
เบื้องหลังการออกแบบ สโนว์ไวท์ จากเทพนิยายกริมม์สู่เจ้าหญิงคนแรกของ วอลท์ ดิสนีย์
- 21 ธันวาคม ค.ศ. 1937 สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้ง 7 หรือ “Snow White and the Seven Dwarfs.” เวอร์ชันดิสนีย์เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ กับเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้อ่อนโยนและราชินีแม่เลี้ยงใจร้าย
- วอลท์ ดิสนีย์ สร้างให้สโนว์ไวท์เป็นผู้มีแววตาสดใส สะท้อนความอ่อนโยน ใสซื่อที่เป็นตัวตนของเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ตรงตามคำบรรยายในเทพนิยายที่มาพร้อมคาแรคเตอร์ ผิวขาวราวหิมะ ริมฝีปากแดงดั่งกุหลาบ ผมดำดั่งมะเกลือ
เมื่อภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาว Snow White and the Seven Dwarfs หรือชื่อไทย สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1937 เรื่องราวของเจ้าหญิง สโนว์ไวท์ ที่อิงเนื้อเรื่องและตัวละครมาจากเทพนิยายของเยอรมันเขียนโดยสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (Grimm’s Fairy Tales) ก็ได้กลายมาเป็นตัวละครเจ้าหญิงคนแรกในอาณาจักรสร้างสรรค์ของ วอลท์ ดิสนีย์

ด้วยเสน่ห์ของตัวละครทั้งสโนว์ไวท์ แม่มด และคนแคระ บวกด้วยสีสันสดใสของงานภาพแอนิเมชันบนจอภาพยนตร์ในยุคแรกๆ ของเทคโนโลยีเทคนิคคัลเลอร์ ทำให้ผู้ชมอ้าแขนรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของวอลท์ดิสนีย์ ด้วยความตื่นตาตื่นใจดุจเทพนิยายที่ออกมาโลดแล่นได้สมจริง ถือภาพยนตร์การ์ตูนยาวเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีความยาว 83 นาที ใช้เวลาสร้างกว่า 5 ปี โดยใช้เงินสร้างไปกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ ถือได้ว่าเป็นทุนสร้างมหาศาลของวงการภาพยนตร์ในยุคปี 1937 แม้แต่ผู้สร้างอย่าง วอลท์ ดิสนีย์ ยังต้องเอาบ้านไปกู้สินเชื่อเพื่อทำตามความฝันสร้างภาพยนตร์การ์ตูนยาวเรื่องแรกให้เป็นจริง Sarakadee Lite ชวนไปเปิดเบื้องหลังการออกแบบคาแรคเตอร์ เสื้อผ้า หน้าผมของสโนว์ไวท์ในเวอร์ชัน ต้นฉบับแอนิเมชันของ วอลท์ ดิสนีย์ ที่กลายมาเป็นภาพจำตัวละครสโนว์ไวท์ในความหัวใจของแฟนๆ วอลท์ดิสนีย์ไปตลอดกาล

งานออกแบบ “ดิสนีย์สไตล์”
วอลท์ ดิสนีย์ เริ่มงานออกแบบ Snow White and the Seven Dwarfs แอนิเมชันเรื่องยาวเรื่องแรกของค่ายตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1934 โดยได้รวบรวมทีมศิลปิน แอนิเมเตอร์ นักออกแบบ และนักวาดภาพมาช่วยกันสร้างสรรค์ตัวละครสโนไวท์ งานออกแบบทุกรายละเอียดตั้งแต่ รูปร่าง หน้าตา ทรงผม เสื้อผ้า และองค์ประกอบสีล้วนมุ่งสื่อตัวตนของตัวละครที่ ยึดตามลักษณะเด่นของสโนว์ไวท์ในเทพนิยาย ที่เป็นเป็นเจ้าหญิงวัยสาวแรกรุ่น หน้าตาสวย มีความใสซื่อ ไร้เดียงสา และจิตใจอ่อนโยน ก่อนจะลงตัวเป็นสโนว์ไวท์อย่างที่เห็นในแอนิเมชันต้นฉบับ หรือแม้แต่เมื่อมีการดัดแปลงในเวอร์ชันต่างๆ ก็ยังคงคาแรคเตอร์และภาพจำนี้ไว้
เริ่มแรกทางทีมของดิสนีย์ได้ร่างแบบคาแรคเตอร์สโนว์ไวท์ให้มีรูปลักษณ์แบบสาวสวยคมสไตล์คลาสสิกและมีความใกล้เคียงกับคนจริง แต่ทาง วอลท์ ดิสนีย์ กลับเห็นว่าคาแรคเตอร์หญิงสาวสวยคมดูแข็งไปขัดกับคาแรคเตอร์ความอ่อนโยน จึงมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนสโนว์ไวท์ให้ดูอ่อนเยาว์ ละมุนละไมขึ้น เหตุผลหนึ่งก็เพื่อดึงดูดผู้ชมทุกวัย โดยเฉพาะผู้ชมวัยเด็ก ต่อมาทางทีมดีไซน์และแอนิเตอร์นำโดย อัลเบิร์ต เฮอร์เตอร์ (นักออกแบบ) แฮมิลตัน ลัสค์ และ โจ แกรนต์ (แอนิเมเตอร์) จึงได้สร้างสโนว์ไวท์ในกลิ่นอายของตัวการ์ตูนที่มีสัดส่วนเกินจริง ใช้เส้นสายความโค้งมน และเน้นการใช้สีสดใสซึ่งต่อมาได้รับการเรียกว่าเป็นงานออกแบบ “ดิสนีย์สไตล์” หมายถึงการออกแบบตัวละครแอนิเมชันที่เป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอวอลท์ ดิสนีย์ และเป็นภาพจำของผู้ชมทั่วโลกเมื่อนึกถึงเจ้าหญิงดิสนีย์

สีสันแอนิเมชันที่สดใสเต็มตา
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1932 ทางบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ได้ส่ง Flowers and Trees ภาพยนตร์สั้นแอนิเมชันสีเทคนิคคัลเลอร์เรื่องแรกออกฉาย และได้รับการตอบรับที่ดีมาก ผู้ชมตื่นตาตื่นใจกับหนังการ์ตูนสีเต็มตา จากความสำเร็จในครั้งนั้นดิสนีย์จึงจับเรื่องสีสันความสดใสในงานแอนิเมชัน เป็นจุดขายในยุคที่เทคนิคภาพสีเทคนิคคัลเลอร์ได้เข้ามาเป็นเทคโนโลยีใหม่เอื่ยมของโลกภาพยนตร์ และยังคงชูเรื่องสีสันเป็นจุดเด่นต่อเนื่องในโปรเจกต์ทำหนังแอนิเมชัน Snow White and the Seven Dwarfs

นิยามความสวยฉบับ สโนว์ไวท์
การออกแบบใบหน้าของสโนว์ไวท์ในแอนิเมชันใส่ความเป็นการ์ตูนมากกว่าสมจริง โดยเฉพาะการให้สัดส่วนใบหน้าที่ดูเกินจริง ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นสโนว์ไวท์ที่มีดวงตากลมโตกว่าปกติ ง่ายต่อกาารถ่ายทอดความรู้สึกใสซื่อของตัวละคร ทั้งยังดูน่ารักและติดตาเป็นภาพจำของผู้ชมได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ดวงตากลมโตยังตัดกับจมูกขนาดกะทัดรัด ปากเล็กเป็นกระจับ มีรอยยิ้มกว้างเป็นตัวแทนความสดใส
นอกจากนี้ใบหน้าทรงกลมเล็กดูสวยน่ารักแบบเด็กสาว ประกอบกับการใช้เส้นโค้งมนในการสร้างองค์ประกอบ ไปจนถึงการเลือกสีเสื้อผ้าที่มีเฉดสีสดใสอย่างเหลือง น้ำเงิน แดง พร้อมด้วยเครื่องประดับที่เป็นคาแรคเตอร์เฉพาะอย่างโบว์คาดผม ทั้งหมดเป็นการขับเน้นความอ่อนเยาว์ของตัวละครเพิ่มเข้าไปอีก เรียกได้ว่าครั้งแรกที่สโนว์ไวท์ปรากฎตัวก็ได้สร้างนิยามความสวยและภาพจำของเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ให้อยู่กลางใจผู้ชมได้ทันที

ศิลปะอาร์ตนูโวที่ซ่อนไว้ในลายเส้น
สโนว์ไวท์ เป็นตัวละครแอนิเมชันที่เป็นมนุษย์หญิงคนแรกของดิสนีย์ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของฝ่ายแอนิเมเตอร์ที่ต้องทำให้ตัวละครเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลกว่าทุกตัวละคนที่เคยสร้างมา งานหินนี้ทำให้ วอลท์ ดิสนีย์ ตัดสินใจดึงตัวแอนิเมเตอร์ระดับซูเปอร์ไวเซอร์ กริม แนตวิค (Grim Natwick) มาร่วมงานตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบตัวละคร องค์ประกอบศิลป์ โดยแนตวิคเคยทำตัวการ์ตูน Betty Boop มาก่อน และนั่นก็ทำให้ดีไซน์คาแร็คเตอร์สโนว์ไวท์ดราฟต์แรกๆ ของแนตวิคออกมาคล้ายตัวการ์ตูน Betty Boop ที่มีดวงตากลมโต หัวโต ขนตายาวงอน รูปร่างโค้งเว้าเน้นอกเอวสะโพกซึ่งเป็นคาแรคเตอร์หญิงสาวที่ดูเซ็กซี่มากไป ในที่สุดจึงได้มีการปรับแก้ให้รูปร่างของสโนว์ไวท์เน้นใช้เส้นสายโค้งมน นุ่มนวล อีกทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ของสโนว์ไวท์ ยังสะท้อนถึงอิทธิพลของความงานตามแบบศิลปะอาร์ต นูโว ที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค ค.ศ.1920-1930 โดยศิลปะอาร์ต นูโว จะเน้นไปที่เส้นสายอ่อนช้อย สีสันที่สวยงามแบบทุ่งดอกไม้ รวมทั้งเส้นสายพลิ้วไหว สื่อถึงความหรูหราสง่างามแบบอ่อนหวานแบบฉบับเจ้าหญิง

ต้นแบบสโนว์ไวท์มาจากนักเต้นวัย 14
นอกจากการตีความตัวละครตามเทพนิยายกริมม์แล้ว การชุบชีวิตสโนว์ไวท์ให้ออกมาโลดแล่นในโลกภาพยนตร์แอนิเมชันยังมีต้นแบบมาจากบุคคลจริง นั่นก็คือนักเต้นรำดาวรุ่งวัย 14 มาร์จอรี เซเลสต์ เบลเชอร์ ( Marjorie Celeste Belcher) หรือชื่อในการแสดง มาร์จ แชมเปียน (Marge Champion) โดยในการเคลื่อนไหวของตัวละครสโนว์ไวท์ รวมถึงทั้งลีลาเต้นรำ การเข้าฉากต่างๆ ล้วนมาจากท่าทางขณะที่ มาร์จ แชมเปียน กำลังเคลื่อนไหวหรือเต้นรำอยู่จริง เพื่อให้แอนิเมเตอร์สามารถจับท่าทาง และสร้างท่วงท่าให้ตัวละครบนภาพสเก็ตช์เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของคนจริงมากที่สุด และนอกจากสโนว์ไวท์ นักเต้น มาร์จ แชมเปียน ยังเป็นต้นแบบการเคลื่อนไหวให้กับตัวการ์ตูนอื่นๆ ของดิสนีย์รวมถึง บลู แฟรี่ ในแอนิเมชันเรื่อง Pinocchio ด้วย

ผิวขาวราวหิมะ ริมฝีปากแดงดั่งกุหลาบ ผมดำดั่งมะเกลือ
ในต้นฉบับเทพนิยายของกริมม์ กระจกวิเศษบรรยายลักษณะของสโนว์ไวท์ไว้ว่า มีสีผิวขาวราวหิมะ ปากแดงสดใสดุจสีเลือด และ ผมสีดำขลับดุจสีดำของอีโบนี (หรือไม้มะเกลือ)
แต่ทราบหรือไม่ว่าในร่างสเก็ตช์แรกๆ ของตัวละครสโนว์ไวท์ของดิสนีย์นั้นถูกออกแบบสีผมเป็นบลอนด์ทองยาวหยักศกสลวย และถักเปียยาว ซึ่งคาแรคเตอร์สาวผมบลอนด์อ้างอิงมาจากพิมพ์นิยมของเจ้าหญิงในภาพประกอบหนังสือนิทานแนวเทพนิยายของเยอรมันในยุคนั้น เริ่มแรกทีมออกแบบได้ทดลองสีผมสโนว์ไวท์หลายสีทั้งสีบลอนด์และผมแดง แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นสีดำตามต้นฉบับ ส่วน ทรงผมบ็อบสั้น เป็นไอเดียจาก กริม เนตวิค แอนิเมเตอร์ซูเปอร์ไวเซอร์ ที่เคยทำตัวการ์ตูน Betty Boob มาก่อน ซึ่งเหมาะกับลุคของหญิงสาวผู้อ่อนโยนและใสซื่อแบบฉบับสโนว์ไวท์

ชุดสุดไอคอนนิกของสโนว์ไวท์
นอกจากรูปร่างหน้าตาแล้ว เครื่องแต่งกายหรือชุดเจ้าหญิง ชุดสุดไอคอนนิกของสโนว์ไวท์ ที่เป็นชุดกระโปรงเข้ารูปช่วงเอว เสื้อแขนพองคอปกตั้ง ก็ออกแบบโดยยึดคอนเซ็ปต์สาวน้อยผู้อ่อนเยาว์และความบริสุทธิ์ผุดผ่องของสโนไวท์ เช่นเดียวกับ การใช้สีสดใสอย่างเหลือง แดง และน้ำเงิน เป็นสีที่ตัดกันอย่างคมชัดทำให้ ตัวละครสโนว์ไวท์ โดดเด่นในทุกฉากของโลกภาพยนตร์แอนิเมชันที่เต็มไปด้วยสีสันราวกับตกอยู่ในมนตราของโลกภาพยนตร์
อ้างอิง
