ปราชญ์แห่งธนู : ศาสตร์การใช้ชีวิตที่เปรียบได้กับการง้างคันธนู
Lite

ปราชญ์แห่งธนู : ศาสตร์การใช้ชีวิตที่เปรียบได้กับการง้างคันธนู

Focus
  • ปราชญ์แห่งธนู (The Archer) เป็นงานเขียนประเภทนิยายของ เปาโล คูเอลญ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการฝึกฝน “คิวโด” วิถีแห่งธนูในแบบของญี่ปุ่น
  • เปาโล คูเอลญ (Paulo Coelho) เป็นนักเขียนชาวบราซิลที่มีผลงานโด่งดังเจ้าของสถิติหนังสือนิยายแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดในโลกจากเรื่อง The Alchemist หรือชื่อไทย ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน

“นักธนูผู้เดินไปตามวิถีแห่งธนูไม่จำเป็นต้องมีคันธนู ลูกธนู หรือเป้าก็ได้” 

นี่คือหนึ่งถ้อยคำในบทนำจากหนังสือ ปราชญ์แห่งธนู (The Archer) ประพันธ์โดย เปาโล คูเอลญ (Paulo Coelho) ที่จุดประกายคำถามและชวนให้ผู้อ่านสงสัยว่า “อะไรคือ วิถีแห่งธนู”

ปราชญ์แห่งธนูงานเขียนประเภทนิยายที่แบ่งเป็นบทสั้นๆ แต่บอกรายละเอียดของวิธีการ พิธีการ และปรัชญาแห่งการยิงธนู พร้อมนำผู้อ่านเดินทางไปกับตัวละครหลัก 3 ตัวละคร คือ เทะสึยะ ช่างไม้ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ไม่เคยแสดงตัวว่าเขาเป็นนักธนู เด็กชาย ผู้เฝ้ามองเทะสึยะพร้อมกับการทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเทะสึยะจากคำบอกเล่าของ คนแปลกหน้า ผู้ได้กล่าวยกย่องเทะสึยะว่าช่างไม้คนนี้แหละแท้จริงคือปรมาจารย์นักธนู จากนั้นเรื่องราวของเด็กน้อยกับนักธนูและการยิงธนูจะพาผู้อ่านเข้าสู่บทเรียนชีวิตที่ถูกเล่าผ่านศาสตร์การยิงธนู เริ่มตั้งแต่วิธีการยิงธนูที่ถูกต้องเหมาะสมที่ส่งผลต่อผลลัพธ์  การยิงธนูที่ไม่ใช่แค่เกมกีฬาแต่ยังเป็นทุกกิจกรรมในชีวิตคนคนหนึ่ง เพราะธนูมีทั้งพิธีการ การเรียนรู้ การฝึกฝน การใช้เครื่องมือ การใช้ร่างกายเพื่อให้การกระทำออกมาถูกต้องเหมาะสมและสมบูรณ์แบบ

ปราชญ์แห่งธนู
ภาพ : nanmeebooksfan

ตามเนื้อเรื่อง ปราชญ์แห่งธนู  ผู้อ่านได้จะเริ่มต้นทำความรู้จักกับ เทะสึยะ ผู้ที่วางหัวโขนการเป็น “นักธนู” มาเป็น “ช่างไม้” ในหมู่บ้านริมลำธาร แต่กระนั้นตัวตนของนักธนูเทะสึยะไม่ได้สูญหายไป วิถีแห่งธนูมันอยู่ในจิตวิญญาณและการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งนั่นทำให้ด็กชายในหมู่บ้านรู้สึกตื่นเต้นกับการค้นพบว่า ช่างไม้ธรรมดาคนนั้นเคยเป็นยอดนักธนูมาก่อน เด็กชายได้เรียนรู้วิถีธนูจากเทะสึยะและจากคนแปลกหน้าที่เดินทางมายังหมู่บ้านพร้อมอุปกรณ์ธนูครบครันรวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะฝึกวิชายิงธนูให้แม่นยำจากปรมาจารย์เทะสึยะ

ระหว่างทางแห่งการฝึกฝน เราจะเริ่มตั้งคำถามมากมายอยู่ในหัวว่าอะไรกันแน่คือวิถีแห่งธนู ส่วนคำตอบล้วนอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร จากคำถามของเด็กน้อยผู้อยากเรียนธนูจากคนแปลกหน้าที่อยากแม่นธนู และคำตอบของเทะสึยะ นักธนูผู้ผันตัวมาเป็นช่างไม้แต่ทว่าสุดท้ายชีวิตของเขาก็ยังเดินตามวิถีแห่งธนู เทะสึยะยังเป็นนักธนูที่ปราศจากคันธนู ลูกธนู และเป้า

ในบทที่ว่าด้วย “การสอนวิธียิงธนู” เปาโล คูเอลญ ผู้เขียนอธิบายได้อย่างลึกซึ้งถึงวิธีคิดผ่านความหมายของคันธนู ลูกธนู สายธนู กระทั่งท่วงท่าการดึงและปล่อยลูกธนูที่เป็นไปตามนัยแห่งปรัชญาสายเซน คำพูดง่ายๆ ที่ว่า การกระทำสิ่งใดจะไร้ความหมายถ้าปราศจากจิตวิญญาณ ถูกอธิบายไว้ในนิยายเล่มนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยหนึ่งในบทเรียนสำคัญของการเป็นนักธนูที่เทะสึยะบอกกับเด็กชายและคนแปลกหน้าคือ ความสำคัญของสัญชาตญาณ

“หลักวิชาทำให้มือทั้งสองข้างพร้อม การหายใจสอดประสานและสายตาจับจ้องที่เป้า ส่วนสัญชาตญาณก็ช่วยให้ช่วงเวลาที่ปล่อยลูกธนูออกไปสมบูรณ์แบบ” 

ปราชญ์แห่งธนู
ภาพ : nanmeebooksfan

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสมบูรณ์แบบในความหมายของเทะสึยะต้องมาจากการเรียนรู้หลักวิชาจนกลายเป็นสัญชาตญาณ นั่นหมายความว่า ถ้าไม่ฝึกฝนก็ไม่แม่นยำและไม่เก่ง แค่ความถูกต้องทางกายภาพไม่เพียงพอ แต่ต้องเชื่อมโยงกายกับจิตวิญญาณและการฝังทักษะและความเข้าใจเหล่านั้นไว้ในตัวตนดังที่เทะสึยะอธิบายกับเด็กชายว่า

“วิถีแห่งธนูคือวิถีแห่งความสุขและความกระตือรือร้น ความสมบูรณ์แบบและความผิดพลาด หลักวิชาและสัญชาตญาน แต่เจ้าจะได้เรียนรู้เรื่องนี้เมื่อหมั่นยิงธนูอยู่เสมอ”

อีกทั้งความกล้าก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ความเพียร  ณ จุดหนึ่งนักธนูได้ถ่ายทอดมุมมองที่คนยิงธนูต้องก้าวข้ามความล้มเหลวหากยิงธนูพลาดเป้า หนึ่งในสิ่งสำคัญคือการเริ่มต้นที่จะกล้าเผชิญความล้มเหลวนั้น และเรียนรู้ที่จะเดินต่อไปจนพบความสำเร็จ

“ถ้าเธอไม่ยอมเสี่ยง เธอจะไม่รู้ว่าเธอควรเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ลูกธนูทุกดอกทิ้งความทรงจำไว้ในใจ และการประมวลความทรงจำเหล่านั้นแหละที่จะทำให้เธอยิงได้แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม”

ตัวละครเทะสึยะเป็นดุจร่างทรงของ เปาโล คูเอลญ ผู้ประพันธ์ที่ส่งต่อความคิดจากการยิงธนูสู่การดำรงอยู่และมุมมองของการดำเนินชีวิตมนุษย์ เรื่องราวที่เป็นผลลัพธ์จากการฝึกฝนสมาธิด้วยศาสตร์แห่งธนูที่เรียกว่า “คิวโด” (kyodo)  ขณะที่ตัวละครเด็กชาย เป็นตัวแทนของผู้เรียนรู้ซึ่งผู้ประพันธ์คูเอลญก็เคยฝึกหัดยิงธนูมาเช่นกัน

ในบทส่งท้ายของหนังสือ ปราชญ์แห่งธนู นั่นเทะสึยะ ได้บอกกับ เด็กชายว่า  “…แต่เหนืออื่นใด อย่าลืมว่า สิ่งที่ข้าบอกเจ้าอาจเป็นถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจ แต่เจ้าจะเข้าใจมันได้ต่อเมื่อเผชิญเหตุการณ์จริงด้วยตัวเองเท่านั้น” เป็นเสมือนเสียงจากผู้เขียน เปาโล คูเอลญ ถึงผู้อ่านของเขา เปรียบการเรียนยิงธนูให้เป็นมันจบลงได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง การเดินทางบนหน้ากระดาษจบลงภายในเวลาไม่นาน…แต่การฝึกฝนยังไม่สิ้นสุด  

ปราชญ์แห่งธนู
Paulo Coelho ผู้ประพันธ์

เกี่ยวกับหนังสือ

ปราชญ์แห่งธนู (The Archer) เป็นงานเขียนประเภทนิยายของ เปาโล คูเอลญ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการฝึกฝน “คิวโด” วิถีแห่งธนูในแบบของญี่ปุ่นที่รวมศาสตร์และปรัชญาแห่งธนู โดยการยิงธนูเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ถูกใช้ในกระบวนการฝึกสมาธิและเรียนรู้ปรัชญาการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ เปาโล คูเอลญ ชื่นชอบและฝึกฝนด้วยตัวเอง

