Sweet and Sour : ถอดตัวแปรรักเปลี่ยนรสของคนวัยทำงานที่มากกว่า ฉัน เขา เธอ
Lite

Sweet and Sour : ถอดตัวแปรรักเปลี่ยนรสของคนวัยทำงานที่มากกว่า ฉัน เขา เธอ

Focus
  • ติดท็อปของ Netflix ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ฉาย สำหรับ Sweet and Sour หนังรักโรแมนติกดรามาที่เล่าถึงชีวิตรักหนุ่มสาววัยทำงานที่ต่างก็ฝันให้งานสร้างเงิน ความมั่นคง และบ่มชีวิตรักให้เติบโตไปพร้อมกัน
  • Sweet and Sour กำกับโดย อีกเยบยอก เจ้าของผลงาน Luck-Key,Cheer Up และ Mr. Lee นำแสดงโดย จางกียง, แชซูบิน และ จองซูจอง หรือ คริสตัล

“ถ้าคุณพลาดแท็กซี่คุณอาจเรียกคันใหม่ได้ แต่ถ้าหากคุณพลาดทำใครสักคนหลุดมือไป มันจะไม่มีอีกแล้ว” กลายเป็นประโยคทัชใจคู่รักที่มาพร้อมกับการติดท็อปของ Netflix ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ฉาย สำหรับ Sweet and Sour หนังรักโรแมนติกดรามา กำกับโดย อีกเยบยอก เจ้าของผลงาน Luck-Key,Cheer Up และ Mr.Lee ที่จะพาเราไปทำความรู้จักเรื่องราวความรักของหนุ่มสาววัยทำงานผ่านตัวละคร จองดาอึน (รับบทโดย แชซูบิน) ผู้ช่วยพยาบาลสาวที่กำลังปลูกต้นรักกับวิศวกรหนุ่มไฟแรง จางฮยอก (รับบทโดย จางกียง)

ทุกสิ่งทุกอย่างดูหวานชื่นตามฉบับรักในวัยหนุ่มสาว กระทั่งวันที่ทั้งสองต่างต้องเจออุปสรรคที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์อย่าง โบยอง (รับบทโดย จองซูจอง หรือ คริสตัล) ซึ่งจากพล็อตคร่าว ๆ ก็ดูไม่ต่างจากหนังรักสามเส้าทั่วไป แต่เรื่องนี้กลับจี๊ดด้วยการจี้ไปถึงสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตในวัยทำงาน และสามารถเปลี่ยนรักหวานของหนุ่มสาวคู่หนึ่งให้กลายเป็นรสเปรี้ยวถึงขมได้เลย

เมื่อรักสมบูรณ์ไม่ได้มีแค่เราสอง

ในทฤษฎีความรักนั้นมีด้วยกันหลากหลาย หนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจและแบ่งแยกความรักอย่างเป็นระบบคือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก ของ โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) อาจารย์จิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเยลซึ่งกล่าวไว้ว่า ความรักเกิดจากความรู้สึก 3 อย่างที่เอื้อต่อกันและกันอันได้แก่ ความสนิทสนม (Intimacy) ความใคร่หลง (Passion) และการผูกมัดหรือข้อผูกพัน (Commitment) ถ้ามีครบทั้ง 3 องค์ประกอบจึงจะสามารถเรียกได้ว่า รักสมบูรณ์แบบ (Consummate Love) เป็นรักที่คู่รักส่วนใหญ่ปรารถนา แต่กลับเป็นรักที่ยากจะเกิดขึ้นจริง อีกทั้งการรักษารักสมบูรณ์แบบให้คงอยู่ก็ยิ่งยากไปอีกเท่าตัว เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนสองคน แต่ขึ้นอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์ สถานการณ์แวดล้อม และความผูกพัน ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบนี้มีผลการทดสอบชัดเจนในความรักที่เริ่มจืดจางของจองดาอึนกับจางฮยอก

ในเรื่องการรักษารักให้คงอยู่นี้นอกจาก 3 องค์ประกอบที่กล่าวมายังมีเรื่องของสารเคมีในร่างกายที่ทำให้เรา คลั่งรัก เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผศ.โมนิล เตชะวชิรกุล หัวหน้าสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวถึง “ความผูกพัน” บนฐานงานวิจัยของนิวโรซาย (Neuroscience) ที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาท (The Momentum, 2019) ซึ่งทำให้เราได้ทำความรู้จักกับสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) หรือ “สารแห่งความสุข”

