Traffickers: Inside The Golden Triangle สามเหลี่ยมทองคำ ไม่เคยสิ้นราชานักค้ายา สารคดีเปิดโปงขบวนการยาเสพติดระดับโลก
- สารคดีซีรีส์ 3 ตอน เล่าถึง 3 ราชานักค้ายาเสพติดที่โด่งดังระดับโลกจากดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ วีรกรรมที่เกี่ยวพันกับด้านมืด ความตาย การหักหลัง และคำถามสำคัญว่าทำไมวงจรพ่อค้ายาเสพติดจึงไม่เคยหมดไปจากดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ
- สารคดีชุดนี้ ไม่ใช่การถอดชีวประวัติเบื้องลึกของพ่อค้ายาเสพติดทั้งสาม แต่โทนของเรื่องเป็นการถอดไทม์ไลน์ในช่วงที่พวกเขามีความร่ำรวยแบบผิดปกติ จนไปเข้าตาฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และการแกะรอยจากปากคำผู้ร่วมในปฏิบัติการ ผู้สังเกตการณ์ที่ศึกษาคดีของทั้งสาม และคนที่มีส่วนเกี่ยวพันทั้งส่วนตัวและธุรกิจกับพวกเขา
เมื่อดินแดน สามเหลี่ยมทองคำ ไม่เคยสิ้นราชานักค้ายา ซีรีส์แนวสารคดีชุด Traffickers: Inside The Golden Triangle จึงค่อนข้างมีความน่าสนใจกับการตั้งโจทย์ไว้ที่ ธุรกิจค้ายามีความเสี่ยง แต่ก็มีคนมากมายเลือกก้าวเข้ามาอยู่ในธุรกิจมืดและผิดกฎหมายเช่นนี้เสมอ อะไรคือแรงจูงใจผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งที่มีความเสี่ยง และจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงจรนักค้ายาเสพติดเริ่มต้นจากตรงไหน โดยในสารคดีเล่าเรื่องครอบคลุมช่วงเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ได้ปักหมุดลงบนแผนที่โลกแล้วว่าเป็น ดินแดนแห่งราชายาเสพติด และต้นทางแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และไม่ว่าจะมีการปราบปรามอย่างเข้มงวดแค่ไหน สุดท้ายธุรกิจยาเสพติดร้อยล้านพันล้านก็ยังคงยืนหยัด โดยสารคดีเล่าเรื่องผ่าน 3 บุคคลสำคัญในวงการค้ายา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน เริ่มจาก ขุนส่า ผู้เป็นราชาฝิ่น (ตอน The Opium King) โจรสลัดแม่น้ำโขง (ตอน The Mekong River Pirate) และเจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย (ตอน The Playboy Druglord)
Traffickers: Inside The Golden Triangle เริ่มเล่าเรื่องจากทศวรรษ 1970-80 กับฉากชีวิตของ ขุนส่า ราชายาเสพติด ลูกครึ่งชาวจีนฮ่อ-ไทยใหญ่ผู้อาศัยอยู่ในแผ่นดินรัฐฉาน และเป็นหัวหน้ากองกำลังปฏิวัติไทยใหญ่ ขุนส่ามีความแข็งแกร่งที่สั่งสมจากประสบการณ์และสายสัมพันธ์กับกองทหาร ตั้งแต่สมัยเป็นทหารรับจ้างของจีนพรรคก๊กมินตั๋ง ต่อด้วยการเข้าร่วมกองกำลังพม่าในการยุยงไทยใหญ่ต่างกลุ่มให้รบกัน จนถึงการตั้งกองกำลังปฏิวัติไทยใหญ่แล้วหันไปสู้กับกองทัพพม่าส่วนกลาง ท้ายสุดคือการผันตัวมาเป็นฐานกำลังในการผลิตยาเสพติดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
ภาพของขุนส่าเป็นทั้งพระเอกคนดีของกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นทั้งผู้ร้ายในขบวนการค้ายาเสพติดระดับโลกที่มีคนตั้งค่าหัวไว้สูงลิ่ว โดยเฉพาะผงขาว หรือเฮโรอีน หากประทับตราขุนส่า ถือได้ว่าเป็นระดับท็อปควอลิตี คุณภาพดีอันดับหนึ่งของโลก จากการที่ขุนส่ามีวัตถุดิบสารตั้งต้นอย่าง ฝิ่น ที่ปลูกในบริเวณเทือกเขาสูงของสามเหลี่ยมทองคำ ทำให้สามารถผลิตเฮโรอีนบริสุทธิ์ ไม่ปลอมปนแป้งมันอย่างแน่นอน
เรื่องราวของ ขุนส่า น่าสนใจตรงที่ไม่ได้เป็นการเล่าแบบชีวประวัติ แต่ยังมีมิติของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาอยู่ในเรื่อง เริ่มจากช่วงที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามเวียดนามและเข้ามาตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนั้นพลเมืองอเมริกันกลายเป็นเหยื่อของยาเสพติดร้ายแรงอย่าง เฮโรอีน และแม้สหรัฐอเมริกาจะประกาศสงครามยาเสพติด และประกาศล่าหัวขุนส่า ในฐานะผู้ผลิตสิ่งมอมเมาเยาวชนของพวกเขา แต่ในทางกลับกันสหรัฐฯ เองก็เป็นคู่ค้าที่สร้างความร่ำรวยให้กับขุนส่า และเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดนั้นขุนส่าได้แบ่งปันกับประชาชนของเขา รวมทั้งสร้างกองกำลังต่อสู้กับรัฐบาลกลางของพม่า โดยจุดจบของเรื่องนี้สะท้อนว่า ขุนส่าไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้แก่สหรัฐฯ เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเมื่อถูกไล่ล่าโดยทางการไทยสนธิกำลังกับสหรัฐฯ และรัฐบาลพม่าจนเกือบจนตรอก สุดท้ายขุนส่าเลือกได้ที่จะวางมือ สลายกองกำลัง ยกฐานการผลิตเฮโรอีนและมอบตัวกับรัฐบาลพม่า พร้อมกับใช้ชีวิตบั้นปลายโดยถูกกักขังอยู่ในบ้านพักเมืองย่างกุ้ง โดยที่สหรัฐฯ ไม่มีสิทธิได้ตัวเขาไปดำเนินคดี จนวาระสุดท้าย ขุนส่าเสียชีวิตในวัย 73 ปี ที่บ้านพัก เมื่อ ค.ศ. 2007
ในช่วงทศวรรษ 2000 หลังจากขุนส่าวางมือก็มีคนรับช่วงต่อ นั่นคือ หน่อคำ ชาวไทยใหญ่เกิดที่รัฐฉาน และเคยเป็นทหารในกองกำลังของขุนส่า ซึ่งได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากลูกน้องและพวกพ้องเดิม ปักหลักที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนไทย-พม่า พร้อมธุรกิจสิ่งผิดกฎหมายที่ควบทั้งการผลิตและจากการควบคุมเครือข่ายยาเสพติดได้ตลอดลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการดักเก็บค่าคุ้มครองจากบรรดาเรือสินค้าที่ผ่านไปมาบนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนั่นทำให้หน่อคำได้ฉายาว่า โจรสลัดแห่งลุ่มน้ำโขง ก่อนที่หน่อคำจะพบจุดจบจากคดีฆาตกรรมลูกเรือสินค้าชาวจีนและทิ้ง 13 ศพลงในแม่น้ำโขง ใกล้เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเหตุให้หน่อคำถูกทางการจีนไล่ล่า และถูกจับขึ้นศาลต้องโทษประหารชีวิตปิดตำนานโจรสลัดแห่งลุ่มน้ำโขงที่ประเทศจีน
แต่ขึ้นชื่อว่า สามเหลี่ยมทองคำ ดินแดนนี้ไม่เคยสิ้นคนมีบารมีในวงการค้ายา เมื่อกระบวนการค้ายาขนาดใหญ่ยังคงทำกันเป็นล่ำเป็นสันเป็นกระบวนการที่เกี่ยวพันกับทั้งราชการและนักธุรกิจเบอร์ใหญ่ระหว่างประเทศ และในยุค 2010 พ่อค้ายารายใหญ่ก็ยิ่งเข้าใกล้และปรับตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสมัยใหม่มากขึ้นในคราบของนักธุรกิจข้ามชาติ พ่อค้ายาเสพติดปรับตัวเองมาเป็นหนุ่มไฮโซในแวดวงสังคม เป็นคนมีเงินและเกี่ยวเนื่องกับวงการบันเทิง เช่น ไซซะนะ แก้วพิมพา หรือมิสเตอร์เอ็กซ์ (Mr. X – Xaysana Keopimpha) ฉายา เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย
Traffickers: Inside The Golden Triangle นอกจากจะเป็นเรื่องราวของนักค้ายาจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบที่เต็มไปด้วยสีสันแล้ว การเลือกเล่าถึง นักค้ายา 3 ยุค ยังสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมเอเชีย ซึ่ง สตีฟ เจา (Steve Chao) นักทำหนัง ผู้กำกับสารคดี ตอน The Opium King และเขายังเป็นนักข่าวที่เกาะติดสถานการณ์ยาเสพติดมาทั่วโลกกว่า 2 ทศวรรษ ชี้ให้เห็นเนื้อหาที่เปิดเผยออกมาในระหว่างการเล่าเรื่องของนักค้ายาตัวพ่อแห่งสามเหลี่ยมทองคำเหล่านี้ว่า
“มันไม่ใช่แค่เรื่องในวงการค้ายาเสพติด แต่เป็นเรื่องของการเติบโตของเอเชียที่โดดเด่นขึ้นมาในหลายๆ เรื่อง และคนเหล่านี้สามารถมองเห็นการยกระดับของเศรษฐกิจในเอเชียช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เห็นการเติบโตมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก และสามารถปรับตัวล้อกระแส เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการลักลอบ เคลื่อนย้ายและขนส่งยาเสพติดไปทั่วภูมิภาคและไปทั่วโลกได้ด้วย”
เบื้องหลัง Traffickers : Inside The Golden Triangle
ดีน จอห์นสัน (Dean Johnson) ผู้อำนวยการสร้าง Traffickers : Inside The Golden Triangle ชี้ประเด็นหนึ่งที่เขาพบจากบุคคลทั้ง 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของการมีอยู่ของธุรกิจยาเสพติดมูลค่ามหาศาลในภูมิภาคนี้ว่า
“สิ่งที่เป็นจุดร่วมของ นักค้ายาเสพติดร้อยล้าน ทั้งสามคนคือ บุคลิกแกร่งโดดเด่น มีลักษณะเป็นผู้นำเข้มแข็งในแบบ จ่าฝูง และมีวิธีคิดต่อชีวิตและบุคลิกลักษณะนิสัยคล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการเป็นตัวละครที่ดึงดูดความสนใจให้อยากนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาเป็น สารคดีผสานการเล่าเรื่องแบบดรามา (docu-drama)”
ทั้งขุนส่า หน่อคำ และ ไซซะนะ ล้วนมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน โดยสองคนหลังเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่มีเงิน มีอำนาจ มีผู้หญิงมารุมล้อม และในรายของ ไซซะนะ พ่อค้ายาแห่งยุค 2010 เขามีรถหรูซูเปอร์คาร์ มีภาพเซลฟี่อวดชีวิตหรูร่ำรวยผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่แกะรอยและรวบตัวเขาได้
ในเรื่องราวทั้ง 3 ตอน ได้ให้รายละเอียดกระบวนการจับกุม แม้ว่าในตอนของขุนส่า จะมีการถ่ายทำจำลองเหตุการณ์เพิ่มเติม เพื่อขยายเรื่องราวจากปากคำของผู้เกี่ยวข้อง แต่ในตอนของ หน่อคำ และ ไซซะนะ นั้นมีบันทึกภาพข่าวจากเหตุการณ์จริงที่ทางเจ้าหน้าที่นัดแนะกับสื่อโทรทัศน์ไทยในวันดักจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ดีน จอห์นสัน ยังเผยถึงการตั้งโจทย์ในการสร้างซีรีส์แนวสารคดีชุด Traffickers: Inside The Golden Triangle ว่า ธุรกิจค้ายามีความเสี่ยง แต่ก็มีคนก้าวเข้ามาอยู่ในธุรกิจมืดและผิดกฎหมายนี้เสมอ อะไรผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งนี้ และจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงจรนักค้ายาเสพติดคืออะไร เขาและทีมงานสร้างอยากเล่าประวัติศาสตร์ที่เกิดซ้ำของกระบวนการค้ายาในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำแห่งนี้ ดินแดนที่ดูเหมือนกฎหมายจะปราบปรามยาเสพติดได้ไม่จบไม่สิ้นเสียทีแม้กระทั่งปัจจุบัน จากยุคเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนระดับโลก จนถึงยุคที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออก แอมเฟตามีน ยาเสพติดสังเคราะห์ที่ไม่ต้องอาศัยไร่ฝิ่น แต่แตกไลน์การผลิตเป็น ยาบ้า ยาไอซ์ คริสตัลเมธ และชาบุ ฯลฯ แถมเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้น แบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้
สตีฟ เจา ผู้กำกับสารคดี ตอน The Opium King ซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์จากการทำข่าวเจาะลึกกระบวนการยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่นๆ ในโลกกว่า 25-26 ปี ให้ข้อสังเกตว่า “ยาบ้า หรือแอมเฟตามีน ยาหลอนประสาทที่ทุกชนชั้นเข้าถึงมันได้ และมีต้นทุนการผลิตราคาถูกมากในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ แต่เมื่อแปรรูปเป็นยาไอซ์ ขายได้กิโลกรัมละ 250,000 ดอลลาร์ คุณคงพอนึกถึงกำไรมหาศาล และนั่นคือแรงจูงใจสำคัญให้คนกล้าเสี่ยงแหกกฎหมายผลิตยาเสพติดและส่งขายจากต้นทางสามเหลี่ยมทองคำ ถึงแม้ว่าพอเริ่มตัวใหญ่ขึ้น ก็อาจจะถูกล่าตัวออกมาได้ แต่จากที่เห็นเรื่องราวที่มันเคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างซีรีส์สารคดีที่เรานำเสนอ ตราบใดที่ยังมีความโลภ เป็นแรงจูงใจ ด้านมืดของมนุษย์จะยังทำให้มีคนต่อๆไปยอมเสี่ยงเข้ามาในธุรกิจมืดนี้เสมอ แม้ว่าจะเห็นจุดจบที่ไม่สวยของทุกคนชัดเจน แต่แรงจูงใจที่ว่ามามันน่าสนใจมากกว่า”
เรื่องย่อ Traffickers: Inside The Golden Triangle
ซีรีส์สารคดีความยาว 3 ตอนชุดนี้ นับเป็นสารคดีเรื่องแรกที่เปิดโลกที่ซ่อนเร้นของการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเผยให้เห็นถึงเรื่องราวของ ‘ราชาฝิ่น’ ‘โจรสลัดแม่น้ำโขง’ และ ‘เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย’ เจ้าพ่อยาเสพติดที่โด่งดังที่สุดในภูมิภาคนี้ ร่วมติดตาม ค้นหาความลับว่าพวกเขาใช้ประโยชน์จากยาเสพติด สงคราม และความรุนแรงเพื่อก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดได้อย่างไร ด้วยบทสัมภาษณ์พิเศษจากคนวงใน เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด และครอบครัวของเหยื่อ รวมถึงวิดีโอต้นฉบับที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ตอนที่ 1 The Opium King
“ราชาฝิ่น” สร้างความเสียหายต่อประชาคมโลกอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยการนำเข้าเฮโรอีนมายังนิวยอร์กในทศวรรษ 1970 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ (DEA) ตั้งค่าหัวขุนส่า ผู้ค้ายารายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยเงินรางวัลกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำตัวเขาไปดำเนินคดีไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือยังมีชีวิตอยู่ แต่ “ราชาฝิ่น” มีกองทัพในมือกว่า 25,000 นาย และฐานที่มั่นแน่นหนาลึกเข้าไปในเทือกเขาของพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีการบุกโจมตี แก๊งค้ายารายใหญ่คงไม่ยอมรามือ “ปฏิบัติการกับดักเสือ” ที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของขุนส่าจึงเกิดขึ้น และทำให้การค้าเฮโรอีนของเขาสิ้นสุดลงได้ในที่สุด เรื่องนี้กำกับโดย Steve Chao และ Robbie Bridgman
ตอนที่ 2 The Mekong River Pirate
ลูกเรือจีน 13 คนถูกปล้น ฆ่า และโยนลงในลุ่มแม่น้ำโขง จากการสืบสวนพบว่าคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ครั้งนี้คือ หน่อคำ เจ้าของฉายา “โจรสลัดแม่น้ำโขง” หัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ หลังจากถูกไล่ล่าเป็นเวลานานหลายปีโดยเจ้าหน้าที่จีนในประเทศไทย พม่า และลาว ในที่สุดหน่อคำก็ถูกจับในตอนกลางคืนขณะที่เขาพยายามข้ามพรมแดนไทย-ลาวทางเรือ เขาถูกส่งตัวไปจีนอย่างรวดเร็ว ผลการตัดสินประหารชีวิตโจรสลัดแห่งลุ่มแม่น้ำได้ถูกเผยแพร่สดผ่านทางโทรทัศน์ท่ามกลางสายตาของผู้ชมนับล้าน แต่ใครกันแน่ที่เป็นคนร้ายตัวจริง และหน่อคำมีความผิดจริงหรือไม่ สองประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจชาวโลก กำกับโดย Robbie Bridgman
ตอนที่ 3 The Playboy Druglord
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามล่า “เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย” ที่ลักลอบนำเข้ายาบ้าหลายล้านตันมายังประเทศไทย แต่การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย ไซซะนะ แก้วพิมพา นักธุรกิจชาวลาวที่รู้จักกันในนาม ‘เพลย์บอยคนดัง’ เป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ ภาพงานปาร์ตี้และรถยนต์สุดหรูของเขาก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดีย หลังจากประสบความสำเร็จในการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการค้ายานี้หลายครั้ง เจ้าหน้าที่ไทยจึงเริ่มเปิดโปงเครือข่ายค้ายาอันซับซ้อนนี้
Fact File
- Traffickers : Inside The Golden Triangle กำกับโดย Robbie Bridgeman, Steve Chao และ John Lam อำนวยการสร้างโดย Dean Johnson นับเป็นสารคดีออริจินัลเรื่องที่สามของ HBO Asia ต่อจากสารคดีที่ได้รับรางวัลอย่างThe World Behind The Teenage Psychic และ The Talwars: Behind Closed Doors สามารถรับชมได้ทาง HBO GO
- Traffickers : Inside The Golden Triangle ถ่ายทำในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมทั้งประเทศไทย เมียนมา จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
- สตรีมหรือดาวน์โหลด TRAFFICKERS: INSIDE THE GOLDEN TRIANGLE ทาง HBO GO ผ่าน 3BB หรือที่ www.hbogo.co.th พร้อมใช้งานบน Android TV, Apple TV, LG TV และ Samsung Smart TV และมาพร้อมกับฟังก์ชัน AirPlay และ Google Cast