Asian Art Museum สู่ พระแม่ธรณี ชุดประจำชาติ Miss Universe Thailand 2023
- “แอนโทเนีย โพซิ้ว” Miss Universe Thailand 2023 อวดโฉมชุดประจำชาติ (National Costume Competition) บนเวที Miss Universe 2023 ในชุด “เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา” ออกแบบโดย กมลรส ทูลภิรมย์ ห้องเสื้อ ทรงเสน่ห์ผ้าลายอย่าง
- เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา ได้แรงบันดาลใจมากจากงานประติมากรรมสัมฤทธิ์ “พระแม่ธรณี” ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum คอลเล็คชัน The Avery Brundage Collection
ไม่ทำให้แฟนๆ นางงามชาวไทยผิดหวังเลยจริงๆ สำหรับ แอนโทเนีย โพซิ้ว Miss Universe Thailand 2023 ที่อวดโฉม ชุดประจำชาติ (National Costume Competition) บนเวที Miss Universe 2023 ในชุด “เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา” ออกแบบโดย กมลรส ทูลภิรมย์ ห้องเสื้อ ทรงเสน่ห์ผ้าลายอย่าง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากงานประติมากรรมสัมฤทธิ์ “พระแม่ธรณี” ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum คอลเล็คชัน The Avery Brundage Collection
ในส่วนของ ชุดประจำชาติ เทพธิดาอาณาจักรอยุธยา นั้นโดดเด่นด้วยการประดับพลอยสังเคราะห์เลียนแบบ แร่รัตนชาติ ที่ขุดพบได้ตามแหล่งแร่สำคัญในอาณาจักรอยุธยา เช่น ไพลิน มรกต บุษราคัม อ.ท่าใหม่ ,เขาพลอยแหวน จ.จันทบุรี ทับทิม จาก อ.บ่อไร่ ,หนองบอน จ.ตาก โกเมน อ.แกลง จ.ระยอง ไพลิน จ.แพร่ เพทาย จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสระเกษ เขี้ยวหนุมาน พบได้ในทุกภาค และเพชร จาก จ.ภูเก็ต และ พังงา และส่วนของรองเท้า ได้ต้นแบบจากพระพุทธรูป ทรงเครื่องอยุธยา จากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
สำหรับประวัติศาสตร์ของพระแม่ธรณีนั้นในหนังสือ “ทิพยประติมา” อธิบายว่า พระแม่ธรณีถูกกล่าวถึงอยู่ในพุทธประวัติตอนมารวิชัย หรือที่เราคุ้นชื่อว่า “ตอนมารผจญ” โดยถูกกล่าวถึงในชื่อ “เทพธิดาแห่งแผ่นดิน” (สถาวรา) ในเวลานั้นพระพุทธองค์ทรงอ้างแผ่นดินเป็นพยานในการบำเพ็ญทาน ด้วยการใช้พระหัตถ์ตบแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินสะเทือนเสียงดัง จนมารหนีไป ระหว่างนั้น “เทพธิดาแห่งแผ่นดิน” ได้ปรากฏกายขึ้น กระทำอัญชลีต่อพระพุทธองค์ โดยไม่ได้กล่าวว่ามีการ “บีบมวยผม” และมีน้ำไหลออกมาจากปลายผมแต่อย่างใด ดังนั้นในงานศิลปกรรมตอนมารวิชัยของอินเดียนั้น หากมีภาพพระแม่ธรณีปรากฏร่วมอยู่ด้วย ก็มักจะสร้างขึ้นเป็นเพียงสตรียืนหนือนั่งถือหม้อน้ำต่างกับไทยที่มักจะสร้างเป็นพระแม่ธรณีบีบมวยผม
ด้านคติการสร้างรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เริ่มปรากฏขึ้นในอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มาอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 และแพร่หลายทั่วไป รวมถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็นิยมวาดพระแม่ธรณีบีบมวผมสอดแทรกอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังเล่าพุทธประวัติ ชาวไทยสมัยโบราณบูชา แม่พระธรณี เพื่อให้แผ่นดินมีความสงบสุข และร่มเย็น เพราะเชื่อว่า แม่พระธรณี เป็นเทพผู้คุ้มครองแผ่นดิน ทั้งนี้แม่พระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่ จะมีลักษณะเป็นรูปหญิงสาวรูปร่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน โดยเอกลักษณ์สำคัญของงานศิลปะพระแม่ธรณีคือ มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว
จาก ชุดประจำชาติ บนเวที Miss Universe 2023 ใครต้องการชมพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยทีสุดในไทยสามารถแวะไปชมได้ที่ “วัดชมภูเวก” จังหวัดนนทบุรี โดยภาพวาดพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ได้รับการจัดอันดับว่าสวยที่สุดในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ผนังสกัดในอุโบสถสถาปัตยกรรมอยุธยา เป็นผลงานของ “สกุลช่างนนทบุรี” ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลายระยะแรก ภาพนี้ใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอรา (Tempera)และที่ว่าสวยก็ด้วยจังหวะฝีแปรงที่เขียนท่าทางการบิดมวยผมพร้อมกับบิดองค์เอวได้อย่างอ่อนช้อยราวกับกำลังร่ายรำ
อ้างอิง
- ในอินเดีย ไม่มี “แม่ธรณีบีบมวยผม” แต่นิยมในอุษาคเนย์
- หนังสือ “ทิพยประติมา” โดย อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดี กรมศิลปากร ผลิตโดย สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
- Museum Siam