ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง : ปรัชญาแห่งการจัดการเวลาฉบับคนขี้เกียจ โดย จอห์น เพอร์รี
- ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง (The Art of Procrastination) เขียนโดย จอห์น เพอร์รี (John Perry) นักเขียน นักปรัชญาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง เป็นหนังสือที่ต่อยอดจากงานศึกษาทฤษฎีการผัดวันประกันพรุ่งแบบมีโครงสร้าง ที่ทำให้ จอห์น เพอร์รี คว้ารางวัลอิกโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำ ค.ศ. 2011
ปัญหาเรื่องเวลาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของมนุษย์โลกสมัยใหม่ที่ชีวิตถูกกำกับด้วยเข็มนาฬิกา ตั้งแต่ตื่นนอน ทำงาน ชอปปิง ไปจนถึงการกำหนดลมหายใจ สำนวนไทยๆ อย่าง อย่าผัดวันประกันพรุ่ง บอกให้รู้ว่าความเร็วของเวลาก็เป็นอีกสิ่งสำคัญมากไปกว่าการมีเวลา กิจกรรมมากมายถูกกำหนดให้เดินไปถึงจุดสำเร็จในอัตราเร่งรีบและแข่งกับเข็มนาฬิการาวกับกำลังวิ่งมาราธอนที่ลู่วิ่งคือชีวิตทั้งชีวิต แต่ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังวิ่งแข่งกับเวลาอยู่นั้นกลับมีเพื่อนมนุษย์ชื่อ จอห์น เพอร์รี (John Perry) ขอทวนเข็มหน้าปัด เขาคนนี้เป็นทั้งนักเขียน นักปรัชญา และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในขอบเขตสาขาปรัชญาภาษา (Philosophy of Language) และปรัชญาจิต (Philosophy of Mind) ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) ขั้วตรงข้ามอย่างหยอกล้อของรางวัลทรงเกียรติอย่างโนเบล (Nobel) ด้วยผลงานการศึกษา ทฤษฎีการผัดวันประกันพรุ่งแบบมีโครงสร้าง (structured procrastination) ซึ่งเป็นหัวข้อที่มนุษย์ผู้มีเวลากำกับชีวิตอาจอมยิ้มและตั้งคำถามว่า มีด้วยเหรอ คำตอบคือ มีแน่นอน และเพอร์รีก็ได้ขยายงานศึกษาชิ้นนี้สู่หนังสือเล่มที่มีชื่อว่า ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง (The Art of Procrastination) โดดเด่นด้วยการล้อเล่นกับความจริงจังของเวลาได้สนุกมาก
ข้อเสนอทางปรัชญาของเพอร์รีใน ศิลปะการผัดวันประกันพรุ่ง คือการใช้วิธีคิดหาความขัดแย้งแบบเดียวกับการใช้ทักษะโต้แย้งสไตล์นักปรัชญา เพอร์รีได้เสนอข้อขัดแย้งในพฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่งและในขณะเดียวกันก็ชักชวนผู้อ่านมาคิดหาคำตอบไปพร้อมกัน เช่น การมองว่าการผัดวันประกันพรุ่งเป็นความล้มเหลวจริงหรือไม่ หรือแท้จริงการผัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยของผู้นิยมความสมบูรณ์แบบที่ทำให้เหล่านักผัดวันประกันพรุ่งไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ เสียทีหากพวกเขายังไม่เห็นทางที่จะนำไปสู่ความเพอร์เฟกต์ เพอร์รีใช้ทักษะของนักปรัชญารื้อสร้างร่องรอยทางความคิดเกี่ยวกับการผัดวันประกันพรุ่งที่ถูกตราความหมายเดิมไว้ พร้อมกับแหวกรอยนั้นสู่การขบคิดใหม่อีกครั้งว่า สิ่งที่ถูกเชื่อไปแล้วอาจไม่เป็นจริงเช่นนั้นเสมอไป โดยหนึ่งในข้อขัดแย้งที่น่าสนใจคือ นักผัดวันประกันพรุ่งมักเป็นผู้หน่วงเวลากิจกรรมของตนใช่หรือไม่ หากไม่ใช่ก็อาจไม่ถือว่าเป็นการผัดวันประกันพรุ่ง แต่หากใช่ล่ะ อะไรเป็นสาเหตุ…
เพอร์รีสำรวจแนวคิดของการจัดการเวลาโดยเสนอให้มองที่จุดเล็กๆ อย่าง รายการสิ่งที่ต้องทำประจำวัน เสียใหม่ว่าบางทีการที่คนไม่อยากทำ อยากเป็นนักผัดวันประกันพรุ่งก็อาจมาจากเรื่องเล็กๆ อย่าง รายการสิ่งที่ต้องทำประจำวัน ก็เป็นได้ เช่น การตื่นนอนและเริ่มต้นภารกิจของวันที่ใหญ่เกินไป ต่อเมื่อเราเห็นว่าภารกิจนั้นดูยาวไกลเกินก็อาจนำมาสู่การผัดผ่อนอย่างไม่รู้จักเสร็จเพอร์รีตั้งข้อสังเกตของการตั้งนาฬิกาปลุกหลายเครื่องกับการตั้งปลุกนาฬิกาเครื่องเดียว แต่ตั้งซ้ำๆ เพื่อย้ำว่ารีบตื่นซะ เรามีงานมากมายรออยู่ จุดนี้อาจทำให้นักผัดวันประกันพรุ่งรู้สึกว่าภารกิจที่กำลังจะไปเจอทั้งวันนั้นมากมายจนอยากบาย อยากนอนต่อ
