ชวนอ่าน 8 นวนิยาย เข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ 67
- 8 นวนิยาย ที่เข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ ประจำปี 2567 ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 69 เรื่อง เป็นเรื่องที่จัดพิมพ์ในปี 2567 จำนวน 26 เรื่อง นอกนั้นเป็นงานพิมพ์ในปีก่อนหน้านั้น
- เทรนด์ของนวนิยายส่วนใหญ่ที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้เป็นนวนิยายขนาดสั้นมากขึ้น ทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ให้ภาษาถิ่นผ่านชื่อเรื่อง ฉาก ตัวละคร บทสนทนา
ประกาศผลมาแล้วสำหรับ 8 นวนิยาย ที่เข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ หรือ South East Asian Writers Awards (S.E.A. Write) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2567 ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 69 เรื่อง เป็นเรื่องที่จัดพิมพ์ในปี 2567 จำนวน 26 เรื่อง นอกนั้นเป็นงานพิมพ์ในปีก่อนหน้านั้น โดยเทรนด์ของนวนิยายส่วนใหญ่ที่ส่งเข้าประกวดเป็นนวนิยายขนาดสั้นมากขึ้น ทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ให้ภาษาถิ่นผ่านชื่อเรื่อง ฉาก ตัวละคร บทสนทนา
ส่วนเนื้อหานวนิยาย Shortlist ซีไรต์ ปีนี้มีทั้งหยิบข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในอดีต นำมาประกอบสร้างขึ้นใหม่ เป็นการฟื้นชีวิตใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ผ่านนวนิยาย และบางส่วนเน้นเนื้อหาอิงกับสังคมยุค ใหม่ อยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งโรคระบาด หรือแม้แต่เรื่องเพศวิถีอันหลากหลาย ก็ยังเป็นเนื้อหาที่โดดเด่น ที่นักเขียนได้หยิบยกมาเล่าผ่านซีไรต์ในปีนี้ ส่วนจะมีเล่มไหนบ้างไปตามอ่านกันได้เลยก่อนประกาศผล 28 ตุลาคม 2567
กี่บาด
นักเขียน : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด
สำนักพิมพ์ : คมบาง
กี่บาด เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจกล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร กี่บาด ที่เป็นขื่อนวนิยายจึงเปรียบได้กับแผลเป็นที่ย้ำเตือนประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวการทอผ้ากับเรื่องราวชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม นอกจากนั้นผ้าซิ่นทอในเรื่องยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ “พลังความเป็นหญิง” ในครอบครัว
เนื้อหาของนวนิยายแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ตามเรื่องราวของตัวละครหลัก เล่าด้วยสายตาของผู้รู้ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละรุ่น เริ่มตั้งแต่ส่วนของ “เอวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่หม่อนเฮือนแก้ว” หญิงชราที่เป็นผู้รับและส่งต่อมรดกการทอผ้าจากบรรพบุรุษ ผู้พบกับความรักต้องห้ามในวัยสาวซึ่งต่อมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจตลอดชีวิต ตามด้วย “ตัวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่อุ้ยนาค” ลูกสาวของหญิงชราที่ถูกมารดาชัง สุดท้าย “ตีนซิ่น” เป็นเรื่องของรุ่นหลานชาย “บ่าหงส์” ผู้เลือกวิถีชีวิตของตนเป็นหญิงขัดกับเพศกำเนิด และเป็นผู้สืบทอดมรดกการทอผ้าในครอบครัวซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น
คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms.Kent & Me
นักเขียน : LADYS (ลาดิด)
สำนักพิมพ์ : แซลมอน
