สำรวจ 5 พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก ที่ต้องตีตั๋วไปชมให้ได้สักครั้ง
- คำว่า Museum มีรากมาจากภาษากรีกคำว่า Mouseion มีความหมายว่าเทวาลัยของเทพธิดาทั้ง 9 ของกรีก
- เช็กลิสต์ 5 พิกัด พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก จากอาณาจักรบาบิโลเนียสู่การก่อกำเนิดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่เป็นรากฐานของการสร้างพิพิธภัณฑ์ล้ำสมัยในปัจจุบัน
ถ้าจะเดินทางท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ให้สนุก พิพิธภัณฑ์ คือหนึ่งในจุดเช็กอินจุดแรกๆ ที่เราอยากแนะนำให้ไปเยี่ยมเยือน เพราะ พิพิธภัณฑ์ ทำให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองนั้นๆ ไปจนถึงการได้รู้จักประวัติศาสตร์โลก องค์ความรู้เฉพาะทางในแขนงต่างๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่นั้นสนุก สามารถใช้เวลาอยู่ได้เป็นวันๆ โดยไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
คำว่า Museum มีรากมาจากภาษากรีกคำว่า Mouseion มีความหมายว่าเทวาลัยของเทพธิดาทั้ง 9 ของกรีก (Temple of Muses) ซึ่งเป็นเทพธิดาของเทพเจ้าซูส (Zeus) และเทพีแห่งความทรงจำ นิมอซินี (Mnemosyne) โดยเทพธิดาทั้ง 9 เปรียบได้กับเทพธิดาแห่งสรรพวิทยาการแขนงต่าง ๆ ของกรีก ส่วนคำว่า Museum ปรากฏขึ้นครั้งแรกเพื่อใช้เรียกพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอเล็กซานเดรีย (Alexandrian National Museum) ที่เมืองอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้หนังสือตำราต่างๆ คล้ายกับห้องสมุดมากกว่าสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันและสำหรับใครที่สนใจเที่ยวตามรอยพิพิธภัณฑ์ Sarakadee Lite มีเช็กลิสต์ 5 พิกัด พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก จากอาณาจักรบาบิโลเนียสู่การก่อกำเนิดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่เป็นรากฐานของการสร้างพิพิธภัณฑ์ล้ำสมัยในปัจจุบัน ส่วนจะมีที่ไหนกันบ้างปักหมุดและตีตั๋วกันได้เลย
01 พิพิธภัณฑ์เอนนิกัลดิ-แนนนาส์ (Ennigaldi-Nanna’s Museum)
“พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณแห่งแรกของโลก”
สถานะปัจจุบัน : ซากโบราณสถาน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ประเทศ : อิรัก (อาณาจักรบาบิโลเนียในอดีต)
ก่อตั้ง : 530 ปีก่อนคริสตกาล
ผู้ก่อตั้ง : เจ้าหญิงเอนนิกัลดิ
เมื่อราว 530 ปีก่อนคริสตกาล หรือราวกว่า 2,075 ปีก่อน เจ้าหญิงเอนนิกัลดิ (Princess Ennigaldi) พระราชธิดาของพระเจ้ายาโบนิดัส กษัตริย์องค์สุดท้ายผู้ปกครองอาณาจักรนีโอ-บาบิโลเนีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักโบราณคดีคนแรกๆ ของโลก พระองค์เป็นผู้จุดประกายให้เจ้าหญิงเอนนิกัลดิริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บสะสมโบราณวัตถุจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียในแถบนั้น เป็นของสะสมส่วนตัวและวัตถุโบราณจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียที่มีศูนย์กลางอารยธรรมอยู่แถวประเทศอิรัก-อิหร่าน หรือแถบตะวันออกกลางในยุคปัจจุบัน
ป้ายพิพิธภัณฑ์ (Museum Label) เป็นหลอดดินเหนียวปั้น เขียนอักษรเป็น 3 ภาษา ระบุชื่อและคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับวัตถุแต่ละชิ้นที่จัดแสดง เป็นต้นแบบป้ายกำกับวัตถุจัดแสดงยุคแรกของโลกเลยทีเดียว สำหรับวัตถุจัดแสดงทั้งหมดใน พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก มีเพียงไม่กี่ชิ้น แต่เป็นงานศิลปะและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่าง หินดำขนาดใหญ่ที่มีฝาครอบด้านบนเป็นรูปไข่ เก่าแก่ราว1,400 ปีก่อนคริสตกาล ชิ้นส่วนจากรูปปั้นของกษัตริย์ดันกีผู้ปกครองนครรัฐอูร์ เมื่อ 2,058 ปีก่อนคริสตาล และกรวยดินเหนียวของกษัตริย์ลาร์ซา อายุราว1,700 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุที่เก่าแก่มากๆ ในยุคนั้น
สำหรับชื่อพิพิธภัณฑ์เอนนิกัลดิ-แนนนาส์ (Ennigaldi-Nanna’s Museum) มาจากชื่อของเจ้าหญิงเอนนิกัลดิผู้ก่อตั้งและชื่อของเทพีแนนนา (Nanna) เทพีแห่งพระจันทร์ โดยเจ้าหญิงเอนนิกัลดิมีสถานะเป็นครูสอนความรู้ต่างๆในโรงเรียนทางศาสนาและเป็นผู้นำสูงสุดในลัทธิบูชาเทพีแนนนายุคนั้นด้วย
ทำเลที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้มีชื่อในยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมียว่า นครรัฐอูร์ (State of Ur) ซึ่งถือเป็นนครรัฐสำคัญแห่งอาณาจักรบาบิโลเนียในดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อราว 3,800 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิรัก ยุคที่ พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก ก่อเกิดขึ้นตรงกับยุคสุดท้ายของการปกครองโดยกษัตริย์แห่งอาณาจักรบาบิโลเนียหรือที่เรียกว่ายุคอาณาจักรนีโอ-บาบิโลเนีย ปัจจุบันตัวพิพิธภัณฑ์เหลือเพียงซากปรักหักพังในเขตปกครองจังหวัดดิการ์ (DhiQar) ประเทศอิรัก เป็นโบราณสถานเผยให้เห็นฐานของอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังของเจ้าหญิงเอนนิกัลดิ
การที่สถานที่แห่งนี้ถูกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านโบราณวัตถุแห่งแรกของโลกทำให้เจ้าหญิงเอนนิกัลดิได้รับการยกให้เป็น ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์คนแรกของโลก เช่นกัน พระองค์ทรงเป็นผู้คัดเลือกคอลเล็กชันสะสมส่วนตัวที่รวบรวมวัตถุต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคเริ่มต้นอารยธรรมในดินแดนเมโสโปเตเมีย
ด้านเมืองอูร์ (Ur) ปัจจุบันคือเขตจังหวัดดิการ์ ประเทศอิรัก ถือเป็นเมืองสำคัญในอารยธรรมของชาวสุเมเรียนและเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 3,800 ปีก่อนคริสตกาล ทั้งยังเป็นเมืองที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งบ้านเกิดของอับราฮัม ก่อนที่เขาจะเดินทางไปยังดินแดนคานาอัน(แถบปาเลสไตน์ อิสราเอลและเลบานอนปัจจุบัน) และริเริ่มศาสนาที่บูชาพระเจ้าองค์เดียว เป็นรากฐานของศาสนายูดาห์ คริสต์และอิสลามในเวลาต่อมา
02 พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน (Capitoline Museums)
“พิพิธภัณฑ์ศิลปะสาธารณะแห่งแรกของโลก“
สถานะปัจจุบัน : เปิดให้เข้าชม
ประเทศ : อิตาลี
ก่อตั้ง : ค.ศ.1471
ผู้ก่อตั้ง : สมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุส
จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน (Capitoline Museums) มาจากสมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 หรือ โป๊ปซิกส์ตุสที่ 4 (Pope Sixtus IV) แห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก กรุงโรม ประเทศอิตาลีได้ทรงบริจาครูปปั้นบรอนซ์โบราณที่พระองค์เก็บสะสมเป็นคอลเล็กชันส่วนตัวและให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมศิลปวัตถุเหล่านี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์อาณาจักรโรมันโบราณ (อาณาจักรโรมันล่มสลายในช่วงศตวรรษที่ 5) เริ่มแรกจากงานศิลปะสะสมของโป๊ปผู้ก่อตั้งเพียงไม่กี่ชิ้น ภายหลังพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมงานศิลปะรูปปั้นยุคโรมันโบราณช่วงก่อนศตวรรษที่ 5 และวัตถุหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มาจากยุคอาณาจักรโรมันโบราณจนถึงยุโรปยุคกลาง และยุคเรเนซองส์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และยังเปิดให้สาธารณชนเข้าชมมาถึงปัจจุบัน ที่นี่จึงได้รับการยกย่องให้เป็น พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก เกี่ยวกับด้านศิลปะที่เปิดให้ประชาชนได้ชมไม่ใช่ห้องเก็บสะสมงานส่วนตัว
แรกเริ่มพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่บริเวณเนินเขาคาปิโตลิเน หรือคาปิโตลิเน ฮิลล์ชานเมืองกรุงโรม ประเทศอิตาลี และเป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์คือ Capitoline สำหรับที่ตั้งปัจจุบันอยู่ในจัตุรัสกัมปิดอโญ่ (Piazza del Campidoglio) หรือปีอัซซา เดล กัมปิดอโญ่ ตั้งอยู่บนเนินเขาคาปิโตลิเน มีอาคารพิพิธภัณฑ์ 3 หลัง มีทางเชื่อมต่อลงไปยังแกลเลอรีใต้ดิน ออกแบบและวางแปลนโดย มีเกลันเจโลบูโอนาร็อตติ (Michelangelo Buonarroti) ศิลปินและสถาปนิกชาวอิตาลีที่โด่งดังแห่งยุคเรเนซองส์
พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และยังถือเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสาธารณะแห่งแรกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงงานศิลปะต่างๆ และเปิดให้สาธารณชนเข้าชม โดยการตั้งพิพิธภัณฑ์ตรงกับยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการกรีกโบราณในสังคมยุโรปในยุคเรเนซองส์ ที่นี่นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์งานสะสมศิลปะโบราณที่เปิดให้สาธารณะชมเป็นแห่งแรกของโลกแล้ว ยังมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่แห่งแรกๆ ของโลกหลังจากการบูรณะครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1773 เป็นการบุกเบิกยุคแห่งพิพิธภัณฑ์สาธารณะในยุโรปช่วงศตวรรษ 18 สำหรับไฮไลต์ศิลปวัตถุที่จัดแสดงเป็นงานศิลปะจากยุคโรมันโบราณที่เป็นงานริเริ่มให้เกิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้แก่
1.รูปปั้นเต็มตัวของเฮอร์คิวลีส รูปปั้นทองสัมฤทธิ์เต็มตัวของเฮอร์คิวลีสจากศาลาโบริอุม หรือ Hercules of the Forum Boarium เป็นรูปปั้นเฮอร์คิวลีส บุรุษทรงพลังในเทพปรกรณัมกรีก-โรมัน ความสำคัญของรูปปั้นชิ้นนี้คือเป็นเพียงหนึ่งในสองงานปั้นรูปบุคคลเต็มตัวตามแบบศิลปะยุคกรีกโบราณที่หลงเหลือในสภาพสมบูรณ์ (อีกชิ้นหนึ่งคือ The Hercules of the Theatre of Pompey ซึ่งค้นพบใกล้ๆซากวิหารที่เคยเป็นเมืองปอมเปย์) ลักษณะเด่นของรูปปั้นคือมีขนาดใหญ่กว่าคนจริงอวดมัดกล้ามเนื้อเรือนร่างที่ใหญ่กว่าสรีระคนปกติแต่สัดส่วนศีรษะมีขนาดเล็กกว่าส่วนอื่นๆ
2.งานศิลปะภาพนูนต่ำ เป็นชิ้นงานที่จารึกผลงานของจักรพรรดิมาร์กุสเอาเรลิอุส (Marcus Aurelius)
3.แผ่นจารึกคาปิโตลิเน ฟาสติ แผ่นจารึกภาษาโรมันบนหินอ่อน ระบุรายชื่อคณะกงสุลที่ปรึกษาและคณะผู้พิพากษาสูงสุดในยุคเริ่มแรกของสาธารณรัฐโรมันสมัยจักรพรรดิเอากุสตุสหรือ ออกุสตุสซีซาร์ (Augustus Caesar) หรืออีกชื่อคือ ออคเตเวียน (Augustus Ceasar-Octavian)
4.รูปปั้นบรูตุสแห่งคาปิโตลิเน ชิ้นนี้คือไอโคนิกของศิลปะโรมันโบราณและยังเป็นรูปปั้นพอร์ตเทรตหรือรูปปั้นบุคคลสำคัญที่เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเสรีภาพของประชาชนชาวโรมัน โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าต้นแบบของ The Capitoline Brutus เป็นรูปปั้นส่วนศีรษะของ ลูซีอุส จูนิอุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) อดีตกงสุลหรือที่ปรึกษาจักรพรรดิโรมัน ซึ่งโค่นบัลลังก์จักรพรรดิ์ยุคอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างลูเซียส ทาร์ควิเนียส ซูเปอร์บัส (Lucius Tarquinius Superbus) ลงในช่วงปี 509 ก่อนคริสตกาล และสถาปนาสาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) บรูตุสได้เครดิตว่า เป็นผู้วางรากฐานหลักการเบื้องต้นในการปกครองอาณาจักรโรมันแบบสาธารณรัฐ
03 พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีแห่งเบอซ็องซง (Museum of Fine Arts and Archeology of Besançon)
“พิพิธภัณฑ์สาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส”
สถานะปัจจุบัน : เปิดให้เข้าชม
ประเทศ : ฝรั่งเศส
ก่อตั้ง : ค.ศ.1694
ผู้ก่อตั้ง : พระอธิการแห่งโบสถ์แซงต์แวงซองต์ฌอง-แบปติสต์ บัวโซต์ (Jean-Baptiste Boisot)
พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีแห่งเบซองซง ตั้งอยู่ที่ จัตุรัสปลาซ เด ลา รีโวลูชิอง เมืองเบซองซง ประเทศฝรั่งเศส ที่นี่ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะ (เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม) ที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส และถูกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งโดยพระอธิการแห่งโบสถ์แซงต์แวงซอง ฌอง-แบปติสต์ บัวโซต์ (Jean-Baptiste Boisot) ซึ่งได้ยกสมบัติวัตถุ ชิ้นงานศิลปะโบราณ และหนังสือที่เป็นของสะสมส่วนตัวให้แก่คณะบาทหลวงแห่งแซงต์แวงซองต์ (Saint-Vincent) ในเมืองเบอซ็องซง (Besançon) โดยมีเงื่อนไขว่าทางคณะต้องดูแลและจัดการพื้นที่แสดงโบราณวัตถุและงานศิลปะเหล่านี้พร้อมเปิดให้สาธารณชนเข้าชมสัปดาห์ละ 2 วัน ภายใต้การดูแลของทางการและฝ่ายศาสนาจักรในเมืองเบอซ็องซง
แม้เนื้อที่ความใหญ่โตและความดังของพิพิธภัณฑ์อาจไม่เท่าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และพระราชวังแวร์ซาย แต่ความสำคัญคือที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกบนราชอาณาจักรฝรั่งเศสในยุคยังมีกษัตริย์ปกครอง ก่อตั้งก่อนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เกือบร้อยปี (ลูฟวร์เปิดเมื่อปีค.ศ.1793) และต่อมาได้มีคอลเล็กชันศิลปะสะสมส่วนตัวของพ่อ-ลูก นิโกลาส์และอองตวน ในตระกูล Perrenotแห่งGranvelleโดย นิโกลาส์ (Nicolas Perrenot de Granvelle) ผู้พ่อมีสถานะเป็นนักการเมืองใหญ่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสที่เป็นนักสะสมงานศิลปะและโบราณวัตถุ รวมถึงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปินในยุคนั้น คอลเล็กชันส่วนตัวเหล่านี้จัดแสดงในห้องโถงของโบสถ์แซงต์แวงซองต์ ให้ผู้มาเยือนได้ชมตลอดช่วงศตวรรษที่ 18 ต่อมาในปี ค.ศ.1843 มีอาคารหลังใหม่ออกแบบโดย ปิแอร์ มาร์โนตต์ (Pierre Marnotte) สถาปนิกชื่อดังในยุคนั้น เปิดเป็นตลาดศิลปะ และจัดแสดงงานศิลปะชิ้นใหม่ตามยุคสมัย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดศิลปะบ้างประปราย จากนั้นในปี ค.ศ.1849ได้มีการต่อเติมพื้นที่เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดี (Archeological Museum)
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ช่วงปี ค.ศ.1963 เมื่อจอร์จและอเดล เบสซง (George and Adèle Besson) บริจาคงานศิลปะกว่า 300 ชิ้น มีทั้งภาพวาดและภาพเขียนลายเส้นให้แก่พิพิธภัณฑ์เบอซ็องซง และเป็นต้นทางในการออกแบบอาคารใหม่เพื่อจัดแสดงงานเหล่านี้ในปี ค.ศ.1967-1970 ออกแบบโดยสถาปนิก หลุยส์ มิเกล (Louis Miquel) ศิษย์ของ เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier)โดยเขาได้ออกแบบส่วนต่อเติมอาคารใหม่เป็นแบบปูนเปลือย มีบันไดวนเข้าสู่ใจกลางอาคารและห้องประชุมอเนกประสงค์ที่ปิดล้อมด้วยกระจกใสบันไดที่ทอดยาวขึ้นชั้นบนสุดสายตา ลวงสายตาให้ความรู้สึกเหมือนจะหลุดลอยหายไปในอากาศ
สำหรับไฮไลต์วัตถุจัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ ล้วนเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก็บมาจากภูมิภาคนี้รวมถึงแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อายุเก่าแก่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคกลางของยุโรป รวมถึงโรงศพแบบอียิปต์ ในส่วนของงานศิลปะมีภาพวาดและงานปั้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 จนถึงศตวรรษที่ 20 รวมทั้งงานประติมากรรมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 และยังมีงานศิลปะลายเส้นจำนวนมากทั้งจากอิตาลี ยุโรปและยุโรปเหนือ ร่วมด้วยคอลเล็กชันงานศิลปะร่วมสมัยช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของ จอน์จ เบสซง (George Besson) และอเดล เบสซง (Adele Besson) คู่สามีภรรยานักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังของฝรั่งเศส งานศิลปะภาพวาดพอร์ตเทรตของอเดล เบสซง และงานศิลปินแนวอิมเพรสชันชื่อดังของ ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ที่มีชื่อภาพว่า Portrait of Adèle Besson ก็อยู่ในคอลเล็กชันที่บริจาคให้พิพิธภัณฑ์เบอซ็องซงด้วย
04 พิพิธภัณฑ์อาวุธและชุดเกราะ (National Museum of Arms and Armour / Royal Armouries Museum)
“พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธแห่งแรกในอังกฤษ”
สถานะปัจจุบัน : เปิดให้เข้าชม
ประเทศ : อังกฤษ
ก่อตั้ง : ค.ศ.1660
ผู้ก่อตั้ง : กองทัพอังกฤษ
เดิมที พิพิธภัณฑ์อาวุธและชุดเกราะ (National Museum of Arms and Armour หรือ Royal ArmouriesMuseum) เป็นคลังแสงที่เก็บสรรพาวุธและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษ และถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชม ตั้งแต่ปี ค.ศ.1660 ในสมัยที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) กษัตริย์ผู้แข็งแกร่งในยุคกลางของยุโรปปกครองอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ เป็นการเปิดให้สาธารณชนได้ชื่นชมมีส่วนร่วมเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของกองทัพและราชวงศ์อังกฤษ ด้วยการได้เห็นสรรพาวุธละลานตาภายในตึกหอคอยสีขาว (White Tower) หรือที่เรียกว่า หอคอยลอนดอน ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการปรับเปลี่ยนจากวางแสดงอาวุธแบบทื่อๆ เหมือนเดินเข้าไปในคลังอาวุธมาเป็นการสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางการทหาร มีการจัดวางและจัดเรียงเนื้อหาให้ตรงตามประวัติศาสตร์ เพิ่มเติมส่วนของงานออกแบบที่พาผู้ชมย้อนสู่อดีตการสู้รบในประวัติศาสตร์ ถือได้ว่าเป็น พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องอาวุธ และหลังจากอังกฤษออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนมรดกแห่งชาติเมื่อ ค.ศ.1983 พิพิธภัณฑ์อาวุธและชุดเกราะก็ได้รับงบประมาณดำเนินการรายปีในการดูแลจากรัฐบาลอังกฤษ ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือเป็นแหล่งเรียนรู้เปรียบเทียบพัฒนาการด้านอาวุธทางการทหารของโลกจากยุคกลางของยุโรปเป็นต้นมา
หอคอยลอนดอนอันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อังกฤษ เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 หรือ วิลเลียมผู้พิชิต (William I the Conqueror) กษัตริย์อังกฤษเชื้อสายฝรั่งเศส สั่งให้สร้างหอคอยมหึมาแห่งนี้ขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 11 หลังจากวิลเลียม (ขณะที่ดำรงยศเป็นดยุคแห่งนอร์มังดีที่ฝรั่งเศส) ได้ยกทัพมาชิงดินแดนอังกฤษได้สำเร็จและสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษในปี ค.ศ.1066 เป็นที่มาของฉายาวิลเลียมผู้พิชิต ต่อมาหอคอยลอนดอนที่สร้างขึ้นถูกใช้เป็นคลังสรรพาวุธของผู้ปกครองอังกฤษมาตลอดตั้งแต่ช่วงยุคกลางจนถึงยุคศตวรรษที่ 17ตรงกับยุคเรเนซองส์จึงเปิดให้คนจ่ายเงินเข้าชมอาวุธที่พิชิตสงครามต่างๆมาได้
พิพิธภัณฑ์อาวุธและชุดเกราะมีการบูรณะเมื่อ ค.ศ.1997 เพิ่มเติมส่วนการแสดงในพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธที่ตึกสีขาวหรือไวต์ทาวเวอร์หอคอยลอนดอน ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานมรดกโลกหอคอยลอนดอนเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ เน้นเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของหอคอยลอนดอนในฐานะป้อมปราการและย้อนรอยพัฒนาการของอาวุธกองทัพของราชอาณาจักรอังกฤษ และหน่วยงานของรัฐบาลที่เคยตั้งสำนักงานภายในหอคอยนี้ด้วยวัตถุจัดแสดงสำคัญในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่หอคอยลอนดอนยังเป็นชุดเกราะและอาวุธของกษัตริย์อังกฤษยุคต่างๆ และในปี ค.ศ.2005 มีการจัดแสดงคอลเล็กชันอาวุธปืนในประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษด้วย
ไฮไลต์ในพิพิธภัณฑ์เป็นวัตถุจัดแสดงในคอลเล็กชัน Spanish Armoury ที่มีอาวุธและอุปกรณ์ทรมานเชลยศึกต่างๆ ที่ทำให้อังกฤษเอาชนะกองทัพเสปนได้ในสงครามเมื่อปี ค.ศ.1588 และโซน Line of Kings จัดแสดงเสื้อเกราะและชุดออกรบของกษัตริย์อังกฤษเรียงลำดับตามยุค ติดตั้งบนเสาไม้และม้าไม้สลักโดยศิลปินชื่อดังในยุคสมัยนั้นด้วย
พิพิธภัณฑ์อาวุธและชุดเกราะแห่งนี้นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธแห่งแรกของประเทศและเป็นพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้วยังเป็นต้นแบบในการทำพิพิธภัณฑ์อาวุธในเมืองอื่น โดยเฉพาะ Royal Armouries Museum ที่เมืองลีดส์ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1996ถือเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงอาวุธยุทธปกรณ์ในประวัติศาสตร์อังกฤษที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย
05 พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum)
“พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งแรกในโลก”
สถานะปัจจุบัน : เปิดให้เข้าชม
ประเทศ : อังกฤษ
ก่อตั้ง : ค.ศ.1753 แต่เปิดบริการสาธารณะครั้งแรก ค.ศ.1759
ผู้ก่อตั้ง : รัฐบาลอังกฤษ
จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งแรกในโลกแห่งนี้มาจากการที่รัฐบาลอังกฤษ ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บริติชเพื่อดูแลวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่นักสะสมชาวอังกฤษได้บริจาคให้แก่สาธารณะ ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยาน งานศิลปะครอบคลุมทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทุกสาขาของมนุษย์การดูแลรักษาสิ่งของตามแนวคิดที่เชื่อว่าหลักฐานที่เป็นวัตถุ เป็นพยานและบันทึกประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และจะนำไปสู่การค้นคว้า ต่อเติมและแบ่งปันความรู้นี้ นอกจากเก็บไว้ จัดแสดงให้ผู้ชมได้ความบันเทิงด้านการเรียนรู้และตอบข้อสงสัยแล้ว จะต้องเป็นการเก็บรักษาเพื่อการใช้ร่วมกันและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย
คอลเล็กชันเริ่มต้นที่เป็นจุดกำเนิดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งนี้เป็นของส่วนของสะสมที่เป็นคอลเล็กชันของ เซอร์ฮันส์ สโลน (Sir Hans Sloane) โดยนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้มีความสนใจประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติมาตั้งเยาว์วัยเซอร์ฮันส์เริ่มสะสมวัตถุต่างๆ ในปี ค.ศ.1687 เมื่อเขาเข้าไปเป็นหมอรักษาทาสแอฟริกันที่ทำงานในไร่ของชาวอังกฤษที่ไปครอบครองไร่นาของจาเมกา แถบทะเลคาริบเบียน ในยุคล่าอาณานิคมนอกจากจะทำหน้าที่รักษาคนไข้ เซอร์ฮันส์ก็อาศัยทั้งชาวอังกฤษเจ้าของไร่และบรรดาแรงงานทาสในไร่เหล่านั้นเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต และเก็บตัวอย่างพืชพรรณกว่า 800 ชนิด รวมทั้งสัตว์และสิ่งของอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลในงานเขียนสารานุกรมประวัติศาสตร์ของเขาเล่มที่ชื่อ A Voyage to the Islands Madera, Barbados, Nieves, Saint Christophers and Jamaica (2 vols, 1707-1725) ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งที่เขาสะสมไว้ศึกษานั้นมากมาย รวมถึงเหรียญกษาปณ์และเหรียญตราต่างๆ ราว 32,000 เหรียญ อีกทั้งหนังสือ สิ่งพิมพ์ และเอกสารเขียนด้วยลายมือกว่า 50,000 ชิ้น (ปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ) ไม่นับรวมสมุนไพรตากแห้งจากทั่วโลก (ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ) ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ตีมูลค่าไม่ได้
เซอร์ฮันส์แต่งงานกับสาวชาวอังกฤษเจ้าของไร่อ้อยในจาเมกาและมีเงินทุนมากพอจะตามเก็บสิ่งของที่เขาสนใจและกลายเป็นทรัพย์สมบัติที่เขาได้เขียนพินัยกรรมมอบให้แก่รัฐโดยมีเงื่อนไขว่า ภาครัฐต้องนำสิ่งของสะสมทั้งหมดเหล่านี้ ดูแลรักษาและเปิดให้สาธารณชนได้เข้ามาแบ่งปันความรู้ด้วย คอลเล็กชันสะสมของเซอร์ฮันส์ที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ คือจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทั้งพิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum)และหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (British Library) โดยความประสงค์ของเขาได้รับการขานรับจากรัฐสภาอังกฤษที่มีการระดมทุนจากกองสลากกินแบ่งเพื่อใช้ในการก่อตั้งและดำเนินพิพิธภัณฑ์ และมีกฎหมายรับรองการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ผ่านรัฐสภาในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ.1753 โดยสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิมอยู่ที่อาคารมอนตากิวเฮาส์ (Montagu House) ในย่านบลูมสเบอรี (Bloomsbury) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ยุคเริ่มแรกพิพิธภัณฑ์บริติชเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี แต่เมื่อมีจำนวนผู้ชมล้นหลามจึงมีการจัดขายบัตรเพื่อจำกัดจำนวนผู้เข้าชมให้เหมาะสมกับความจุของพื้นที่และการบริหารจัดการดูแลด้านอื่นๆ พิพิธภัณฑ์บริติชจึงถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งแรกในโลก และแนวคิดนี้ได้แผ่ขยายไปพร้อมกับยุคของการขยายอาณานิคมอังกฤษและประเทศอื่นๆ ที่มองเห็นต้นแบบก็เก็บองค์ความรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์รวมถึงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยมีพิพิธภัณฑ์ชาร์ลสตัน (Charleston Museum) เมืองชาร์ลสตัน มลรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1773 เป็นส่วนขยายของพิพิธภัณฑ์บริติชในทวีปอเมริกา รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์บริติชที่เกาะมาเก๊า (British Museum of Macoa) ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ตามแบบตะวันตกแห่งแรกในอาณาเขตปกครองของจีน ก่อตั้งโดยบริษัทอีสต์อินเดียคอมพานี บริษัทเดินเรือและการค้าสัญชาติอังกฤษ ที่เดินเรือสินค้ามายังแถบนี้ในยุคขยายอาณานิคมด้วยการค้า และตั้งพิพิธภัณฑ์ในช่วงปี ค.ศ. 1829-1834
อ้างอิง
- www.historyofmuseums.com
- www.cambridge.org
- https://museicapitolini.org/en
- https://www.jstor.org/stable/267529
- https://www.mfa.org/exhibition/visiting-masterpieces-the-capitoline-brutus
- https://museicapitolini.org/en/il_museo/storia_del_museo/fondazione_e_prime_acquisizioni
- https://royalarmouries.org/about-us/history-of-the-royal-armouries/history-of-the-royal-armouries-in-the-tower-of-london/
- https://placeandsee.com/wiki/ennigaldi-nanna-s-museum
- https://www.themarysue.com/the-first-museum/
- http://www.historyofmuseums.com/museum-history/early-museums/
- https://www.mbaa.besancon.fr/le-musee/histoire/
- https://www.royal.uk/william-the-conqueror
- https://www.hrp.org.uk/tower-of-london/#gs.b0wqls
- https://www.cambridge.org/core/journals/journal-of-the-royal-asiatic-society/article/abs/first-museum-in-china-the-british-museum-of-macao-18291834-and-its-contribution-to-nineteenthcentury-british-natural-science/A7BCA5E40065FE6445D886495A405C70
- https://www.britishmuseum.org/collection/term/x18302
- https://en.wikipedia.org/wiki/Portrait_of_Ad%C3%A8le_Besson
- https://memoirevive.besancon.fr/search/results?formUuid=e5c4d55d-076f-4925-ae8f-567a68b0fea2&sort=relevance&mode=list&0-referenceCode=&1-title-scopeAndContent-physicalDescription=&2-controlledAccessAuthor=&4-controlledAccessSubject=