ประวัติศาสตร์ เรือดำน้ำ จากอังกฤษสู่ เรือ ส. สับมะรีน ไทย
- ก่อนที่จะมีเรือดำน้ำลึกได้อย่างเต็มรูปแบบ โลกมีเรือกึ่งดำน้ำมาก่อน คิดค้นโดย คอร์เนลิส แดรบเบิล (Cornelis Drebbel) แพทย์ชาวดัตช์ผู้รับใช้พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
- ในประวัติศาสตร์ไทย กองทัพเรือมีเรือดำน้ำครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเรียกทับศัพท์เรือดำน้ำว่า “เรือ ส.” (สับมะรีน) สร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ มิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
เรือดำน้ำ ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เรือดำน้ำเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อใด และเรือดำน้ำลำแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นเรืออะไร Sarakadee Lite มีเกร็ดสนุกๆ ของประวัติศาสตร์เรือดำน้ำมาฝากกัน
เรือกึ่งดำน้ำ (พ.ศ.2163)
ก่อนที่จะมีเรือดำน้ำลึกได้อย่างเต็มรูปแบบ โลกมีเรือกึ่งดำน้ำมาก่อน คอร์เนลิส แดรบเบิล (Cornelis Drebbel) แพทย์ชาวดัตช์ผู้รับใช้พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้นำแนวคิดจากหนังสือของ วิลเลียม เบิร์น (William Bourne) นักเขียน ชาวอังกฤษ มาใช้สร้างเรือที่แม้ยังไม่สามารถดำน้ำลึกได้เต็มตัว แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์เรือดำน้ำ
เรือของ คอร์เนลิส แดรบเบิล เป็นเรือจากไม้และหุ้มหนังกันน้ำ ปรับระดับความลึกในการลงใต้น้ำด้วยการเพิ่ม หรือลดระดับน้ำในตัวเรือ ขับเคลื่อนด้วยกำลัง 6 ฝีพาย แม้จะน่ากังขาถึงการเป็นเรือดำน้ำ แต่ก็สามารถเดินทางใต้แม่น้ำเทมส์ลึก 4-5 เมตร และไปกลับ เวสต์มินสเตอร์-กรีนิช ได้อย่างปลอดภัย โดย เรือกึ่งดำน้ำ ของคอร์เนลิส แดรบเบิล ได้รับยกย่องว่าเป็นเรือกึ่งดำน้ำลำแรกที่สร้างเป็นผลสำเร็จชนิดไม่จมน้ำ
Turtle (พ.ศ.2318)
เดวิด บุชเนลล์ (David Bushnell) คือนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ออกแบบและสร้างเรือดำน้ำยิงตอร์ปิโดขนาดเล็กที่นำไปใช้ในการรบเป็นครั้งแรก ด้วยรูปทรงไข่ ที่ดูไปก็คล้ายกระดองเต่าที่กำลังลอยอยู่ในน้ำ จึงมีการตั้งชื่อเรือดำน้ำลำนี้ว่า Turtle ตามลักษณะของเต่า
Turtle บรรทุกคนควบคุมเรือได้เพียง คนเดียว โดยใช้น้ำเป็นตัวถ่วงน้ำหนักใต้ท้องเรือและลอยขึ้นเมื่อปั๊มน้ำออก มีใบพัดควบคุมทิศทาง เห็นเล็กกระทัดรัดอย่างนี้แต่ Turtle ถือเป็นเรือดำน้ำที่มีส่วนสำคัญในการจมเรือรบ HMS Eagle ของอังกฤษ
Nautilus (พ.ศ.2343)
โรเบิร์ต ฟุลตัน (Robert Fulton) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้สร้างเรือดำน้ำ รูปคล้ายซิการ์ชื่อ Nautilus มีขนาดบรรทุกคนเพียงสามคน ให้กองทัพเรือฝรั่งเศส ขับเคลื่อนด้วยใบพัด แรงมือคนบังคับขณะอยู่ใต้น้ำได้นาน 4 ชั่วโมง ลงลึกได้ 7.6 เมตร สามารถบรรทุกระเบิดเพื่อจมเรือข้าศึก และมีใบเรือเป็นตัวขับเคลื่อนเมื่อขึ้นบนผิวน้ำ Nautilus ถือเป็นเรือลำแรกที่แยกระบบขับเคลื่อนทั้งสองแบบในลำเดียว
Ietineo II (พ.ศ.2410)
Ietineo II คือ เรือดำน้ำ พลังงานไอน้ำโดยนักประดิษฐ์ ชาวสเปนชื่อ นาร์ซิส มอนตูรีออล (Narcís Monturiol i Estarriol) Ietineo II ถือเป็นเรือดำน้ำลำแรกที่ขับเคลื่อนด้วยแรงยนต์โดยไม่ต้องใช้อากาศในการสันดาปจากภายใน (AIP) ตัวเรือมีรูปร่างคล้ายปลา ทำจากไม้มะกอกและไม้โอ๊กเคลือบทองแดง ท้องเรือมีสองชั้นและมีหางเสืออยู่ด้านล่าง ลำเรือยาว 14 เมตร หนัก 46 ตัน ดำน้ำได้ลึก 30 เมตร
Holland VI (พ.ศ.2440)