หนังสือเล่มนี้ออกมาในชื่อ The Way of the Bow ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 2008 รูปหน้าปกเป็นภาพถ่ายของเปาโล คูเอลญ กำลังตั้งท่ายิงธนู

เมื่อ ค.ศ.2013 เปาโล  คูเอลญได้บอกเหตุผลของการเขียนงานชิ้นนี้ว่าเป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงการฝึกฝนยิงธนูเพื่อสร้างสมาธิของเขา โดยเขาโพสต์บนโซเชียลมีเดียบัญชีทางการของเขา (www.facebook.com/paulocoelho/) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ว่า  “ผมเขียนถ้อยทำที่บอกถึงการที่ คันธนู ลูกธนู เป้า และนักธนู ได้หลอมรวมกันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโตและความท้าทาย” 

ต่อมา  The Way of the Bow ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น The Archer ฉบับภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2020  แปลภาษาอังกฤษโดย  Margaret Jull Costa  วาดภาพประกอบโดย  Christoph Niemann  ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดังที่ทำงานภาพประกอบให้กับนิตยสาร The New Yorker หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์  และอีกมากมาย รวมทั้งมีผลงานระดับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ  (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศิลปินวาดภาพประกอบได้ในสารคดีชุด  “Abstract: theArtofDesignofChristophNiemann:Illustration”  ฉายทาง เน็ตฟลิกซ์)

ปราชญ์แห่งธนู ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2564 แปลโดย พลอย โจนส์ (พลอยแสง เอกญาติ )สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ วาดภาพประกอบ กานดา ตั้งตรงจิต โดยใช้นามปากกา “Kanda” หนังสือเล่มนี้เป็นการเรียบเรียงปรัชญาตามแนวคิดปรัชญาเซนที่ได้จากการยิงธนูออกมาเป็นนิยายเล่มบาง (ในกิตติกรรมประกาศท้ายเล่ม มีคำขอบคุณและระบุชื่อหนังสือ Zen in the Art of Archery (Derby Edition, 2016) และหนังสือ Kyudo, Budo Editions) มีรายละเอียดและวิธีคิดที่จัดเข้าหมวดหนังสือ how to ก็ได้ แต่เป็น how to แบบมีสุนทรียะ ซึ่งเป็นเสน่ห์ในงานเขียนของ เปาโล คูเอลญ และทำให้เขากลายเป็นนักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเสมอมา หมวดหมู่เนื้อหาหนังสือของเปาโล คูเอลญจึงถูกจัดไว้ทั้งในหมวด “นิยายชีวิต” ตามรูปแบบการเขียนเรื่อง หมวด “ปรัชญา” ตามเนื้อหาที่สื่อสารออกมา และ หมวด “พัฒนาตัวเอง” ตามการใช้งานอ่านแล้วได้อะไร อัดแน่นไปด้วย “วลีคำคม” กระตุกใจชวนให้คนอ่านได้คิดถึงการดำรงอยู่และวิถีแห่งการใช้ชีวิต

นอกเหนือจากถ้อยคำ คนอ่านจะได้สัมผัสสุนทรียะในแบบเซน จากการจัดวางรูปเล่มมีพื้นที่ว่าง สลับหน้าที่มีข้อเขียนเป็นตัวอักษร และภาพวาดประกอบ  ซึ่งในฉบับภาษาอังกฤษ  (ตีพิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน ค.ศ. 2020) ภาพประกอบสร้างสรรค์โดย  Christoph Niemann  ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง และในฉบับแปลภาษาไทย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ภาพประกอบวาดโดย กานดา ตั้งตรงจิต นามปากกา “Kanda”

เกี่ยวกับผู้ประพันธ์

เปาโล คูเอลญ (Paulo Coelho) เป็นนักเขียนชาวบราซิลที่มีผลงานโด่งดังเจ้าของสถิติหนังสือนิยายแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดในโลกจากเรื่อง The Alchemist หรือชื่อไทย ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน ทั้งนี้ เปาโล คูเอลญ ถูกจัดให้เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกเป็นอันดับ 2 ในโพลเมื่อปลาย ค.ศ. 2016 งานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 81 ภาษา และวางจำหน่ายใน 170 ประเทศ โดยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในงานเขียนของเขาคือการเชื้อเชิญให้คนอ่านเดินทางไปพร้อมกับเขาหรือตัวละครของเขาสู่ดินแดนของการทำความรู้จักตัวตนและจิตวิญญาณในการดำรงอยู่ดังเช่นเรื่อง ปราชญ์แห่งธนู เล่มนี้

Fact File

ปราชญ์แห่งธนู

แปลจากหนังสือต้นฉบับ: The Archer

ผู้เขียน: Paulo Coelho

ผู้แปล: พลอยแสง เอกญาติ

สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป