ถอดนิยาม “ความเป็นทางการ” ฉบับญี่ปุ่น จาก ยูนิฟอร์มเชิญรางวัล โอลิมปิก 2020
- ย้อนไปเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรก Tokyo 1964 และ โอลิมปิกฤดูหนาว 1998 (XVIII Olympic Winter Games) ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมถูกนำมาใช้เป็นยูนิฟอร์มสำหรับผู้เชิญเหรียญรางวัล
- “ดีไซน์ใหม่สำหรับชุดพิธีการ” คือจุดเริ่มต้นไอเดียในการออกแบบ ชุดยูนิฟอร์มเชิญรางวัล โอลิมปิก 2020
ภาพจำหนึ่งของญี่ปุ่นคือ ความเป็นเจ้าระเบียบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเจ้าระเบียบที่เคร่งครัดมากๆ ได้เป็นอย่างดีก็คือ ยูนิฟอร์ม เช่น ในเช้าวันทำงานสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ มักจะเห็นจนคุ้นตาบนรถไฟคือชุดพนักงานออฟฟิศที่แทบจะหาความต่างกันไม่ได้ ทว่าใน โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ คำว่า ยูนิฟอร์ม ฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมกลับถูกคลี่คลายด้วยงานออกแบบ ยูนิฟอร์มเชิญรางวัล ที่แม้จะมีกลิ่นอายแฟชันญี่ปุ่นดั้งเดิม ทว่ากลับถูกฉีกกรอบการตีความใหม่ พร้อมย้ำว่าการค้ำยัน วัฒนธรรม ให้เติบโตไม่จำเป็นตั้งย่ำซ้ำอยู่ที่การอนุรักษ์เพียงเท่านั้น
“ดีไซน์ใหม่สำหรับชุดพิธีการ” คือจุดเริ่มต้นไอเดียในการออกแบบ ชุด ยูนิฟอร์มเชิญรางวัล อีกองค์ประกอบสำคัญที่จะถูกถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกซ้ำ ๆ ในทุกวัน ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรก Tokyo 1964 และโอลิมปิกฤดูหนาว 1998 (XVIII Olympic Winter Games) จัดขึ้นที่เมืองนางาโนะ ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมถูกนำมาใช้เป็นยูนิฟอร์มสำหรับผู้เชิญเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน แน่นอนว่าครั้งนั้นญี่ปุ่นต้องการให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม
ส่วนใน Tokyo 2020 นั้น ยามากูชิ โซได (Yamaguchi Sodai)ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังยังคงเลือกที่จะใส่เอกลักษณ์ด้านสิ่งทอที่เป็นรากเหง้าอันแข็งแรงของญี่ปุ่นลงไป ทว่าก็ไม่ลืมผสานนวัตกรรมสมัยใหม่พร้อมย้ำว่า
“ผมเคารพในธรรมเนียมดั้งเดิม แต่ผมก็คิดว่าความพยายามอุ้มชูธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะใช้ความท้าทายใหม่ในการสนับสนุนกิโมโนและธรรมเนียมการแต่งกายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น”
ผลลัพธ์จึงเป็นการตัดทอนนำองค์ประกอบที่สำคัญของชุดกิโมโนดั้งเดิมมาปรับโฉมใหม่ คงไว้เพียงเทคนิคการใส่ชุดแบบเลเยอร์ (Kasane) เทคนิคการพับทบผ้า (Ori) เทคนิคการผูก (Musubi) และเทคนิคการย้อมสี (Some) มาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกิโมโนแบบดั้งเดิมที่มีถึง12 ชั้น ทั้งยังเน้นความใส่สบาย ให้ดูเป็นธรรมชาติแต่ก็ยังคงความเป็นทางการอยู่ สิ่งหนึ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นคือการที่ผู้เชิญรางวัลสวมใส่รองเท้าแตะ(sandal)แบบตะวันตกแทนที่จะใส่รองเท้าไม้แบบญี่ปุ่นดั้งเดิมซึ่งเดินค่อนข้างยาก
สำหรับ ยามากูชิ โซไดเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าสนใจมาก ความหลงใหลในกิโมโนของเขามาจากครอบครัว คุณยายของเขาเป็นช่างตัดเย็บกิโมโน ส่วนคุณตาอยู่ในอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาจึงเติบโตมาพร้อมกับซึมซับเทคนิคการตัดเย็บแบบโบราณ และรู้ลึกไปถึงสิ่งทอประเภทต่าง ๆ รวมถึงการย้อมสี โดยชุดเชิญรางวัลครั้งนี้ใช้สีครามธรรมชาติที่ย้อมไล่เฉดถึง 6 เฉดสี ที่สำคัญทุกขั้นตอนเลือกใช้กระบวนการสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเส้นใยยังใช้จากกระบวนการรีไซเคิลอีกด้วย
และเรื่องเล็กน้อยที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ ผู้เชิญรางวัลสามารถเลือกได้เองว่าจะสวมกางเกงหรือชุดเดรสกระโปรงยาว ถือเป็นการปลดล็อกด้านวัฒนธรรมการแต่งกายในชุดพิธีการที่มักมีภาพลักษณ์ว่า “ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง” รวมถึงเป็นการปลดล็อกความเข้าใจของคนทั่วโลกที่มองว่าความเป็นทางการ ความเป็นเจ้าพิธีการของญี่ปุ่นต้องเป็นแบบดั้งเดิมเท่านั้น
เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020
อ้างอิง