เทศกาลภาพยนตร์สเปน ครั้งที่ 2 ว่าด้วยสเปนจากมุมมอง 5 ผู้สร้างภาพยนตร์หญิงที่น่าจับตา
- เทศกาลภาพยนตร์สเปน กรุงเทพฯ จัดครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยนำภาพยนตร์ของ เปโดร อัลโมโดวา ผู้กำกับชาวสเปนที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาสะท้อนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตร่วมสมัยของสเปน
- เทศกาลภาพยนตร์สเปน ครั้งที่ 2 จัดระหว่าง 17-21 ตุลาคม 2565 ชมฟรี ณ โรงภาพยนตร์ HOUSE SAMYAN สามย่านมิตรทาวน์
กลับมาอีกครั้งกับ เทศกาลภาพยนตร์สเปน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 ระหว่าง 17-21 ตุลาคม 2565 ชมฟรี! ณ โรงภาพยนตร์ HOUSE SAMYAN สามย่านมิตรทาวน์ กับมุมมองและเรื่องเล่าจากผู้หญิงสเปน นำเสนอโดย สถานเอกอัครราชทูตสเปน ร่วมกับเฮาส์ สามย่าน และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ชวนคนไทยไปรู้จักวัฒนธรรม ชีวิตผู้คน ประวัติศาสตร์ และดินแดนสเปนในหลายภูมิภาคผ่านงานภาพยนตร์ที่เป็นผลงานและมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์หญิงสัญชาติสเปน 5 คน ซึ่งมีผลงานโดดเด่นและน่าจับมองในยุคปัจจุบัน
สำหรับ เทศกาลภาพยนตร์สเปน ณ กรุงเทพฯ จัดครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยนำภาพยนตร์ของ เปโดร อัลโมโดวา ผู้กำกับชาวสเปนที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาสะท้อนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตร่วมสมัยของสเปนผ่านภาพยนตร์ และในปี 2565 เทศกาลภาพยนตร์สเปน กลับมาอีกครั้งกับการนำเสนอผลงานสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนวิสัยทัศน์และพรสวรรค์ของผู้กำกับภาพยนตร์หญิง 5 คน 5 เรื่องราว 5 สไตล์ ได้แก่
01 Summer 1993 (2017)
กำกับ : การ์ล่า ซิมอน (Carla Simón)
รอบฉาย : 18 ตุลาคม 2565
จุดเด่น : ชื่อไทย ฤดูร้อน 1993 ภาพยนตร์เรื่องแรกและเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงของผู้กำกับ การ์ล่า ซิมอน นำเสนอเรื่องราวของเด็กหญิงอายุ 6 ขวบที่ชีวิตพลิกผันต้องเปลี่ยนจากเด็กในเมืองหลวงของแคว้นคาตาลันอย่างบาร์เซโลนา ไปอยู่กับลุงป้าในชนบท หลังจากแม่ของเธอเสียชีวิตด้วย “เอดส์” โรคร้ายที่น่าสะพรึงในต้นทศวรรษ 90
“เราผู้หญิงเป็นครึ่งหนึ่งของโลก และเราควรได้บอกเล่าเรื่องราวอีกครึ่งหนึ่งด้วย” การ์ล่า ซิมอน ได้กล่าวไว้เมื่อเธอขึ้นรางวัลหมีทองคำ สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากผลงานของเธอเรื่อง ALCARRAS ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เบอร์ลิน ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปีค.ศ. 2021
เรื่องย่อ : ประเทศสเปนในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1993 หลังจากที่แม่ของเธอเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ฟรีด้า เด็กหญิงอายุ 6 ขวบต้องละทิ้งเมืองบาร์เซโลนาที่เธออาศัยอยู่ไปใช้ชีวิตในชนบทกับครอบครัวของลุงกับป้าซึ่งมีลูกสาวชื่อ แอนนา วัย 3 ขวบ ฟรีด้าผู้ทุกข์ทรมานจากความเศร้าโศกและความเจ็บปวดที่เธอเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจจากความตายของพ่อแม่ เธอต้องผ่านฤดูร้อนในต่างเมืองเป็นครั้งแรกกับครอบครัวใหม่และสภาพแวดล้อมในชนบทใหม่ที่เธอจะต้องปรับตัว เนื้อเรื่องเป็นอัตชีวประวัติของผู้กำกับ การ์ลา ซิมอน ในแง่มุมของความอ่อนแอและความสิ้นหวังของเธอเมื่อเธอสูญเสียแม่ไปในขณะที่ยังเป็นเด็ก
02 Carmen y Lola (2018)
รอบฉาย : 19 ตุลาคม 2565
กำกับ : อรันช่า เอเชบาเรีย (Arantxa Echevarría)
จุดเด่น : ชื่อไทย การ์เมนและโลล่า ภาพยนตร์สะท้อนความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของวัยรุ่นหญิงสองคนที่เป็นคนชายขอบของสังคม ในชุมชนยิปซีที่สเปน (และของยุโรป) กับคีย์ของเรื่องคือการดิ้นรนเพื่อตามหาฝันและความพยายามออกจากกรอบวิถีชีวิตแบบอนุรักษ์นิยมของครอบครัว
เรื่องย่อ : การ์เมน เป็นวัยรุ่นยิปซี (ชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีบ้านถาวร) อาศัยอยู่ในเขตชานเมืองมาดริด เธอมีชะตาชีวิตเช่นเดียวกับสาวชาวยิปซีอื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้มีชะตาชีวิตที่เกิดซ้ำรุ่นแล้วรุ่นเล่านั่นคือ พวกเธอเติบโตเพื่อทำหน้าที่แต่งงานและเลี้ยงลูกให้มากที่สุด แต่แล้ววันหนึ่งการ์เมนได้พบกับ โลล่า ยิปซีสาวแหกกรอบและชื่นชอบการวาดภาพกราฟิตตี้ โลล่าใฝ่ฝันจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และทั้งคู่จะพยายามสานต่อความรักของพวกเขาไปข้างหน้า แม้จะมีอุปสรรคและการเลือกปฏิบัติทางสังคมที่พวกเขาต้องเผชิญเนื่องจากความอนุรักษ์นิยมยึดมั่นในประเพณีของครอบครัวของพวกเธอทั้งคู่
03 Schoolgirls (2020)
รอบฉาย : 20 ตุลาคม 2565
กำกับ : ปิลาร์ ปาโลเมรา (Pilar Palomera)
จุดเด่น : ชื่อไทย สาวน้อยวัยว้าวุ่น โดดเด่นด้วยเรื่องราวการเติบโตของวัยรุ่นหญิง 2 คน ช่วงต้นทศวรรษ 90 จากปูมหลังที่แตกต่างทั้งวิถีเคร่งครัดและวิถีแห่งเสรีภาพ โดยมีฉากหลังเป็นช่วงที่ประเทศสเปนมีความคึกคักอย่างมากจากการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกบาร์เซโลนา และงานมหกรรมนิทรรศการสากล ที่เมืองเซบียา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งของสังคมและของเด็กทั้งสอง
เรื่องย่อ : เซเลีย อายุ 11 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองซาราโกซาและเรียนหนังสือในโรงเรียนคอนแวนต์ วันหนึ่งเธอได้พบกับ บริซา สาวน้อยวัยรุ่นที่ย้ายมาจากบาร์เซโลนา บริซาเริ่มนำเซเลียไปสู่วิถีความเป็นวัยรุ่นและทำให้เธอค้นพบว่าชีวิตมีความจริงและเรื่องโกหกมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่เกิดในประเทศสเปนในปี ค.ศ. 1992 ที่มีเหตุการณ์สำคัญระดับโลกเกิดขึ้น
04 Libertad (2021)
รอบฉาย : 21 ตุลาคม 2565
กำกับ : กลาร่า โรเกต (Clara Roquet)
จุดเด่น : ชื่อไทย ลิเบร์ตั๊ด ภาพยนตร์สะท้อนความสัมพันธ์ของสองสาววัยรุ่นต่างเชื้อชาติและชนชั้นที่มีความขบถในวิถีเติบโตของวัยรุ่น ซึ่งแฝงนัยยะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าบ้านอดีตเจ้าอาณานิคม และผู้อพยพเข้าเมืองอดีตผู้เคยอยู่ใต้อาณานิคม
เรื่องย่อ : นอร่า เด็กหญิงชาวสเปนวัย 14 ปี เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นสูงแห่งสเปน ชีวิตเธอต้องเปลี่ยนไปเมื่อพบกับ ลิเบอร์ตั๊ด เด็กสาวชาวโคลอมเบียลูกสาวคนใช้ของครอบครัว ลิเบร์ตั๊ดที่ชอบต่อต้านและมีเสน่ห์ สาวน้อยลูกคนใช้กลายเป็นกุญแจที่เปิดประตูสู่วัยรุ่นของคุณหนูแห่งตระกูลผู้ดีอย่างนอร่า
05 Maxiabel (2021)
รอบฉาย : 17 ตุลาคม 2565
กำกับ : อิซิอาร์ โบยาอิน (Iciar Bollaín)
จุดเด่น : ชื่อไทย ไมซาเบล โดดเด่นด้วยเนื้อเรื่องที่พาผู้สูญเสียกับผู้กระทำความผิดที่พรากชีวิตคนรักไปจากเธอชั่วนิรันดร์มาเผชิญหน้ากันโดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศทางการเมืองของสเปนในยุค 2000
เรื่องย่อ : ในปี 2000 ไมซาเบล ลาซา สูญเสียสามี ฆวน มาเรีย เฆาเรกิ (นักการเมืองชาวสเปนชื่อดัง) ซึ่งถูกสังหารโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายเอต้า (ETA) ต่อมาหลังเหตุการณ์ 11 ปี เธอได้รับคำร้องขอเข้าพบจากชายคนหนึ่งที่ฆ่าสามีของเธอซึ่งกำลังอยู่ในคุกที่เขารับโทษและได้ตัดขาดจากกลุ่มก่อการร้ายไปแล้ว แม้ว่าเธอยังมีความระแวงสงสัยและยังรู้สึกเจ็บปวดจากความสูญเสียคนที่รักอยู่มากก็ตาม ไมซาเบล ลาซา ก็ตกลงที่จะพบกับคนที่ฆ่าสามีของเธอซึ่งอยู่คบหากับเธอมาตั้งแต่เธออายุ 16 ปีแบบตัวต่อตัว เมื่อถูกถามถึงเหตุผลการไปพบกับฆาตกรที่ฆ่าสามีของเธอไมซาเบล ลาซา บอกว่า “ทุกคนสมควรได้รับโอกาสครั้งที่สอง”
Fact File
ภาพยนตร์ทุกเรื่องใน เทศกาลภาพยนตร์สเปน เปิดให้เข้าชมฟรี รอบฉาย เวลา 19.00 น. ฉายวันละเรื่อง วันละรอบ โดยจองผ่านออนไลน์ล่วงหน้าเฉพาะวันรอบพิธีเปิดเทศกาล 17 ตุลาคมที่ https://cutt.ly/8BwntJf ส่วนในวันอื่นๆ สามารถรับบัตรชมฟรีที่หน้าโรงภาพยนตร์ House Samyan ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://shorturl.asia/UwCaH