
ป้ายยา สัปดาห์หนังสือฯ อ่าน 10 เล่มใหม่ 10 สำนักพิมพ์ 10 นักเขียนไทย
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 หรือ สัปดาห์หนังสือฯ กลับมาครั้งใหญ่กว่าเคยด้วยการออกบูธของเหล่าสำนักพิมพ์มากหน้าหลายตากว่า 1,000 บูธ
- “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” เป็นคอนเซ็ปต์ของงานหนังสือครั้งนี้
สัปดาห์หนังสือฯ หรือชื่อเต็ม สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 กลับมาแล้วพร้อมคอนเซ็ปต์ “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” ที่จัดใหญ่กว่าเคยด้วยการออกบูธของเหล่าสำนักพิมพ์มากหน้าหลายตากว่า 1,000 บูธ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2568 กับความท้าทายที่ว่าชาวไทยอ่านกันคนละกี่บรรทัด หรือกระดาษจะล้มหายตายจากไปจากโลกใบนี้หรือไม่ แต่ในงาน สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้กลับมีนักเขียนไทย และสำนักพิมพ์ทั้งเล็กและใหญ่ออกหนังสือใหม่มาให้นักอ่านได้เก็บเข้ากองดองให้อุ่นใจ ส่วนจะมีเล่มไหนน่าสนใจบ้างนั้น Sarakadee Lite ขอป้ายยา 10 เล่มใหม่จาก 10 นักเขียนไทย โดย 10 สำนักพิมพ์ ที่อยากชวนมา Get lost in a book ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้กัน

“Earth’s Cry”
นักเขียน : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
หนังสือใหม่จากสำนักพิมพ์สารคดีที่มุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยอย่างสม่ำเสมอ ครั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ขอนำเสนอบันทึกด้านสิ่งแวดล้อมใน “Earth’s Cry การต่อสู้และความหวังในวิกฤตสิ่งแวดล้อม” งานเชิงสำรวจและค้นคว้าเพื่อตะโกนดังๆ ให้เห็นถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาประชิดโลกและมนุษย์มากขึ้นทุกลมหายใจ ผลงานของ “ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล”นักเขียนสารคดีและยังเป็นประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ผู้เฝ้ามองและถ่ายทอดประสบการณ์ความคิดงานค้นคว้าด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

“แดดบ่ายวันนี้มีสีเหมือนเธอ”
นักเขียน : ภมุ ภามุ
สำนักพิมพ์ : P.S.
งานเขียนที่รวบรวมมวลความรู้สึกและความซับซ้อนของความสัมพันธ์สไตล์ P.S. โดยนักเขียนขวัญใจนักอ่านรุ่นใหม่ ภมุ ภามุ ผู้สะบัดหมึกวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง เจ้าของผลงานชิ้นเด่น “เซรามิกแตกสลายและดอกไม้อื่นๆ” และ “บรรยากาศประมาณนี้มีผีประมาณไหน” ส่วนในผลงานเล่มใหม่ “แดดบ่ายวันนี้มีสีเหมือนเธอ” ยังคงสไตล์เขียนงานที่กระชับ เพื่อนำเสนอแนวคิดอย่างแจ่มชัดเช่นเคย ผ่านการเล่าเรื่องความคำนึงผ่านรหัสสี HEX อย่างสร้างสรรค์

“ประวัติศาสตร์ศิลปะผ่านท้องฟ้าและก้อนเมฆ”
นักเขียน : ภาณุ ตรัยเวช
สำนักพิมพ์ : ยิปซี
ชวนสำรวจท้องฟ้าผ่านผลงานศิลปะก้อนเมฆที่มีเรื่องราวเร้นลับมากมายซ่อนอยู่ ผลงานล่าสุดของ ภาณุ ตรัยเวช ผู้มีผลงานวรรณกรรมมากมาย อาทิ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” และ “คดีดาบลาวยาวแดง” ครั้งนี้เขาได้เขียนถึงอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจอย่าง “ก้อนเมฆ” ซึ่งเชื่อมโยงกับอีกอาชีพของผู้เขียนคือการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกทั้งผู้เขียนยังจบ ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ทางด้าน อุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ (Atmospheric and Oceanic Science) โดยตรง นั่นจึงทำให้ผู้อ่านได้พบมุมมองทั้งปรัขญา ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ผ่านภาพหมู่เมฆได้อย่างลึกซึ้งและแตกต่าง

“คนเดียวในคอนโดฯ”
นักเขียน : ชาติ กอบจิตติ
สำนักพิมพ์ : หอน
การกลับมาของนักเขียนระดับตำนาน ชาติ กอบจิตติ ที่ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษในการเขียน “คนเดียวในคอนโดฯ” นวนิยายที่ชาติเขียนกำกับไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเรื่องว่าเพื่อบูชาครู…แด่ ยาขอบ และ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจตรงที่เราจะได้เห็นนักเขียนสร้างสรรค์รางวัลซีไรต์อย่างชาติย้อนกลับไปนำองค์ประกอบบางอย่างจากนวนิยายในอดีตมาใช้ในการเล่าเรื่องที่มีเนื้อหาค่อนไปทางร่วมสมัย

“เคลื่อน”
นักเขียน : ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์
สำนักพิม์ : เลลิโอ
ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์ นักเขียนจากผลงานรวมเรื่องสั้น “สสารไม่วันสูญหาย” ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมกับหนังสือเล่มใหม่ รวมเรื่องสั้น “เคลื่อน” กับ 8 เรื่องสั้นที่ว่าด้วยการ “เคลื่อน” ของหลายสิ่งในชีวิตที่ดูเหมือนทั่วไป ธรรมดา แต่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สามารถอำพรางบางอย่างได้อย่างแนบเนียน

“ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย”
นักเขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สำนักพิมพ์ : มติชน
หนังสือรวมบทความของนักเขียนผู้ล่วงลับ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” ผู้ฝากผลงานด้านศาสนวิทยาและปรัชญาอินเดียไว้อย่างน่าสนใจและเข้ากับชีวิตประจำวัน โดยหนังสือเล่มรวมเล่มนี้ถือเป็นงานเขียนส่งท้ายของนักเขียนผู้มีองค์ความรู้เฉพาะทางอย่างหาใครมาแทนได้ยาก โดยใน “ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย” ยังคงเป็นการรวบรวมบทความเกี่ยวกับผี พราหมณ์ พุทธ ที่หลอมรวมอยู่ในวัฒนธรรมไทยมานำเสนอ เพื่อทำให้ได้เห็นความลุ่มลึกของความเชื่อในสังคมอันผสมผสานยากจะแยกอย่างไทย ซึ่งความเข้าใจในการผสมผสานนี้เองที่จะเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของการเดินทางไปสู่สันติของสังคมอันเป็นนัยของหนังสือที่คมกฤชเขียนเสมอมา

“SCRIPT INTRO”
นักเขียน : ทานเกวียน ชูสง่า
สำนักพิมพ์ : SALMON
SCRIPT INTRO หนังสือเล่มนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของบทภาพยนตร์ หนังสือที่รวมเกร็ดอันน่าเพลิดเพลินของบทภาพยนตร์เรื่องดังที่แฟนหนังน่าจะคุ้นตา เช่น “Se7en” “Her” หรือจะเป็น “Parasite” ผ่านการเล่าของ ทานเกวียน ชูสง่า ที่มีผลงานวรรณกรรมอย่าง “เราต่างสร้างบาดแผลให้แก่กันอยู่เสมอ” และ “ทัณฑสถานชื่อชีวิต” โดยเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้อีกหลายเรื่องนอกจอจากภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ

“น้ำพริก : มรดกแห่งเครื่องจิ้ม”
นักเขียน : อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์ : ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม Thai PBS
อนุสรณ์ ติปยานนท์ หนึ่งในนักเขียนที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องและหลากหลายทั้งนวนิยาย ประวัติศาสตร์ งานแปล ไปจนถึงผลงานเขียนเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งถูกนำเสนอในช่วงหลายแรมปีมานี้ โดยในหนังสือ “น้ำพริก : มรดกแห่งเครื่องจิ้ม” อนุสรณ์ยังคงมุ่งพัฒนาการเขียนงานที่มีทั้งองค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ และการประกอบอาหารของเมนูคู่ครัวไทย โดยเลือกเมนู “น้ำพริก” ที่พลิกอ่านได้หลากมิติ หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจตรงที่จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นน้ำพริกที่ไปไกลกว่าแค่เครื่องจิ้มหรือการลิ้มรส

“กำเนิดสถาปนิกไทย”
นักเขียน : ชาตรี ประกิตนนทการ
สำนักพิมพ์ : อ่าน
ย้อนมอง “กำเนิดสถาปนิกไทย” ผ่านปลายปากกาของ ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้คร่ำหวอดในการเขียนถึงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะ “สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49” “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1” หรือเล่มดังอย่าง “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์” และสำหรับในเล่มใหม่นี้ชาตรีชวนผู้อ่านย้อนกลับมาทบทวนจุดกำเนิดสถาปนิกไทยทั้งในมุมประวัติศาสตร์เชิงความรู้ รวมทั้งในความสลับซับซ้อนขององค์ความรู้ด้านสถาปนิกในโลกสมัยใหม่

“ประชาธิปไตยใส่ชฎา”
นักเขียน : เกษียร เตชะพีระ
สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน
เกษียร เตชะพีระ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีรัฐศาสตร์ไปจนถึงปรัชญาการเมือง ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมข้อวิพากษ์ชวนคิดใน “ประชาธิปไตยใส่ชฎา จากเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทางแพร่งแห่งอำนาจนำ” ที่มุ่งวิเคราะห์ความย้อนแย้งของชนชั้นกลางไทยที่เรียกว่า “กระฎุมพี” โดยเฉพาะในด้านจุดยืนที่มีความยอกย้อนอย่างน่าฉงน
Fact File
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2568 ณ Hall 5 – 8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
- ข้อมูลเพิ่มเติม FB : Thai Book Fair
