เดอะ ล้ง 1919 กลับมาเปิดให้สักการะ เจ้าแม่หม่าโจ้ว 3 ปาง ก่อนพลิกโฉมสู่แลนด์มาร์กด้านสุขภาพ
Lite

เดอะ ล้ง 1919 กลับมาเปิดให้สักการะ เจ้าแม่หม่าโจ้ว 3 ปาง ก่อนพลิกโฉมสู่แลนด์มาร์กด้านสุขภาพ

Focus
  • เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 6 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีนโบราณแบบ ซาน เหอ ย่วน ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย
  • เดิมที เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น คือ ฮวย จุ่ง ล้ง ท่าเรือกลไฟขนาดใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วครบ 3 ปาง คือ ปางเด็กสาว ปางผู้ใหญ่ และปางเทพ
  • ในปี พ.ศ. 2566 อดีต ฮวย จุ่ง ล้ง กำลังก้าวเดินสู่บทบาทใหม่ ปรับเปลี่ยนจากอาคารอนุรักษ์สู่ The Integrated Wellness Destination

หลังจากที่ปลายปี พ.ศ. 2564 บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ได้ประกาศเปลี่ยนพื้นที่ ล้ง 1919 อดีต ฮวย จุ่ง ล้ง ท่าเรือกลไฟขนาดใหญ่อายุกว่า 170 ปีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้เป็นแลนด์มาร์กด้านสุขภาพระดับโลก The Integrated Wellness Destination ต้นปี พ.ศ.2565 แผนพัฒนาพื้นที่ของ AWC ได้ออกมาชัดเจนแล้วว่าปีนี้จะยังไม่ปิดรั้วปรับพื้นที่ในทันที แต่ได้มีการเปิด ล้ง 1919 ในชื่อใหม่  เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น ยืดเวลาให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบสักการะ เจ้าแม่หม่าโจ้ว ศูนย์กลางความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านคลองสาน พร้อมกันนั้นก็ได้จัดกิจกรรมพิเศษรับปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน และแว่วว่าอาจจะมีกิจกรรมพิเศษออกมาเรื่อยๆ ตลอดปี 2565 และจากนั้นจึงเดินหน้าสู่แผนปรับปรุงพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2566

เจ้าแม่หม่าโจ้ว
เจ้าแม่หม่าโจ้วองค์จริงประดิษฐานอยู่ชั้นบนของอาคาร
เจ้าแม่หม่าโจ้ว
ภาพเจ้าแม่หม่าโจ้ว 3 ปาง

สำหรับกิจกรรมแรกภายใต้ชื่อใหม่ เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น คือการย้อนบรรยากาศความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมจีนที่ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกับชาวไทยด้วยการเปิดม่านการแสดงงิ้ว คณะ ไซ้หย่งฮงเตี่ยเกี๊ยะท้วง ซึ่งเป็นคณะงิ้วเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย มาในฉากเรื่อง “ซี้นึ้งห่วยบ้อ” หรือ “ขุนศึกตระกูลหยาง” เปิดม่านการแสดงในค่ำคืนวันที่ 17-19 มกราคม พ.ศ.2565 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ร่วมด้วยการเชิดสิงโตและมังกรของ คณะหลงเฉียน ในวันที่ 17 และวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2565 เริ่มการแสดงราว 16.00 น.

เจ้าแม่หม่าโจ้ว
มีงิ้วเมื่อใดผู้ชมที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนจะตีตั๋วเต็มหน้าเวที
เจ้าแม่หม่าโจ้ว
เจ้าแม่หม่าโจ้ว
คณะหลงเฉียน

ไม่เพียงเท่านั้นทาง AWC ยังเปิดห้องน้ำชา Pagoda Chinese Tea Room และ Okura Oriental La Patisserie ให้ได้จิบชาท่ามกลางอาคารเก่าสถาปัตยกรรม ซาน เหอ ย่วน ที่เหลือให้ได้ชมน้อยเต็มทีในเมืองไทย ระหว่างวันที่ 17 มกราคม -28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

ล้ง 1919
บรรยากาศโรงน้ำชาโฉมใหม่
ล้ง 1919
ชุดน้ำชาจาก Okura Oriental La Patisserie

ย้อนประวัติศาสตร์ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟริมเจ้าพระยา

ย้อนไป 172 ปีก่อน ราว พ.ศ.2393 เขตคลองสานคือที่อยู่ของพ่อค้าจากโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขายในไทย สุดถนนเชียงใหม่ คือที่ดินขนาด 6 ไร่ของ พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ผู้เล็งเห็นความเจริญด้านการค้าโพ้นทะเลและได้ตัดสินใจสร้างท่าเรือกลไฟขึ้นตรงข้ามวัดสำเพ็ง ต่อมาพระยาพิศาลศุภผลได้ตัดสินใจขายท่าเรือแห่งนี้ต่อให้ ตันลิบบ๊วย ต้นตระกูลหวั่งหลี ในปัจจุบัน

ล้ง 1919
บรรยากาศห้องน้ำชาท่ามกลางกลิ่นอายสถาปัตยกรรมจีน
ห้องน้ำชา Pagoda Chinese Tea Room

ตามแผนผังที่ดินเดิมมีการสร้างอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นคฤหาสน์ทรงเก๋งจีนขนาดใหญ่สำหรับเป็นที่พักของครอบครัวหวั่งหลี อีกส่วนเป็นตึกแถวสองชั้นที่ออกแบบให้เชื่อมต่อกันเป็นรูปเกือกม้าตัว U มีสนามหญ้าอยู่ตรงกลาง ตามแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่เรียก “ซาน เหอ ย่วน” ในอาคารแบ่งกั้นเป็นห้องๆ ได้เกือบ 100 ห้องเพื่อให้พ่อค้า ชาวจีน และคนงานเก่าแก่ในตระกูลหวั่งหลีเช่า เรียกว่าเป็นทั้งที่ทำงานและที่พักอาศัยโดยมีชาวฮวย จุ่ง ล้ง รุ่นสุดท้ายอาศัยอยู่จนถึง พ.ศ.2559 ก่อนจะปรับเปลี่ยนสู่สถานที่ท่องเที่ยวในบรรยากาศของอาคารอนุรักษ์แบบจีนโบราณซึ่งก็คือ ล้ง 1919 นั่นเอง

เจ้าแม่หม่าโจ้ว
องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว 3 ปาง

นอกจากจะเป็นที่พักอาศัย และคลังสินค้าขนาดใหญ่แล้ว ฮวย จุ่ง ล้ง ยังเป็นที่ตั้งศาลเจ้า ประดิษฐาน เจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพผู้คุ้มครองคนเรือให้พ้นภัยในท้องทะเลซึ่ง เจ้าแม่หม่าโจ้ว ประจำย่านคลองสานมีด้วยกัน 3 องค์ 3 ปาง แกะสลักจากไม้และอัญเชิญมาจากเมืองจีน ได้แก่ ปางเด็กสาว หรือ จุ้ยบ๋วยเนี้ย ชาวจีนนิยมมาขอพรเรื่องความรัก การมีบุตร และการเดินทางที่ราบรื่น องค์ต่อมาคือปางผู้ใหญ่ หรือ ให่ตั้งหม่า ประทานพรด้านโชคลาภ เงินทอง การทำมาค้าขาย และสุดท้ายปางเทพ หรือ เทียนโหวเชี่ยบ้อ ให้พรเรื่องสุขภาพที่แข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น เชื่อกันว่าจะรักษาทรัพย์ให้ลูกหลาน ซึ่งในคราวที่ตระกูลหวั่งหลีตัดสินใจอนุรักษ์ซ่อมแซมอาคาร ฮวย จุ่ง ล้ง ครั้งใหญ่เพื่อเปิดก็ได้มีการอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางประทับเกี้ยว 3 หลังมาประดิษฐานไว้ที่อาคารหลังกลางซึ่งหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดให้ผู้มีศรัทธาเข้ามาสักการะได้ดังเดิม

ล้ง 1919

นอกจากอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณและเจ้าแม่หม่าโจ้วแล้ว อีกสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ของที่นี่คือจิตรกรรมฝาผนังลวดลายจีนที่เพิ่งถูกค้นพบตอนอนุรักษ์อาคารครั้งใหญ่ โดยภาพเขียนเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ใต้ชั้นสีที่ถูกทาทับไว้ก่อนหน้าหลายรุ่นต่อหลายรุ่น และเพิ่งถูกค้นพบในช่วงที่ ตระกูลหวั่งหลี มีโครงการปรับปรุง อนุรักษ์ และเปิด ล้ง 1919 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใน พ.ศ.2560

ล้ง 1919
ล้ง 1919

สำหรับการปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ฮวย จุ่ง ล้ง อีกครั้งที่กำลังเดินหน้าสู่แลนด์มาร์กด้านสุขภาพ The Integrated Wellness Destination แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้มีการเปิดเผยภาพรวมการปรับปรุงออกมา แต่เราก็ได้รับการยืนยันว่าในส่วนของอาคารเก่ารูปตัว U ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ก็จะยังได้รับการรักษาไว้ และมีการสร้างอาคารหลังใหม่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบริเวณศาลเจ้าขององค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว ศูนย์กลางความศรัทธาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน จะยังคงเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะอยู่หรือไม่นั้น…ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป

Fact File

  • รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/Lhong1919
  • ตลอดปี พ.ศ. 2565 ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปสักการะองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วได้ตามปกติ

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว