บางลำพู ย่านเก่าก่อนรัตนโกสินทร์ที่คุ้นตา แต่แท้จริงแล้วอาจไม่เคยรู้จัก
- บางลำพู ชุมชนที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้รับหน้าที่มาแล้วสารพัดบทบาท ทั้งอดีตแหล่งรวมช่างฝีมือ วิกลิเก ดงนักเลง รวมถึงย่านชอปปิงที่ถูกขนานนามว่า “สิบสามห้าง”
- บางลำพู เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตของประวัติศาสตร์ห้างสรรพสินค้าไทย และมีที่เที่ยวหลากหลายตั้งแต่วัดสำคัญไปจนถึงพิพิธภัณฑ์
หนึ่งในบรรดาถิ่นย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ ที่ตื่นตัวต้อนรับกับการเปิดเมืองหลังซบเซากว่า 2 ปีช่วงวิกฤตโรคระบาด ต้องมีรายชื่อของ บางลำพู เป็นแน่ แม้ผลพวงจากสถานการณ์โควิด 19 จะทำให้พ่อค้าแม่ขายบางเจ้าไม่ยอมกลับมา บางกิจการยังปิดประตูร้าน แต่หากลองได้ส่องส่ายสายตาสำรวจดีๆ จะพบว่าด้วยการจราจรของทั้งคนและรถที่คลายความหนาแน่นลงไปบ้าง ทำให้เพลิดเพลินกับชุมชนตลาดเก่าแก่แห่งนี้ได้ง่ายขึ้น และค้นพบของดีที่เคยซ่อนเร้นไว้ได้อย่างสะดวกขึ้นด้วย บางสถานที่บางกิจกรรมที่เคยเมินมองข้ามกันไปก็สามารถกลับมาแวะชมแวะร่วมได้อย่างคล่องตัว
บางลำพู ชุมชนที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้รับหน้าที่มาแล้วสารพัดบทบาท ทั้งอดีตแหล่งรวมช่างฝีมือ วิกลิเก ดงนักเลง รวมถึงย่านชอปปิงที่ถูกขนานนามว่า “สิบสามห้าง”จำหน่ายสินค้าสารพัดประเภท ทั้งเครื่องหอม สังฆภัณฑ์ ผ้าผืน อุปกรณ์ตัดเย็บ เสื้อสำเร็จรูป รวมถึงชุดนักเรียน ไปจนถึงข้าวสาร จวบจนปัจจุบันที่กลายเป็นแหล่งที่พักราคาสบายกระเป๋าใกล้พระบรมมหาราชวังของเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติแนวรองเท้าผ้าใบสะพายเป้ แต่ความจริงแล้วบางลำพูมีอะไรมากกว่านั้น
Sarakadee Lite ขอรวบรวมของดีมีเสน่ห์แห่งบางลำพู ทั้งที่อาจจะเคยผ่านตามาบ้าง บางที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ให้ได้ยลบางลำพูกันอีกครั้ง พิกัดเช็กอินเหล่านี้มีทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด มัสยิด และร้านค้าเฉพาะทางรุ่นเก๋าไม่ซ้ำแนวใคร
สิบสามห้างดีพาร์ตเมนต์สโตร์
สำหรับแม่บ้านรุ่นแม่ป้าน้ายาย ย่านนี้นอกจากจะเป็นสวรรค์ของอาหารแบบไทยๆ แล้ว บางลำพูยังขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมการชอปปิงยุคแรกๆ ของพระนคร โดยเฉพาะบริเวณวงเวียนข้างวัดบวรนิเวศฯ ที่เรียกขานกันว่าแถบ ถนนสิบสามห้าง ซึ่งได้ขยายต่อออกมาทางเส้นถนนไกรสีห์ ตานี รามบุตรี ข้าวสาร ที่เรียงขนานกันจนถึงจักรพงษ์ที่ตัดปิดถนนสี่เส้นเหล่านี้ในอีกฝั่งหนึ่ง ในปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นร่องรอยวิวัฒนาการการซื้อขายของย่านชอปปิงเก่าแก่นี้ครบทุกประเภท ตั้งแต่การจำหน่ายในตึกแถวยุคแรก กระจายออกมาบริเวณฟุตปาธแล้วเติบโตไปเป็นห้างเล็กๆ อย่างสหกรณ์กรุงเทพ แก้วฟ้าพลาซ่า ตั้งฮั่วเส็งบ้าง หรือกลายไปเป็นห้างใหญ่สูงหลายชั้นที่ปิดตัวไปแล้วบ้างอย่างบางลำพูสรรพสินค้า นั่นทำให้ทั้งโซนเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตของประวัติศาสตร์ห้างสรรพสินค้าไทย