ตรงกันข้ามหากลองเปลี่ยนมาใช้นาฬิกาปลุกสองเครื่องโดยเครื่องแรกตั้งไว้ข้างเตียงเหมือนเดิมให้เอื้อมมือไปกดปิดถึง และเครื่องที่ 2 วางติดไว้กับเครื่องต้มกาแฟ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นวันที่ทำให้มีแรงใจอยากทำงานมากขึ้น จากตื่นมาแล้วรีบไปทำงานเลยก็เป็นการตื่นมาแล้วทำภารกิจเล็กๆ ที่สำเร็จได้ง่ายๆ อย่างชงกาแฟแล้วค่อยขยายไปที่การงาน ซึ่งนี่อาจจะทำให้เราอยากลุกขึ้นมาโดยไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกซ้ำๆ ก็เป็นได้ เปรียบเทียบกับการวางเป้าหมายที่ใหญ่และไกลมากไปที่สามารถทำให้เราหมดไฟ และแผดเผาพลังงานตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ กลับกันการสะสมอุ่นเครื่องความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ จนเดินทางไปสู่ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ก็อาจจะทำให้ไม่อยากต้องผัดวันประกันพรุ่งก็เป็นไปได้
ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง ของ จอห์น เพอร์รี จึงเต็มไปด้วยการเสนอให้เห็นถึงชีวิตประจำวันที่ผ่านมาที่เราอาจละเลยรายละเอียดทางความคิดเล็กๆ น้อยๆ ของพฤติกรรม ซึ่งในที่นี้คือการ ผัดวันประกันพรุ่ง ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นนิสัยที่แก้ไม่เคยหาย แต่หากมองอีกมุมอาจเป็นเพราะความคุ้นชินบางอย่างที่ไม่เคยถูกรื้อสร้างใหม่ จนท้ายที่สุดการไม่คิดคำนึงถึงชีวิตที่เป็นอยู่นั้นนำไปสู่การสร้างนิสัยที่เจ้าตัวเองก็อาจไม่พึงประสงค์อย่างเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งก็เป็นได้ การผัดวันประกันพรุ่งจึงมีนัยะเชื่อมโยงสู่ปัญหาใหญ่ของยุคสมัยอย่าง การหมดไฟ ที่มีความหมายร่วมกันคือ การยังไม่อยากทำภารกิจที่ดูเหมือนใหญ่หลวงทันที เพราะพลังงานไม่พอ หรือบ้างก็ว่าหาแรงบันดาลใจไม่เจอ หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะคิดโต้เถียงหรือวิเคราะห์ข้อเสนอของเพอร์รีในเชิงปรัชญา ทั้งปรัชญาภาษาที่เพอร์รีใช้สำรวจคำอย่างผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อหาแง่มุมทางนิยามและใช้ทำความเข้าใจคุณสมบัติอันหลากหลายของมัน รวมทั้งทักษะปรัชญาจิตที่เพอร์รีใช้ทำความเข้าใจความคิดของการผัดวันประกันพรุ่งอีกด้วย
อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจด้วยความสร้างสรรค์ของเพอร์รีที่ใช้รูปแบบการเขียนหนังสือแบบฮาวทูเพื่อล้อกับรูปแบบหนังสือในลักษณะนี้ที่มักถูกใช้เพื่อพูดถึงวิธีการมุ่งสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่เพอร์รีกลับใช้รูปแบบฮาวทูมานำเสนอแนวคิดทางปรัชญาที่จะนำไปสู่ความย้อนแย้งทางแนวคิดและพฤติกรรมของนักผัดวันประกันพรุ่ง ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับความสำเร็จ ซึ่งเพอร์รีก็พยายามทำให้เห็นว่า แม้แต่เหล่านักผัดวันประกันพรุ่งก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในอีกแนวทางหนึ่ง ถ้ามองเห็นโครงสร้างของพฤติกรรมตนเองและมีสติต่อการกระทำจนควบคุมจิตใจของตนได้
Fact File
ศิลปะแห่งการผัดวันประกันพรุ่ง
ผู้เขียน : จอห์น เพอร์รี
ผู้แปล : จินดารัตน์ ธรรมรงวุทย์
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ How to
ราคา : 255 บาท