จากสถิติแล้วคนรักสามารถกระตุ้นสารนี้ให้กันและกันได้ในช่วง 6 เดือน ถึง1 ปี เป็นเหตุให้เกิดช่วงเวลาคลั่งรักที่เราต้องการเขามาก รักเขามากกระทั่งเมื่อเวลาล่วงเลยไป ความรักเอยเตยหอม อยากไปหาเขาก็จางลง “ช่วงหมดโปรโมชัน” จึงมาแทนที่ กล่าวได้ว่า สิ่งเร้าภายนอกอย่างสภาพแวดล้อม บริบทสังคม และสิ่งรักภายในเช่นรูปแบบความสัมพันธ์ ความผูกพัน เหล่านี้พร้อมจะเป็น “ตัวแปรให้รักหวานเปลี่ยนรส” ดังเช่นในเรื่องราวของจางฮยอกกับดาอึน

Sweet and Sour

เมื่อโครงสร้างทางสังคมทำร้าย “รัก”

ความสนิทสนม ความหลง และความผูกพัน ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “เวลา” โดยเฉพาะในวัยทำงานที่เวลามีค่ากว่าทองคำ

“ทำงาน 8 ชั่วโมงนี่มันไม่เหมาะกับมนุษย์จริงๆ” เป็นประโยคที่ดาอึนบ่นออกมาขณะที่จางฮยอกกำลังจะแยกตัวไปทำงาน แสดงให้เห็นว่าเธอกำลังโดนพิษสงของการทำงานเล่นงานอยู่

หากย้อนเวลากลับไปราว 200 กว่าปีก่อนตรงกับยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 นี่คือจุดเริ่มต้นของการกำหนดให้มนุษย์มีการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักสังคมนิยมชาวอังกฤษได้ผุดไอเดียปฏิรูปเวลางาน ว่าด้วยสูตร “8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงสันทนาการ และ 8 ชั่วโมงพักผ่อน” จนกลายเป็นมาตรฐานของการสร้างสมดุลชีวิตคนทำงานมาจวบจนถึงปัจจุบัน

เราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ทว่าเราจะสามารถบริหารจัดการเวลาที่มีเท่ากันนี้ให้สมดุลได้จริงหรือไม่ Sweet and Sour ให้คำตอบถึงประเด็นนี้ได้ดีทีเดียว หลังจากที่มนุษย์เงินเดือนอย่างจางฮยอกต้องย้ายที่ทำงานไปอยู่กรุงโซล แต่เขาอยากรักษาต้นรักที่ช่วยกันปลูกกับดาอึนมาร่วม 1 ปี 7 เดือนเขาจึงตกลงกันว่าจะเดินทางไป-กลับระหว่างห้องพักกับที่ทำงาน เพื่อที่เขาจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม พร้อมให้แหวนแทนใจแก่ฝ่ายหญิง ข้อผูกพันนี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี และทำให้ดาอึนมั่นใจในตัวของจางฮยอกยิ่งขึ้น

Sweet and Sour
จางฮยอก (รับบทโดย จางกียง)

วันแรกของการทำงานที่บริษัทใหญ่ จางฮยอกกำลังขับรถมุ่งหน้าไปที่กรุงโซล ระหว่างทางบนทางด่วนคยองอึล เขาเห็นคนในรถคันข้าง ๆ บ้างก็เอาน้ำราดหัวเพื่อสระผม บ้างก็ผงกหัวหลับอยู่บนรถ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในวัยทำงานนั้นไม่สามารถเอาชนะเวลาได้

“น่าจะเตรียมตัวกันมาล่วงหน้าสิ” จางฮยอกพูดออกมาขณะเห็นภาพเหล่านั้น เขารู้สึกเป็นผู้ชนะเพราะตนก็เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีแต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ชัยชนะนี้กลับอยู่กับเขาได้ไม่นานเท่าใด จะเห็นได้ว่าในหนังเรื่องนี้นำเสนอฉากการจราจรติดขัดอยู่บ่อยครั้ง เชื่อว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองย่อมเข้าใจปัญหากวนใจนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้คนส่วนมากต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนน สาเหตุก็เนื่องมาจากมีการใช้รถส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องจากค่านิยม และการไร้ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีพอ และการที่จางฮยอกเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นอาจมาจากความสะดวกในการไป-กลับ รวมถึงการมีระบบขนส่งสาธารณะที่อาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตนนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าแม้จะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่ สูตร 8 : 8 : 8 ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะเวลาทำงานที่พิสูจน์แล้วว่า 8 ชั่วโมงนี่มันไม่เหมาะกับมนุษย์จริง ๆ อย่างที่ดาอึนบอก เพราะเวลางานมันได้ข้ามเส้น 8 ชั่วโมงไปมากแล้ว

Sweet and Sour
จองดาอึน (รับบทโดย แชซูบิน)

วัฒนธรรมบูชางานที่บดทำลายความสัมพันธ์

การยกงานไว้เหนือทุกอย่าง คือ ความตลกร้ายที่สามารถเจอได้จริงในทุกสังคมการทำงานไม่ว่าจะประเทศใด ตั้งแต่เมืองเทพสร้างอย่างกรุงเทพฯ ไปจนถึงโซล ซึ่งล่าสุด Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้ทำการศึกษาและค้นหาเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานและไลฟ์สไตล์ขาดสมดุลที่สุดในโลกโดยใช้เกณฑ์การวิเคราะห์จากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ชั่วโมงการทำงาน จำนวนวันลาขั้นต่ำ สิทธิการลาคลอดหรือเลี้ยงลูก รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนด้านการเมือง อาทิ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขในเมือง ผลกระทบและการเยียวยาในยุค Covid-19 ความปลอดภัยในเมือง เป็นต้น ซึ่งผลที่ออกมาคือ กรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับ 3 ส่วน กรุงโซล เกาหลีใต้ อยู่อันดับ 5 ของโลก ประจำปี ค.ศ. 2021 ในฐานะเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน และไลฟ์สไตล์ขาดสมดุลที่สุดในโลก

การทำงานที่หนักนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหลายชีวิตซึ่งมากกว่าสุขภาพ การงานที่หนักสามารถพังชีวิตรักได้เช่นกัน รวมถึงความรักของจางฮยอกกับดาอึน จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องคือการย้ายที่ทำงานของจางฮยอกเพื่อความก้าวหน้าในการงาน บริษัทส่งตัวเขาไปยังสำนักงานใหญ่ที่มีการแข่งขันสูงแต่เป็นโอกาสทองที่เขาต้องรีบคว้าไว้ หากเขาทำสำเร็จก็จะส่งผลดีต่ออนาคตของเขาและคนรักดังที่จางฮยอกได้กล่าวไว้

“นี่เป็นโอกาสที่ดีมากเลยนะ ทางบริษัทอยากได้ตัวฉัน ในที่สุดความสามารถของพี่ก็เป็นที่ยอมรับสักที”

ทว่ายิ่งมีเวลาพิสูจน์ตัวเองในที่ทำงานใหม่เพิ่มขึ้น กลับยิ่งลดเวลาระหว่างเขากับดาอึนเนื่องจากเขาเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มให้การทำงาน และเอาชนะคู่แข่ง (โบยอง) เอาชนะใจเจ้านาย ทำให้ต้องทำงานหนักโต้รุ่งอยู่เสมอสิ่งที่ตามมาก็ดูจะคุ้มค่าเหนื่อย ผลงานของเขาถูกใจเจ้านาย แต่ความสำเร็จนี้กลับมีราคาที่ต้องจ่าย

ราคาที่ว่านั้นก็สูงพอควร เพราะต้องแลกกับเวลาดูแลชีวิตรัก เวลาการทำงานจบ แต่งานไม่เคยจบ เขานำเรื่องหัวเสียในที่ทำงานกลับมาคิดที่บ้าน (ห้องพักดาอึน) อีกทั้งดาอึนก็เข้าเวรหลายวันติด ด้วยความเหนื่อยล้าจากการทำงานของทั้งคู่จึงทำให้ทั้งคู่เริ่มไม่เข้าใจกัน ความเอื้ออาทรหรือข้อตกลงชีวิตคู่ที่เคยมีร่วมกันเริ่มหายไป เช่น ลืมเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ยกขยะไปทิ้ง ไม่อยู่เป็นกำลังใจให้กันในวันที่อีกฝ่ายท้อ

ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ภาพที่เขาเคยหัวเราะเยาะคนบนทางด่วนนั้นกลับเกิดขึ้นกับเขาเสียเอง เวลาที่จางฮยอกอยู่ด้วยกันกับดาอึน เขามักแสดงอาการเหนื่อยอยู่เสมอ แม้แต่ตอนที่ออกไปเที่ยวด้วยกัน

“มาหาฉันนี่มันเหนื่อยมากเลยเหรอ” ดาอึนตัดพ้อและคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ ลุกลามไปจนสร้างความเคลือบแคลงใจ คิดจินตนาการว่าจางฮยอกนอกใจ ซึ่งปมนี้ก็ได้รับการเฉลยในช่วงท้ายเรื่อง

สุดท้ายแล้ว การบูชางานของพระเอก ก็เหมือนจะให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ช่วงหนึ่ง เขาและโบยองกลายเป็นที่ยอมรับของบริษัท แต่มันก็เพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นกระทั่งวันนำเสนอโครงการมาถึง หัวหน้างานเพียงแต่กล่าวขอบคุณพวกเขาเล็กน้อย และไม่ได้ให้เครดิตงานชิ้นนั้นกับทีมพระเอกเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังไม่ต่อสัญญาการทำงานของพวกเขาอีกด้วย ตอกย้ำว่าแม้เราจะทุ่มเทให้งานเต็มร้อย แต่มันก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่ความทุ่มเทของเราจะถูกเททิ้งอยู่ ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจางฮยอกและโบยอง

Sweet and Sour
โบยอง (รับบทโดย จองซูจอง หรือ คริสตัล)

รักแท้แพ้เพื่อนร่วมงาน

นอกจากสังคมที่มีผลต่อความรัก Sweet and Sour ยังจี้ไปถึง เพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ โดยเฉพาะระยะที่ความสัมพันธ์ของคู่รักกำลังเปราะบาง ผลจากความห่างเหิน การแสดงออกของคนรัก และการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับจางฮยอก ซึ่งเมื่อยามรักเปราะบางก็ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่าความใกล้ชิดสนิทสนมของเพื่อนร่วมงานอย่างโบยองมีโอกาสถูกพัฒนาไปมากกว่านั้น โดยเฉพาะในจังหวะที่บรรยากาศแวดล้อมเป็นใจ สัมผัสใหม่ รูป รส กลิ่น เสียง จึงเหมือนเป็นตัวดึงดูดใจ เชื้อเชิญให้จางฮยอกล้ำเส้นที่ตัวเองขีดไว้อยู่บ่อยครั้ง

รักเกิดกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ตัวนั้น เป็นประเด็นคลาสสิกที่เกิดขึ้นได้จริงในชีวิตของหลายคนเรื่องราวของตัวละครทั้งสามกำลังบอกให้เราได้รู้ว่า ตัวแปรแวดล้อมที่พร้อมจะทำให้ ความรักเรา มันเปลี่ยนมีมากมาย ทั้งกรณีที่ตัวแปรนั้นเป็นฝ่ายชนะ อีกฝ่ายหวั่นไหวกับคนใกล้ตัว เพราะสาเหตุเบื้องลึกอย่างคนรักของเราอยู่ไกล หรือการขาดการเติมเต็มบางอย่างในความสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้วก็ตามในทางตรงกันข้าม หากมือของเรานั้นจับกันไว้แนบสนิทพอทำให้ไม่เหลือช่องว่างให้ใครมาแทรกกลางได้ สุดท้ายตัวแปรนั้นย่อมพ่ายแพ้ไปเช่นกัน

การสะท้อนถึงชีวิตรักของคนทำงานจริง ๆ เป็นสิ่งที่ Sweet and Sour เล่าออกมาได้อย่างกลมกล่อมและถึงใจจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ชมได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ตรงตามความตั้งใจของผู้กำกับ อีกเยบยอก ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“ผมว่าคนหนุ่มสาวยุคนี้ยุ่งกว่าสมัยเรา ๆ มาก การใช้ชีวิตที่ยุ่งขนาดนั้นย่อมทำให้พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากในเรื่องความรักอย่างแน่นอน”

Fact File

  • Sweet and Sour รักหวานอมเปรี้ยว ออกอากาศทางแพลตฟอร์ม Netflix

อ้างอิง


Author

กวินนา จันทร์ดิษฐ
มนุษย์ที่เติบโตมากับรายการโทรทัศน์สารคดีสัตว์โลก ละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์ พยายามเรียนรู้ คลุกคลี ลุ้นเอาดีกับงานเขียน มีปลายทางฝันเป็นบ้านหลังเล็กที่มีสุนัขสายพันธุ์โกลเด้นวิ่งเล่นอยู่ในสนามหญ้า