ดนตรีแห่งชีวิต : เส้นทางการดนตรีที่มีชีวิตและสังคมเป็นแรงบันดาลใจ
Lite

ดนตรีแห่งชีวิต : เส้นทางการดนตรีที่มีชีวิตและสังคมเป็นแรงบันดาลใจ

Focus
  • ดนตรีแห่งชีวิต เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาและประวัติศาสตร์ดนตรีโดยเน้นตั้งแต่ยุคบาโรกจนถึงยุคคลาสสิกใหม่ ผ่านชีวประวัติของประพันธกรคนสำคัญของโลกถึง 63 ชีวิตที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์การดนตรี
  • เป็นหนังสือที่มีความหนากว่า 700 หน้า จัดพิมพ์ปกแข็งพร้อมใบหุ้มปก ซึ่งอยู่ในชุด Series Classic Edition จากสำนักพิมพ์สารคดี

ดนตรีแห่งชีวิต หนังสือที่พาเดินทางย้อนประวัติศาสตร์การการดนตรีในยุคสมัยต่างๆ ผ่านชีวประวัติของประพันธกรนักดนตรีผู้เลื่องชื่อแห่งยุคถึง 63 ชีวิต ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนวิทยาการทางดนตรีแต่ละยุคสมัยครอบคลุมตั้งแต่ยุคบาโรกจนถึงโรแมนติกและยุคคลาสสิกใหม่อันเป็นฐานรากของการพัฒนาสู่กระแสวิทยาการทางดนตรีถึงทุกวันนี้

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเด็กๆไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน เพราะว่าไม่มีโรงเรียน ไม่ต้องเรียนดนตรี เพราะว่าไม่มีดนตรี ไม่มีแม้แต่ภาษาที่คนจะใช้พูดจากัน ไม่มีหนังสือหรือดินสอปากกา ไม่มีโบสถ์และวัด ไม่มีบ้านไม่มีเมือง ในขณะนั้นคนที่มีอายุมากที่สุด ฉลาดที่สุดรู้น้อยเสียยิ่งกว่าเด็กเล็กๆในทุกวันนี้”

นี่คือประโยคนำในบทที่มาของดนตรีบทแรกเริ่มในหนังสือ ดนตรีแห่งชีวิต เขียนโดย สุรพงษ์ บุนนาค เพียงได้อ่านประโยคเปิดของบทนี้ก็สัมผัสได้แล้วถึงความสำคัญของความรู้ด้านดนตรีที่ในยุคหนึ่งหากมองผิวเผินบางทีอาจเป็นเพียงเสียงบันเทิงเริงใจ แต่ประโยคข้างต้นก็ช่วยสะกิดชี้ให้มองว่าทุกองค์ความรู้นั้นจำเป็นต้องสอดประสานกันและกันประกอบจนมนุษย์มีวัฒนธรรมเชิงความคิดและพัฒนาผ่านสื่อสาขาวิชาอันหลากหลาย

และนั่นก็ทำให้ดนตรีเป็นอีกหนึ่งความรู้ที่สำคัญของมนุษย์ เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาหาความรู้พัฒนามาอย่างยาวนาน เริ่มมาตั้งแต่อารยธรรมมนุษย์ที่มนุษย์พยายามเข้าใจความเป็นไปทางธรรมชาติคิดว่าต้นไม้ ดวงอาทิตย์ ฝน ไฟ สัตว์มีเทพเจ้าหรือวิญญาณสถิตอยู่นำมาสู่พิธีกรรมร้องรำเพื่อวิงวอนขอพร

ดนตรีแห่งชีวิต

ดนตรีแห่งชีวิต พาย้อนไปสู่อดีตกาล จากดนตรีที่เกิดจากการที่มนุษย์พยายามเจรจากับทวยเทพผ่านพิธีกรรมโดยการตบมือ กระทืบเท้า ยักย้ายเต้นรำ หรือเปล่งเสียงร้องจากลำคอ ก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็นการวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยการบูชาโดยการรวมกลุ่มชุมนุม ร้องรำทำเพลงต่างๆ และพัฒนาเป็นวันฉลองทางศาสนา เช่น วันอีสเตอร์ วันคริสต์มาส และอื่น ๆ

จนถึงปัจจุบันเทศกาลเหล่านี้ก็ยังคงมีการเฉลิมฉลองร้องเต้นหรือบ้างก็มีเพลงประจำเทศกาล และจากการใช้ในเชิงพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อมนุษย์ได้สัมผัสถึงความงามแห่งเสียงเพลง การดนตรีจึงเผยแพร่สู่ผู้คนในวงกว้างขึ้นจากชนชั้นสูง ราชสำนัก จนถึงมาสู่ประชาชน พัฒนาการทางดนตรีจึงสะท้อนวิถีทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับศาสตร์อื่นที่ประกอบเส้นเรื่องของโลกขึ้นมาและพัฒนาทักษะความรู้ของมนุษย์ให้หลากหลาย

ดนตรีแห่งชีวิต ได้เล่าประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกสามารถย้อนไปมองได้ตั้งแต่ช่วง ยุคกลาง (Medieval ค.ศ.550-1450) โดยในช่วงนี้ดนตรีถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการประกอบพิธีกรรมหรือเป็นบทสวดในโบสถ์ซึ่งแยกชัดเจนกับดนตรีแบบพื้นบ้านที่เน้นเป็นกิจกรรมสนุกสนาน

จนต่อมาใน ยุคเรอเนซองซ์ (Renaissance Period ค.ศ.1450-1600) แม้ยังคงใช้ดนตรีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแต่ก็มีการขับร้องไปพร้อมกับการใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะเช่น ลูต รีคอร์เดอร์ และเริ่มมีการเล่นดนตรีเป็นกลุ่มย่อยโดยใช้เครื่องเล่นทั้งแบบเดียวเช่นเล่นแต่เครื่องสายและการใช้เครื่องเล่นแบบหลายประเภทประกอบกันเช่นเล่นเครื่องสายกับเครื่องเป่าในการบรรเลง

ดนตรีแห่งชีวิต

ใน ยุคบาโรก (Baroaue Period ค.ศ.1600- 1750) แม้หลักเดิมในการใช้ดนตรีประกอบบทสวดยังอยู่ แต่เริ่มมีการนำดนตรีลงสู่พื้นที่ และเข้าถึงกลุ่มคนกว้างขึ้น เช่น การนำไปบรรเลงในราชสำนักหรือรับจ้างเล่นให้เศรษฐี นักดนตรีแบบอาชีพจึงสามารถดำรงชีวิตโดยหาเงินจากการเล่นดนตรีได้แต่ก็เป็นงานรับจ้างไม่ใช่งานที่สร้างจากความต้องการของตน

ในยุคนี้มีโรงมหรสพหรือโรงอุปรากรเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นในเมืองเวนิสในปี ค.ศ.1637 เป็นยุคที่การดนตรีอาชีพรับจ้างเริ่มเฟื่องฟูและมีประพันธกรที่มีชื่อเสียงถึงปัจจุบันอยู่หลายชื่อ เช่นเทเลมันน์ (Telemann) วีวัลดี (Vivaldi) แฮนเดิล (Handel) และ บาค (Bach)

การเปลี่ยนแปลงปฏิวัติทางการเมืองสะเทือนโลกอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ทำให้โลกดนตรีได้เปลี่ยนเข้าสู่ ยุคคลาสสิก (Classical Period ค.ศ.1750-1820) หลังจากมนต์ขลังของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จบลงด้วยเสียงกระหึ่มของประชาชนที่ทำการปฏิวัติ จากเดิมที่ราชสำนักและพิธีกรรมทางศาสนาค้ำจุนจ้างนักดนตรีความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นทำให้ดนตรีเริ่มเดินทางเข้าสู่การบรรเลงเพื่อฟังกันในวงกว้างมากขึ้นเกิดโรงอุปรากรแสดงดนตรีเป็นอาชีพมากขึ้นและมีการแต่งเพลงเพื่อการแสดงเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ในยุคนี้จึงเกิดนักดนตรีชื่อก้องโลกอย่าง โมซาร์ท (Mozart) ผู้เลื่องชื่อจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นโลกตะวันตกเริ่มหันเข้าหาการปกครองแบบประชาธิปไตยทำให้โลกดนตรีเองได้เดินทางสู่ ยุคโรแมนติก (Romantic Period ค.ศ.1820-1900) ด้วยชัยชนะของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกา ประกอบกับการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในยุโรปขยายตัว ทำให้เกิดปัญญาชน นักคิด นักเขียน ศิลปิน จิตรกรและสามารถสร้างสรรค์งานตามเจตจำนงของตนได้มากขึ้นกว่ายุคสมัยก่อนหน้า นักดนตรีจึงคิดค้นวิธีการสร้างสรรค์งานโดยหลุดออกจากขนบเดิมๆเข้าหาวิธีการทางดนตรีใหม่ๆ เน้นอารมณ์ เสียงความดังเบา และจังหวะที่รวดเร็ว รวมถึงมีการเล่นเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่เกิด วาทยกร (Conductor) ขึ้นมาสำหรับวงออร์เคสตรา

ยุคนี้เป็นยุคที่ทำให้ บีโธเฟน (Beethoven) ที่ทำงานมาตั้งแต่ในยุคคลาสสิกเริ่มโด่งดังมีชื่อเสียงขึ้น ร่วมด้วยนักดนตรีคนสำคัญอีกมากมายอย่าง บรามส์ (Brahms)ไชคอฟกี (Tchaikovsky) และ โชแปง (Chopin) โดยหลังจากยุคที่ประชาชนสร้างสรรค์เปล่งเสียงจากจิตใจของตนเองได้จึงพัฒนาสู่ดนตรีในศตวรรษที่ 20 ที่มีดนตรีหลากหลายแนวทางซึ่งเป็นรากฐานสำคัญกับเสียงเพลงในปัจจุบัน

และทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเนื้อกาที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือดนตรีแห่งชีวิตเล่มนี้

Fact File

  • ดนตรีแห่งชีวิต เขียนโดย สุรพงษ์ บุนนาค สำนักพิมพ์ สารคดี ราคา 999 บาท
  • สั่งซื้อหนังสือทางระบบออนไลน์ได้ที่ www.facebook.com/sarakadeepress

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน