ประกาศผลด่วน! 10 นวนิยายเข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ 2564
Lite

ประกาศผลด่วน! 10 นวนิยายเข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ 2564

Focus
  • ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ 10 นวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ 2564 หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write)  ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 43
  • ซีไรต์ปี 2564 นี้มีนวนิยายส่งเข้ามาตั้งแต่เปิดรับผลงานทั้งสิ้น 60 เรื่อง และมีการประกาศผลเข้ารอบแรก 19 เรื่อง และรอบสุดท้าย Shortlist คัดเหลือเพียง 10 เรื่อง

ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ Shortlist ซีไรต์ 2564 หนังสือนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้าย รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write)  ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 43 โดยในปีนี้มีนวนิยายส่งเข้าร่วมประกวดตั้ทั้งสิ้น 60 เรื่อง จากนั้นมีการประกาศผลเข้ารอบแรก Longlist จำนวน 19 เรื่อง และรอบสุดท้าย Shortlist คัดเหลือเพียง 10 เรื่อง และจะมีการประกาศผลผู้ชนะเลิศในเดือนมีนาคม 2565 

สำหรับนวนิยาย 10 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย Shortlist ซีไรต์ 2564 ได้แก่

1. 24-7/1 ผู้แต่ง ภู กระดาษ สำนักพิมพ์มติชน

2. เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง ผู้แต่ง นทธี ศศิวิมล แพรวสำนักพิมพ์

3. ดำดิ่งสู่เบื้องบน ผู้แต่ง วัฒน์ ยวงแก้ว ผจญภัยสำนักพิมพ์

4. เดฟั่น ผู้แต่ง ศิริวร แก้วกาญจน์ ผจญภัยสำนักพิมพ์

5. ภูเขาน้ำตา ผู้แต่ง อนุสรณ์ มาราสา สำนักพิมพ์บลูเบิร์ด

6. รอยสนธยา ผู้แต่ง ทรงศีล ทิวสมบุญ สำนักพิมพ์  SongsinThings

7. วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ผู้แต่ง ร เรือในมหาสมุท สำนักพิมพ์ บริษัท พะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด

8. วายัง อมฤต ผู้แต่ง อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์ Din-Dan BooK

9. สุสานสยาม ผู้แต่ง ปราปต์ แพรวสำนักพิมพ์

10. อาณาเขต ผู้แต่ง นิธิ นิธิวีรกุล สำนักพิมพ์สมมติ

ทั้งนี้จากความคิดเห็นของคณะกรรมการตัดสินในรอบคัดเลือกมองว่า หนังสือนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ในปี 2564 สะท้อนถึงความสนใจของนักเขียนต่อเรื่องราวที่หลากหลาย ปรากฏการณ์เด่นชัดประการหนึ่งคือการแสดงสำนึกในความเป็นเรื่องแต่งอย่างสลับซับซ้อน แสดงความตระหนักรู้ถึงอำนาจของผู้แต่งที่สอดแทรกในกระบวนการแต่งเรื่อง อีกทั้งบางเรื่องสร้างตัวละครเป็นนักเขียน บางเรื่องวิพากษ์ความเป็นนักเขียนของตนเอง บางเรื่องนำเสนอเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า แต่ในด้านที่กลับกัน ความตระหนักรู้ การแสดงออกด้วยการหวนกลับมาเล่นกับกลวิธีการเล่าเรื่องอย่างแนบเนียน และนวนิยายหลายเรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดาสามัญกลับซ่อนลีลาและกลวิธีการประพันธ์ที่ละเอียดประณีตไว้อย่างแยบคาย

ปรากฏการณ์เด่นอีกประการหนึ่งคือการเขียนเกี่ยวกับความทรงจำ และการบันทึกอดีต นวนิยายจำนวนมากเล่าถึงการรื้อฟื้นเรื่องราวที่หายไป กาตั้งคำถามต่อความทรงจำ การลืม กระทั้งการไม่จำ หลายเรื่องบอกเล่าอดีตในฐานะประวัติศาสตร์ระดับชาติ ระดับสังคม ไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคล เพื่อเยียวยาค้นหาตัวตนผ่านการขุดลึกถึงรากในอดีต หรือเยียวยาบาดแผลประวัติศาสตร์

ที่น่าสนใจคือการนำเสนอเรื่องราวในฉากต่างแดนรอบรั้วประเทศไทย ไม่เพียงสร้างการรับรู้สถานะของประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของภูมิภาคและของโลก หากยังสร้างความคลุมเครือชวนฉงนระหว่างความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์

แม้นิยายแต่ละเรื่องจะมีความต่าง ทว่ามีจุดร่วมที่เหมือนกันของนวนิยายทั้ง 60 เรื่อง นั่นก็คือการส่งสารความคิดผ่านรูปแบบและกลวิธีต่างๆ กันสอดรับกับกลุ่มผู้อ่านที่ขยายออกไป ความหลากหลายของเรื่องราวและแนวประพันธ์ซึ่งสะท้อนความหลากหลายของกลุ่มนักเขียนและนักอ่านที่เติบโตต่อเนื่องกันมาอย่างชัดเจน และจะเป็นกำลังสำคัญที่จะผลักดันให้วงการนวนิยายไทยก้าวหน้าต่อไป

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวการประกาศรางวัลซีไรต์ได้ที่ seawrite.com

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