ซอกแซก ตราด จากตลาด พิพิธภัณฑ์ วัด เส้นทางพระเจ้าตากฯ และการมาเยือนของฝรั่งเศส
- แจกพิกัดทัวร์รอบเมืองตราดที่สามารถเดินเที่ยวได้รอบตั้งแต่เช้าจดค่ำ ครบทั้งวัด ตลาด พิพิธภัณฑ์ และสถานที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการมาของฝรั่งเศสในอดีต
- การจะเที่ยวต่างเมืองให้สนุกแนะนำให้ตรงไปที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นลำดับแรก และแน่นอนว่าหากอยากรู้จักเมืองตราดให้มากขึ้นให้ตรงไปยังเรือนไม้ พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด
เมื่อพูดถึง ตราด ร้อยละร้อยจะนึกถึงทะเลและเกาะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาะกูด เกาะช้าง เกาะขายหัวเราะ แต่วันนี้ Sarakadee Lite อยากจะเพิ่มเป้าหมายของการ เที่ยวตราด ด้วยการพาไปซอกแซกเจาะลึกตัวเมือง ตราด กับพิกัดทัวร์รอบเมืองตราดตั้งแต่เช้าจดค่ำพร้อมสาระความรู้แบบจุก ๆ ครบทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ศิลปะท้องถิ่น และที่สำคัญตลอดเช้าเมืองตราดอาหารทะเลสดมาก ขอบอกไว้ก่อนว่าแต่ละสถานที่นั้นไม่ได้ห่างกันมาก แต่รับรองว่าสวยถูกใจ ใช้เวลาเป็นวันแน่นอนค่า
“ตลาดไร่รั้ง” ตลาดอาหารทะเลสดที่น้ำพริกไข่ปูอร่อยเลิศ
ว่ากันว่าตลาดสามารถบอกเล่าเมืองได้ และตลาดที่บอกเล่าวิถีชาวเมืองตราดได้เป็นอย่างดีก็ต้องที่ ตลาดไร่รั้ง ตลาดสดเปิดเช้าตรู่ใจกลางเมือง ตราด ที่นี่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นตลาดอาหารทะเลหรือตลาดปลาแต่อย่างใด ทว่าเรากลับพบอาหารทะเลสด ๆ ตลอดทางเดิน ผู้คนแถวนี้ก็จะมาจับจ่ายซื้อของสดกลับไปทำอาหารกัน บรรยากาศคึกครื้นสมกับการเป็นตลาดสดขึ้นชื่อ หากใครยังไม่เคยลอง “เส้นอ่อนน้ำพริกไข่ปู” แนะนำให้ตรงมาที่ร้านเจ๊พัช นำแป้งปากหม้อมาจับคู่กับน้ำพริกไข่ปูที่รสชาติปูเต็มปากเต็มคำในราคามิตรภาพมาก ๆ นอกจากน้ำพริกแล้ว ยังมีปูนึ่งสด ๆ ทั้งแบบแกะและไม่แกะเนื้อและบางช่วงก็จะมีปูดองน้ำปลาอีกด้วย
เป็นตลาดของจังหวัดทะเลภาคตะวันออกก็ต้องมีไฮไลต์เป็นแผงปลาทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะแผงคุณลุงบริเวณทางเข้าตลาดกับปลาสดที่ส่งตรงจากทะเลทุกเช้ามืด และเป็นที่รู้กันดีว่าหากคุณลุงมาเปิดแผงเมื่อไรของจะหมดไวมากเพราะนอกจากความสดที่การันตีได้แล้วขอแอบกระซิบว่าราคาถูกจนอยากเหมาหมดแผงอย่างแน่นอน
ตลาดไร่รั้งเปิด 2 รอบ เช้าเวลาประมาณ 6.00-10.00 น. ถือว่ากำลังดีในการจับจ่ายของสดไปทำอาหาร ส่วนช่วงเย็น เวลาประมาณ 15.00-20.00 น. จะเป็นเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อกับข้าว อาหารมื้อเย็น หรืออาหารปรุงสุกต่าง ๆ
“พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” ร้อยเรื่องเมืองตราดครบในจุดเดียว
การจะเที่ยวต่างเมืองให้สนุกแนะนำให้ตรงไปที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นลำดับแรก และแน่นอนว่าหากอยากรู้จักเมืองตราดให้มากขึ้นให้ตรงไปยังเรือนไม้ พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด เดิมทีอาคารหลังนี้ถูกสร้างไว้เพื่อเป็นศาลากลางจังหวัดตราด ในช่วงปี พ.ศ.2465 ทว่าเวลาผ่านไปทำให้ตัวอาคารเริ่มชำรุด กระทรวงมหาดไทยเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่มาติดต่อราชการ จึงเปลี่ยนให้สถานที่นี้เป็นพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดอย่างในปัจจุบัน ภายในเล่าเรื่องเมืองตราดตั้งแต่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุไฮไลต์คือ กลองมโหระทึก แบบเดียวกันกับที่พบในประเทศจีนตอนใต้ และอีกหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีประวัติศาสตร์ผู้คนตราดดั้งเดิมนั่นก็คือ ชาวชอง อันเป็นที่มาของคำว่า “ฮิ” คำลงท้ายที่หลายคนคุ้นหูเมื่อนึกถึงตราด
อีกห้องไฮไลต์คือห้องจัดแสดงเกี่ยวกับ ยุทธนาวีเกาะช้าง ห้องนี้มีความพิเศษที่จำลองรูปแบบประดุจว่าเรากำลังอยู่บนเรือ อีกทั้งข้อมูลแน่น ๆ ในห้องนั้นก็พร้อมจะทำให้ตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน หากใครกำลังอยากศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวีรกรรมเหล่าทหารเรือในยุทธนาวีเกาะช้างแล้วละก็ ที่นี่ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว ทั้งข้อมูลการเปรียบเทียบกองกำลังระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ภาพเปรียบเทียบขนาดเรือรบแต่ละลำ รวมไปถึงแผนที่แสดงบริเวณการสู้รบ
อีกห้องนิทรรศการที่สนุกคือห้องจำลองย่านการค้า ร้านค้า ร้านเครื่องปั้นดินเผา ร้านทอง แม้จะเป็นช่วงสมัยที่ผ่านมาไม่นานนัก แต่ถือว่าเป็นไกด์สำหรับจุดท่องเที่ยวห้ามพลาดในจังหวัดตราดให้เราออกไปตามรอยได้ ทั้งเกร็ดข้อมูล สินค้าขึ้นชื่อ อาหารประจำถิ่น รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ความน่าสนใจยังไม่หมดแค่นั้น เนื่องจากจังหวัดตราดเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5เนื่องจากพระองค์เสด็จประพาสจังหวัดตราดถึง 12 ครั้ง โดยเป็นการเสด็จประพาสตัวเมืองตราดถึง3 ครั้ง ดังนั้นในพิพิธภัณฑ์นี้เราจึงจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จประพาส ณ จังหวัดตราด รวมไปถึงลำดับเหตุการณ์และสถานที่ในการเสด็จแต่ละครั้งของพระองค์
พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. อัตราค่าบริการก็ดีต่อใจมาก ๆ เด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 086-450-5263
สักการะรัชกาลที่ 5 ณ “ศาลากลางจังหวัด”
ศาลากลางจังหวัดตราดในปัจจุบันที่อยู่ละแวกเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานเมืองตราดด้านหน้าศาลากลางประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลองเดินมาทางด้านซ้ายของพระบรมรูปจะพบแผ่นจารึกพระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานไว้ให้แก่ชาวเมืองตราด ซึ่งจะเห็นถึงความผูกพันที่พระองค์มีต่อเมืองนี้
“จวนเรซิดังกัมปอร์ต” การมาเยือนของชาวฝรั่งเศส
อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สีขาว 3 ชั้นหลังคาทรงปั้นหยาหลังนี้ถือเป็นไฮไลต์ของการ เที่ยวตราด เรือนไม้โบราณสำคัญของเมืองตราดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระปราณีจีนประชา ตำแหน่งปลัดฝ่ายจีนเมืองตราด ตั้งใจให้เป็นเรือนหอของลูกสาวกับหลวงวรบาทภักดีซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองตราดยุคนั้น แต่ในช่วงที่ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเมืองตราด ตรงกับ พ.ศ.2447 บ้านพักแห่งนี้จึงถูกยึดไปด้วยเพื่อเปลี่ยนเป็นที่ทำการของฝั่งฝรั่งเศส ทว่าภายหลังได้ปรับปรุงเป็นบ้านพักของข้าหลวงฝรั่งเศสชื่อ “เรสิดังต์ เดอเฟอริงสิมง” ที่เข้ามาปกครองจังหวัดตราด ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่จนติดปากว่า “จวนเรสิดัง”
หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าทรงของบ้านไม่สมมาตรกันทั้งสองด้านซึ่งต่างไปจากค่านิยมของงานสถาปัตยกรรมไทยที่นิยมสร้างอาคารให้มีความสมดุล นั่นก็เพราะว่าชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาทำการต่อเติมระเบียงฝั่งซ้ายขึ้นในภายหลัง ในส่วนของกำแพงสูงหรือรั้วก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าในช่วงนั้นบ้านเรือนทรงปั้นหยา หรือบ้านบริเวณนั้นจะไม่ได้มีรั้วสูงกั้นแต่เนื่องจากที่นี่ใช้เป็นสถานที่ราชการฝรั่งเศสจึงต่อเติมรั้วขึ้น
ช่วงปี พ.ศ.2447-2449 ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ในการตัดสินคดีความของเหล่าคนในบังคับฝรั่งเศสกับชาวบ้าน เหมือนกับว่าเป็นตัวแทนของสถานกงสุลฝรั่งเศสย่อยในสมัยนั้น อีกทั้งจวนเรซิดังยังถูกใช้เป็นสถานีการค้าที่สำคัญเนื่องจากอยู่ไม่ไกลท่าเรือ สะดวกแก่การสัญจรไปมา ก่อนที่คลองเหล่านั้นจะถูกถมและตัดเป็นทางถนนอย่างที่ได้เห็นในปัจจุบัน
“ชุมชนรักษ์คลองบางพระ” ชุมชนเก่าแก่เดินเที่ยวสนุก
ชุมชนรักษ์คลองบางพระนับได้ว่าเป็นย่านการค้าที่สำคัญมาแต่โบราณย้อนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมีคลองบางพระเป็นเส้นทางการสัญจรสำคัญของเมือง สมัยก่อนคลองบางพระเป็นคลองที่ชาวบ้านล่องเรือนำของป่าออกมาขายรวมถึงส่งต่อไปยังกรุงเทพฯ และในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองตราดก็ทรงใช้เส้นทางคลองบางพระ จึงเกิด “ท่ารับเสด็จ” ขึ้นเป็นท่าเรือที่พระองค์ใช้เสด็จเพื่อทรงลงเรือต่อไปยังบ้านของเจ้าเมืองตราด
จากท่ารับเสด็จ ยังสามารถเดินลัดเลาะถนนชมเมืองที่มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจตลอดสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนทรงปั้นหยา แบบบ้านที่นิยมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 หรืออาคารบ้านเรือนที่พัฒนาขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-7 มีให้เห็นปะปนกันไป แม้จะเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างที่บ้านของเจ้าเมืองตราดซึ่งเคยตั้งอยู่ในบริเวณนี้ถูกเปลี่ยนมือไปจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบันแล้ว แต่ย่านนี้ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในย่านที่ไม่ควรพลาดสำหรับควรที่รักการเดินชมอาคารบ้านเรือน
“วัดไผ่ล้อม” โรงเรียนแห่งแรกของเมืองตราด
เดินจากชุมชนรักษ์คลองบางพระมาไม่ไกลจะพบกับวัดไผ่ล้อมที่ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งแรกของเมืองตราด เปิดให้การศึกษามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5เริ่มจากที่พระวิมลเมธาจารย์ (เจ้ง จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อมในยุคนั้นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนครูให้การศึกษาแก่เยาวชนที่เป็นสามัญชนทั่วไปที่วัดไผ่ล้อม
วัดไผ่ล้อมเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาได้รับการบูรณะไปเมื่อช่วงปี พ.ศ.2540เมื่อเข้ามาภายในโบสถ์จะพบประธานที่เป็นพระสมัยอยุธยา แม้โบสถ์จะมีสถาปัตยกรรมที่ไม่สามารถระบุได้ว่าสร้างตามต้นแบบช่วงไหน สัญชาติใด แต่สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากคือองค์พระประธานที่ยังคงเทคนิคการปั้นของช่างพื้นถิ่นสมัยอยุธยา ผลงานการปั้นของช่างท้องถิ่นสกุลช่างจันทบุรี-ตราด ซึ่งจะไม่เหมือนกับสกุลช่างอยุธยาที่อยู่ในเมืองหลวงเสียทีเดียว ทว่าก็ยังพอมีกลิ่นอายอยู่บ้าง และด้วยเป็นช่างท้องถิ่นสกุลช่างจันทบุรี-ตราด ความน่าสนใจคือต้นแบบการปั้นมาจากรูปหน้าของ “ชาวชอง” ชาวพื้นถิ่นของแถบตะวันออก มีลักษณะผิวคล้ำ หน้าผากแคบ ทว่าในส่วนพระพักตร์ของพระประธานจะมีรูปแบบอยุธยา
วัดไผ่ล้อมยังมีความเกี่ยวพันกับรัชกาลที่ 5 และอดีตก็เคยเป็นวัดหลวง ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินไว้ให้สำหรับทำนุบำรุงวัดจำนวนหนึ่ง ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต วัดแห่งนี้จึงได้รับเครื่องสังเค็ดที่ใช้จริงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธรรมาสน์ลายรดน้ำมีพระเกี้ยวกับพระปรมาภิไธยแบบย่อสลักไว้ด้านหลัง
เดินถัดมาทางสวนพุทธธรรมด้านในวัดจะพบกับเจดีย์พิพิธภัณฑ์สามท่านเจ้าคุณที่นับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดตราดในด้านการพัฒนาการศึกษาทั้งแบบสามัญและการศึกษาธรรมะ ใครอยากรู้ประวัติวัดฉบับเต็มมาเช็กอินในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เลย
“วัดบุปผารามวรวิหาร” วัดที่ปรากฏหลักฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในตราด
ที่นี่คือวัดที่ปรากฏหลักฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในตราดสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยพบเป็นจารึกปี พ.ศ.2175 อยู่ด้านในโบสถ์หลังเก่าหมายถึงปีที่สร้าง และแม้ตัววัดจะได้รับการบูรณะอยู่หลายครั้งแต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นสมัยอยุธยาไว้ โดยส่วนแรกที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม การเข้าชมต้องแวะไปบอกพระภิกษุที่อยู่บริเวณนั้นสักนิดเพราะไม่ได้เปิดตลอดเวลา
ภายในพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยคาดว่าจะมีผู้ศรัทธานำมาถวายให้แก่ทางวัดไปจนถึงพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงราว ๆ รัชกาลที่ 7 อยู่หลายองค์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องเบญจรงค์ทั้งที่มาจากทางจีนบ้างยุโรปบ้างและเครื่องกระเบื้องตั้งแต่สมัยอยุธยาที่สั่งช่างชาวจีนทำ
อีกสิ่งที่พลาดไม่ได้คือจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างแปลกตาด้วยลวดลายจีน ในตัวอย่างที่เรานำมาฝากจะเห็นได้ว่าเครื่องแต่งกาย สัตว์มงคล หรือดอกไม้ล้วนเป็นไปตามคติความเชื่อของจีน แม้ด้านในพิพิธภัณฑ์จะประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลากหลายรูปแบบให้เราได้ตื่นตาตื่นใจกันแล้ว แต่ต้องขอบอกว่าด้านนอกพิพิธภัณฑ์อย่างในวิหารหรือมณฑปเอง พระพุทธรูปก็น่าสนใจไม่แพ้กันค่ะมีพระพุทธเก่าแก่หลายองค์ทีเดียว
จุดสุดท้ายที่เราเก็บภาพมาฝากกันในวันนี้เป็นส่วนของกุฏิสงฆ์ค่ะ ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้งานแล้ว อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วมีใครสงสัยไหมคะว่ากุฏิที่พูดถึงนี้มีความพิเศษต่างจากกุฏิสงฆ์วัดอื่นอย่างไร ที่นี่จะเป็นกุฏิที่สร้างขึ้นตามพระวินัยบัญญัติ และสร้างอย่างถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตทุกประการเลยค่ะ มีจำนวนกุฏิทั้งหมด 11 หลัง สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดความกว้างเพียง 2 เมตรและยาวเพียง 4.5 เมตร แต่เดิมภายในจะโล่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆและในยามปกติแล้วจะเดินชมได้เพียงภายนอกของกุฏิเท่านั้น
“ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตราด” การผสมผสาน3 ความเชื่อ
มาเดินทอดน่องท่องเมืองตราดทั้งทีต้องไม่พลาดแวะไปยังหัวใจของเมืองนั่นก็คือศาลหลักเมือง แปลกตาด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดตราด จุดเด่นสำคัญคือที่นี่รวบรวมไว้ทั้งความเชื่อแบบจีนอย่างเทพเซี้ยอึ้งกง เทพไฉ่ซิงเอี๊ย เทพกำเทียงไต้ตี่ ความเชื่อแบบเต๋าคติพุทธอย่างเสาหลักเมือง ไปจนถึงความเชื่อแบบฮินดูอย่างศิวลึงค์ หากมีโอกาสไปยังสถานที่แห่งนี้จะพบว่ามีผู้คนมากราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายด้วยความศรัทธา ผู้คนเชื่อว่าสามารถขอพรจากที่นี่ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ค้าขาย โชคลาภ สุขภาพ ครอบครัว ความปลอดภัย ไปจนถึงการมีบุตร
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการต่อเติมศาลปุนเถ้ากง ปุนเถ้าม่าเพิ่มเติมมาในภายหลัง เนื่องจากศาลเดิมอยู่ที่ตลาดแต่ด้วยความทรุดโทรมจึงได้ย้ายมาไว้ที่นี่รวมกัน มีความเชื่อว่าปุนเถ้ากง-ปุนเถ้าม่าจะช่วยดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัว ความปลอดภัย หากต้องเดินทางไปไหนไกล ๆ ผู้คนก็มักจะมากราบไหว้ท่านทั้งสองเพื่อให้ช่วยดูแลครอบครัว
“วัดโยธานิมิต” จิตรกรรมฝาผนังจากสีคราม
วัดนี้เป็นวัดที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่หลายจุด โดยหลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราชเกณฑ์กำลังไพร่พลจากชาวบ้านที่สมัครร่วมรบได้จำนวนหนึ่งก็ได้ตั้งหลักกันอยู่บริเวณวัดแห่งนี้ แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระวิหารก็พบอยู่หลายจุดว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อย่างช่องหน้าต่างด้านบนก็มักจะพบได้ตามวัดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องจากจะสื่อถึงความเรียบง่าย มีเพียงหน้าต่างที่ใช้ระบายอากาศด้านบนเท่านั้น
วัดโยธานิมิตได้รับการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยความว่าช่วงนั้นสยามได้ตั้งทัพก่อนที่จะไปปราบเวียดนามบริเวณที่ตรงนี้ ทำให้วัดได้รับการบูรณะเพิ่มเติมและได้ชื่อว่าวัดโยธานิมิตอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน
ถัดเข้ามาด้านในโบสถ์จะพบกับพระประธานจากฝีมือช่างเมืองตราดในสมัยอยุธยา หากสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีลักษณะแตกต่างกับพระประธานที่วัดไผ่ล้อมซึ่งเป็นวัดสมัยอยุธยาเช่นกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ พระประธานวัดโยธานิมิตมีพระพักตร์ยิ้มกริ่ม พระโอษฐ์จะยื่นออกมามากกว่าปกติ เมื่อมองไปโดยรอบจะพบกับจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม มีการใช้สีครามจึงสันนิษฐานว่าถูกวาดขึ้นหลังจากช่วงที่สีครามนิยม คือสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ด้วยเรื่องของการขนส่งจากพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลจึงเป็นไปได้ว่าจะถูกวาดขึ้นหลังจากนั้นอีกเล็กน้อย แม้ปัจจุบันภาพสีครามเหล่านี้จะได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้วแต่ภาพยังค่อนข้างเลือนราง ไฮไลต์ของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารแห่งนี้คือทั้งหมดจะเป็นภาพลำดับเหตุการณ์พระเวสสันดร แต่จะมีเพียง 12 กัณฑ์เท่านั้นจากปกติที่จะมี 13 กัณฑ์
Fact File
สอบถามข้อมูล เที่ยวตราด ได้ที่ ททท. สำนักงานตราด โทร. 039-597-259 facebook.com/tattratoffice