“ฝันที่จะได้ไขว่คว้าฝันในโลกที่คนไม่เท่ากัน” จากตัวอักษรสู่ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับละครเวที 2022
- มนต์รักทรานซิสเตอร์ บทประพันธ์โดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน นักคิด นักกิจกรรมผู้ลี้ภัยการเมืองและใช้วาระสุดท้ายของชีวิตในต่างประเทศ
- มนต์รักทรานซิสเตอร์ เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมในฐานะสื่อที่วิจารณ์สังคมได้อย่างมีชั้นเชิง และล่าสุดในรูปแบบละครเวทีฉบับ 2022 โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์
“ข้างแรม 15 เดือนเมษาฯ ปีใหม่
พี่อยู่เดียวดาย คิดถึงขวัญใจไกลบ้าน
ทหารเกณฑ์คนเศร้า ห่วงเจ้านงคราญ
ผ่านพ้นสงกรานต์ ไม่ได้กลับไป”
เนื้อเพลงแสนเศร้านี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ที่ แผน ตัวเอกของ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ใช้ในการประกวดร้องเพลงหลังค่ายทหารและเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อไล่ตามความฝันในการเป็นนักร้องของชายหนุ่ม ก่อนสุดท้ายความจริงในโลกอันโหดร้ายจะกลับมาตอกย้ำว่า…ความฝันของเขานั้นจะไม่มีวันเป็นจริง
จุดเริ่มต้นของความหวังมาจากเสียงตามสายของวิทยุทรานซิสเตอร์ที่ส่งถึง แผน (นำแสดงโดย ณัฐพงศ์ รัตนเมธานนท์ นักแสดงและนักร้องในนาม “imnutt”) ชายหนุ่มคนงานในไร่แตงผู้หลงรักในการร้องเพลงและมีความฝันอยากจะเป็นนักร้องแม้ชีวิตจะยากลำบากแค่ไหนแต่เสียงเพลงและ สะเดา (นำแสดงโดย ปริม อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร นักแสดงสาวจากเรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง”) คนรักของเขาก็ทำให้ชีวิตในบางน้ำไหลของแผนเต็มไปด้วยความสุข ก่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังที่มาพร้อมเสียงประกาศถึงงานประกวดร้องเพลงจะทำให้แผนตัดสินใจทำตามใจเรียกร้อง
แผนหนีเกณฑ์ทหารเข้าไปไขว่คว้าชื่อเสียงในเมืองกรุง แต่อนิจจา ไม่รู้ว่าโชคชะตากลั่นแกล้งหรือเขาตัดสินใจผิดพลาดไป แผนต้องหนีจากเมืองหลวงไปทำงานในไร่อ้อยอันห่างไกล พลัดพรากจากเมียและลูกที่ไม่เคยได้เห็นหน้า กลายเป็นแผนที่ไร้สกุล ไร้ครอบครัว ทั้งยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไปมีเรื่องกับหัวหน้าคนงาน เจออุปสรรคนานัปการจนกลายเป็นคนคุกในคดีที่เขาไม่ได้ก่อ ชีวิตของแผนเหมือนฟ้าเล่นตลกซ้ำ ๆ แม้จะมีโอกาสยกระดับชีวิตแต่สุดท้ายก็เจอเหตุให้ต้องหนีหัวซุกหัวซุนโดยไม่สามารถกลับไปจุดเดิมที่ตนจากมาได้ ตอกย้ำว่าไม่ว่าจะมีหวังแค่ไหน ชีวิตของเขาก็ยังเป็นเพียงไอ้แผนที่ตรากตรำทำงานหาเช้ากินค่ำในไร่และจะไม่มีวันได้เป็นนักร้องชื่อดังดั่งที่ใจหวัง
ครั้งหนึ่งบทประพันธ์ มนต์รักทรานซิสเตอร์ โดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน นักคิด นักกิจกรรมผู้ลี้ภัยการเมืองและใช้วาระสุดท้ายของชีวิตในต่างประเทศ เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมในฐานะสื่อที่วิจารณ์สังคมได้อย่างมีชั้นเชิง และครั้งนี้ด้วยฝีไม้การกำกับของ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีที่เคยคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากหอภาพยนตร์ กับการตีความใหม่พร้อมแสดงในรูปแบบของละครเวที ได้พาผู้ชมไปสัมผัสกลิ่นอายตั้งแต่ชนบทจนถึงเมืองหลวง ด้วยดนตรีประกอบที่เล่นสดคลอไปพร้อมการแสดง ฉากและแสงสีอันสร้างสรรค์และจัดจ้านช่วยเปิดประสบการณ์การรับรู้ในการชมมหรสพของคนยุคใหม่ องค์ประกอบที่รวมกันยังช่วยปลุกเร้าอารมณ์ของคนดูให้รู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวและเข้าใจรากปัญหาที่กัดกินสังคมมาช้านานโดยไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดแต่อย่างใด
“มนต์รักทรานซิสเตอร์ของผมคือ โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและเอาเปรียบผู้คนมาตลอดหลายสิบปี คือชีวิตที่บีบให้คนไม่มีทางเลือก คือเรื่องราวของสังคมที่สอนสั่งและควบคุมให้คนว่านอนสอนง่าย ถ้าอยากอยู่ให้ได้ต้องอยู่ให้เป็น นี่คือสังคมที่บิดเบี้ยวไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ชื่นชอบความไม่เท่ากัน และพร้อมจะเอาเปรียบคนที่อยู่ข้างล่างเสมอ”
ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กํากับการแสดงกล่าวถึงการตีความบทประพันธ์ในครั้งนี้ ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยความจริงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนมาจากเสียงมนต์รักทรานซิสเตอร์ก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย การหลอกล่อให้เราเชื่อว่าความฝันอันยิ่งใหญ่จะเป็นจริงได้ในโลกที่ทุกอย่างหมุนด้วยเงินและชื่อเสียง และต่อให้ดัดแปลงไปกี่รูปแบบ บทประพันธ์ยังตั้งคำถามถึงสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในทุกพื้นที่และพยายามส่งเสียงของคนตัวเล็กที่โดนกดขี่โดยที่ไม่สามารถตั้งคำถามหรือต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองได้ พร้อมบอกเล่าความสิ้นหวังและส่งต่อเจตนารมณ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้เคยต่อสู้กับความอยุติธรรมในโลกที่บอกกับเราว่า…แค่เกิดมาก็ไม่เท่ากันแล้ว
Fact File
- ละครเวที มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นหนึ่งในการแสดงของโครงการศิลปะการแสดงครั้งที่ 11 โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงวันที่ 1-4 กันยายน พ.ศ. 2565ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- บัตรราคา 850 บาท (พร้อมโปรโมชันราคาพิเศษ) ซื้อบัตรได้ที่ https://bit.ly/3z0ISko หรือ ติดต่อสอบถาม https://www.facebook.com/teeraphannybkk หรือ โทร. 086-899-5669