จอห์น ฮอลแลนด์ (John Philip Holland) วิศวกรชาวไอร์แลนด์ สร้างเรือดำน้ำเครื่องยนต์เบนซินติดมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีคุณสมบัติในการเดินทางใต้น้ำระยะทางไกลได้ ในตอนนั้นถือเป็นการแข่งขันสร้างนวัตกรรมเรือดำน้ำระหว่างเขากับ ไซมอน เลก (Simon Lake) วิศวกรชาวอเมริกัน ซึ่งไอเดียของทั้งคู่ได้ส่งอิทธิพลต่อการออกแบบนวัตกรรมเรือดำน้ำยุคใหม่ เช่น การออกแบบหอบังคับการ แผ่นควบคุมการดำน้ำ ประตูฉุกเฉิน ห้องควบคุมเรือ และ กล้องส่องดูเหนือผิวน้ำ เป็นต้น
SM U-35 (พ.ศ.2457)
เรืออู คือชื่อเรียกซีรีส์ของเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล ที่สร้างมาสำหรับปฏิบัติการทางทหารของเยอรมนีโดยเฉพาะ เรืออูขึ้นชื่อเรื่องอานุภาพโจมตีกองเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรจนจมหลายพันลำ โดยใช้ตอร์ปิโดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แต่เรืออูลำที่ประสบความสำเร็จที่สุดได้แก่ SM U-35 ลำเรือยาว 64.7 เมตร เป็นเรือในรุ่น U-31 ซึ่งสามารถจมเรือคู่ต่อสู้ได้ถึง 224 ลำ ผลิตโดยบริษัท Friedrich Krupp Germaniawerft
(ภาพ: www.u-35.com)
เรือ ส. (พ.ศ.2481)
ในประวัติศาสตร์ไทย กองทัพเรือ (ทร.) เคยมีเรือดำน้ำครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเรียกทับศัพท์เรือดำน้ำว่า “เรือ ส.” (สับมะรีน) มีด้วยกัน 4 ลำ คือ ร.ล. มัจฉาณุ ร.ล. วิ รุณ ร.ล. สินสมุท ร และ ร.ล. พลายชุมพล ทั้งหมดสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ มิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการในไทยปี 2481 และปลดประจำการในปี 2494
Albacore (พ.ศ.2496)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ เห็นศักยภาพ ของเรือดำน้ำจึงได้คิดออกแบบลำเรือโดยพัฒนามาเป็น เรืออัลบาคอร์ ความยาว 62.1 เมตร สร้างจากเหล็กกล้า HY-80 ประกอบลำเรือเป็นรูปทรงหยดน้ำตามหลักอุทกพลศาสตร์ เพื่อให้เรือสามารถดำน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นทรงต้นแบบของลำเรือดำน้ำในยุคปัจจุบัน
Nautilus (SSN-571), (พ.ศ.2497)
ด้วยการผลักดันของพลเรือเอก ไฮแมน จี. ริกโอเวอร์ (Hyman G. Rickover) แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำให้เกิดเรือดำน้ำ ลำแรกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานมหาศาลจนสามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้ในระยะไกลขึ้นและต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือน โดยไม่ต้องขึ้นมาเติมเชื้อเพลิงเหมือนเรือดำน้ำในอดีต Nautilus (SSN-571) ขับเคลื่อนได้เร็ว 43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยาว 98 เมตร
Typhoon Class (พ.ศ.2524)
Typhoon Class คือ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธ ระยะไกลของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต สร้างโดยสำนักออกแบบวิศวกรรมทางทะเล รูบินของ Typhoon Class ยาว 175 เมตร มีระวางน้ำหนักเรือ สูงสุด 48,000 ตันเมื่ออยู่ใต้น้ำ ทำงาน เงียบกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในอดีต และอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 120 วัน นับเป็น เรือดำน้าใหญ่สุดที่เคยมีการสร้างมาในยุคนั้น
Type 212 (พ.ศ.2545)
เรือดำน้ำรุ่นขับเคลื่อนด้วยระบบ เครื่องยนต์ดีเซลของเยอรมนี ที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจน เป็นเรือดำน้ำยุคใหม่ลำแรกที่ใช้พลังงานทางเลือก ผลิตโดยบริษัท HDW ยาว 56 เมตร ขับเคลื่อน ด้วยความเร็วสูงสุด 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงเครื่องยนต์เงียบและบำรุงรักษาง่ายกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับตุลาคม 2558 และ กุมภาพันธ์ 2557