9 เรื่องเบื้องหลัง เทศกาลกินเจ ประเพณีกินผักประจำเดือน 9
Lite

9 เรื่องเบื้องหลัง เทศกาลกินเจ ประเพณีกินผักประจำเดือน 9

Focus
  • เทศกาลกินเจ หรือ กินผัก หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก จะจัดตรงกันทุกปีในช่วงเดือน 9 ตามปฏิทินจีน เป็นระยะเวลา 9 วัน ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9
  • ต้นกำเนิดของพิธีกินเจนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่มีการสืบทอดเรื่องราวเล่าต่อกันมาเป็นตำนาน  แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยหนึ่งในตำนานที่มีการเล่าขานกันมากที่สุดคือ ประเพณีกินเจแห่งเมืองกังไส

เทศกาลกินเจ เป็นประเพณีที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญมากไม้แพ้เทศกาลอื่นๆ โดยเฉพาะในชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วและจีนฮกเกี้ยนขนาดใหญ่อย่างเยาวราช ตลาดน้อย ภูเก็ต นครสวรรค์ หรือที่ตรัง เราจะได้เห็นการจัดงานเทศกาลกินเจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่และมีรายละเอียดของประเพณีที่แตกต่างกันออกไป เทศกาลกินเจ หรือที่บางจังหวัดเรียก กินผัก หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก จะจัดตรงกันทุกปีในช่วงเดือน 9 ตามปฏิทินจีน เป็นระยะเวลา 9 วัน ซึ่งการกินเจนอกจากจะมาพร้อมกับเรื่องการรักษาศีลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีมุมของเกร็ดประวัติศาสตร์ความเชื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจซ่อนอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับ 9 เกร็ดประวัติศาสตร์ตำนานเทศกาลกินเจที่ Sarakadee Lite รวบรวมมาไว้ในบทความนี้

เทศกาลกินเจ

01 ความหมายที่แท้จริงของ กินเจ

การถือศีลกินเจเป็นประเพณีตามความเชื่อในพุทธศาสนามหายาน สืบทอดมาจากลัทธิเต๋า ความหมายคำว่า เจ หรือ แจ มาจากภาษาจีน แปลว่า “ไม่มีคาว”  และคำว่า เจ ก็ยังมีความหมายในทางพุทธสายมหายาน หมายถึง อุโบสถ ทำให้ การกินเจ ในความหมายดั้งเดิม แปลว่า การกินอาหารก่อนเวลาเที่ยง หรือก็คือการถืออุโบสถ และด้วยความที่การถืออุโบสถของจีนส่วนมากจะไม่กินเนื้อสัตว์ ทำให้มีความเข้าใจต่อๆ กันมาว่าการกินเจคือการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง และก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของอาหารพิธีการตามกาลเวลา เช่น ไม่กินผักฉุนอย่างหอม กระเทียม กุยช่าย ผักชี และก็มีบางความเชื่อที่ว่าคนกินเจสามารถกินหอยนางรมได้ เป็นต้น

ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกพิธีกินเจว่า เก้าโหว่ยเจ และเรียกผู้เข้าร่วมพิธีว่า เจอิ๊ว  หมายถึง ผู้ร่วมพิธีในชุดนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจในโรงเจ 9 วัน ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) การเริ่มพิธีกินเจจัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 นั่นก็มาจากความเชื่อ  เก้าอ๊วงฮุดโจ้ว หรือ กิ๊วอ๊วงฮุดโจ้ว ที่กล่าวว่า เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์ จะเสด็จลงมาตรวจสอบพร้อมจดบันทึกการกระทำความดีความชั่วของมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้การกินเจคู่กับการถือศีล ให้มนุษย์สั่งสมกรรมดี โดยการถือศีลในช่วงกินเจมีหลักใหญ่ๆ คือ ละเว้นการเบียดเบียนชีวิตต่อทั้งคนและสัตว์ บริจาคทาน ถือศีล การรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  การขอขมาลาโทษต่อสิ่งที่ตนกระทำผิด

เทศกาลกินเจ

02 ตำนานกำเนิดกินเจจากเมืองกังไส 

ต้นกำเนิดของพิธีกินเจนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่มีการสืบทอดเรื่องราวเล่าต่อกันมาเป็นตำนาน  แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยหนึ่งในตำนานที่มีการเล่าขานกันมากที่สุดคือ ประเพณีกินเจแห่งเมืองกังไส หรือก็คือมณฑลเจียงซีนั่นเองเรื่องมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุภัยธรรมชาติรุนแรงในพื้นที่เมืองกังไส เซียนหรือเทพบนสวรรค์องค์หนึ่งจึงคิดช่วยเหลือ แต่มีข้อแม้ว่าต้องดูก่อนว่าผลบุญของมนุษย์ว่ามีมากน้อยเพียงใด

เทพสวรรค์จึงได้ทดสอบด้วยการลองใจเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองกังไสซึ่งสร้างคฤหาสถ์ใหม่เสร็จแล้ว แต่ยังไม่เข้าอาศัยทันที เขาได้ตั้งปณิธานทำบุญทำทาน  100 วันแก่คนยากจน โดยยินดีให้ทุกสิ่งตามคำขอก่อนย้ายเข้าคฤหาสถ์หลังงาม  เมื่อทำทานมาได้ถึง 95-96 วันแล้ว  มีชายขอทานป่วยเป็นโรคเรื้อนมาขอพักอาศัยในคฤหาสถ์หลังนั้นในช่วงวันที่เหลือ  เศรษฐีก็ยอมทำตามคำขอ โดยระหว่างอยู่ในคฤหาสถ์ ชายขอทานกลับทำผนังห้องต่างๆ เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเหลืองน่าสะอิดสะเอียน แต่เศรษฐีก็ไม่ไล่เขาออก เมื่อครบกำหนดเศรษฐีจึงได้ย้ายเข้ามาอาศัยในคฤหาสน์ และพบว่าผนังที่เคยเปรอะน้ำเหลืองกลับกลายเป็นภาพสวยงาม ส่วนกลิ่นน้ำเหลืองก็กลายเป็นกลิ่นกำยานอบอวล เพราะชายขอทานคนนั้นคือเทพเซียนจำแลงกายมานั่นเอง  เหตุการณ์นี้พิสูจน์ถึงจิตใจที่ดีงามของชาวเมืองกังไส เทพสวรรค์จึงชี้ทางช่วยเหลือ โดยบอกวิธีสะเดาะเคราะห์ให้ชาวเมืองประกอบพิธีกินผัก ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ รำลึกถึงวิญญานบรรพบุรุษ เพื่อช่วยปกป้องคุ้มภัย อันเป็นต้นกำเนิดประเพณีกินเจจากตำนานในเมืองกังไส

เทศกาลกินเจ
บรรยากาศเทศกาลกินเจในภาคใต้ที่มีการอัญเชิญและแห่เทพเจ้า

03 ตำนานกินเจของชาวฮกเกี้ยน

อีกตำนานการกินเจเชื่อว่าเริ่มต้นที่มณฑลเอ้หมึง ในสมัยกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องที่มีหน้าฉากเป็นพิธีกรรมทางศาสนาบังหน้าการเมือง (ราชวงศ์ซ้องปกครองจีนในช่วงปี พ.ศ.1503-1822) ว่ากันว่าหลังเกิดเหตุกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องทำอัตวินิบาตกรรม ระหว่างเสด็จหนีภัยสงครามจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะไต้หวัน เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์หยวนได้ขึ้นมาครองบัลลังก์ แต่ชาวฮกเกี้ยนที่อยู่ในแผ่นดินยังรำลึกถึงบูรพกษัตริย์ราชวงศ์ซ้อง และได้จัดพิธีรำลึกแบบลับๆ โดยมีฉากหน้าเป็นพิธีทางศาสนาถือศีลกินเจ ถือเป็นจุดเริ่มของประเพณีกินเจในตำนานของชาวฮกเกี้ยน ซึ่งใช้ สีเหลือง ซึ่งสีประจำราชสำนักเป็นสีหลักในการประกอบพิธีกรรมเพื่อรำลึกถึงราชวงศ์ซ้อง และเป็นที่มาว่าทำไมจึงใช้ธงสีเหลืองและสีเหลืองเป็นสีหลักของเทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ
ส่วนหนึ่งของพิธีก่อนเริ่มเทศกาลกินเจ

04 ตำนานกินเจกับ เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์ 

อีกหนึ่งตำนานของการกินเจถูกผูกโยงกับสมัยพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ยิ่นฮ่องสี (ยิ่นฮ่องสี แปลว่า ผู้เป็นเจ้าแห่งมนุษย์) ซึ่งถือว่าเป็นผู้วิเศษมี 9 องค์พี่น้อง เชื่อว่าเมื่อทั้ง 9 องค์สวรรคตจากโลกมนุษย์แล้วก็ไปจุติเป็น ดาวจระเข้ 9 ดวงเรียงกัน ชาวจีนนับถือเป็นเทพ 9 องค์โดยเรียกว่า เก้าอ๊วงฮุดโจ้ว หรือ กิ๊วอ๊วงฮุดโจ้ว หมายถึง เทพผู้ถือบัญชีมนุษย์ ซึ่งจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อตรวจสอบพร้อมจดบันทึกการกระทำความดีความชั่วของมนุษย์ในระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เพื่อประกอบการพิจารณาบันดาลให้มนุษย์มีชะตากรรมตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละคน  เป็นที่มาของประเพณีถือศีลกินเจทำบุญทำทานสั่งสมกรรมดี

และนั่นจึงเป็นที่มาของ พิธีอัญเชิญกิ้วอ๊วงฮุดโจ๊ว โดยจะทำหนึ่งวันก่อนเริ่มงานประเพณีกินเจ ตรงกับในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 เพื่อให้ลงมาประทับใน ตั๊ว ซึ่งอยู่ภายในเขตโรงเจ การประกอบพิธีนิยมทำกลางแจ้ง อาจจะเป็นด้านหน้าโรงเจ  ส่วนบนโต๊ะพิธีวางกระถางธูป เทียนคู่ เครื่องเซ่น ที่เรียกว่า เจไฉ่ และ ปวยแท่ง ไม้รูปคล้ายเรือสองแท่งประกบคู่กัน เพื่อเสี่ยงทาย ในวันทำพิธี พระสงฆ์ นิกายมหายาน  เริ่มพิธีสวดมนต์ และโยนปวยคู่เสี่ยงทาย ถ้า ปวยตกพื้น อันหนึ่งคว่ำ อันหนึ่งหงาย แสดงว่า กิ้วอ๊วงฮุดโจ้ว เสด็จลงมาประทับที่ตั๊วแล้ว ผู้ทำพิธีจุดธูปปักในกระถางธูปบนโต๊ะเพื่ออัญเชิญไปประทับบนแท่นบูชาด้านในโรงเจ จากนั้นมีการชักธงผ้าสีเหลือง ขึ้นสู่เสาสูงหน้าตั๊ว จุดไฟในตะเกียงน้ำมันแขวนไว้บนยอดเสา ตลอด 9 วัน 9 คืนของพิธีกินเจ

06 ทำไมกินเจต้องห้ามกินพืชผักกลิ่นฉุน 5 อย่าง

 หลักการสำคัญในทางธรรมของการกินเจ คือ การกินที่ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ไม่มีคาว งดการกินเลือด กินเนื้อสัตว์ อาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์รวมถึง นม นมข้น ไข่ เพราะถือว่าไข่หากรอเวลาจะฟักเป็นตัว ถือเป็นการกินเนื้อสัตว์ทางอ้อม เป็นการชำระใจให้บริสุทธิ์ ส่วนในด้านสุขภาพนั้นการงดเนื้อสัตว์ ช่วงกินเจ 1 ครั้งในรอบหนึ่งปี ถือว่าเป็นการชำระกาย แม้การกินเจจะกินได้แต่ผัก แต่ก็มีข้อห้ามกินพืชผักกลิ่นฉุน ได้แก่ ต้นหอม หัวหอม กระเทียม กุ้ยช่าย รวมถึงผักชี และบางความเชื่อก็ห้ามโหระพา ตามความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าพืชผักเหล่านี้มีสารพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกายคน เช่น ต้นหอมหรือหัวหอม ทำลายธาตุน้ำส่งผลไตทำงานไม่ปกติ กระเทียมทำลายธาตุไฟทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ  กุ้ยช่ายทำลายธาตุไม้มีผลต่อตับเป็นต้น  ทั้งนี้อาหารเจยังห้ามเครื่องเทศกลิ่นแรงเพราะถือว่าเป็นอาหารกระตุ้นกำหนัด เป็นอุปสรรคต่อการรักษาศีล

เทศกาลกินเจ
บะหมี่หวาน อาหารเจขึ้นชื่อประจำตลาดน้อย

07 อาหารเจต้องแยกภาชนะ

อีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลกินเจที่หลายคนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การแยกภาชนะและเครื่องครัวสำหรับอาหารเจโดยเฉพาะ โดยความเชื่อนี้เล่าว่ามาจากตำนานสมัยราชวงศ์ไต้เหลียง มีกษัตริย์นามว่า พระเจ้าบูตี่ ทรงนับถือสมภารรูปหนึ่งอย่างมาก และรับสั่งให้พระมเหสีจัดอาหารถวายสมภารทุกวัน  พระมเหสีไม่พอพระทัยกับภาระนี้จึงกลั่นแกล้งสมภารด้วยการทำซาลาเปายัดไส้หมูและเนื้อวัวถวาย แต่ท่านสมภารรู้ทัน จึงให้ลูกศิษย์นำซาละเปาใส่ย่ามไปวางไว้ที่หน้าประตูวัด ต่อมาเพียงชั่วเวลาไม่นานก็มีต้นหอม กระเทียม และผักชี งอกขึ้นมาบริเวณนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ในช่วงเทศกาลกินเจไม่กินต้นหอม กระเทียม และผักชี และมีการแยกภาชนะเพื่อไม่ให้มีการปะปนกับอาหารทั่วไป

เทศกาลกินเจ

08 กินเจไม่ใช่แค่กินผัก อยากได้ผลบุญต้องรักษาศีล 8

ในทางพุทธมหายาน คำว่า เจ  มีความหมายว่า อุโบสถ หมายถึงการถือศีลลงอุโบสถของพระสงฆ์นั่นเองข้อปฏิบัติที่แท้จริงของผู้กินเจจึงไม่ใช่แค่กินผัก ปราศจากเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องถือศีลอุโบสถ หรือ ศีล 8 ควบคู่กัน โดยการละเว้นอาหารที่มาจากสัตว์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาศีลเท่านั้น

09 ธงเจ เตือนใจ

ในช่วงเทศกาลกินเจเราจะสังเหตเห็นธงสีเหลืองเขียนอักษรจีนสีแดงตรงกับภาษาไทย ว่า “ใจ” โดยการใช้ สีเหลือง หมายถึงสีของผู้ทรงศีล (ในตำนานต้นกำเนิดกินเจของชาว ฮกเกี้ยน สีเหลืองอิงกับสีของสถาบันกษัตริย์) ส่วน สีแดง หมายถึง ความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อของชาวจีน การปักธงเจเพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจว่าการกินเจนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี เดือนพฤศจิกายน 2539พฤศจิกายน 2531 เมษายน 2538 และตุลาคม 2537
  • คลังความรู้ เวบไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เจกับมังสวิรัติ

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป