป็นการใช้คติการสร้างที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางของพระนครเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อีกทั้งยังมีการสืบทอดจากศิลปะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน

กรุงเทพฯ

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2327

คติการสร้าง : เทวสถานใจกลางพระนครเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์

สัญลักษณ์สำคัญ : พระพิฆเณศวรผู้เป็นเทพแห่งอุปสรรค

“เทวสถานโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้มาพร้อมกับการตั้งกรุงเทพมหานครในระยะแรก” รศ. ดร. ประภัสสร์ได้กล่าวถึงเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2327 หลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ หรือ กรุงเทพฯ ได้ 2 ปี เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ เช่น พิธีโล้ชิงช้าหรือพิธีตรียัมปวาย และได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแผนผังให้คล้ายกับวัดของไทย จึงนับว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย

กรุงเทพฯ

ความแตกต่างของเทวสถานแห่งนี้กับที่อื่นๆ คือการจัดตั้งโบสถ์สำหรับเทพ เพราะเทวสถานส่วนใหญ่มักจะประดิษฐานองค์พระตรีมูรติ แต่ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้มีการจัดตั้งเทวสถานพระพิฆเณศวรไว้เป็นองค์ประธานของหมู่เทพ พระพิฆเณศวรเป็นเทพแห่งอุปสรรคซึ่งผู้ศรัทธาจะไหว้ขอพรให้พ้นจากอุปสรรคต่างๆ และประเทศไทยได้นำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้ในการประกอบพิธีคล้องช้างเพื่อทำสงครามตั้งแต่อดีตและสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีเทวสถานพระอิศวรและเทวสถานพระนารายณ์ อีกทั้งภายหลังได้มีการสร้างเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหมตรงบริเวณทางเข้าเทวสถานและให้ผู้คนได้มาร่วมสักการบูชาองค์เทพทั้งสี่ หากใครอยากจะขอพรให้พ้นภัยจากอุปสรรคต่างๆ อยากสมหวังเรื่องความรัก หรือเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต สามารถเข้ามาร่วมสักการบูชาองค์เทพได้ที่เทวสถานแห่งนี้

กรุงเทพฯ

เสาชิงช้า

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2327

คติการสร้าง : ใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าและแสดงถึงความมั่นคงแข็งแรงของพระนคร

สัญลักษณ์สำคัญ : ประตูเกี้ยวยอดมีลักษณะคล้ายกับประตูเมืองพระนครในจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระแก้ว

เสาไม้สีแดงขนาดใหญ่หรือที่หลายคนคุ้นตาและรู้จักกันในชื่อว่า “เสาชิงช้า” เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสัมพันธ์กับโบสถ์พราหมณ์และสร้างขึ้นในปีเดียวกันคือปี 2327 เพื่อใช้ประกอบการโล้ชิงช้าสำหรับพิธีตรียัมปวายซึ่งเป็นพิธีรับเทพเจ้าหรือการอัญเชิญเทพทั้งสามองค์ คือ พระศิวะ พระพิฆเณศ และพระนารายณ์ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวว่าองค์พระศิวะจะเสด็จจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ปีละหนึ่งครั้งซึ่งถือเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์

กรุงเทพฯ

รศ. ดร. ประภัสสร์ได้กล่าวว่าบริเวณเสาชิงช้านั้นเคยเป็นตลาดใจกลางเมือง หรือที่เรียกกันว่าตลาดเสาชิงช้า และเป็นบริเวณที่ล้อมไปด้วยศาสนสถาน จึงเปรียบเสมือนว่าเป็นการดึงดูดผู้คนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้เมืองดูมีชีวิตชีวา และยังเป็นการวางผังเมืองที่แสดงถึงการซ้อนทับกันระหว่างพื้นที่ของศาสนาและชุมชน จึงสามารถกล่าวได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญกับการสร้างกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก และสามารถบ่งบอกถึงการเป็นศูนย์กลางของจักรวาลกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจน

เสาชิงช้าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมและการตกแต่งบริเวณโครงยึดหัวเสาที่ใช้การแกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม โดยเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าประตูเกี้ยวยอด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับประตูเมืองกรุงเทพฯ ที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว จึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้ไปเก็บภาพความงดงามของสถาปัตยกรรม พร้อมรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของพิธีกรรมสำคัญที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้


Author

สิรินดา เชื้อจักร
จะเดินทางไปยังสถานที่ที่งดงามอลังการ แหล่งอาหารอร่อยไม่ซ้ำใคร นั่งชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่น่าประทับใจ และร้อยเรียงประสบการณ์แปลกใหม่มาเล่าสู่กันฟัง

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