แมวสอนเซน : การเดินทางของเจ้าแมวที่แฝงปรัชญาเซน
Lite

แมวสอนเซน : การเดินทางของเจ้าแมวที่แฝงปรัชญาเซน

Focus
  • แมวสอนเซน (The Cat Who Taught Zen) ผลงานภาพประกอบและเขียนโดย เจมส์ นอร์เบอรี (James Norbury) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบของหนังสือปรัชญาขายดีระดับโลก
  • แมวสอนเซน เล่าเรื่องของเจ้าแมวที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง ณ สถานที่อันไกลโพ้น แต่แล้ววันหนึ่งเจ้าแมวก็รู้สึกสงสัยกับการเป็นอยู่ และเจ้าหนูที่เป็นเพื่อนร่วมเมืองของมันก็ได้เสนอแนะให้เจ้าแมวออกเดินเข้าป่าเมเปิลในหุบเขา เผื่อว่าแมวอาจจะได้สิ่งที่มันมองหามาหลายปีแต่ไม่มีคำตอบ

ทำงานมาทั้งปีเหมือนใช้พลังงานทั้งชีวิตมีอยู่จริง และถ้าใครที่กำลังรู้สึกอย่างนั้น เราอยากชวนคุณมาสิงร่างแมวแล้วเข้าสู่ดินแดนอันไกลพ้นกับหนังสือภาพที่มีเรื่องราวง่ายๆ แต่งดงามตามวิถีเซน แมวสอนเซน (The Cat Who Taught Zen) ของ เจมส์ นอร์เบอรี (James Norbury) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบของหนังสือปรัชญาขายดีระดับโลกจากผลงาน Big Panda and Tiny Dragon เหมาะสำหรับคนที่กำลังค้นหาคำตอบว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับ ความสุข ความเหงา ความเศร้า ความเบื่อ และอื่นๆ ที่อยู่ในห้วงความรู้สึกและการใช้ชีวิต

แมวสอนเซน

แมวสอนเซน เล่าเรื่องของเจ้าแมวที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง ณ สถานที่อันไกลโพ้น แต่แล้ววันหนึ่งเจ้าแมวก็รู้สึกสงสัยกับการเป็นอยู่ และเจ้าหนูที่เป็นเพื่อนร่วมเมืองของมันก็ได้เสนอแนะให้เจ้าแมวออกเดินเข้าป่าเมเปิลในหุบเขา เผื่อว่าแมวอาจจะได้สิ่งที่มันมองหามาหลายปีแต่ไม่มีคำตอบ และการเดินทางของแมวก็เริ่มต้นขึ้น ลึกเข้าไปในป่านั้น แมว  ได้เจอสัตว์ ผู้คน ธรรมชาติ และได้เจอคำตอบไขข้อสงสัย

การอ่านหนังสืออิงปรัชญาสักเล่ม อาจจะทำให้คำถามกลายเป็นภาระหนักหน่วงเกินไปสำหรับใครบางคน  แต่สำหรับคนที่สนใจอยากหาคำตอบสำหรับคำถามที่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ในโลกใบนี้ และอยากหาหลักคิดสักอย่างใน การตั้งคำถามหรือเพื่อได้คำตอบกับเรื่องราวที่อยู่ในห้วงคำนึง หนังสือ แมวสอนเซน ที่ใช้ข้อความและภาพวาดประกอบ   เป็นสุนทรีย์ของการเล่าเรื่องเชิงเปรียบเปรยจากประสบการณ์และห้วงความคิดของเหล่าสรรพสัตว์ที่เต็มไปด้วยข้อสงสัย  การ “ตกผลึก” เป็นคำตอบที่ว่าด้วยจิตสำนึกของการมีตัวตนบนโลกใบนี้ ความสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง และการจะดำรงอยู่ด้วย “วิธีคิด” หรือยึดหลักคิดแบบใด ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้การอ่านหนังสือแนวปรัชญาสนุกยิ่งขึ้น โดยเจมส์ นอร์เบอรี ผู้เขียนได้ส่งต่อข้อคิดอิงปรัชญาเซน (Zen) ที่ตกผลึกวิถีการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติแล้วคลี่คลายสู่ปลายทาง “สุข” ที่นิยามด้วย “ความสงบ” และ “สมดุล   ผ่านบทสนทนาตัวละครแมว สรรพสัตว์และสรรพสิ่ง

แมวสอนเซน

มีหลายบทสนทนาของสรรพสัตว์ในหนังสือ แมวสอนเซน ที่กระแทกเข้าอย่างจังกับหัวใจมนุษย์อย่างเรา เช่นในช่วงบทสนทนาว่าด้วยประสบการณ์ความฝันของลูกหมาป่าผู้เหงาหงอย ที่เขาเป็นสิ่งอื่นๆ มากมายและยิ่งใหญ่กว่าตัวเองในความฝันทั้งเป็นหมาป่าจ่าฝูง เป็นคลื่นยักษ์ เป็นนกอินทรีย์ ฯลฯ  ก่อนที่เจ้าแมวจะโยนคำถามให้ลูกหมาป่าได้ใคร่ครวญ และพบคำตอบว่า

“เราแต่ละคนมีของขวัญที่มอบให้แก่โลกใบนี้ได้ และเราควรชื่นชมยินดีกับสิ่งนั้น แทนที่จะคิดว่าเราอยากมีอย่างคนอื่นเขา”

แมวสอนเซน

สัดส่วนของงานวาดภาพประกอบโดย  เจมส์ นอร์เบอรี ที่มีทั้งลายเส้นสเก็ตช์และการลงสีน้ำ บ่งบอกห้วงเวลาและบรรยากาศสะท้อนอิทธิพลมาจากศิลปะแบบเซน โดยเจมส์ใช้ทั้งการสเก็ตช์ด้วยเครยอนขาวดำสลับกับภาพเขียนสีใส่บุคลิกและความคิดของตัวละครลงไปในแต่ละภาพ ดึงอารมณ์ร่วมในการเข้าถึงเนื้อหาด้านปรัชญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแต่ละภาพได้อย่างแยบยล เปิดเรื่องด้วยภาพขาวดำแมวอ้วนนอนคู้ตัวอยู่บนเบาะหรี่ตามองชามใส่อาหาร ต่อด้วยภาพของแมวแหงนมองพระจันทร์ในความมืด และภาพเงาดำสะท้อนพระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า ก่อนจะเข้าสู่ภาพวาดฉากทิวทัศน์ตัวแทนของ “เมืองแห่งหนึ่ง ณ สถานที่อันไกลพ้น” เป็นภาพลายเส้นลงสีน้ำในโทนสีน้ำตาลเหลือง  จัดอารมณ์และโทนการเล่าเรื่องปูทางสู่ดินแดนของความคิดตามหลักปรัชญาเซนที่อิงกับการเรียนรู้จากธรรมชาติอย่างลึกซึ้งโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือปรัชญาอย่างเคร่งเครียด ดังที่ผู้แต่งได้กล่าวในบทส่งท้ายของเล่มนี้ไว้ว่า

แมวสอนเซน

“หากคุณเพียงใช้เวลาเพียงแค่สามสิบวินาทีเพื่อรู้สึกถึงสัมผัสของเนื้อผ้า หรือฟังเสียงจากนอกหน้าต่าง คุณอาจเข้าสู่อีกสภาวะหนึ่งของจิตใจได้…หากเพียงแค่ความคิดของคุณหยุดลงสักวินาทีหนึ่ง และให้ประสบการณ์นั้นเข้ามาแทนที่ คุณก็จะได้พบกับเซนแล้ว” 

นอกจากการวาดภาพที่สื่อถึงปรัชญาเซนแล้ว เจมส์ยังใช้การวางคำคมอิงกับหลักคิดเซนที่ว่าเราเรียนรู้จากธรรมชาติได้ทุกสิ่ง ทุกขณะจิตไว้ในภาพประกอบเป็นจังหวะที่ไม่เร่งรีบมาก เช่น  “ธรรมชาติไม่มีคำพูดแต่มันพยายามบอกอะไรบางอย่างกับเราตลอดเวลา”  เป็นข้อความสั้นๆ สะท้อนความคิดของเจ้าแมวรำพึงเรียบเรียงเข้ากับภาพวาดประกอบที่เห็นเส้นขอบเป็นราวป่าที่มีรูปทรงเส้นสายเงาต้นไม้สีดำทะมึน กลางภาพเป็นโครงร่างด้านหลังของแมวเห็นเพียงเงาดำ ขณะนั่งมองดวงอาทิตย์ที่สาดแสงสีส้มระบายเต็มฟ้า เป็นอีกความเพลิดเพลินที่ ศิลปะดึงคนอ่านเข้าสู่ประสบการณ์และความคิดของตัวเองได้

แม้ผู้เขียนจะเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่า  “เรื่องราวนี้ไม่เกี่ยวกับผู้คน” แต่เชื่อเถอะว่าเรื่องราวของเจ้าแมวขี้สงสัยที่อยู่ในเมืองใหญ่ริมน้ำท่ามกลางบ้านเรือนคนอยู่อาศัยนับพัน กับภาพวาดเจ้าแมวและสรรพสัตว์ที่ดูเพลินๆ กลับส่งแรงกระเพื่อมต่อความรู้สึก อารมณ์ ความคิด และเปิดมุมมองต่อชีวิตได้ไม่ต่างจากหนังสือปรัชญาที่ตัวหนังสือแน่นหนักอึ้ง เพราะหลายครั้งบทสนทนาดีๆ  ก็สามารถช่วยให้ข้อคิดและการตกผลึกกับบางเรื่องในชีวิตได้เสมอ การตามบทสนทนาดีๆ แบบที่เจ้าแมวขี้สงสัยได้สนทนากับ คนและสรรพสัตว์ การได้ฟัง(อ่าน)ตัวอย่างการตกผลึกของเจ้ามังกรน้อย  หรือกระทั่งการนั่งพิจารณาธรรมชาติแวดล้อม  ในบทสรุปของเรื่องราวที่เจ้าแมวได้ ค้นพบความลับของการมีชีวิตอันงดงาม ผู้อ่านอาจได้ข้อคิดง่ายๆ งามๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึงในบางเรื่องราวได้  

ในบทส่งท้ายของเรื่อง เจมส์ นอร์เบอรี ผู้เขียน ได้ฝากมาถึงผู้อ่านว่า

“หากคุณอยากได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ไปสักอย่าง ผมก็อยากจะขอให้คุณลองทำ และจำไว้ว่าสิ่งดีๆ มักเกิดขึ้นจากสิ่งที่ดูเหมือนไม่ดี”

Fact File

แมวสอนเซน (The Cat Who Taught Zen)

เรื่องและภาพ : เจมส์ นอร์เบอรี (James Norbury)

ผู้แปล : อรดา ลีลานุช 

สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป