The Birth of a Nation หนัง #BlackLivesMatter ที่หักมุมจบด้วยความย้อนแยงส่วนตัว
Lite

The Birth of a Nation หนัง #BlackLivesMatter ที่หักมุมจบด้วยความย้อนแยงส่วนตัว

Focus
  • ภาพยนตร์The Birth of a Nation เข้าฉายในปี 2016 มีเนื้อหาเชิงเชิดชูประวัติศาสตร์คนดำ และถ่ายทอดเรื่องราวของการประท้วงของทาสผิวดำ แต่ความหักมุมคือ เนต พาร์เกอร์ ผู้กำกับกลับเคยถูกฟ้องเสียเองด้วยคดีข่มขืน
  • ความจริงแล้วใน ค.ศ. 1915 มีหนังชื่อเดียวกันคือ The Birth of a Nationออกฉายเป็นหนังยาว 100 นาทีเรื่องแรกของโลกภาพยนตร์ แต่ในแง่เนื้อหากลับเป็นหนังที่ถูกโจมตี ในแง่ผลิตซ้ำภาพจำของคนผิวดำที่สังคมผิวขาวมอบให้ และทำให้The Birth of a Nation ปี 2016 ตั้งใจตั้งชื่อซ้ำเพื่อยึดคืนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนผิวดำคืนมา

ในระบบสตรีมมิงตอนนี้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับการเหยียดสีผิว หนังสะท้อนสังคมคนแอฟริกัน-อเมริกัน ประเด็นเรื่องชนชั้นที่มาพร้อมกับสีผิว ให้เลือกชมอยู่มากมาย แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งอาจหาชมได้ยากแล้วเต็มที แต่ได้รับการบันทึกโดยเสียงวิจารณ์จากผู้ชม และกลุ่มต่างๆ ว่าเป็นหนังเพื่อคนผิวสี เพื่อแรงงานทาส ที่มีความย้อนแยงที่สุดเรื่องหนึ่งแม้จะเกิดจากเรื่องส่วนตัวก็ตาม นั่นก็คือ The Birth of a Nation เข้าฉายในปี 2016 ซึ่งเสียงตอบรับนั้นประมาณว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นหนังดีที่ปลุกพลังของการต่อต้านการเหยียดสีผิว #BlackLivesMatter ในสังคม แต่จริงๆ แล้วกลับมีภาพของการย่ำยีผู้อื่นทับซ้อนอยู่ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ก็ตาม

 The Birth of a Nation

The Birth of a Nation อาจจะได้ออสการ์ไปครองสวยๆ หากเรื่องส่วนตัวของผู้กำกับ เนต พาร์เกอร์ (Nate Parker) ไม่ถูกปูดออกมา เพราะว่าเขาและผู้เขียนบทร่วม ชอง เซเลสติน (Jean Celestin) เคยถูกฟ้องคดีข่มขืนเมื่อ 17 ปีก่อนที่หนังเข้าฉาย ทว่าสิ่งแย่ที่สุดคือหญิงสาวซึ่งเป็นผู้ฟ้องในคดีนี้ต้องผิดหวังขนาดหนักจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

คำถามที่ตามมาคือ ผู้ชมควรจะดูภาพยนตร์ที่อยากให้เข้าใจหัวใจของผู้อื่น แต่ในขณะที่ผู้กำกับเองอาจจะยังไม่เข้าใจและเห็นใจคนอื่นจนนำพาไปสู่คดีข่มขื่นเช่นนี้ โดยหลังจากที่หนังเปิดตัว กลุ่มเรียกร้องสิทธิคนผิวดำใช้หนังเป็นตัวเปิดบทสนทนาถึงประวัติศาสตร์การกดขี่ ส่วนกลุ่มเฟมินิสต์ก็โจมตีหนังเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืน

ในตอนแรกเริ่มที่ภาพยนตร์เปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ (Sundance Film Festival) เมื่อเดือนมกราคม 2016 หนังได้สร้างความน่าตื่นเต้นด้วยการที่ค่ายหนัง ฟ็อกซ์เซิร์ช ไลต์ (Fox Searchlight) ซื้อไปด้วยมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ค่ายกล้าลงทุนด้วยเงินมหาศาลเพราะท่วงทำนองของหนังเรื่องนี้เป็นเชิงที่เชิดชูประวัติศาสตร์คนดำ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของการประท้วงของทาสผิวดำ และปลุกกระแสเรื่องการเหยียดสีผิว พลัง #BlackLivesMatter ที่กำลังเป็นประเด็กร้อนแรงอยู่ในสังคมอเมริกา

#BlackLivesMatter

อีกทั้งหนังยังกำกับ เขียนบท และนำแสดงโดย เนต พาร์เกอร์ ซึ่งนักแสดงผิวดำ เรียกว่าหนังเรื่องนี้ออกมารับกับกระแส ออสการ์ขาวเกินไป หรือ #OscarSoWhite ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงและถูกโจมตีอยู่ในช่วงนั้นว่า รางวัลออสการ์เป็นรางวัลของคนผิวขาวเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกคาดหวังว่าจะชนะรางวัลออสการ์ใน 2017 ไปอย่างฉลุย อีกทั้งหนังยังตอบรับความรุ่งเรืองของกระแสการเปิดรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) และเล่าถึงขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งรณรงค์แก้ไขปัญหาการเหยียดสีผิวอย่างเข้มข้นในช่วงนั้น

ครั้นถึงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน สื่อได้ขุดคุ้ยข่าวและพบว่า เนต พาร์เกอร์ รวมทั้งผู้เขียนบทร่วม ชอง เซเลสติน เคยถูกฟ้องคดีข่มขืน ฝ่ายเนตนั้นรอดพ้นจากโทษ แต่ชองถูกตัดสินจำคุกก่อนจะพ้นโทษในศาลชั้นต่อมาจนทำให้เกิดการถกเถียงว่าพวกเขาทำผิดจริงไหม และคนดูควรจะดูหนังของคนข่มขืน และคนที่เหยียบย่ำผู้อื่นอยู่ไหม

กระแสเรื่องส่วนตัวของเนตยิ่งย่ำแย่ขึ้นเมื่อเนตให้สัมภาษณ์สื่อด้วยท่าทีค่อนข้างเย็นชา ทำให้ผู้ชมปฏิเสธเมื่อหนังเข้าฉายในเดือนตุลาคม จนกระแสรางวัลออสการ์หดหายไป

#BlackLivesMatter

เรื่องย่อ

The Birth of a Nation เล่าเรื่องโดยที่ไม่ประนีประนอมในการเสนอภาพคนผิวขาวในแง่ชั่วร้าย เมื่อเทียบกับบรรดาหนังเกี่ยวกับทาสในอเมริกาเรื่องอื่นๆ อย่าง Amistad (1997) และ 12 Years A Slave (2013) มิหนำซ้ำหนังยังขยี้ด้วยการตั้งชื่อล้อเลียนหนังใน ค.ศ. 1915 เรื่องThe Birth of a Nation โดยผู้กำกับ ดี.ดับเบิลยู. กริฟฟิท ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์หนังอเมริกา เพราะเป็นหนังที่พัฒนามาเป็นเรื่องยาวได้ 100 นาที เรียกว่าเป็นหนังยาวเรื่องแรกของโลกก็ได้ ทั้งยังได้เข้าฉายในทำเนียบขาว

แต่เนื้อหาของThe Birth of a Nation เวอร์ชันดั้งเดิมกลับเชิดชูขบวนการคู คลักซ์ แคลน (Ku Klax Klan) ทั้งยังผลิตซ้ำภาพจำของคนผิวดำที่สังคมผิวขาวมอบให้ และสอนให้คนผิวดำต้องเจียมเนื้อเจียมตัวรู้ถึงสิทธิ์ของตัวเอง

ดังนั้นถึงแม้จะเด่นในแง่วิวัฒนาการภาพยนตร์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยรอยบาป ด้วยเหตุนี้เองเวอร์ชัน 2016 จึงต้องการตั้งชื่อให้เหมือนกันเพื่อยึดคืนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนผิวดำ ว่าอเมริกาเกิดขึ้นได้เพราะการต่อสู้ของคนผิวดำและเพื่อปลุกพลังให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

The Birth of a Nationเวอร์ชันใหม่บอกเล่าประวัติของ แนต เทอร์เนอร์ (Nat Turner) ทาสที่เป็นผู้นำขบวนการปลดปล่อยทาส ที่ออกสังหารนายทาสผิวขาวราว 60 ชีวิต เขาเป็นผู้อื้อฉาวในประวัติศาสตร์ เพราะด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นฆาตกรชั่วร้าย แต่อีกด้านหนึ่งคือตำนานของคนดำในการปลดปล่อยอิสรภาพ

หนังเล่าตั้งแต่แนตเกิดจนตาย เขาเป็นทาสในไร่ของตระกูลเทอร์เนอร์ พ่อต้องหนีไปเพราะฆ่าคนขาวตาย ส่วนแม่และยายของเขาก็เป็นทาส ความแตกต่างของแนตกับคนอื่น ๆ คือ แนตมีพรสวรรค์ในการอ่านหนังสือ

ในวัยเด็กนายหญิงผิวขาวเลือกแนตมาเป็นนักเรียนส่วนตัวของเธอ แต่หนังมิได้เสนอการเป็นหนี้บุญคุณระหว่างทาสและนายหญิงเลย ซึ่งถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นก็อาจจะมีการสาดแสงสว่างไสวให้ตัวละครผิวขาวใจบุญไปแล้ว แต่ฉากที่นายหญิงชวนแนตไปห้องสมุด หนังใส่โทนน่ากลัวขึ้นมา และเมื่อแนตเดินไปเลือกหนังสือ นายหญิงก็สั่งห้ามหยิบหนังสือเล่มอื่นเพราะเป็นหนังสือของคนขาว หนังสือเล่มเดียวที่นายหญิงให้แนตฝึกอ่านได้ก็คือ “ไบเบิล”

หนังเรื่องนี้นำเสนอคัมภีร์ไบเบิลในสองมุม มุมหนึ่ง คือ หนังโชว์ให้เห็นว่าชนชั้นสูงผิวขาวไม่ได้แค่สอนให้แนตอ่านไบเบิลเพื่อผลทางจิตวิญญาณ แต่อ่านไบเบิลยังเป็นเครื่องมือใช้งานแนตอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อแนตเติบโต ตระกูลเทอร์เนอร์ก็ใช้แนตเป็นทาสผู้สร้างรายได้พิเศษ โดยให้บ้านคนขาวอื่นๆ “เช่า” แนตไปเทศน์ให้บรรดาทาสของบ้านนั้น ๆ ฟัง

 The Birth of a Nation

การเทศน์นี้ไม่ได้ให้ทาสบรรลุทางจิตวิญญาณ แต่เพื่อให้ทาสเชื่อฟังและต้องทำงานหนักต่อไปโดยไม่มีปากมีเสียง การออกตระเวนไปเทศน์ตามฟาร์มต่าง ๆ ทำให้แนตเห็นความยากแค้นของชีวิตทาสในไร่อื่น ๆ หนังมีฉากรุนแรงที่ทาสโดนทรมานอย่างโหดร้าย รวมทั้งฉากเล็ก ๆ แต่ใจหายวาบเมื่อแนตนั่งรถผ่านแล้วเจอศพทาสผิวดำกองบนพื้นไร้ดินกลบหน้า

ในอีกทางหนึ่ง ไบเบิลก็เชื่อมโยงกับชะตาชีวิตของแนตเอง เพราะหนังจงใจเปรียบเทียบเขาเป็นดั่งพระเยซู หนังเปิดเรื่องกลางป่าโดยมีพิธีกรรมบ่งบอกว่าแนตเป็น “ผู้ถูกเลือก” พอถึงฉากกลางเรื่องไบเบิลก็เป็นส่วนสำคัญที่แนตใช้ชักชวนทาสคนอื่นมาร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

หนังยังมีฉากที่แนตถูกนำเสนอในรูปลักษณ์พระเยซูผิวดำ เมื่อแนตถูกประหารก็มีทูตสวรรค์มารอรับ และท้ายที่สุดตามโครงสร้างแบบพระเยซู แนตก็ฟื้นคืนขึ้นมา แต่ไม่ได้คืนชีพจริง ๆ หากแต่อุดมการณ์ของแนตมีเด็กรุ่นใหม่สานต่อจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในอเมริกา

อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ประเด็นในหนังและข่าวฉาวของหนังเชื่อมกันคือการนำเสนอภาพตัวละครหญิง โดยหนังเล่าว่าแนตมีภรรยาที่เป็นทาสด้วยกัน และต่อมาเธอถูกนายทาสผิวขาวข่มขืน รวมทั้งเพื่อนสนิทของแนตก็มีภรรยาที่ถูกคนผิวขาวข่มขืนเช่นกัน หนังใช้ผู้หญิงเป็นชนวนสำคัญที่สุดที่ทำให้บรรดาทาสชายลุกขึ้นสู้จนแม้จะตายก็ยอม

ดังนั้นเมื่อดูถึงฉากเหล่านี้ ผู้ชมส่วนหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงข่าวฉาวเกี่ยวกับผู้กำกับและคนเขียนบทร่วมในฐานะที่อาจเป็นผู้ข่มขืนเสียเองในชีวิตจริง แม้จะมีคำกล่าวว่าเราควรจะดื่มด่ำกับงานของศิลปินมากกว่าเรื่องราวชีวิตของเขา แต่คำถามที่ค้างคาใจหลายคนคือ เราจะสามารถเสพงานศิลปะโดยไม่สนใจเรื่องราวของศิลปินคนนั้นๆ ได้อย่างไร ในเมื่อแก่นกลางของงานศิลปะ และแก่นกลางของประเด็นฉาวในชีวิตศิลปินนั้นมันเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกัน จนคนดูหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมโยง และทำให้การปลุกพลังของ #BlackLivesMatter ผ่านหนังเรื่องนี้มีความย้อนแยงกันอย่างพิกล

อ้างอิง


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์