Vessel การแสดงว่าด้วย “ความเป็นหญิง” ที่อิสระและสบายตัวที่สุด
- Vessel การแสดงว่าด้วย ความเป็นหญิง โดย ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ศิลปิน นักแสดงและผู้กำกับที่สร้างสรรค์ผลงานประเด็นผู้หญิงมาอยู่เสมอ
- สำหรับ Vessel ปูเป้สนใจสองอย่างหลักคือ ความเป็นหญิง และ ร่างกาย ในกระบวนการที่กินระยะเวลาราว 2 ปี ปูเป้และนักแสดงต่างร่วมตั้งคำถาม ค้นหาและพัฒนาประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน จนเกิดเป็นมูฟเมนต์ที่ผู้ชมจะได้สังเกตเห็น
‘ความเป็นหญิง’ แบบที่เราเข้าใจเกี่ยวข้องกับ ‘ร่างกายที่เป็นหญิง’ อย่างไรบ้าง?
สิ่งที่กำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นหญิงคืออะไร?
เมื่อปราศจากปัจจัยเหล่านั้น ร่างกายที่เป็นหญิง จะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้หรือไม่?
ข้อความเหล่านี้ปรากฏผ่านหน้าเพจของกลุ่มละคร B-floor พร้อมด้วยการบอกเล่าถึงการแสดง Vessel ที่กำลังจะมาถึง โดยครั้งนี้มี ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ พร้อมด้วย โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง ที่เข้ามาร่วมกระบวนการ
“โชว์ที่คุณจะเห็นคือผู้หญิง 6 คนในแบบที่เขาเป็นนั่นแหละ นี่คือเขา นี่คือผู้หญิงในแบบที่เขาเป็น และเราจะไม่บอกว่า 6 คนนี้คือภาพแทนของผู้หญิงทั้งโลก แต่โชว์นี้มันเป็นการพูดถึงประเด็นความเป็นหญิงผ่าน 6 บอดี้นี้ โดยที่เขาได้เป็นตัวเองอย่างอิสระและสบายตัวที่สุด นี่คือวิธีการพูดถึงความเป็นหญิงของเรา”
ปูเป้กล่าวขึ้นในตอนหนึ่งระหว่างการสนทนา ซึ่งเรามีคำถามมากมายเกี่ยวกับการแสดงนี้ว่าก่อนจะเป็น Vessel ต้องผ่านกระบวนการอย่างไรมาบ้าง และผู้ชมกำลังจะได้เห็นอะไร แต่เมื่อได้พูดคุยถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เราก็พบว่าแต่ละขั้นตอนล้วนเริ่มต้นขึ้นจากคำถามและการทดลอง โดยมี 2 สิ่งที่ปูเป้ให้ความสนใจเป็นพิเศษนั่นคือ “ความเป็นหญิง” และ “ร่างกาย” ก่อนนำความสนใจไปสู่กระบวนการค้นหาและพัฒนา และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยความเป็นหญิงที่ถูกถ่ายทอดผ่าน Vessel ซึ่ง Sarakadee Lite มีโอกาสพูดคุยกับปูเป้ก่อนที่การแสดงจริงจะเริ่มต้นขึ้นวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2565 ที่ Yellow Lane Cafe
ประเด็นเรื่อง ความเป็นหญิง ในการแสดงครั้งนี้มีที่มาอย่างไร
