เซียงเพียว เทเบิล สำรับแห่งความทรงจำถึงยาหม่องน้ำรูปอากง “เซียงเพียว”
- เซียงเพียว แบรนด์ยาหม่องน้ำในตำนาน เข้าสู่ยุคทายาทรุ่นที่ 2 พร้อมขยายแบรนด์เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ผ่านการสร้างสนามปั่นจักรยาน Peppermint Bike Park และการเปิดร้านอาหาร
- เรื่องราวของ บุญเจือ เอี่ยมพิกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบ Siangpure Table นำเสนออาหาร 7 คอร์สสำหรับดินเนอร์ในชื่อ “สำรับแห่งความทรงจำ” เสิร์ฟในร้าน Mint Café Express
เมื่อยาหม่องน้ำรูปอากงในตำนานขยายเรื่องราวสู่ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ นำการเดินทางบนเส้นทางธุรกิจของ บุญเจือ เอี่ยมพิกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เซียงเพียว หรือชื่อดั้งเดิมคือ เซียงเพียวอิ๊ว มาถ่ายทอดในรูปแบบ Chef’s Table พร้อมนำเสนอเมนูดินเนอร์ 7 คอร์สในชื่อ “สำรับแห่งความทรงจำ” ที่ เซียงเพียว เทเบิล (Siangpure Table) พิกัดร้าน Mint Café Express
ยาหม่องน้ำสีเหลืองอำพันบรรจุในขวดแก้วขนาดเล็กทรงสามเหลี่ยมยี่ห้อเซียงเพียวอิ๊ว วางจำหน่ายครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2501 จากนั้นบุญเจือได้ส่งไม้ต่อธุรกิจให้ลูกสาว สุวรรณา เอี่ยมพิกุล ซึ่งได้ขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ เป๊ปเปอร์มิ้นท์ฟิลด์ รวมทั้งได้รีแบรนด์ เซียงเพียวอิ๊ว มาเป็น เซียงเพียว เพื่อให้เรียกง่ายขึ้นและรองรับการขยายผลิตภัณฑ์ไลน์ใหม่ๆ พร้อมการก่อตั้งร้านอาหาร Mint Café ซึ่งได้เปิดสาขา 2 ในชื่อ Mint Café Express ในซอยลาดพร้าว 80 เสิร์ฟทั้งอาหารไทยและอาหารตะวันตกแบบฟิวชัน
ด้วยความที่ Mint Café Express ตั้งอยู่ภายในพื้นที่บริษัทซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานของแบรนด์ สุวรรณาจึงเกิดไอเดียให้ เชฟศรายุทธ วัฒนากร สร้างสรรค์เมนูอาหาร เซียงเพียว เทเบิล (Siangpure Table) ในรูปแบบ Chef’s Table เป็นอาหาร 7 คอร์สสำหรับดินเนอร์ในชื่อ “สำรับแห่งความทรงจำ” โดยเชฟได้นำแรงบันดาลใจและโจทย์มาจากการก่อร่างสร้างแบรนด์ที่เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของบุญเจือโดยมี ธนาภรณ์ ธนโรจน์ประดิษฐ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยซีอีโอของบริษัทเป็นผู้ถ่ายทอดในรูปแบบหนังสือการ์ตูนชื่อ “บุรุษเบื้องหลังตำนานเซียงเพียว” ที่พิมพ์แจกจ่ายแก่พนักงานและลูกค้าของบริษัท
เมนูแรกใน สำรับแห่งความทรงจำ ชื่อ “โอกาสทอง” บอกเล่าเรื่องราวการอพยพเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล หนีความยากลำบากมาจากจีนของบิดาและมารดาของบุญเจือเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สยามในราว พ.ศ.2473 และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความหวังและโอกาสในผืนแผ่นดินใหม่ เชฟศรายุทธจึงใช้แป้งเปาะเปี๊ยะทอดกรอบห่อเป็นรูปคล้ายถุงเงินถุงทองโดยแนะนำให้กินถุงทองก่อนที่ข้างในเป็นไส้หมูสับกับล็อบสเตอร์และผสมกับสามเกลอ เสิร์ฟกับน้ำจิ้มบ๊วย ส่วนถุงเงินเป็นไส้เนื้อเป็ดบดห่อด้วยตับห่านกับสามเกลอ กินคู่กับน้ำจิ้มมะขาม
จานต่อมาชื่อ “ป่าช้าล่าถอย” เป็นเมนูเมี่ยงสามปลาที่ประกอบด้วยปลาทูแม่กลองนึ่งปลาแซลมอนย่าง ปลาทูน่าซากุท็อปด้วยไข่ปลาคาเวียร์ กินคู่กับเส้นหมี่และคลุกเคล้าด้วยสมุนไพรหลายชนิดเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดและใบชะพลูสดสำหรับห่อ
จานนี้เชฟได้หยิบยกเรื่องราววัยเยาว์ของบุญเจือช่วงที่เขากับพี่ชายต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปซื้อปลาทูที่ตรอกจันทน์มาขายที่ตลาดวัดแขก ระหว่างทางต้องผ่านป่าช้าวัดดอนซึ่งตอนแรกทั้งคู่กลัวจนต้องวิ่งหนีแต่ภายหลังเอาชนะความกลัวได้ด้วยการเผชิญหน้าซึ่งกลายมาเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตของบุญเจือว่าต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตและจะฝ่าฟันไปได้ในที่สุด
เมนูถัดมาเล่าเรื่องบุญเจือสมัยหนุ่มขณะทำงานที่ร้านขนมแถวท่าเตียน และเถ้าแก่ร้านทำข้าวต้มกุ้งจากกุ้งที่จับได้จำนวนมากให้ลูกจ้างกินกันทั้ง 3 มื้อทุกวันจนเบื่อ นี่จึงเป็นที่มาของเมนูชื่อ “กุ้งอดทน” ที่เชฟใช้กุ้งแม่น้ำย่างบนเตาถ่านเสิร์ฟเคียงมากับเส้นสปาเกตตีท็อปด้วยไข่ปลาแซลมอนและน้ำจิ้มวาซาบิซีฟู้ด
วัตถุดิบสำคัญของจานต่อมาคือ พริก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นความรักของบุญเจือกับภรรยา สุชาดา ซึ่งทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่ร้านขายพริกของพี่สาวของสุชาดา จนทำให้บุญเจือกลายเป็นขาประจำของร้าน เชฟเรียกเมนูนี้ว่า “รักแรก แรกรัก” โดยใช้ปลากะพงย่างโรยด้วยพริกเชื่อมที่ลอกเม็ดพริกออกแล้วต้มถึง 4 ครั้งก่อนจะนำไปเชื่อมน้ำตาลเพื่อลดความเผ็ดลง และเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอย่างราตาตูย
ร้านกาแฟที่บิดาของบุญเจือเปิดหาเลี้ยงชีพสมาชิก 9 คนของครอบครัวในตรอกพิกุลเป็นสถานที่ๆทำให้เด็กชายบุญเจือได้พบกับซินแสถัง เจ้าของสูตรสมุนไพรยาครอบจักรวาลที่เขานำมาพัฒนาต่อยอดเป็นยาหม่องน้ำ ได้นำมาถ่ายทอดผ่านเมนูชื่อ “กาแฟ 9 ชีวิต” โดยใช้หมูสันนอกหมักด้วยเครื่องสะเต๊ะและกาแฟราดด้วยซอสถั่วลิสงและตัดเลี่ยนด้วยอาจาดหัวหอม
อาหารคาวจานสุดท้ายในสำรับ เซียงเพียว เทเบิล ชื่อ “เป็ดรวยเพื่อน” เล่าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บุญเจือทำงานเก็บลูกเทนนิสให้ทหารอเมริกันที่เข้ามาในไทยตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เพื่อแลกกับทิปแล้วนำเงินไปซื้อเป็ดย่างมากินกับเพื่อนๆ ในจานนี้เชฟนำอกเป็ดไปซูวีที่ 78 องศา เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และมีส่วนผสมของอบเชยและกานพลูที่เป็นสมุนไพรหลักในการผลิตยาหม่องน้ำด้วย อกเป็ดเสิร์ฟเคียงมากับผักสดและซอสลูกเกดน้ำผึ้งผสมวอดกา
ตบท้ายด้วยของหวานในชื่อ “บานาน่าบอย” เป็นกล้วยหอมเชื่อมโรยเกล็ดน้ำตาลแล้วนำมาเบิร์นไฟจนกลายเป็นคาราเมล เสิร์ฟคู่กับขนมตุ้บตั้บ ไอศกรีมกะทิมะม่วงสุกและสตรอว์เบอร์รีแช่น้ำเชื่อมรสมินต์ เมนูนี้เป็นความทรงจำจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นแพ้สงครามทำให้ทหารญี่ปุ่นถูกกักกันในค่ายเชลย พวกเขาจึงมักเรียกใช้เด็กชายบุญเจือที่อยู่ใกล้ๆแถวค่ายให้ไปซื้อขนมตุ้บตั้บและกล้วยหอมมาให้อยู่บ่อยๆ
เรียกว่าจบคอร์สแบบสวยงาม ที่ทำให้เราเห็นตำนานของแบรนด์เซียงเพียวได้โดยไม่ต้องเปิดตำราอ่านหนังสือ กินเสร็จแล้วอยากจะหายาหม่องน้ำรูปอากงมาใส่ในกระเป๋าสักขวดเลยทีเดียว
Fact File
- เซียงเพียว เทเบิล “สำรับแห่งความทรงจำ” ให้บริการในรูปแบบ Chef’s Table สำหรับดินเนอร์โดยรองรับขั้นต่ำ 6 ที่นั่ง และสูงสุด 12 ที่นั่งต่อคืน ในราคา 1,800++ บาทต่อคน หรือ 2,700++ บาทสำหรับจับคู่อาหารกับไวน์ ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์
- สำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร. : 065-096-4650