พระราชวังแวร์ซาย เปิดแมนชั่นส่วนตัวของขุนนางในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นโรงแรมหรู
Lite

พระราชวังแวร์ซาย เปิดแมนชั่นส่วนตัวของขุนนางในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นโรงแรมหรู

Focus
  • อาคาร เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Le Grand Contrôle) ภายในบริเวณพระราชวังแวร์ซาย กำลังถูกปรับปรุงให้เป็นโรงแรมภายใต้ชื่อ อีแครลส์ ชาโต้ เดอ แวร์ซาย: เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Airelles Château de Versailles: Le Grand Contrôle) ให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้ภายในต้นปีนี้
  • โรงแรมจะเปิดให้บริการทั้งห้องพักแบบเดอลักซ์และสวีต ผู้สนใจสามารถจองห้องพักได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,300 ยูโรต่อคืน (ประมาณ 43,000 บาท) พร้อมสิทธิพิเศษในการเยี่ยมชมบริเวณภายในพระราชวังแวร์ซายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
  • อาคาร เลอ กร็องด์ ก็องโทรน แรกเริ่มถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของขุนนางในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก่อนกลายมาเป็นที่ตั้งของกระทรวงการคลัง และสถานที่พบปะสังสรรค์ของบุคคลสำคัญในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

เมื่อเอ่ยชื่อ พระราชวังแวร์ซาย หรือ ชาโต้ เดอ แวร์ซาย (Château de Versailles) ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงพระนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) กษัตริย์ฝรั่งเศสผู้สร้างและทำให้พระราชวังแห่งนี้กลายเป็นพระราชวังทิ่ยิ่งใหญ่สวยงามและอลังการที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สำหรับผู้ที่เคยไปเยือนมาแล้วย่อมตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของสถานที่แห่งนี้และหลายคนคงนึกอยากจะกลับไปอีกสักครั้ง ส่วนผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้แวะเวียนไปก็อาจจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามในด้านความโอ่อ่าหรูหรา ประกอบกับความโด่งดังของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ทำให้หลายคนแอบฝันว่าอยากจะติดสอยห้อยตามคณะทูตของท่านโกษาปานและพี่หมื่นของแม่หญิงการะเกด ไปเดินเฉิดฉายบริเวณห้องกระจกที่แสนโอ่อ่าตระการตาและมีโอกาสไปเยือนตามคำกล่าวอ้างเหลือเกิน

พระราชวังแวร์ซาย

ข่าวดีสำหรับคนที่มีความฝันบวกกับกำลังทรัพย์ โอกาสที่คุณจะไม่ได้แค่ไปเที่ยวแล้วกลับแต่ได้ค้างคืนในบริเวณพระราชวังที่หรูหรามาถึงแล้ว เมื่อบริษัทแอลโอวี กรุ๊ป โฮเทล คอลเล็กชัน (LOV Group Hotel Collection) ผู้ให้บริการด้านโรงแรมหรูหราระดับห้าดาวได้บรรลุข้อตกลงกับทางชาโต้ เดอ แวร์ซาย เข้าไปดำเนินกิจการโรงแรมภายในบริเวณของพระราชวัง และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าพักได้ ภายใต้ชื่อ อีแครลส์ ชาโต้ เดอ แวร์ซาย: เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Airelles Château de Versailles: Le Grand Contrôle)

จากแมนชั่นส่วนตัวของขุนนางกลายมาเป็นสถานที่พบปะของบรรดานักคิดนักเขียนระดับเอลิสต์ประจำศตวรรษที่ 18

แรกเริ่มเดิมที เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ประมาณ ค.ศ.1681 โดย จูล ฮาร์ดูอ็วง ม็องซารต์ (Jules Hardouin-Mansart) สถาปนิกคนโปรดประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อใช้เป็นแมนชั่นหรือที่พำนักส่วนตัวของดยุคแห่งโบวิลิเยร์ (Beauvilliers) บุตรเขยของ ฌ็อง บาส์ติส โกลแบร์ (Jean-Baptiste Colbert) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสในขณะนั้น

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้ผนวกเอาแมนชั่น เลอ กร็องด์ ก็องโทรน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเขตของตัว พระราชวังแวร์ซาย และได้มีการต่อเติมเพื่อขยายตัวอาคารเพิ่มเข้ามาอีกสองส่วน รวมเป็นตัวอาคาร 3 ส่วน เรียกว่า เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Le Grand Contrôle) เลอ เปอ ติ ก็องโทรน (Le Petit Contrôle) และ ปาวิยง เดส์ เพรอมิแยร์ ซองส์ มาร์คเชอะส์ (Pavillon des premières cents marches) ตั้งอยู่บนเลขที่ 12 ถนนแล็งเดป็องด็องซ์ อะเมคริแกน (La rue de l’Independence Americaine) ซึ่งห่างจากสวนออคร็องเฌอครี (Parterre d’Orangerie) และทะเลสาบแห่งทหารสวิส (La pièce d’eau des Suisses) ไม่กี่ย่างก้าวเท่านั้น 

พระราชวังแวร์ซาย

ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกว่าตั้งอยู่ตรงไหนของแวร์ซายกันแน่ เอาง่าย ๆ หลังจากที่คุณเดินผ่านรูปปั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้าบริเวณด้านหน้าของพระราชวังแล้ว คุณจะเจอกับประตูทางเข้าแรกที่ปัจจุบันเป็นด่านตรวจสัมภาระ เมื่อผ่านประตูนี้เข้ามาด้านในทางซ้ายมือจะเป็นหมู่ตึกที่เรียกว่า กร็องค์ กอมเมิง (Grand Commun) ซึ่งถนนที่ว่านี้ก็จะอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว จากนั้นให้มองหาเลขที่ 12 ก็จะเห็นตัวโรงแรมซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในเขตของพระราชวัง

เมื่อเข้าสู่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) และพระนางมารีอ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ชื่อเสียงและอำนาจของราชสำนักฝรั่งเศสได้แผ่ขยายไปทั่วยุโรปในยุคนั้น พร้อมๆ กับชื่อของ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญและทรงอิทธิพลของฝรั่งเศสและยุโรปด้วยเช่นกัน และในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นี่เอง ที่เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ได้ถูกปรับให้เป็นสถานที่ตั้งของกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส และเป็นช่วงเวลาที่มีบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายประเทศแวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยน และลงนามข้อตกลงร่วมกับบรรดารัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อาทิเช่น ตูร์โกต์ (Turgot) หรือ แนแกร์ (Necker) อยู่เนืองๆ ยิ่งไปกว่านั้นสถานที่นี้ยังถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการปกครองของอังกฤษอีกด้วย ภายใต้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางด้านทหารและการเงินจากกษัตริย์ของฝรั่งเศสในขณะนั้น

ด้วยสถาปัตยกรรมอันสวยงามและสไตล์การตกแต่งที่หรูหรา เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ได้กลายมาเป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์ และเวทีแสดงความคิดเห็นของบุคคลในแวดวงไฮโซและผู้มีชื่อเสียงในยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา (The Age of Enlightenment หรือ Siècle des Lumièresในภาษาฝรั่งเศส) ถือได้ว่า เป็นสถานที่นัดพบของขุนนางชั้นสูงทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงสุดยอดนักคิดนักเขียนของยุโรปจะแวะเวียนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นด้านปรัชญาและวัฒนธรรมที่นี่

ห้องสนทนาหรือสมาคมที่ภริยาของแนแกร์ จัดขึ้นมาเรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์แห่งยุค ที่รวมเอานักคิดนักเขียนเบอร์ต้น ๆ ของยุคนั้นมารวมไว้ในที่เดียวกันเลยก็ว่าได้ ต่อมาไม่นานบุตรีของตระกูลแนแกร์นามว่า มาดามสะแตล (Madame de Staël) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเฟมินิสต์หรือนักสิทธิสตรีตัวยงและหญิงสาวผู้ปราดเปรื่องที่สุดแห่งยุค ก็ได้สานต่อความยิ่งใหญ่ของเลอ กร็องด์ ก็องโทรนให้ลือเลืองขึ้นไปอีก จนในปี ค.ศ. 1788 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ที่รุ่งเรืองสุด ๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

ปัจจุบันเลอ กร็องด์ ก็องโทรน คืออัญมณีอันล้ำค่าทางด้านการโรงแรม

หลังจากที่ปล่อยทิ้งให้ตัวอาคารทั้งสามส่วนทรุดโทรมและถูกทิ้งร้างเป็นระยะเวลากว่าหลายสิบปี สำนักวัฒนธรรมส่วนภูมิภาค ร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ สำนักงานจัดการด้านมรดกแห่งชาติและสำนักงานจัดการมรดกของพระราชวังแวร์ซาย ได้เปิดให้มีการเรียกประมูลจากหน่วยงานด้านอาคารสาธารณะ เพื่อเสนอให้มีการฟื้นฟูและบูรณะอาคารทั้งสามส่วนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ที่เชื่อมต่อมาจากตัว พระราชวังแวร์ซาย

แผนการฟื้นฟูบูรณะอาคารของกลุ่มบริษัทนามว่า อีแครลส์ (Airelles) ที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำและมีประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการโรงแรมหรูระดับห้าดาวของกลุ่มแอลโอวี กรุ๊ป โฮเทล คอลเล็กชันร่วมกับ กลุ่ม ดวูกาส ปารีส (Ducasse Paris) ชนะการประมูล หุ้นส่วนหลักทั้งสองจะร่วมกันปรับเปลี่ยนให้ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน เป็นโรงแรมหรูระดับพรีเมียมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหนึ่งเดียวในโลก

พระราชวังแวร์ซาย

บริษัทได้มอบหมายให้สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานของฝรั่งเศส คือ ปิแอร์ บอร์โตลุซซี่ (Pierre Bortolussi) เป็นผู้ควบคุมการทำงานร่วมกับ คริสตอฟ โตลแมร์ (Christophe Tollemer) สถาปนิกและนักออกแบบตกแต่ง เพื่อให้ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน คงจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่มีคุณค่าในทางด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์เหมือนดังเช่นในอดีต โดยทีมงานภายใต้ความร่วมมือจากทางคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์พิถีพิถันกับทุกรายละเอียด ตั้งแต่เครื่องประดับตกแต่งโรงแรม ภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ โดยยึดถือยุคทองของโรงแรมแห่งนี้คือในช่วงปีค.ศ.1788 เป็นหัวใจและบรรทัดฐานในการบูรณะ

ห้องพักหรูห้องอาหารชั้นเลิศจากเชฟมิชลินและเยี่ยมชมพระราชวังแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

โรงแรมจะประกอบด้วยห้องพักแบบเดอลักซ์และสวีตรวมทั้งหมดจำนวน 14 ห้อง ที่บูรณะโดยคงจิตวิญญาณของตัวอาคารในยุคอดีตอันรุ่งโรจน์ แต่เพิ่มเติมคือความสะดวกสบายอันเป็นบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงแรมระดับ 5 ดาว นอกจากห้องพักแล้ว เลอ กร็อง ก็องโทรน ยังมีบริการบาร์เพื่อการพบปะสังสรรค์ ห้องจิบน้ำชา และห้องอาหารระดับพรีเมียมทางด้านกาสโทรโนมิกแบบฝรั่งเศส ที่ดำเนินการและบริหารงานโดย ดวูกาส ปารีส ภายใต้การกำกับดูแลของ เชฟอะแล็ง ดวูกาส (Alain Ducasse) ผู้เป็นเจ้าของกิจการและเชฟผู้มีชื่อเสียงระดับเวิลด์คลาสของฝรั่งเศส 

เชฟดวูกาสเป็นผู้ที่สามารถคว้าดาวมิชลินมาครอบครองได้ถึง 21 ดวงตลอดชีวิตการทำงานของเขา โดยในปี ค.ศ.2005 ร้านอาหารที่เขาเป็นเจ้าของกิจการอยู่ถึง 3 ร้านจากเมืองโมนาโค กรุงปารีส และกรุงลอนดอน สามารถคว้า 3 ดาวจากมิชลินมาได้ในปีเดียวกัน เขาถือเป็นเชฟคนแรกที่ได้ครองสถิตินี้ ด้วยเหตุนี้การันตีได้เลยว่าอาหารที่จะเสิร์ฟนั้นจะเป็นเมนูระดับพรีเมียมแบบฝรั่งเศสที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาหารในยุคอดีต แต่นำมาปรับแต่งตีความและถ่ายทอดเพื่อให้เข้ากับความทันสมัยของปัจจุบัน