“เรารู้สึกว่าความเป็นหญิง การกำหนดเพศหรือพฤติกรรมที่มาพร้อมการบอกว่าใครเป็นเพศอะไร มันมีการบอกเล่าหรือสอนสิ่งนี้ของสังคมฝังเข้ามาในร่างกาย เช่น ถ้าเรารำไทย หรือใส่ชุดที่ดีไซน์ให้เป็นผู้หญิงไทยเราว่ามันมีการเมือง ความนึกคิดเกี่ยวกับเพศ หรือสิ่งที่เพศนั้นควรเป็นฝังมากับสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องพูดบอกกล่าวกัน เราเลยเริ่มจากอะไรแบบนั้นที่รู้สึกว่ามันอาจจะมีอย่างอื่นอีกที่ฝังอยู่ แล้วก็เชื่อว่าร่างกายทุกคนมีเรื่องที่สามารถพูดได้ แสดงออกกันได้หมด เพียงแต่ว่าสังคมที่เราอยู่หรือโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันไม่สนับสนุนให้คนใช้ร่างกาย การใช้ร่างกายของเราอาจกลายเป็นเหมือนบ้าเกินไป เยอะเกินไป อ่อนไหวเกินไป หรือดูไม่มีเหตุผล แต่จริง ๆ แล้วเราว่าร่างกายเป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่สำคัญ trauma หรือความรู้สึกอะไรที่วนเวียนอยู่ในนั้นมันคลี่คลาย หรือยังไม่คลี่คลาย เราว่าจริง ๆ บอดี้เรามีข้อมูลเหล่านี้เยอะ จนเกิดคำถามว่าสำหรับร่างกายผู้หญิงล่ะเป็นอย่างไร
บอดี้ของผู้หญิงที่อาจจะเรียกว่าถูกกดทับ 2 ชั้นทั้งเรื่องเพศและสังคมไทยที่มีการกดทับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ผู้หญิงจะมีเรื่องราวในบอดี้นี้อย่างไรบ้าง เป็นคำถามจากเราที่เป็นผู้หญิงหนึ่งคนถึงผู้หญิงคนอื่นด้วย เราทำงานกับตัวเองมาเยอะเลยสนใจว่าในบอดี้ผู้หญิงคนอื่น ๆ มีอะไรที่อาจจะไม่เหมือนกับที่เราคิดว่าเรามีเท่านั้นหรือเปล่า”
Vessel การแสดงครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการชวนพูดคุยถึงประเด็นเรื่องผู้หญิงกับผู้หญิง ต่างจากการแสดงครั้งก่อน อาทิ งามหน้า (2014) หรือ โอ้โอด (2017) ที่ปูเป้พูดด้วยน้ำเสียง ร่างกาย และมูฟเมนต์ของตัวเอง ที่สำคัญคือ Vessel เป็นการแสดง Physical Theater ที่ร่วมสร้างสรรค์ขึ้นโดย 6 นักแสดงและทีมงานเบื้องหลังที่เป็นผู้หญิงล้วน โดยที่ปูเป้กล่าวว่าค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องนี้ประมาณหนึ่งเพราะอยากได้มุมที่เป็นผู้หญิงจริง ๆ ตั้งแต่แรกถึงกระบวนการสุดท้ายนั่นคือ การบันทึกการแสดง
กระบวนการคัดเลือกนักแสดง
“เราเริ่มจากชุดคำถามเบื้องต้นที่วนอยู่กับประเด็นของความเป็นผู้หญิง จริง ๆ อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกับทีมงานแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจ พอค้น ๆ ไปพบว่าในประเด็นนี้ภาษาไทยมีคำเดียวคือ ‘ผู้หญิง’ ภาษาอังกฤษมีทั้ง Female, Women, Feminine พอเราคุยกันไปหลาย ๆ ทีเราจะไปเจอว่า เอ๊ะ! เราพูดถึงคำว่าผู้หญิงคำไหนกันอยู่ เราคิดว่าพอมาเป็นภาษาไทยจริง ๆ มันไม่ได้ชัดเสมอว่าเราพูดถึง Women หรือ Femininity แต่อย่างไรก็ตามเวลาที่เรารับคนมาออดิชัน เราประกาศว่าเราสนใจคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิง ไม่ได้ตั้งใจว่าอยากสำรวจความเป็นหญิงในมุมที่เป็น Femininity เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นหากคุณ Identify ตัวเองว่าเป็นหญิง เราอยากพูดคุยกับคุณ คนที่สนใจครุ่นคิดและตั้งคำถามกับความเป็นหญิงของตัวเอง และเราก็จะไม่กำกับแบบที่ไปบอกเขาตั้งแต่แรกเลยว่าเดี๋ยวคุณจะต้องเต้นแบบนี้นะ หนึ่ง สอง สาม สี่ เราเลยหาคนที่พร้อมที่จะมีไดอะล็อกนี้ด้วยกัน และมีความครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่แล้วในตัวเอง นักแสดงเราเลยมีทั้งครึ่งหนึ่งเป็นนักเต้น และอีกครึ่งหนึ่งไม่ใช่”
ในโปรเจคต์นี้ทำงานร่วมกับ “โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง” ด้วย เป็นอย่างไรบ้าง
“ช่วงที่เป็นงานออนไลน์จะมีกระบวนการหนึ่งที่โรสดูแลเป็นหลัก โรสเอามุมมองของคนทำหนัง มุมมองของการใช้กล้อง การทำงานกับ Text หรือกระบวนการแคสติ้งนักแสดงมาลอง เราสนใจที่โรสเป็นฟิล์มเมกเกอร์ผู้หญิงที่เราคิดว่าเขามีคำถามเรื่องผู้หญิงเหมือนกัน เราสนใจความหลากหลายมาก ๆ นักแสดงเราก็หลากหลาย เราเลยคิดว่าเราควรจะทำงานกับใครด้วยไหมที่ทำให้ไม่ได้มีมุมมองของเราเท่านั้น และถ้าพูดถึงสายตาเชิง Artistic เราเองมีสายตาของ Live Perfomance โรสก็จะมีสายตาของคนทำฟิล์มที่ไม่เหมือนกัน แล้วพอทำงานกันก็รู้สึกเลยว่าจริง ๆ วิธีคิดของโรสในฐานะคนทำหนังกับเราไม่เหมือนกัน มีหลายครั้งที่ถามกันว่าหมายความว่าอย่างไรนะ (หัวเราะ) เรามองงานเป็น 3 มิติ โรสอาจจะมองเป็น 2 มิติ แค่นี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว เราว่ามันน่าตื่นเต้น คือเราอยากเห็นว่าสายตาของคนทำหนังกับความ Femininity เขาทำงานกับมันอย่างไร หรือเขาจะดึงสิ่งนี้ออกมาจากนักแสดงอย่างไร เรามองเห็นภาพของ Performance ว่ามันไม่ได้มีแค่การแสดงสดบนเวทีแต่มีมุมมองของฟิล์มเข้ามาด้วย เลยชวนโรสมาตั้งแต่แรก ทำงานข้าง ๆ กันไป แต่การแสดงเราก็ยังกำกับอยู่ แต่โรสก็จะเห็นตลอดว่าเราทำอะไรในกระบวนการนี้และนักแสดงเติบโตอย่างไร
หลังจากผ่านการเวิร์กช็อปออดิชัน การพูดคุย นำมาสู่มูฟเมนต์และการกำกับได้อย่างไร
“จริง ๆ Vessel เป็น Devise Physical ด้วย คือเราใช้เมสเสจหลักจากบอดี้ อันนี้คือความหมายรวม ๆ ของ Physical แต่อีกเทคนิคหนึ่งที่ B-floor ใช้คือ Devising Theater มันหมายถึงว่าเราเริ่มสร้างขึ้นมาด้วยกัน ไม่เหมือนละครที่มีบท สำหรับ Devise นักแสดงและผู้กำกับจะคลุกอยู่ด้วยกันเพื่อที่จะสร้างออกมาด้วยกันจากศูนย์ เราให้นักแสดงช่วยสร้าง บางทีเราอาจจะให้โจทย์ไป ให้คำถามบางอย่าง แล้วเขาก็จะผลิตมูฟเมนต์ออกมา เราช่วยกันเลือกว่ามูฟเมนต์ไหนน่าสนใจ มันบอกอะไร หยิบจับมาจัดเรียงและไปต่อกับมัน เช่นมูฟเมนต์นี้น่าสนใจนะ ทำให้นานขึ้น เอามันไปไว้ตรงนี้และคนนี้เดินเข้ามาทำแบบนี้ จะเป็นลักษณะนั้น แต่ Material นั้น ๆ เริ่มต้นมันมาจากนักแสดงเอง เราคุยกันเยอะมาก เราว่านักแสดงจะชินกับการทำอะไรแล้วเราจับนักแสดงนั่งลงแล้วคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้างเมื่อกี๊ที่ทำไปรู้สึกอย่างไร มีเอฟเฟคต์กับเขาอย่างไรไหม มีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ คือเรียกว่าเราสร้างสรรค์ร่วมกับนักแสดง เรามองตัวเองเป็นผู้คัดเลือกและจัดเรียง ไม่ได้สร้างมันทั้งหมด จริง ๆ นักแสดงเป็นคนสร้างในงานนี้”
เมื่อใช้เวลาร่วมกันโดยผ่านกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
“เราไม่รู้ว่ามันจะเรียกว่าการเติบโตได้ไหม แล้วแต่ใครนิยาม แต่เราเห็นว่ามันมีการเดินทางที่ทำให้ข้างในของแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่เคลมว่ามันเป็นผลงานของเราที่ทำให้เขาเปลี่ยน เราว่ามันไม่ใช่ แต่เรารู้สึกว่าการมีพื้นที่ของการแสดงที่มันยาวมา 2 ปี มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เป็นประจักษ์พยานของการเติบโตหรือการเดินทางนี้ของเขา ในชีวิตนี้เราไม่ได้เจอเพื่อน 2 ปีแต่เรามาเจอกันอีกทีเราจะเห็นว่าเพื่อนเปลี่ยนแหละ แต่พอเราอยู่ในโปรเจคต์เดียวกันมา มันเห็นนะว่าเขาเดินทางจากไหนไปไหน และเราพอจะเห็นได้บ้างว่ามันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนนี้เติบโตไปในทางนี้ เราเอ็นจอยกระบวนการนี้และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มองเห็นสิ่งนี้ของเขา เราว่าสิ่งนี้คนดูจะเห็นว่าเขาสบายตัวกันมากเลย เขาสบายกับบอดี้ตัวเอง เขารู้จักกันอย่างดีและรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี สิ่งนี้มันสะท้อนออกมาในการแสดง มันเลยงดงามมากสำหรับเรา”
สำหรับผู้ชมต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรในการมาดู Vessel
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่าดูงาน Physical แล้วไม่เข้าใจ หลายครั้งเราอยากจะบอกว่าถูกแล้ว เพราะมันไม่มี ‘เรื่อง’ สำหรับ Physical Theater เป็นสิ่งที่ถ้าคนดูแล้วเขียนออกมาได้ว่านายเอไปเจอนายบีออกมาเป็นซี เห้ย เราว่าเราดูคนละงานกัน คือมันอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้แต่มันไม่ได้ต้องเป็นแบบนั้น เราไม่ได้เริ่มจากเรื่อง เพราะฉะนั้นมาดูอะไร มันเป็นประสบการณ์ เราคิดว่างานเชิง Abstract แบบนี้เป็นประสบการณ์ที่ตัวงานส่งไปครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือคนเดินมาหาด้วยประสบการณ์ของคุณที่จะถือสิ่งนั้นมาเจอกับงานตรงกลางเอง สิ่งที่ทุกคนจะได้กลับไปมันอาจมีบางอย่างที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมดในรายละเอียดหรอก เพราะเป็นงานเชิงที่ตั้งใจเปิดพื้นที่ให้คนเดินเข้ามาหาเราตรงกลางอยู่แล้ว ส่วนผสมนี้จะเป็นของของเขา เป็นประสบการณ์ที่เขาได้กลับบ้านไป
“เราอยากให้คนมาเห็นผู้หญิงในแบบนี้ คำว่าผู้หญิงถูกถกเถียงในหลายมิติมาก ในเชิงเฟมินิสต์หรือเพศที่ตรงข้ามกับชาย ในเชิงบทบาทหน้าที่ทางสังคมหรือพฤติกรรมหลายอย่าง คำว่าผู้หญิงถูกใช้บ่อย และพอพูดคำว่าผู้หญิงออกมาปุ๊บ แม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกันเอง ก็มีภาพจำบางอย่างที่ผุดขึ้นมา แม้กระทั่งคนในโปรเจคต์เองก็ตาม พอพูดว่าหญิงล้วนจะมีสิ่งแรกที่คิดคือกลัว เราอยากให้คนมามีประสบการณ์ด้วยกันว่ามันไม่ต้องเป็นอย่างนั้นในพื้นที่ที่มันปลอดภัย ในพื้นที่ที่ไม่ต้องแข่งขัน หรือในพื้นที่ที่เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ พื้นที่ที่เราอิสระจากข้อจำกัดเรื่องใดก็ตาม ผู้หญิงมีร่างกายที่อิสระของผู้หญิงได้ เรามีมวลรวมของผู้หญิงที่ Positive ได้ ไม่ใช่แบบ โอ้ย ฉันมีความสุขแบบนั้นนะ แต่นี่คือความสบาย ความเป็นอิสระแบบสบาย ๆ ของผู้หญิง เราคิดว่าสิ่งนี้จะเห็นผ่านบอดี้ของ 6 คนนี้ในงาน และเราคิดว่านี่คือการชวนคุยเรื่องผู้หญิงที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา เราว่ามีหลายมูฟเมนต์ที่ทำขึ้นเพื่อผู้หญิงแล้วน้ำเสียงมันก็มีได้หลากหลาย น้ำเสียงเฟมินิสต์ที่เข้มข้นก็มีประโยชน์ในแบบหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีเสียงแบบนี้ที่เราอยากจะนำเสนอด้วยเหมือนกับว่าเราอยากจะพูดถึงผู้หญิงมากขึ้น ให้พื้นที่กับผู้หญิงได้ถูกมองเห็นมากขึ้น เราอยากนำเสนอน้ำเสียงนี้คู่ขนานไปกับการต่อสู้เพื่อเพศหญิง ในภาวะที่เรามีอิสระกันได้และปลอดภัย”
จากวันที่เริ่มต้นทำงานแสดงและผลักดันวงการนี้ ปัจจุบัน Physical Theater มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง คิดว่ามีวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มคนดูที่มากขึ้นได้อย่างไร
“เราคิดว่ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ นะ โดยรวมของสังคมเราคิดว่าคนดูศิลปะมากขึ้น และยิ่งศิลปะพูดถึงสิ่งที่สังคมกำลังถามและครุ่นคิดอยู่ เราว่าคนก็จะเดินหาศิลปะเพราะเราจะได้มีพื้นที่ครุ่นคิดและพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เราว่าอันนี้เป็นแนวโน้มของปัจจุบันที่คนต้องการคุยต้องการคิด เราคิดว่า B-floor ก็ยังทำสิ่งนี้อยู่ คนที่มาดูการแสดงเลยก็เรื่องหนึ่ง แต่เราคิดว่าคนที่เห็นการเคลื่อนไหวมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ B-floor เราพูดคุยเรื่องสังคมเสมอ เราเลยยังคุยกับคนได้อยู่
“เราคิดว่าในฐานะศิลปินเราคงต้องถามตัวเองว่าเรากำลังจะพูดเรื่องอะไรเวลาเราทำงานแต่ละชิ้น เราจะพูดคุยกับใคร และใครจะมาคุยกับเรา อันนี้ก็จะเป็นตัวบอกว่าเราจะเข้าถึงผู้คนได้มากแค่ไหน แต่อีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าเราทำได้และยังทำอยู่บ้าง B-floor ก็ทำบ้าง คิดว่าคือการแชร์เครื่องมือกับคนดู ในโรงละครจะมีคำว่า Audience Developement ซึ่งเราไม่ค่อยชอบเท่าไร มันฟังดูวิชาการมาก แต่เราว่าหลาย ๆ ครั้งที่มีช่องว่างระหว่างคนดูกับงาน Physical คือเขาไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่เราใช้ เช่น ในสื่อที่เป็นเมนสตรีมเรามีละคร ละครทีวีจะพูดและละครทีวีเมืองไทยพูดชัดมากด้วย พื้นที่ที่มาเจอตรงกลางน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมนี้เลยอาจจะชินกับการถูกบอกเลยตรง ๆ พอเจองานที่เชื้อเชิญให้เราคิดเองได้หรือเติมคำในช่องว่างเองได้อาจไม่คุ้น เราว่าความไม่รู้เรื่องจริง ๆ มาจากความไม่คุ้น ไม่ใช่ว่าไม่มีศักยภาพที่จะไม่เข้าใจ ทีนี้เราจะสร้างความคุ้นเคยนี้ได้อย่างไรบ้าง B-floor เองเราก็คิดว่าเราทำเวิร์กช้อปได้ เราเปิดพื้นที่ให้คนเห็นด้วยว่างานสร้างอย่างไร กระบวนการเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพื่อให้ดูให้ถูกต้อง แต่พอเห็นที่มาที่ไปอาจจะเข้าใจอะไรง่ายขึ้น อันนี้ก็เป็นเครื่องมือที่ศิลปินเป็นคนทำได้ แชร์เครื่องมือและกระบวนการกับผู้คน ชวนคุยกันได้มากขึ้น
“แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าคือสังคม โครงสร้างของการสนับสนุนศิลปะในประเทศนี้ที่เป็นเรื่องใหญ่เลย ไม่ต้องพูดถึงแค่ Physical Theater เราว่างานอาร์ตโดยรวมก็ไม่แมสอยู่แล้ว แต่มันจะถูกมองเห็นได้มากกว่านี้ มันอยู่ที่โครงสร้างสังคมด้วยจริง ๆ เช่น เรามีอาร์ตแกลเลอรีกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ กี่ที่ ถัดออกไปอีกหนึ่งจังหวัดเขามีหรือเปล่า อาจจะแทบไม่มีเลย คืออาร์ตจะเป็นที่ชื่นชมได้เมื่อมันกลายเป็นของร้างข้างถนน เดินไปตรงไหนก็มี คือเราไม่ต้องรู้สึกแล้วว่าโห ฉันต้องเป็นมนุษย์สปีชีส์พิเศษถึงจะไปดูอาร์ต ถ้ายังเป็นแบบนั้นอยู่มันก็จะไม่ไปไหนเท่าไร มันจะถูกมองเห็นเป็นหอคอยงาช้างอยู่แบบนี้ แล้วมันจะไปมีประโยชน์กับใครถ้ามันไม่ถูกเข้าถึง มันต้องง่ายขนาดนั้นเลย
“อย่างการมีคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ ที่มีศิลปะมาหมุนเวียนเดี๋ยวมีนิทรรศการ มีงานแสดงแล้วเป็นการดูแลของเมืองนั้นจังหวัดนั้น และมีอยู่ทุกที่ เราคิดว่าประเทศที่อาร์ตเฟื่องฟูเขามีโครงสร้างแบบนี้ มีสิ่งที่เรียกว่าสเตทเธียเตอร์หรือ คอมมูนิตีเซ็นเตอร์แบบที่บอกคือที่ไม่ได้มีเอาไว้ขายของ แต่เอาไว้เพื่อกระทำการครีเอทีฟ มันต้องสองทางคือศิลปินทำได้อย่างหนึ่ง โครงสร้างสังคมฟีดอีกอย่างหนึ่งถึงจะช่วยเกื้อหนุนให้คนเสพสิ่งนี้ได้มากขึ้น เราเรียกร้องให้คนดูมากขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ เขามีชีวิตของเขา แต่เราจะมีวิธีช่วยให้มันง่ายขึ้นกับเขาอย่างไรบ้างมากกว่า
“ตอนนี้เราคิดว่าศิลปินมีศักยภาพมากพอที่จะทำอะไรของตัวเองเยอะขึ้นมาก แต่ตอนนี้เป็นช่วงขาลงนิดหนึ่งเพราะโควิด-19 ก่อนโควิด-19 เป็นช่วงที่ละครรุ่งมาก ๆ คือทุกวีคเอนด์น่าจะมีละครให้ดู มี 2-3 ปีเลยที่เราว่าเป็นแบบนั้น จริง ๆ ก่อนโควิด-19 คือรัฐประหาร พอการเมืองเปลี่ยน อะไรเปลี่ยนมันก็ค่อย ๆ ถอย แต่ตอนนี้เราเห็นมูฟเมนต์ละครต่างจังหวัดมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องน่ายินดี เริ่มมีเซ็นเตอร์ที่อื่น มีจังหวัดที่แข็งแรงที่เดี๋ยวสักพักเราอาจจะต้องไปดูละครที่ขอนแก่นกันแล้ว เชียงใหม่ก็แข็งแรงไปถึงไหนแล้ว เราคิดว่าจะมีจังหวัดอื่น ๆ ตามมามาอีกเรื่อย ๆ อันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี”
สำหรับปูเป้วางแผนการแสดงในอนาคตต่อไปอย่างไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
“ในระยะยาวพอเราทำงานนี้มาเยอะ เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ กระบวนการแบบ Vessel หรือการแสดงแบบนี้มันเกิดขึ้นที่อื่นได้ เรายินดีที่จะทำกระบวนการนี้กับที่อื่น คนอื่นที่อาจจะไม่ใช่ Performmer ก็ได้ เราคิดว่าเครื่องมือนี้ก็ช่วยทั้งเราและนักแสดงให้เจอหลาย ๆ อย่างในตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าต้องการสิ่งนี้ที่ไหน ผู้หญิงที่ต้องการค้นหาตัวเองหรือต้องการรู้สึกถึงการ Empower ตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องความเป็นผู้หญิง เราคิดว่าเรา Offer เครื่องมือเหล่านี้ให้ได้ อันนี้คือคิดไปในเชิงระยะยาวของสิ่งที่จะต่อยอดไปจาก Vessel
“สำหรับเราเองเราคิดว่าเรายอมรับได้เต็มปากมากขึ้นว่าเราเป็นศิลปินที่ทำงานประเด็นผู้หญิง ก่อนหน้านี้เราจะรู้สึกว่าเราก็ทำไปเรื่อย จนตอนนี้เราว่ามันชัดมากแล้ว เรามีงานอีกชิ้นที่กำลังจะเกิดขึ้นเหมือนกันแต่เป็นนิทรรศการที่ S.A.C. ประเด็นผู้หญิงเหมือนกันแต่โหดกว่า Vessel มาก เป็นอีกสีหนึ่งไปเลย เราคิดว่าเราก็คงตั้งคำถามเรื่องนี้ต่อไป และทำงานที่เป็น Expresssion ของผู้หญิงและบอดี้ต่อไป แต่ว่าก็อาจกลับมาทำงานกับตัวเองมากขึ้น พอไปกำกับคนอื่นก็เริ่มคิดถึงบอดี้ตัวเอง เป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีงานที่ตัวเองกลับมามูฟหรือแสดงอีก”
ภาพ : B-Floor Theatre
Fact File
- Vessel เปิดการแสดง 4-8 พฤษภาคม 2565 ที่ Yellow Lane Cafe พหลโยธิน 5 เวลา 19:30-20:30 น.
- บัตรราคา 600 บาท
- รายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองบัตรได้ทาง www.facebook.com/Bfloor.theatre.group