แม้ว่าความเจริญจะได้ถูกโยกย้ายกระจายไปส่วนอื่นของเมืองหลวง แต่เสน่ห์ของร้านค้าเก่าแก่ในแบบฉบับวันวานก็ยังคงหลงเหลือให้สัมผัส พร้อมสิ่งที่มีมากกว่าความยาวนานของกิจการที่สืบทอดกันมาหลายสิบปีนั่นก็คือคุณภาพและชนิดของสินค้าที่หาไม่ค่อยได้ในแหล่งอื่น
บางลำพูเป็นจุดกำเนิดของชุดนักเรียน รองเท้าหนัง ชุดเครื่องแบบ เสื้อผ้าวัยรุ่น ตราดังแบรนด์เด็ดสารพัดเจ้า ที่หลายกิจการก็ได้แยกย้ายไปเปิดหรือมีสาขาที่ใหญ่กว่าหรือทันสมัยกว่าที่อื่น หรือบ้างก็ยังดำรงไว้เพื่อสืบทอดจุดกำเนิด ด้วยพัฒนาการของธุรกิจที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียนตราสมอ รองเท้าอุดมเอก ชุดชั้นใน Domon แต่หนึ่งในบรรดาบูติกลายครามตามตึกแถวนอกห้างเหล่านี้คือร้านคูหาเดียวที่ชื่อ เพชร หัวถนนตานีฝั่งถนนจักรพงษ์ ซึ่งจำหน่ายชุดนอนแบบคลาสสิก ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าแพร ใส่นอนสบาย ด้วยแบบตัดเย็บที่หาที่ไหนยากแล้ว แถมหน้าร้านยังแขวนป้ายเครื่องสำอางญี่ปุ่นเมนนาร์ด(Menard) ที่ฮอตฮิตติดลมบนในรุ่นคุณป้าคุณยาย
บนถนนเดียวกันกับร้านเพชร แต่ฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของร้าน บัวสอาด ร้านยอดนิยมทั้งของสายพุทธและสายมู อุดมไปด้วยเครื่องใช้พิธีทางศาสนาและการบูชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดสังฆทาน ผ้าไตรสบงจีวร รวมถึงสมุนไพร เครื่องหอม ไปจนเครื่องประดับศาลพระภูมิ แต่สินค้าที่จัดว่าเป็นตัวเด่นของร้านที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2415 ก็คือเทียนอบขนม ขึ้นชื่อในหมู่คนทำขนมไทยว่าให้ควันเทียนที่หอมนานดีมีคุณภาพ
ส่วนทางด้านถนนพระสุเมรุตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ ก็เป็นกลุ่มของเครื่องสังฆภัณฑ์ระดับเกรดพรีเมียม ดาวเด่นคือ ล.สว่างวงศ์ ร้านจำหน่ายเครื่องอัฐบริขารและของใช้ในพิธีทางพุทธศาสนา ที่ดำเนินกิจการมาร่วม 100 ปี เป็นที่เชื่อถือในเรื่องของการจัดของที่ถูกต้องตามพระวินัย และเป็นที่นิยมในการไปถวายแด่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านของไทยที่มีทองคำเปลวบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์จำหน่าย ทั้งแบบปลีกและส่ง และยังรับปิดองค์พระพุทธรูปอีกด้วย และน้อยคนที่จะรู้ว่ามีการซื้อเพื่อไปประกอบการตกแต่งอาหารเพราะสามารถรับประทานได้ รวมถึงเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
อีกกลุ่มสินค้าหนึ่งที่มีชื่อเสียงประจำย่านคืออุปกรณ์เย็บปักถักร้อย ซึ่งยังปรากฏร่องรอยในมุมสินค้ากลุ่มด้าย ไหมพรม เข็ม กระดุม ฯลฯหลากหลายสีสันตรงชั้นล่างของห้างตั้งฮั่วเส็ง ซึ่งล้วนเป็นประเภทสินค้าที่เป็นจุดกำเนิดที่มาของกิจการในยุคแรกเริ่มนั่นเอง แต่ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วอย่างสิ้นเชิงก็คือร้านลานทอง ร้านขายใบลานแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ที่ได้มอบอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำใบลานให้แก่พิพิธบางลำพูเพื่อการจัดแสดงไปเแล้ว
บางลำพู โลกแห่งตรอกและซอกหลืบ
ขาประจำถนนข้าวสารอาจจะพอคุ้นว่าจะเดินลัดเลาะออกซอกหลืบอย่างไรเพื่อหลีกหนีฝูงคนเพื่อไปยังแหล่งร้านที่ประสงค์อย่างไรให้ได้เร็วที่สุด แต่ที่จริงโลกของตรอกเล็กรูน้อยวกไปวนมาราวเขาวงกตมีกระจายอยู่เกือบทั่วทุกโซนของบางลำพู
ป้ายมัสยิดจักรพงษ์ริมถนนชื่อเดียวกันที่อยู่เยื้องตรงข้ามกับฝั่งชอปปิงคือจุดออกสตาร์ตสำรวจที่ดีจุดหนึ่งความแออัดบริเวณแผงของกินเล่นแนวมุสลิมไทยๆ ที่มีดาวเด่นอย่างบาเยียด้านหน้าตรอกอาจจะทำให้หลายคนมองข้ามที่จะเข้าไปสำรวจอีกโลกด้านใน แต่ถ้าลองมุดเข้ามาสักหน่อย โดยเฉพาะในช่วงสายถึงบ่ายวันศุกร์ที่ของกินจะมีมากเป็นพิเศษเพื่อรับอิสลามิกชนต่างชุมชนที่เข้ามาละหมาด จะพบบรรยากาศของชุมชนเขตพระนครชั้นในที่ดูไม่แตกต่างมากนักจากหลายสิบปีก่อน
หากยังไม่สะดวกอุดหนุนบริการนำชมของน้องๆ กลุ่มเกสรลำพู ที่มักพาเข้าชมมัสยิดเป็นประจำแทบทุกเดือนก็ลองตะลุยตรอกประวัติศาสตร์นี้ด้วยตัวเองได้ โดยอาศัยถามชาวชุมชนถึงทางออกอีกสองด้านที่ไปทะลุถนนพระสุเมรุและซอยรามบุตรีได้ รางวัลคืออาหารตาที่คอท่องชุมชนจะต้องทึ่งหลายจุด ไม่ว่าทางเข้าบ้านหลังมัสยิดที่แคบที่สุดจนอาจต้องเดินตะแคงพุงเข้า มุมผนังตึกแคบที่ปรับรูรับแสงกล้องให้เห็นยอดมัสยิดได้หลายค่าแสง กระจกเหล็กดัดงามๆ จากอดีต รอยอดีตของโรงเรียนดังที่ปิดตัวไปแล้ว และแม้จะน่าเสียดายที่ บ้านช่างทองตรอกสุเหร่า จะเลิกกิจการไปนานมากแล้ว แต่ยังพอมีบ้าน แม่เปี๊ยกปักชุดโขนละครอยู่ในโซนสองตรอกแฝดขนานกัน อย่างตรอกเขียนนิวาสน์กับตรอกไก่แจ้ ที่ถูกบรรจุไว้ในเส้นทางทัวร์วัฒนธรรมของบางลำพูไว้เรียบร้อย โดยจังหวะดีๆ ก็สามารถเห็นการปักได้ในบริเวณหน้าบ้าน
แต่ใครจะรู้บ้างว่าบางลำพูยังมีชุมชนชาวมุสลิมซ่อนอยู่อีก มัสยิดตึกดิน ซ่อนตัวอยู่หลังชุมชนตรอกวัดบวรรังษี ริมถนนตะนาวข้างรั้ววัดบวรนิเวศฯ ที่ลัดเลาะออกไปด้านถนนดินสอได้ในลานชุมชนบางเสาร์-อาทิตย์จะมีก๋วยเตี๋ยวแขกและเมนูอิสลามอื่นๆ คอยบริการ แต่ทางเข้าของอดีตแหล่งผลิตทองคำเปลวสำคัญแห่งนี้ค่อนข้างซับซ้อนนิด
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติร่มรื่นกลางกรุงซอยบ้านพานถมและอีกหนึ่งรูระหว่างตึกแถวตรงข้ามรั้ววัดบวรฯ ฝั่งถนนพระสุเมรุ จะนำพาไปสู่ทางเดินเล็กๆ ริมคลองบางลำพู มีคาเฟ่ของเกสต์เฮาส์มาอิงวิวคลองให้นั่งจิบพักชมดอกต้นก้ามปูส่งสีแสดจัด ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องกลิ่นน้ำเสีย เพราะมีการบำบัดและยิ่งสะอาดขึ้นจากปริมาณนักท่องเที่ยวน้อยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แถมทำให้ปลาในคลองมากขึ้นด้วย
แหล่งเรียนรู้ใต้เงาพุทธสถาน
แม้ว่าจะอุดมไปด้วยตึกแถวหน้าตาไม่ค่อยโสภา แต่บางลำพูก็มีสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าให้เป็นอาหารตาแก่ผู้สัญจรผ่านไปมาอยู่ไม่น้อย กลุ่มหนึ่งก็คือพุทธศาสนสถานสำคัญสองแห่งที่เป็นพระอารามหลวงของประเทศด้วยกันทั้งคู่
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อาจเป็นจุดที่ผ่านสัญจรกันบ่อยหน่อยสำหรับผู้ที่มาทางเส้นถนนสามเสน แต่เดิมสมัยอยุธยาชื่อคือวัดกลางนา แล้วเปลี่ยนมาเป็นวัดตองปุเพื่อล้อกับชื่อวัดสำคัญฝ่ายมอญในกรุงศรีอยุธยาและให้เกียรติกับทหารมอญในกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทผู้บูรณะวัดพระอารามหลวงหัวถนนจักรพงษ์กึ่งกลางย่านบางลำพูที่มักใช้เป็นที่สัญจรเดินทะลุผ่านไปมาระหว่างโซนถนนข้าวสารและถนนพระอาทิตย์ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามมากขึ้น ของดีที่นี่นอกจากจะมีร่องรอยของศิลปะวังหน้า ยังมีใบเสมาที่แปลกด้วยการฝังไปกับผนังโบสถ์แทบทั้งหมดเว้นใบเดียวด้านหน้าที่ตั้งอยู่บนฐาน
ที่ถือได้ว่าเป็นพระอารามที่มีระเบียบ สวยงาม ร่มรื่นและสะอาดตาขึ้น(ด้วยสายไฟลงดินไม่พาดเสาไปมา)มากที่สุดแห่งหนึ่งของพระนคร ก็คือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เหตุหนึ่งคงเพราะว่าเคยเป็นวัดประจำสมเด็จพระสังฆราชไทยถึงสี่พระองค์ รวมถึงพระองค์ก่อนหน้าอย่างสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณสังวร ไม่นับว่าเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์จักรีครั้งทรงผนวชหลายพระองค์ และยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันการศึกษาสำคัญของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายธรรมยุตอีกด้วย
ในบรรดาสิ่งก่อสร้างมากมายที่ผสมผสานสถาปัตย์และศิลปกรรมไทย เอเชียตะวันออก และซีกโลกพตะวันตกไว้ได้อย่างลงตัว หลังที่มีความงดงามอย่างมากคือ อาคารมนุษยนาควิทยาทาน ที่สร้างเมื่อปี 2466 ซึ่งได้ซ่อนพิกัดของแหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรีโดยที่ไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก ปีกหนึ่งของอาคารทรงกอทิกสีชมพูแห่งนี้ได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่เก็บรวบรวมอัฐบริขารและข้าวของเครื่องใช้ของสมเด็จพระสังฆราชและเจ้าอาวาสพระองค์และองค์ก่อนๆ ภายในห้องจัดแสดงจำนวนหกห้องในทั้งสองชั้นของอาคาร โดยใช้บริการได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วงเวลา 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง จุดที่งดงามที่สุดของอาคารชื่อเพราะแห่งนี้คือห้องโถง ซึ่งจะเปิดตามวาระที่มีนิทรรศการหรือกิจกรรมพิเศษ ทั้งนี้อย่าเพิ่งกลัวว่าจะเป็นนิทรรศการที่น่าเบื่อแต่อย่างใด เพราะได้มีการออกแบบเนื้อหาด้วยสื่อสมัยใหม่ให้มีความน่าสนใจในการชม
กรุหนังสืออนุสรณ์งานศพของวัดบวรนิเวศวิหาร คืออีกของดีที่ซ่อนอยู่ในส่วนห้องสมุดก็จัดว่ารวบรวมไว้ได้มากที่สุดของประเทศ นับเป็นแหล่งสรรพวิทยาความรู้สำคัญของไทย แม้เปิดทำการเพียงวันอาทิตย์ แต่หนังสือทรงคุณค่าเหล่านี้ได้ถูกสแกนเก็บไว้ในฐานข้อมูลดิจิทัล ที่สามารถสืบค้นออนไลน์ได้ตลอดเวลา จากความร่วมมือของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ล่าสุดเมื่อปลายปี 2564 ทางวัดบวรนิเวศฯ ยังได้เปิดส่วนใหม่คือ ศูนย์การเรียนรู้วชิรญาณสังวรณ อาคารกวีบรรณาลัย ที่จัดเก็บและให้บริการอ่านหนังสือและเอกสารเกี่ยวกับความรู้ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ และที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อมุ่งให้เป็นหอจดหมายเหตุของปราชญ์สงฆ์ไทยพระองค์สำคัญที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกพระองค์นี้ด้วย โดยภายในศูนย์ได้มีการออกแบบตามแนวสมัยใหม่สีสันสดใส ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ทางพุทธศาสนาที่ไม่จำเจ
จากอู่ศิลป์กรุงเทพฯ ยุคคุณพ่อ สู่ดงพิพิธภัณฑ์ฮิปรุ่นคุณลูก
นอกจากของกินของใช้แล้ว บางลำพูยังเป็นแหล่งรวมงานพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้แถวหน้าของประเทศ ในระหว่างที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เสาหลักหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยไทยบนถนนเจ้าฟ้าใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ากำลังปรับปรุงอาคารด้านหน้าส่วนจัดแสดงถาวรอยู่ตอนนี้ คอศิลปะก็ยังสามารถชมงานศิลปะดีๆ ได้ในส่วนนิทรรศการชั่วคราวด้านหลัง รวมถึงที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกลุ่มบริษัทปตท. โดยตั้งอยู่ในอาคารเก่าหลังงามริมถนนพระอาทิตย์ไม่ไกลนักจากหัวโค้งตรงป้อมพระสุเมรุ แต่ด้วยความที่ศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ ดูจะย้ายไปอยู่ในเขตธุรกิจชั้นใน อาจทำให้ทั้งสองที่ไม่เป็นที่คุ้นของคนรุ่นใหม่มากนัก
เพื่อนบ้านรายหนึ่งของบ้านเจ้าพระยา คือ พิพิธบางลำพู ที่ตัวอาคารซึ่งเคยเป็นโรงเรียนช่างพิมพ์เก่ามาก่อนได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่แพ้กัน ภายใต้ความดูแลของกรมธนารักษ์ พิพิธภัณฑ์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นของบางลำพูขนาดเดินไม่ถึงกับเมื่อยขาแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นหน้าบ้านของชุมชนได้กว่า8 ปีแล้ว น่าดีใจที่ชาวชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนไกด์ชุมชนตัวน้อยๆ ในนามเกสรลำพู
แต่น้อยคนคงจะทราบว่ากรมธนารักษ์เองก็มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกิจการเหรียญกษาปณ์โดยตรงของหน่วยงานเอง ในชื่อว่า พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ตรงหัวมุมสุดถนนจักรพงษ์ออกโค้งขวามือไปทางถนนเจ้าฟ้า ติดกับหอศิลปะนั่นเอง นอกเหนือไปจากเหรียญกษาปณ์นับพันๆ ที่จัดแสดงในห้องแอร์เย็นฉ่ำ ทั้งที่ผลิตออกมาเพื่อจับจ่ายจริง และตามวาระ ทั้งของต่างประเทศและของไทยสารพัดยุคสมัย ยังมีส่วนจัดแสดงที่มีลูกเล่นเทคนิคสี่มิติ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเบื้องหลังการผลิตเหรียญใหม่และดูแลรักษาเหรียญเก่า(ถึงขนาดมีห้องแล็บเป็นของตัวเองเปิดให้ชมผ่านกระจกอยู่ชั้นบน) เนื้อหาไม่ได้จำกัดแต่เพียงเรื่องเหรียญตรา แต่ยังต่อยอดไปสู่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย สร้างองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์สังคมได้อย่างรอบด้าน นิทรรศการทุกส่วนเพิ่งได้ทำเสร็จสิ้นเมื่อก่อนช่วงสถานการณ์โรคโควิดไม่นาน จึงยังทำให้มีจำนวนผู้ชมไม่มากนัก เหมาะแก่สร้างกิจกรรมครอบครัวในวันว่าง โดยมีรอบนำชมพาเดินทัวร์อย่างจุใจร่วมชั่วโมงกว่าแต่กลับไม่น่าเบื่อ
การเดินทาง
สิ่งที่บางลำพูยังขาดคือสถานีขนส่งระบบรางในระยะทางที่เดินถึงได้สะดวก แม้จะมีแผนการสร้างแต่ยัง ใช้เวลาอีกหลายปีเพราะเพิ่งจะเริ่มดำเนินการวางแผนก่อสร้าง แต่ก็ชดเชยด้วยรถเมล์กว่า 20 สาย ทั้งกลุ่มที่ผ่านทั้งทางด้านเส้นสามเสนที่มาต่อจากเทเวศร์ ซึ่งมีป้ายขึ้นลงอยู่บริเวณหน้าร้านน้ำพริกนิตยาและสี่แยกธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มผ่านเส้นราชดำเนินกลางที่มักไปสุดท้ายกันโซนสนามหลวง ที่ต้องอาศัยการเดินต่อมาสักนิดจากป้ายหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์หรือป้ายหน้าสำนักงานกองสลากเก่า รวมถึงอีกจำนวนหนึ่งที่วนเข้ามาจอดในบริเวณวงเวียนสิบสามห้างข้างวัดบวรนิเวศวิหาร น่าเสียดายที่ท่าเรือพระอาทิตย์ของเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นจุดจอดเฉพาะบางลำ รวมถึงท่าเรือบางลำพูที่มีเรือให้บริการไปเชื่อมกับเครือข่ายคลองแสนแสบบริเวณท่าผ่านฟ้าฯ แบบไม่ค่อยต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่นำรถมา มีที่จอดรถปริมาณจำกัดในวัดชนะสงคราม วัดบวรนิเวศฯ และที่จอดของเอกชนตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ รวมถึงอาคารจอดรถของ กทม.ในถนนไกรสีห์