ถอดรหัส คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ที่เปลี่ยนภัยพิบัติเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่น
- คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ถอดรูปแบบมาจากดอกซากุระ 5 กลีบ โดยดอกซากุระเป็นทั้งไอโคนิกเมื่อนึกถึงญี่ปุ่น และยังเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข
- คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ออกแบบโดย Tokujin Yoshioka ดีไซน์เนอร์ชาวญี่ปุ่นผู้เคยฝากผลงานไว้กับแบรนด์ดังอย่าง Issey Miyake, Cartier, Swarovski, Louis Vuitton, Hermès, Toyota, และ Lexus
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องงานดีไซน์อันเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยพลังของความหมาย เช่นเดียวกับการออกแบบ คบเพลิงโอลิมปิก สำหรับใช้ใน การแข่งขันโอลิมปิก 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเลื่อนจากกำหนดเดิมคือวันที่ 24 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2020 เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
การจุดไฟคบเพลิงโอลิมปิกเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณย้อนไปเกือบ 3,000 ปี และสำหรับการกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในรอบ 56 ปีของญี่ปุ่น แน่นอนว่าทางเจ้าภาพย่อมซ่อนความหมายที่พวกเขาต้องการสื่อสารให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความสำคัญของโอลิมปิกครั้งนี้ไว้ในทุกแง่มุมของงานออกแบบไม่เว้นแม้แต่ คบเพลิงโอลิมปิก
คอนเซ็ปต์ : “Hope Lights Our Way” เปลวไฟที่ลุกโชนบนเส้นทางแห่งความหวัง ซึ่งจะผ่านไปยังสถานที่สำคัญ ไอโคนิกด้านต่างๆ ของญี่ปุ่น
ความสูง : 71 เซนติเมตร
น้ำหนัก : 1.2 กิโลกรัม ทางผู้ออกแบบได้เน้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักคบเพลิงให้เบาขึ้น ใช้งานได้สะดวกทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ผู้ออกแบบ : Tokujin Yoshioka ดีไซน์เนอร์ชาวญี่ปุ่นผู้เคยฝากผลงานไว้กับแบรนด์ดังอย่าง Issey Miyake, Cartier, Swarovski, Louis Vuitton, Hermès, Toyota, และ Lexus นอกจากนี้เขายังมีผลงานทั้งไฟน์อาร์ตศิลปะร่วมสมัย การออกแบบอาคาร และการออกแบบแสง จุดเด่นของเขาคือแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
วัสดุ : ในโอลิมปิกครั้งนี้ญี่ปุ่นเน้นเรื่องพลังงานสะอาด การรีไซเคิล นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก แม้แต่คบเพลิงเองก็ยังเป็นการรีไซเคิล โดย 30% ของวัสดุทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยใช้สร้างบ้านพักชั่วคราวในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ปี 2011 ที่ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) สอดคล้องกับความหมาย Hope Lights Our Way ที่โอลิมปิกเป็นเหมือนความหวังในการพลิกฟื้นญี่ปุ่นจากภัยพิบัติสึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด คลับคล้ายกับโอลิมปิกเกมครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งก็เป็นการประกาศศักยภาพของญี่ปุ่นหลังความพ่ายแพ้ในสงคราม ส่วนถ้าจะเปรียบเทียบความเชื่อของกรีกโบราณที่ถือว่าไฟคบเพลิงนี้เป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ สื่อความหมายถึงความสุข การนำวัสดุจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประเทศกลับมารีไซเคิลเป็นคบเพลิงถือเป็นการประกาศว่า ความทุกข์ยากของชาวญี่ปุ่นในครั้งนั้นได้ถูกคลี่คลายด้วยไฟแห่งความหวังของโอลิมปิก
สี : ใช้สี ซากุระโกลด์ สำหรับ คบเพลิงโอลิมปิก และใช้สี ซากุระพิงค์ สำหรับคบเพลิงพาราลิมปิก
ดีไซน์ : คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ถอดรูปแบบมาจากดอกซากุระ 5 กลีบ พ้องกับ 5 ห่วงสัญลักษณ์โอลิมปิกอย่างพอดิบพอดี และดอกซากุระนี้ยังเป็นเหมือนไอโคนิกเมื่อนึกถึงญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข โดยทางผู้ดีไซน์ได้นำแพทเทิร์นคลาสสิกของดอกซากุระแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมมาปรับเพียงเล็กน้อยให้ดูโมเดิร์น
เทคนิค : ภาพของญี่ปุ่นคือประเทศแห่งเทคโนโลยี โดยเฉพาะเป็นต้นแบบของรถไฟความเร็วสูง และนั่นจึงทำให้คบเพลิงใช้วิธีการขึ้นรูปอะลูมิเนียมแบบเดียวกับการผลิตรถไฟหัวกระสุนชินกันเซน (Shinkansen Bullet Train) นัยหนึ่งก็แสดงถึงความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี แต่อีกนัยหนึ่งก็สามารถย้อนไปถึงครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก (ค.ศ.1964) ซึ่งครั้งนั้นเป็นเหมือนกับการแสดงศักยภาพในทุกด้านให้โลกได้รู้จักญี่ปุ่นหลังการปิดประเทศจากความพ่ายแพ้ในสงคราม และหนึ่งในเทคโนโลยีที่เปิดตัวพร้อมกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกของญี่ปุ่นก็คือ การเปิดตัวรถไฟชินคันเซน ให้บริการเส้นทางโตเกียว-โอซาก้า
ไฟ : แม้แต่จังหวะการพวยพุ่งของเปลวไฟใน คบเพลิงโอลิมปิก ก็ได้รับการออกแบบมาอย่างประณีต โดยดีไซน์เนอร์ตั้งใจให้ไฟโอลิมปิกพวยพุ่งจากกลีบดอกซากุระแต่ละกลีบและมารวมกันที่ตรงกลางคบเพลิงซึ่งจะมีช่องไฟเล็กๆ เพิ่มแสงสว่างให้กับคบเพลิงเปรียบได้กับพลังความร่วมมือของทุกคน ส่วนเทคนิคด้านแสง เป็นการเผาไหม้ 2 ระบบ เพื่อให้ได้เปลวไฟสีน้ำเงินและเปลวไฟสีแดง
ภาพ : ©Tokyo 2020
อ้างอิง
- https://www.tokujin.com/works/2019-the-tokyo-2020-olympic-torch/?l=en
- https://olympics.com/tokyo-2020/en/torch/about/brand-design-torch
- โอลิมปิกโตเกียว 2020 โอลิมปิกครั้งที่สองของญี่ปุ่น โดยดร.ทรายแก้ว ทิพากร สถาบันเอเชียศึกษา