นวนิยายสั้น เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่เรียกตนเองว่า “ข้าพเจ้า” กล่าวถึง คุณเคนต์ และความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง ตรงตามชื่อเรื่อง นวนิยายดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ภาษากระชับ แต่ก็ซ่อนเงื่อนและคลายปมไปทีละเปลาะ สร้างพลังดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามไปจนจบเล่ม ผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์นวนิยายแนวขนบด้วยน้ำเสียงของคนรุ่นใหม่ ใช้ตัวละครที่ดูธรรมดา มีความคิดและการกระทำสมจริง แต่ในขณะเดียวกันก็แทรกความผิดแผกไปจากวิถีปกติ ราวกับอยู่ในโลกเหนือจริง เช่นเดียวกับสถานที่อันเป็นที่เกิดของเรื่องราว ซึ่งมีความงดงามราวภาพวาดแนวอิมเพรสชันนิสต์ มีทั้งภูเขา ทะเล หาดทราย และกระท่อมสีขาวกลางสวนดอกไม้ริมหน้าผา แต่ก็ยังแอบซ่อนอันตรายและความท้าทายที่ตัวละครต้องเผชิญไว้ด้วย
แชมเปญจ์น ซูเปอร์ โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี
นักเขียน : พิชา รัตนานคร
สำนักพิมพ์ : จงสว่าง
แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี เล่าเรื่องชีวิตจืดชืดของ ชาลี คนธรรมดาคนหนึ่ง ชีวิตประจำวันเป็นดังเครื่องจักร ที่ทำซ้ำ ๆ ไร้ความหมาย หาคุณค่าในตนเองไม่เจอ เป็นมนุษย์หลังห้อง ขี้แพ้ ไม่มีใครมองเห็นตั้งแต่วัยเด็กจนสู่วัยทำงาน ไม่อาจต่อสู้แย่งชิงของที่ตนต้องการ นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนชีวิตผู้คนมากมายในสังคมที่อยู่อย่างไร้คุณค่า ไร้จุดหมาย ไร้เพื่อน เบื่อ เหงา เจ็บป่วย ดังเนื้อเพลงตอนหนึ่งของ แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา “คนมากมายเท่าใดกันที่กำลังใช้ชีวิตในแบบของพวกเขา” เป็นชีวิตที่น่าสะเทือนใจที่การอยู่หรือตายก็ไม่ต่างกัน
แมงสาบในเมืองสลด
นักเขียน : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
ผู้จัดพิมพ์ : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
นวนิยายขนาดสั้น เล่าเรื่องเหมือนจริงและเหนือจริง ผ่านตัวละครของคน 2 รุ่น คือ หนุ่มสาวในสังคมสมัยใหม่ กับคนรุ่นพ่อแม่ในสังคมสมัยเก่า โดยนักเขียนสร้างตัวละคร “แม่” ให้อยู่กับความป่วยไข้บนรถเข็น คล้ายจะอยู่อย่างอ้างว้าง โดดเดี่ยว ทว่ามีความสุขทุกครั้ง เมื่อหวนนึกถึงสามีผู้ล่วงลับที่เคยชี้ชวนกันดูผีเสื้อโบยบิน ขณะที่ลูกชายของแม่ ตัวละครเด่นของเรื่อง เป็นหนุ่มผู้แปลกแยก ชอบเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ กับบาดแผลและความพ่ายแพ้ ผิดพลาดทั้งการงานและความรัก จมอยู่ในห้วงทุกข์ ไม่รู้จบสิ้น แต่ยามที่พอจะพบกับความสุขบ้าง เขาก็จะกลายร่างเป็นแมลงสาบ หดตัวลงเล็กลีบ แบนราบไปกับพื้น นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับเขา ซึ่งถ้าไปเล่าให้ใครฟังก็ยากที่จะเชื่อว่าเป็นจริง โดยนักเขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องที่สลับเปลี่ยนมุมมอง บรรยายให้ภาพเหนือจริงอย่างสมจริง ล้วงลึกลงก้นบึ้งของตัวละครนำออกมาตีแผ่ ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิด ตั้งคำถาม หรือตีความเปรียบเทียบ “เมืองสลด” กับ “คน” และ “แมลงสาบ” ที่วิวัฒนาการอยู่รอดมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ และ “ผีเสื้อ” ของคนรุ่นพ่อแม่ ที่ยังมีชีวิตทันได้เห็นสังคมของคนยุคใหม่
แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก
นักเขียน : กล้า สมุทวณิช
สำนักพิมพ์ : คมบาง
เล่าเรื่องการปรับตัวของหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตแบบสุขนิยมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหล และความผิดเพี้ยนของสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้ตัวละครเกิดความแปลกแยก โดดเดี่ยว ไร้ความสุข โหยหาความรักตลอดเวลา ตัวละครมักใช้ชีวิตแบบปัจเจกนิยม พึ่งตนเอง ขาดความผูกพันทางสังคม หลีกหนีโลกของความจริงไปสู่โลกจินตนาการ ทั้งนี้ผู้เขียนใช้วิธีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าหลากวิธี ทั้งนวนิยายขนาดสั้น เรื่องสั้น นวนิยายคอลลาจและภาพประกอบ สร้างสีสันด้วยฉากและสถานที่จริง เลือกใช้สัญญะ บทเพลง หนังสือ และบทสวดมนต์ ขับเน้นให้สัมผัสความรู้สึกลึกล้ำของตัวละคร นอกจากนั้นยังใช้วิธีการเล่าเรื่องคู่ขนานสลับฉาก 2 เหตุการณ์ไปพร้อม ๆ กัน ยั่วล้อให้ผู้อ่านติดตาม และตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
ล้านนาฮาเร็ม
นักเขียน : สาคร พูลสุข
สำนักพิมพ์ : ผจญภัยสำนักพิมพ์
นวนิยายเล่มนี้น่าสนใจในสายประวัติศาสตร์ด้วยการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของลาวเหนือหรือเมืองเชียงใหม่ในยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการแย่งชิงอำนาจเพื่อครอบครองและฉกฉวยผลประโยชน์ทางการค้าในดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง ฉายภาพให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิต และคติชนวิทยาของยุคสมัยดั้งเดิม จากสังคมเกษตรกรรมสู่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สื่อสารถึงพลวัตทางสังคม ปรัชญา และวิถีชีวิตของท้องถิ่นภาคเหนือ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ห้องเรณู
นักเขียน : วิภาส ศรีทอง
สำนักพิมพ์ : สมมติ
เล่าถึงครอบครัวหนึ่งที่โรคระบาดได้แพร่เข้าไปยังพื้นที่บ้าน ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ผู้เขียนนำเสนอให้ตระหนักว่า โรคระบาดเป็นประสบการณ์แห่งความสูญเสีย เจ็บปวด มีผลกระทบไม่เพียงต่อร่างกาย หากต่อจิตใจและตัวตนด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ นวนิยายตั้งคำถามกับความหมายของชีวิตและบ้านอันเป็นพื้นที่ที่เรามักรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและคุ้นเคยว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่
การพรรณนาฉากบ้านมีความโดดเด่น และสื่อให้เห็นผลกระทบจากโรคระบาดอย่างน่าสนใจด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ โดยนำเสนอให้เห็นความแปลกแยกของตัวละครกับพื้นที่บ้าน ผ่านการพรรณนาให้ดูอึมครึม เก่าแก่ แตกร้าว มีกลิ่นอับชื้นที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้ เปรียบเทียบบ้านว่ามีอายุขัย เสื่อมสภาพ และป่วยไข้ได้ไม่ต่างจากมนุษย์ สมาชิกในบ้านอยู่ไม่ได้ ออกไม่ได้ ชวนให้รู้สึกแปลกประหลาด อิหลักอิเหลื่อ เช่นเดียวกับห้องของเด็กชายลูกเจ้าของบ้านที่มีจุลชีพเติบโตฝังรากละอองเรณูฟุ้งแพร่ลามไปทั่ว ประหนึ่งเป็นภัยคุกคามเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัว และยากจะขุดถอนกำจัดออกไปได้ง่ายเช่นเดียวกับโรคระบาด ความอยู่รอดของจุลชีพเหล่านี้ยังกระตุ้นเตือนให้เราตระหนักด้วยว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
อันกามการุณย์ Non fa niente
นักเขียน : ลาดิด
ผู้จัดพิมพ์ : ลาดิดและมูนสเคป
นวนิยายที่นำเสนอเสียงของผู้มีวิถีทางเพศที่แตกต่างจากขนบสังคม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องราวของการแสวงหาตัวตน หรือการต่อสู้เพื่อเปิดเผยรสนิยมทางเพศอย่างที่มักได้อ่านกัน เพราะในเรื่องนี้ ตัวละครหลักของเรื่องแน่ใจในตนเอง และไม่ได้หวั่นเกรงที่จะเผยตัวตนให้ครอบครัวและสามีรู้ แต่ปมสำคัญที่จะดูจะรบกวนจิตใจตัวละครเป็นพิเศษ ก็คือการใช้ชีวิตเด็ดเดี่ยวตามความต้องการของตัวละครนั้น ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจะดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับบทบาททางสังคมของความเป็นแม่ อันเป็นบทบาทที่ตัวละครโอบรับและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยปมใหญ่ปมนี้ถูกเน้นย้ำอย่างหนักหน่วงผ่านมุมมองของผู้เล่าเรื่องที่ใช้สรรพนามว่าแม่ ผู้รวบรวมความกล้าสารภาพความจริงกับลูก ผ่านเรื่องราวการเดินทางของตัวตนทางเพศที่ฉีกทำลายสายใยทางสังคมรอบตัวไปทีละอย่าง ฝากรอยแผลไว้ในภาษา คำ และการเรียบเรียงที่เน้นผัสสะเชื่อมโยงสิ่งของกับร่างกายและความคิดความรู้สึกไปตลอดทั้งเรื่อง