ความลับของโครงกระดูก : เมื่อกายวิภาคศาสตร์เข้าถึงได้ง่ายด้วยศิลปะ
Lite

ความลับของโครงกระดูก : เมื่อกายวิภาคศาสตร์เข้าถึงได้ง่ายด้วยศิลปะ

Focus
  • นิทรรศการ ความลับของโครงกระดูก (Skeleton’s Secrets) ไม่ได้เพียงจัดแสดงโครงกระดูกหาชมยาก แต่โครงกระดูกสื่อถึงการปรับตัว การวิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต
  • การคัดเลือกโครงกระดูกในครั้งนี้พยายามดึงตัวแทนของสัตว์มีกระดูกสันหลัง 5 กลุ่มหลักคือ ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เพราะมนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลก เราจึงต้องเรียนรู้ทั้งเขาและเราเพื่อปรับตัวในการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและผาสุกนี่คือข้อความที่แฝงอยู่เบื้องหลังของนิทรรศการ ความลับของโครงกระดูก (Skeleton’s Secrets) ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดได้ขยายเวลาจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 

ความลับของโครงกระดูก คือนิทรรศการที่เกิดจากความร่วมมือของ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม และ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการคัดเลือกโครงกระดูกของสัตว์กว่า 20 ชนิด มาจัดแสดงแบบผสมผสานการจัดวางทางศิลปะเพื่อความเข้าถึงง่าย เกิดความเพลิดเพลินและเข้าใจง่ายขึ้น

ความลับของโครงกระดูก
ผศ.ดร.ธนะกุล วรรณประเสริฐ

ทันทีที่ไปถึง เมื่อเห็นกะโหลกจำลองของแรดชวาด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ก็มั่นใจได้ว่ามาไม่ผิดแน่ เพราะเพียงเปิดประตูเข้าไป โครงกระดูกจริงของสัตว์น้อยใหญ่ที่มีการจัดวางและจัดแสงเพื่อเพิ่มสุนทรียะในการชม ก็กำลังรอให้เราเข้าไปสำรวจและพินิจพิเคราะห์อยู่ด้านใน แต่เรื่องเทคนิคการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ ผศ.ดร.ธนะกุล วรรณประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงวิธีการจัดแสดงเท่านั้น แต่แทรกซึมอยู่ในขั้นตอนการต่อกระดูกของคลาสการเรียนการสอนทางกายวิภาคศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกแมวบ้าน
ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกกระรอกหลากสี

“การต่อกระดูก เป็นเหมือนศาสตร์และศิลป์ที่จะต้องรู้เทคนิคการต่อและความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ก็จำเป็นต้องใช้ สัตว์บางกลุ่มอย่างเช่นสุนัขหรือแมว ถ้าลองสังเกตดี ๆ เวลายืนนิ้วเท้าเขาจะเป็นส่วนที่แตะพื้น ไม่ใช่ฝ่าเท้าเหมือนกับมนุษย์เรา เวลาจัดแสดงนิสิตจะต้องใช้ส่วนกระดูกนิ้วเท้าแตะกับพื้น ต้องทำการต่อในท่าทางที่พบได้จริงตามธรรมชาติ และมีการใช้ศิลปะมาช่วยในการจัดแสดงให้สวย เช่นการจัดท่าทางของกระรอกให้มีลักษณะเหมือนกำลังแทะธัญพืชอยู่ และยังต้องอาศัยความอดทน มีความละเอียดในการทำ นิสิตก็จะได้ความประณีตไปโดยที่เขาไม่รู้ตัว” 

การคัดเลือกโครงกระดูกสำหรับจัดแสดงในครั้งนี้ ผศ.ดร.ธนะกุลกล่าวว่า ได้พยายามดึงตัวแทนของสัตว์มีกระดูกสันหลัง 5 กลุ่มหลักคือ ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากผลงานการต่อกระดูกของนิสิตที่จัดเก็บสะสมไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเลือกจากความสมบูรณ์ของโครงสร้างและสีของกระดูกที่ยังคงมีความใหม่ 

ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกกบนา
ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกแรดชวา

โครงกระดูกของ กบนา ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในงานนี้ด้วยอายุเกือบ 30 ปี แต่หากถามถึงความยากในการต่อ ผศ.ดร.ธนะกุล ยกให้กลุ่มปลาเพราะกระดูกทั้งส่วนซี่โครงและกะโหลกมีความละเอียดมาก ส่วนที่หาชมยากหนึ่งในนั้นคือ กะท่างน้ำปัญหา สัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างคล้ายจิ้งจกหรือกิ้งก่าซึ่งมักพบบนภูเขา รวมทั้งโครงกะโหลกของ แรดชวา หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่

“ลักษณะสัณฐานและกะโหลกของสัตว์แต่ละกลุ่มจะสื่อถึงการปรับตัวตามธรรมชาติของสัตว์ เราไม่สามารถบอกได้ว่าสัตว์ตัวนี้ดีกว่าตัวนี้ แต่มันเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่เขากินเวลาสะสมมาเป็นหลายร้อยปี เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เราไม่สามารถบอกได้ว่ามนุษย์เรามีวิวัฒนาการสูงที่สุด ดีที่สุด มันเป็นเรื่องของการปรับตัว เพราะมนุษย์เราอยู่มาแค่ไม่กี่แสนปีเท่านั้นเอง สัตว์บางกลุ่มอย่างแมลงสาบเขาอยู่มาร้อยล้านปีแล้ว อีกล้านปีข้างหน้ามนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ก็ได้ เราเลยไม่สามารถบอกได้ว่าเราเป็นสัตว์ที่เจริญที่สุด แต่คนเรามักชอบ Bias ว่าเราดีที่สุด อย่างคำว่า Primate ถ้านึกไปถึงรากศัพท์ มันมาจากคำว่า Primary คือเหนือสุดอันดับหนึ่ง ซึ่งตามจริงไม่ควรจะกล่าวแบบนั้น”

ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกนกเอี้ยงหงอน

จากการได้เดินชม เราจะเห็นว่าโครงสร้างสัตว์แต่ละชนิดต่างวิวัฒนาการเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน โดยบางลักษณะอาจไม่ได้แสดงออกจากภายนอก ต้องอาศัยการศึกษาลงไปที่ภายใน เพื่อค้นหาความลับที่โครงกระดูกซ่อนไว้ เช่นสัตว์กลุ่มไพรเมตจะมีส่วนเบ้าตาเป็นลักษณะเด่น เพราะสัตว์กลุ่มนี้มีสัมผัสทางสายตาที่ดี หรือกระดูกนกหากผ่าดูจะมีความกลวงและน้ำหนักเบา เพื่อเอื้อให้มันสามารถโผบินได้ 

“โครงกระดูกสื่อถึงการปรับตัว การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทำให้เราเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งหากคนทั่วไปมาดูก็สามารถเรียนรู้ลักษณะพฤติกรรมได้จากการสังเกต เช่น กะโหลก ส่วนฟันสามารถสื่อถึงการกินอาหารของสัตว์ได้ หนูกับแมวจะเปรียบเทียบกันได้ดี พวกหนูจะสังเกตได้ว่าช่วงฟันกรามเขาจะโหว่ ซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่มสัตว์กินพืชที่จะไม่มีฟันเขี้ยว

ความลับของโครงกระดูก
โครงกระดูกกระต่ายยุโรป

“พวกแมวหรือสัตว์กินเนื้อ ฟันเขี้ยว ฟันกรามเขาจะแหลมเลย ฟันไม่มีสเปซกว้างมากเท่ากับพวกที่กินพืช สังเกตว่าข้อต่อขากรรไกรจะแข็งแรง เพื่อให้งับเหยื่อได้แน่น ไม่มีเคลื่อน ข้อต่อขากรรไกรส่วนใหญ่จะเคลื่อนตัวในแนวดิ่งเป็นหลัก ต่างจากวัวที่กินหญ้า ขากรรไกรเขาจะเคลื่อนตัวออกข้าง ๆ ได้ ขากรรไกรจึงเป็นส่วนหนึ่งที่บอกถึงชนิดของอาหาร เวลาไปเดินป่าเดินเขา ถ้าเราเห็นหัวกะโหลกหรือลักษณะของฟัน เราอาจจะบอกได้ว่าบริเวณนี้เคยมีพวกสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์กินพืชผ่านมาอยู่ หรือหากเห็นรอยเท้า อาจบอกได้ว่ารอยเท้าแบบนี้เป็นสัตว์มีเล็บหรือเปล่า เป็นรอยเท้าของสัตว์กลุ่มไหน ซึ่งมันสื่อถึงความปลอดภัยที่เราอาจจะตระหนักได้เวลาเดินป่า”

โครงกระดูกค้างคาวเล็บกุด

“ประโยชน์อีกอย่างของการศึกษาโครงกระดูกคือ มันสามารถสื่อถึงการเคลื่อนที่ พฤติกรรมการวิ่ง การกระโดด การเดินได้ สัตว์ที่มีการวิ่งบ่อย ๆ อย่างสุนัข แมวหรือม้า กระดูกไหปลาร้าจะลดรูปไป เพราะหากมีกระดูกไหปลาร้าจะทำให้ขาเขาถ่างออก พวกที่วิ่งเร็วสังเกตว่าขาจะลู่แนบไปกับลำตัวเพื่อให้การก้าว การควบทำได้เร็ว ต่างจากพวกนกที่กระดูกไหปลาร้าจะมีการเชื่อมโยงกันซ้ายกับขวา นกจะมีกระดูกช่วงอกที่ใหญ่เพื่อเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อปีก เนื่องจากการกระพือปีกของเขาต้องใช้พลังงานเยอะ”

ความแตกต่างหลากหลายคือหนึ่งในความเพลิดเพลินของการเดินชมนิทรรศการนี้ ที่พอเห็นแล้วเราอาจเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์บางชนิดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่ ผศ.ดร.ธนะกุล ให้ความสำคัญคือการใช้สัตว์ให้น้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยสัตว์ที่นำมาศึกษาการต่อโครงกระดูกจะต้องเป็นซากสัตว์ที่บังเอิญพบ หรือสัตว์ใหญ่อาจขอบริจาคจากทางสัตวแพทย์หรือหน่วยงานอื่นที่มีซากสัตว์อยู่แล้ว เช่น สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

โครงกระดูกงู

“เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเบียดเบียนเขา เราเรียนรู้เขาเพื่อปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น พะยูน สัตว์ที่สมัยก่อนเขาตายเพราะโดนใบพัดเรือปั่น ซึ่งเสียงใบพัดเป็นเสียงที่พะยูนไม่รับรู้ เลยไม่รู้ว่ามีใบพัดเรือเคลื่อนเข้ามา เขาจะถูกใบพัดเรือปั่นแล้วถูกน้ำซัดมาอยู่บนฝั่ง สิ่งนี้ก็ทำให้มนุษย์เราตระหนักมากขึ้น จึงมีการปรับเครื่องจักรกลให้พะยูนสามารถรับรู้ได้ว่าตอนนี้มีเครื่องจักรมา เราเรียนรู้เขาเพื่ออนุรักษ์เขาด้วย ในธรรมชาติหากสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไปอาจส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ทั้งห่วงโซ่อาหาร การถ่ายเทพลังงานทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมด”

“ทุกสิ่งมีชีวิต ทุกสปีชีส์ล้วนมีคุณค่าในระบบนิเวศของมัน บางสิ่งเป็นจุดเล็กจุดน้อยแต่เป็นส่วนสำคัญที่เราต้องตระหนัก การเรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์มันทำให้เราเกิดความตระหนักเรื่องของคุณค่าในชีวิตสัตว์ด้วย สัตว์ทุกชนิดล้วนมีคุณค่าและรักในชีวิตของมันทั้งนั้น เราเลยจะพยายามเลี่ยงไม่ฆ่าสัตว์ ให้นิสิตหาซากหรือขอบริจาคมาเท่าที่จำเป็น”

นอกจากโครงกระดูกจะสื่อถึงพฤติกรรม การเคลื่อนที่หรือการกินของสัตว์ได้แล้ว ผศ.ดร.ธนะกุล ยังกล่าวว่า กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบเสมือนรากของต้นไม้ เป็นพื้นฐานที่สามารถใช้ต่อยอดไปสู่สาขาอื่น ๆ ทางชีวภาพได้ เช่น การศึกษาสรีระ วิวัฒนาการ พฤติกรรมหรืออนุกรมวิธาน แต่ทุกศาสตร์ล้วนมีความสำคัญและเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ ที่หากนำแต่ละตัวมาประกอบกันแล้วเราจะเห็นภาพใหญ่ของธรรมชาติมากขึ้น

Fact File

  • นิทรรศการ ความลับของโครงกระดูก จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
  • Facebook : Chula Museum
  • สูจิบัตรนิทรรศการ : bit.ly/3d1ETux

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม