ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่ บริษัททัวร์ กำลังถูกปิดประตูตายไปพร้อมกับ โควิด-19
- นอกจากร้านอาหารที่ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แล้ว อีกอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคือบริษัททัวร์และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่เหมือนร้านอาหารที่แม้จะถูกปิดหน้าร้านแต่ก็ยังพอจะยังส่งอาหารได้ แต่ท่องเที่ยวเป็นการปิดเชิงพื้นที่ เช่น ปิดเมือง ปิดการเดินทางข้ามประเทศ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามการรวมตัวซึ่งกระทบโดยตรงต่อกรุ๊ปทัวร์
“เราอยากให้รัฐช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว บริษัททัวร์ อยู่ได้ แรงงานอยู่ได้ ถ้ารัฐช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ เมื่อเราเปิดประเทศได้เมื่อไหร่เราจะฟื้นเร็วมาก การแจกเงินท่องเที่ยวเป็นการช่วยแค่ปลายทาง ใช้เงินหมดก็คือหมด จบ บริษัทไม่มีเงินหมุน ก็ต้องเลิกจ้างอยู่ดี การอัดเงินที่ปลายทางที่รัฐกำลังทำอยู่จึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือทั้งกลไกการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง”
นอกจากร้านอาหารที่ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แล้ว อีกอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคือ บริษัททัวร์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แน่นอนว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศถูกปิดประตูถาวรตั้งแต่การระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2563 ส่วนการเดินทางในประเทศนั้นแม้จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ทว่าก็ต้องมาหยุดชะงักในช่วงไฮต์ซีซั่นถึง 2 รอบ คือ ช่วงปีใหม่ และช่วงสงกรานต์ 2564
โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด ซึ่งเป็น บริษัททัวร์ ที่เปิดตำนานเที่ยวไทยและต่างประเทศมากว่า 41 ปี ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจไว้ว่า แม้ภาครัฐจะพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการท่องเที่ยวต่างๆ แต่เขากลับเห็นต่างว่า นั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นน้ำที่จะสามารถช่วยพยุงทั้งอุตสาหกรรมให้เดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบริษัททัวร์และท่องเที่ยวต้องปิดกิจการไปราว 90%
โปรโมชั่นเที่ยวไทยช่วยบริษัททัวร์ให้รอดได้จริงหรือ
“ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่เหมือนร้านอาหารที่แม้จะถูกปิดหน้าร้าน แต่ก็ยังพอจะยังส่งอาหารได้ การท่องเที่ยวเมื่อถูกปิด หมายถึงการปิดเชิงพื้นที่ เช่น ปิดเมือง ปิดการเดินทางข้ามประเทศ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามการรวมตัว ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการทำกรุ๊ปทัวร์ แต่เพื่อที่จะประคองธุรกิจให้ไปต่อ ที่ผ่านมาทุกคนก็พยายามปรับตัว
“โควิดระลอกแรกคนที่ทำเอาท์บาวด์พาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศก็ปรับตัวมาทำโดเมสติกเที่ยวในประเทศไทยเป็นหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่ารายได้จากทัวร์ในประเทศก็ไม่ได้สูงเท่าทัวร์ต่างประเทศ หรืออย่างพนักงานที่ทำเที่ยวต่างประเทศก็อาจจะได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่ทำเที่ยวในประเทศ ส่วนบริษัที่ทำอินบาวด์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยก็ต้องปรับมาเจาะตลาดคนไทยเที่ยวไทย ปรับลดพนักงานที่ประสานกับต่างชาติออก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับมาทำทัวร์โดเมสติกในประเทศได้ ความชำนาญในการทำท่องเที่ยวในประเทศอาจไม่ได้มีเท่าที่เขาเคยทำต่างประเทศ นั่นจึงทำให้บางบริษัทเลือกที่จะปิดตัวลงไป”
สำหรับบริษัทหนุ่มสาวทัวร์นั้น โชติช่วง เล่าว่าอาจจะถือเป็นความโชคดีที่เดิมทีทำทั้งโดเมสติก อินบาวด์ และเอาท์บาวด์ ต่อเมื่อการเดินทางต่างประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การปรับลดมาเที่ยวเฉพาะในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากจริงๆ คือการทำกำไร สร้างรายได้ เพราะที่ผ่านมาโปรแกรมทัวร์ในประเทศสำหรับหนุ่มสาวทัวร์มีรายได้หลักมากจากธุรกิจ ไมซ์ (MICE) หมายถึงการท่องเที่ยวกึ่งธุรกิจของบริษัทต่างๆ มีลักษณะการเดินทางเป็นกรุ๊ปขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นสวนทางกับมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่งดการรวมกลุ่ม หรือรวมกลุ่มได้ในจำนวนคนที่จำกัด หลายบริษัทจึงเลือกที่จะงดโปรแกรมเดินทางไปท่องเที่ยวประจำปี หรืองดจัดสัมมนาประจำปีของบริษัทในต่างจังหวัดไปเลย
“โมเดลของหนุ่มสาวทัวร์จะเป็นกลุ่มไมซ์ เป็นตลาดคอร์เปอร์เรท ซึ่งจากสถานการณ์โควิดทำให้บริษัทต่างก็มีความกังวลที่จะพาคนเยอะๆ ออกไปเดินทาง หลายบริษัทเปลี่ยนแผนเลือกที่จะไม่เสี่ยงดีกว่า ดังนั้นแม้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศจะเริ่มกลับมาคึกคักในกลางปีที่แล้ว แต่รูปแบบการเดินทางกลายมาเป็น Solo Traveller มากขึ้น ลูกค้าเปลี่ยนจากกลุ่มบริษัทมาเป็นครอบครัว ลูกค้าบุคคลมากขึ้น ซึ่ง Solo Traveller เป็นตลาดที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าบริษัท แต่การจะทำกำไรให้เกิดขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่ได้ง่าย
“อย่างเราเองยอมรับเลยว่ายอดขายลดลงกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังดีกว่าช่วงเดือนมีนาคม เมษายนของปีที่ผ่านา (2563) ที่ลดลงร้อยเปอร์เซนต์ ลูกค้ายกเลิกทุกกรุ๊ป ไม่เท่านั้นตั๋วเครื่องบินเราก็ต้องจ่ายคืนให้ลูกค้าไปก่อน สายการบินคืนเรามาเป็น Travel Voucher เป็นเครดิตที่เราต้องแบกรับไว้ เขาไม่ได้คืนเป็นเงินสดให้เรา แต่เราต้องหาเงินสดมาคืนให้ลูกค้า โรงแรมก็คืนมาเป็นเครดิตเหมือนกัน ไม่คืนเงิน ไม่ยึดคืน เดี๋ยวค่อยมาใช้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ในฐานะที่บริษัททัวร์เป็นตัวกลาง เราก็ต้องหาเงินมาคืนให้ลูกค้า เราต้องแบกรับตรงนี้ เฉพาะตั๋วเครื่องบินอย่างดียวก็คิดเป็นเงินหลายล้านบาท”
การช่วยเหลือต้นน้ำคือทางรอดของทัวร์ไทย
แน่นอนว่าเมื่อรายได้หดตัว ผู้ที่กระทบเป็นลำดับแรกคือพนักงาน สำหรับหนุ่มสาวทัวร์ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีนั้น เลือกที่จะพยายามรักษาพนักงานไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการลดวันทำงาน ปรับพนักงานบางส่วนมาขายของที่เขาอาจจะไม่ถนัดอย่างเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย สุดท้ายก็มีพนักงานบางส่วนเลือกการลาออกไปเอง เพราะรายได้ที่ลดลง
“พนักงานตอนแรกของเรามีเกือบ 80 คน เดือนหนึ่งเราจ่ายเงินเฉพาะเงินเดือนพนักงานประมาณเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการขายเจล ขายหน้ากาก หรือถ้าจะปรับมาขายอาหาร ด้วยต้นทุนสองล้านต่อเดือน ต้องคิดไปถึงว่าเราต้องขายอาหารมากขนาดไหนถึงจะได้เงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ทั้งหมด ตอนการระบาดระลอกแรกเราก็เลยตัดสินใจปิดบริษัทชั่วคราว พอระลอกสองเราก็เริ่มเอาของที่เรามีอยู่อย่างเต็นท์ อุปกรณ์เดินป่า รวมทั้งโรงแรมที่เป็นโปรดักส์ในเครือออกมาขาย ให้พนักงานโดยเฉพาะเซลส์ได้มีค่าคอมมิชชั่น ประคองกันไป”
และเมื่อเราถามต่อว่าในบรรดาการปรับตัวที่ทำมาตลอดหนึ่งปี มีหนทางไหนที่จะทำให้บริษัททัวร์ยังประคองตัวไปจนถึงการเกิดประเทศได้ โชติช่วง ตอบทันทีว่า “ไม่มี”
“รัฐคือคีย์ที่จะช่วยเราได้ เราอยากให้รัฐช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ แรงงานอยู่ได้ การแจกเงินท่องเที่ยวเป็นการช่วยแค่ปลายทาง ใช้เงินหมดก็คือหมด จบ บริษัทไม่มีเงินหมุน สุดท้ายก็ต้องเลิกจ้างอยู่ดี การอัดเงินที่ปลายทางที่รัฐกำลังทำอยู่จึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือทั้งกลไกการท่องเที่ยว การช่วยเหลือต้นน้ำคืออะไร เช่น ในบางประเทศบริษัทปิด เช่น ร้านอาหาร หรือบริษัททัวร์ หรือมีการล็อคดาวน์ทำงานไม่ได้ แต่รัฐยังคงจ่ายเงินให้พนักงานประมาณ 15,000-18,000 บาท หรือราว 80% ของเงินเดือน ไม่ได้จ่ายให้พนักงานโดยตรง แต่จ่ายให้ผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการจะสมทบ หรือไม่สมทบเพิ่มก็ได้ ส่วนผู้ประกอบการก็จ่ายเงินสมทบประกันสังคมตามปกติ สร้างกลไกลในการดูแลแรงงานให้เหมือนเดิม มีเงินสดมาจากรัฐบาล ผู้ประกอบการอยู่ได้ แรงงานอยู่ได้”
เทรนด์การท่องเที่ยวยุคโควิด-19
นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่แล้ว การทำงานบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในฐานะที่บริษัททัวร์เป็นตัวกลางระหว่างนักเดินทางและผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวก็ต้องทำเช่นกัน เพราะการระบาดของโรคเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ทำให้สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือพฤติกรรมของนักเดินทางที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
“ต่อไปนี้การวางแผนเดินทางท่องเที่ยวระยะยาวจะลดลง เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะเกิดการระบาดขึ้นเมื่อใด ที่ผ่านมาเราสร้างความมั่นใจกับลูกค้าด้วยการการันตีเรื่องการคืนเงินในกรณีที่ลูกค้ายกเลิกการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นที่พัก หรือแพ็คเกจทัวร์ หากมีการพบคลัสเตอร์วันนี้ พรุ่งนี้คุณไม่มั่นใจที่จะเดินทางก็ยกเลิกได้เลย เราคืนเงินให้ แต่การจะบริหารตรงนี้ได้ บริษัททัวร์ในฐานะตัวกลางก็ต้องเจรจากับบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้ให้เข้าใจและพร้อมที่จะปรับตัวด้วยเช่นกัน”
สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวในยุคโควิด-19 โชติช่วงบอกว่าเปลี่ยนไปแน่นอน เช่น ตลาดการท่องเที่ยวไทยเมื่อเปลี่ยนจากกลุ่มไมซ์เป็นบุคคล Solo Traveller การชูประสบการณ์การท่องเที่ยวจึงกลายเป็นคีย์สำคัญ เช่น ถ้ามาภูเก็ตต้องได้มาล่องเรือยอร์ชส่วนตัว เลือกโรงแรมก็เลือก Luxury เพราะราคาที่ปรับลงมา รวมทั้งการท่องเที่ยวในประสบการณ์ Luxury ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
“เท่าที่ผมประเมิน อย่างเร็วสุดสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ คือ สงกรานต์ของปี 2565 ซึ่งน่าจะพอเดินทางได้ในคนที่จำเป็นต้องเดินทาง เช่น Bussiness Traveller จากนั้นพอกลางปีคนทั่วไปอาจจะเริ่มเดินทางได้ฟรีมากขึ้น คงไม่ใช่ต้นปีหน้าอย่างแน่นอน และในอนาคตมั่นใจว่าราคาทัวร์จะสูงขึ้น เพราะต้นทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสูงขึ้น เช่น ตั๋วเครื่องบิน เพราะสายการบินไม่สามารถทำรอบได้เท่าเดิม เพราะฉะนั้นราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ยแล้วจะสูงขึ้นประมาณ 30-35 % อย่างตุรกี หรือ มัลดีฟ ตอนนี้ราคาทัวร์ก็ไม่ได้ลดลง เพราะแม้เขาจะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว โรงแรมไม่มีแขก แต่อย่าลืมว่าต้นทุนเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ในสถานการณ์การระบาดของโควิดมันเพิ่มขึ้นด้วย อาจจะมีสิ่งที่ถูกลงคือบริษัทโฮลเซลที่มีตั๋วเครื่องบินจำนวนมากค้างอยู่ เมื่อเปิดประเทศเขาจะต้องรีบปล่อยตั๋วออก เพื่อให้ได้กระแสเงินสดกลับคืนมา”
และสำหรับเทรนด์การท่องเที่ยววัคซีนที่กำลังมาแรงนั้น โชติช่วง บอกว่าทางหนุ่มสาวทัวร์ก็มีการวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา
“เรื่องการท่องเที่ยวเพื่อฉีดวัคซีนโควิดเป็นสิ่งที่บริษัททัวร์ไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศต่างเตรียมกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สำหรับผมวางไว้สองแนวทางคืออินบาวด์และเอาท์บาวด์ สำหรับอินบาวด์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัคซีนมากกว่าประเทศอื่นๆ บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ไม่หนักมากและเราเอาอยู่ จะทำให้มีคนเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในไทยมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้เราตกขบวนวัคซีนไปแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านฉีดกันไปแล้ว บวกกับการการระบาดระลอก 3 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ตลาดอินบาวด์จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้วในตอนนี้
“แต่ยิ่งเรามีความล่าช้าด้านวัคซีน มีช่องว่างในการเข้าถึงวัคซีนก็ยังสามารถพลิกเป็นโอกาสของเอาท์บาวด์ ทำให้เกิดกระแสทัวร์พาคนไทยไปเที่ยวและฉีดวัคซีนยังต่างประเทศ แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ยังเป็นลักษณะของแลนด์ หรือไกด์ที่อยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นเอกชนคุยกับเอกชน ยังไม่ได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการระหว่างภาครัฐต่อภาครัฐ สำหรับใครที่จะซื้อทัวร์วัคซีนก็อยากแนะนำให้ศึกษามาตรการ ข้อจำกัดของแต่ละประเทศ แต่ละเมือง แต่ละรัฐให้ดีอีกครั้ง รวมทั้งเงื่อนไข ความน่าเชื่อถือของแต่ละบริษัททัวร์ เพราะมาตรการเกี่ยวกับโควิดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา”
สำหรับหนุ่มสาวทัวร์นั้นก็เริ่มเจรจาด้านการท่องเที่ยววัคซีนด้วยเช่นกัน แต่เป็นการคุยผ่านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งมีการศึกษาเรื่องการท่องเที่ยววัคซีนของเกาะมัลดีฟที่รัฐบาลมัลดีฟกำลังปักธงเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ซึ่งนั่นอาจจะเป็นอีกทางเลือกที่จะมาต่อลมหายใจของ บริษัททัวร์ ต่างๆ ที่ใกล้จะจมลงกับคลื่นการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นได้