The Wall at Songkhla 2022 เมื่องานศิลปะแสงสีขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลา
Lite

The Wall at Songkhla 2022 เมื่องานศิลปะแสงสีขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลา

Focus
  • The Wall at Songkhla 2022  ไม่ได้โดดเด่นด้วยการย้อมเมืองเก่าสงขลาด้วยแสงสี แต่พิกัดที่ทางทีมผู้จัดงานเลือกมานั้นค่อนข้างน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ วิถี และเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป
  • อีกโจทย์ใหญ่ที่ทางดีไซเนอร์ได้รับคือ การใช้แสงไฟส่งเสริมสถานที่และบริบทโดยรบกวนวิถีและชุมชนเดิมให้น้อยที่สุด

“แสงทำอะไรให้กับเมืองได้บ้าง” เมื่อนักออกแบบแสงจากกลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT)  ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของแสงไฟที่มีต่อพื้นที่และชุมชน โปรเจ็กต์แสงสีระยะสั้น The Wall at Songkhla 2022 จึงเกิดขึ้นใจในพื้นที่ใจกลางเมืองเก่าสงขลา พื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ไม่ควรให้ความมืดของยามค่ำคืนมาบดบังศักยภาพ

The Wall at Songkhla 2022
The Wall at Songkhla 2022

ด้วยการเริ่มต้นโปรเจกต์ที่มีแนวคิดตั้งต้นมาจากคนในชุมชนเขตเมืองเก่า ไม่ใช่การนำโจทย์ของศิลปินจากภายนอกเข้าไปเป็นคีย์หลัก ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และ Lighting Designers Thailand (LDT) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบจึงเริ่มต้นทำงานนี้ด้วยการตั้งคำถามต่อมาว่า คนสงขลาต้องการอะไร และด้วยแรงสนับสนุนและการแนะนำที่ทางจากเทศบาลนครสงขลา ภาคีคนรักเมืองสงขลา สมาคมต่างๆ พาเดินทางไปสำรวจพื้นที่คลุกคลีกับชาวเมืองเก่าสงขลาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ในที่สุดเสียงส่วนใหญ่ผู้คนในพื้นที่ก็รวมกันมาเป็นคำตอบว่า “แสงไฟ” ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสวยงามให้พื้นที่แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาของเมืองเก่าสงขลายามค่ำคืนได้ เพราะหากใครเคยไปเช็คอินพักในตัวเมืองเก่าสงขลาจะพบว่าในยามเวลาปกติที่ไม่มีเทศกาลงานพิเศษใดๆ ร้านรวงส่วนใหญ่ในเขตเมืองเก่าโดยเฉพาะบนถนนนางงามนั้นจะเริ่มปิดทำการตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ตรอกทางเดินและเขตเมืองเก่าทั้งเมืองที่เคยคึกคักยามกลางวันจึงค่อนข้างเงียบเหงาในช่วงกลางคืน การมีแสงส่องสว่างจึงช่วยสร้างความปลอดภัยในการสัญจรและขยายเวลาของกิจกรรมยามกลางคืนของเมืองให้ยืดยาวขึ้น ดังนั้นการมาของเทศกาลแสงสีระยะสั้นที่ชื่อ The Wall at Songkhla 2022 จึงไม่ใช่แค่เทศกาลถ่ายรูปไฟ แต่ยังเปิดให้เห็นศักยภาพของเมืองจากช่วงกลางวันสู่ยามค่ำคืนได้เป็นอย่างดี

The Wall at Songkhla 2022

The Wall at Songkhla 2022  ไม่ได้โดดเด่นด้วยการย้อมเมืองเก่าด้วยแสงสี แต่พิกัดที่ทางทีมผู้จัดงานเลือกมานั้นค่อนข้างน่าสนใจ มีอัตลักษณ์ วิถี และเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป บางจุดอาจเป็นแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ในขณะที่บางจุดก็เป็นเพียงมุมตรอกซอกซอยแคบ ๆ ที่ถูกลืมเลือน บางจุดเป็นศาสนสถานที่คนต่างศาสนาอาจเคยมีความลังเลที่จะเข้าไป ทว่าเมื่อถูกดึงดูดด้วยแสงสีให้เข้าไปกลับพบว่าผู้คนที่ต่างความเชื่อกลับเอื้ออารีย์และลบความลังเลที่มีแต่แรก

The Wall at Songkhla 2022

อีกโจทย์ใหญ่ที่ทางดีไซเนอร์ได้รับและตกตะกอนความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ประสบความสำเร็จคือ การใช้แสงไฟส่งเสริมสถานที่และบริบทโดยรบกวนวิถีและชุมชนเดิมให้น้อยที่สุด เพราะอาคารส่วนใหญ่ในเมืองเก่าสงขลานั้นมีอายุค่อนข้างมาก ทีมงานจึงจัดวางไฟโดยไม่ทำให้อาคารเสียหาย และต้องไม่แย่งความสนใจไปจากสถาปัตยกรรม หรือหากเป็นจุดที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักก็จะจัดไฟเสริมให้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมดูน่าสนใจและสวยงามขึ้นมาได้อีก ที่สำคัญพื้นที่เมืองเก่าสงขลาเป็นชุมชนที่มีคนในพื้นที่อาศัยอยู่จริง ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวชนิดประกอบสร้างใหม่จากคนนอก ดังนั้นการจัดแสงไฟยามค่ำคืนจึงต้องเคารพผู้ที่อาศัยอยู่จริง เพื่อที่จะให้งานศิลปะเข้าไปขับเคลื่อนเมืองได้จริงๆ ในระยะยาว ส่วนจะมีจุดไหนน่าสนใจกันบ้างนั้น Sarakadee Lite เก็บเช็คลิสต์มาให้ได้ปักหมุดตามรอยกันแล้ว

The Wall at Songkhla 2022

The Prime Light : มัสยิดบ้านบน

เพราะสงขลามีการรวมกลุ่มของชุมชนแบบพหุวัฒนธรรม ทั้งชาวจีน ชาวอิสลาม และชาวพุทธ ในชุมชนจึงมีผู้คนหลากหลาย จุดเริ่มต้นของชิ้นงาน The Prime Lightมัสยิดบ้านบน หรือชื่อเต็มคือ มัสยิดอุสาสอิสลาม แห่งนี้จึงเป็นตัวแทนของชาวอิสลามในเมืองเก่า บอกเล่าความศรัทธาของผู้คนต่ออัลเลาะห์ที่ก้องดังผ่านเสียงละหมาด

 “แต่ก่อนมัสยิดจะไม่ใช้โดม จะมีแค่หออาซานที่มีลักษณะคล้ายหอระฆัง แต่ในตอนหลังยุคที่การเดินทางมันสะดวกง่ายดายขึ้น คนเดินทางไปร่วมพิธิฮัจญ์เป็นจำนวนมากและประทับใจในลักษณะอาคารของตะวันออกกลางก็นำมาปรับใช้กับมัสยิดบ้านเรา แต่ที่สงขลายังคงเก็บรูปแบบเดิมเอาไว้ ถือเป็นรูปแบบที่หายากในปัจจุบัน”

ดนัย โต๊ะเจ ผู้ประกอบการที่สนใจศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์สงขลาและทำงานกับชุมชนบอกเล่าถึงความสวยงามของมัสยิดใหญ่ใจกลางเมืองเก่า พร้อมทั้งกล่าวว่างานไฟที่ทีมดีไซเนอร์ออกแบบมานั้นช่วยเชิดชูมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 170 ปีนี้ให้โดดเด่นและสวยงาม แสงบนโดมและสัญลักษณ์ดาวกับจันทร์เสี้ยวก็เหมือนกับแสงรัศมีของอัลเลาะห์ เมื่อประกอบกับไฟตามหออาซา ตามอาคาร และบ่อพลับ ทั่วทั้งมัสยิดจึงสว่างไสวมองเห็นได้จากระยะไกล เป็นการบอกพิกัดให้กับผู้ที่ตั้งใจมาเยี่ยมเยียนศาสนสถานนี้ไม่ว่าจะในฐานะใด ยามถึงเวลาละหมาดก็จะมีชาวมุสลิมแวะเวียนมาเข้าร่วมเป็นระยะ หรือต่อให้ไม่ใช่ช่วงละหมาดก็ยังมีคนแวะเวียนมาลิ้มรสอาหารอิสลามด้านหน้ามัสยิด หรือชมความงามของตัวสถาปัตยกรรม การมีแสงไฟจึงสร้างจุดสังเกตให้ผู้คนมองเห็นมัสยิดได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยและเชิดชูความเป็นศาสนสถานแห่งสำคัญของเมืองได้เป็นอย่างดี

Moonlight Serenade ลำนำแสงจันทร์ : ซอยดอกพวงคราม

ซอยเล็กๆ ที่ชื่อน่ารักว่า ซอยดอกพวงคราม อยู่ข้างๆ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรุงทองภาคใต้ ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมไปยังริมทะเลสาบสงขลา ดีไซเนอร์จึงจัดงานในรูปแบบ Urban Lighting ให้แสงไฟอยู่คู่ชุมชนโดยไม่รบกวนวิถีชีวิต ทั้งยังทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนไม่เงียบเหงา โดยในซอยจะมีต้นไม้นานาพันธุ์ประดับประดาตามผนังและอาคาร ซึ่งแสงไฟที่ตกแต่งตามจุดต่าง ๆ ช่วยขับเน้นความงามของธรรมชาติให้สอดรับกับความเป็นเมือง ไฮไลต์ของจุดนี้คือยามช่วงตะวันตกดินจะมีการบรรเลงดนตรีโดยกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย บทเพลงอันไพเราะ บวกด้วยลมเย็นจากทะเลสาบสงขลา ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้ผู้ที่ผ่านมาแวะเวียน หากยืนพักฟังเสียงเพลงจะได้ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศอันน่าผ่อนคลายพร้อมกับการชมทัศนียภาพอันสวยงามของสงขลายามพลบค่ำจนไปถึงค่ำคืนที่ไม่ค่อยได้อยู่ในสปอตไลต์การท่องเที่ยว

Tale of the Sea นิทานแห่งท้องทะเล : ตรอกทางเดินเท้าเชื่อมระหว่างถนนนครในและนครนอก

ตรอกเล็ก ๆ แห่งนี้เป็นจุดลับๆ ข้างร้าน The Apothecary of Singora (Apo Store) ที่ยามปกติไม่ค่อยมีใครมาเช็คอิน ดีไซน์เนนอร์ใช้การจัดแสดงแสงไฟในรูปแบบ Lighting Installation ที่ช่วยสร้างและผูกโยงเรื่องราวของตำนานพื้นเมืองของเกาะหนูและเกาะแมวให้ออกมาเป็นภาพแสนน่ารักซึ่งเข้ากับตัวเมืองสงขลาได้อย่างน่าประทับใจ โดยตัวแสงไฟที่จัดวางตามแต่ละมุมจะขับเน้นรูปหนู หมา และแมวตามซอยที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าการไล่ล่าลูกแก้ววิเศษระหว่างหนูกับแมว สร้างสีสันและความมีชีวิตชีวาให้การเดินทางยามวิกาลไม่เปล่าเปลี่ยวอีกต่อไป

Fact File

  • The Wall at Songkhla 2022 จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 4 กันยายน 2565 นี้ โดยการจัดแสดงผลงานการออกแบบแสงไฟ บริเวณ 3 จุด ย่านเมืองเก่าเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 – 22.00 น.
  • ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cea.or.th

Author

ณิชมน อินทร์สุข
นักเดินทาง (มือสมัครเล่น) ที่ชอบบันทึกสิ่งที่เห็นผ่านรูปภาพและตัวอักษร ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาศาสตร์ของกลิ่น