อาหารที่เสิร์ฟแต่ละมื้อตลอดวันจะได้รับการเอาใจใส่ในรายละเอียดปลีกย่อยและมีความพิถีพิถันอย่างเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ประกอบมื้ออาหารและการตกแต่งประดับประดา รวมถึงรสชาติของอาหารแต่ละจานเพื่อรังสรรค์ประสบการณ์เฉพาะให้คุณได้ดื่มด่ำลิ้มลองอย่างที่เรียกได้ว่าไม่เคยได้สัมผัสจากที่แห่งไหนมาก่อน พร้อมกับชมวิวอันงดงามของสวนออคร็องค์เฌอครี่ ที่ถือเป็นอัญมณีอีกอันหนึ่งของ พระราชวังแวร์ซาย ที่คุณหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ในส่วนของอาหารมื้อค่ำนั้นคุณจะตื่นตาตื่นใจไปกับบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นส่วนตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟมากยิ่งขึ้น อาหารแต่ละจานจะถูกเสิร์ฟโดยพนักงานที่แต่งกายย้อนยุคซึ่งพนักงานเหล่านี้จะถูกอบรมและเทรนมาให้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับศิลปะทางด้านอาหารในยุคอดีตของชนชั้นสูง ทางโรงแรมรับรองว่าดินเนอร์ที่นี่จะนำพาให้คุณหลุดเข้าไปอยู่ในบรรยากาศงานเลี้ยงอันเลิศหรูของราชสำนักฝรั่งเศสเลยทีเดียว นอกจากนี้ทางโรงแรมยังมีส่วนของสปา และสระว่ายน้ำในร่มเพื่ออัปเกรดหรือเติมเต็มประสบการณ์ในการเข้าพักของคุณให้ตราตรึงประหนึ่งว่าเป็นการบริการสำหรับกษัตร์ย์และราชินีดังเช่นในอดีตจริงๆ 

นอกจากนี้แขกของโรงแรมจะได้รับสิทธิพิเศษในการเยี่ยมชมพระราชวังและพระตำหนักเปอติ ทรีอานง (Le Petit Trianon) แบบเป็นการส่วนตัวได้ หรือจะเข้าไปเดินเล่นชมสวนแบบฝรั่งเศสที่ สวนออคร็องเฌอครี่ และทะเลสาบแห่งทหารสวิส เนื่องด้วยทางโรงแรมมีทางออกตรงเข้าสู่สถานที่สวยงามทั้งสองแห่งที่ว่าด้วย รวมถึงโอกาสที่จะได้ไปล่องเรือชมความยิ่งใหญ่ของทุกส่วนของพระราชวังในบริเวณส่วนที่เป็นคลองในพระราชวังได้อีกเช่นกัน

สนนราคาของห้องพักนั้น ทางประชาสัมพันธ์ของโรงแรมแจ้งว่าราคาของห้องเดอลักซ์อยู่ที่คืนละ 1,300 ยูโร (ประมาณ 43,000 บาท) ห้องสวีตและส่วนอื่น ๆ ยังไม่ได้มีการปล่อยราคาออกมา คงต้องรอกันอีกสักพัก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปจองห้องพักได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ส่วนการเข้าพักนั้นทางโรงแรมเปิดให้บริการในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2563 นี้ 

Fact File

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ สามารถดูได้ที่

Airelles Château de Versailles, Le Grand Contrôle : un hôtel unique au monde !

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนข้อมูล : Valérie Miltgen, Melchior/ Agence de Communication

รูปภาพ : Thibault de Saint Chamas – Agence Christophe Tollemer

อ้างอิง

Versailles: La ville, Le château, Le jardin, Trianon et le parc, Encyclopédies du Voyage, Gallimard, France 2015.


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง