กวีฤๅ (ไม่) แล้งแหล่งสยาม : 8 Shortlist ซีไรต์ ต่ออายุกวีนิพนธ์ไทย
- คณะกรรมการรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย หรือ Shortlist ซีไรต์ ได้ร่วมกันประกาศผลไปเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ
- จำนวนหนังสือที่ส่งประกวดในรอบรวมบทกวีครั้งนี้มีมากถึง 66 เล่ม และมีแนวไร้ฉันทลักษณ์ส่งจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนในปีก่อนๆ โดยมีแนวฉันทลักษณ์ 30 เล่มแนวไร้ฉันทลักษณ์ 28 เล่มและผสมผสานทั้งสองแนวอีก 8 เล่ม
กวีนิพนธ์ 8 เล่ม Shortlist ซีไรต์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ครั้งที่ 41 ที่คนไทยควรได้อ่าน…
คณะกรรมการรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย (shortlist) ได้ร่วมกันประกาศผล Shortlist ซีไรต์ ไปเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ที่ โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ โดยให้ข้อสังเกตสองประการ คือจำนวนหนังสือที่ส่งประกวดในรอบรวมบทกวีครั้งนี้มีมากถึง 66 เล่ม และมีแนวไร้ฉันทลักษณ์ส่งจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนในปีก่อนๆ โดยมีแนวฉันทลักษณ์ 30 เล่มแนวไร้ฉันทลักษณ์ 28 เล่มและผสมผสานทั้งสองแนวอีก 8 เล่ม
ในส่วนของเล่มที่เข้ารอบ Shortlist ซีไรต์ นั้น มีจากทั้งผลงานของอดีตกวีซีไรต์อย่าง อังคาร จันทาทิพย์ นักเขียนและจิตรกรผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของซีไรต์มากที่สุดคนหนึ่งอย่าง ศิริวร แก้วกาญจน์ กวีอาวุโสอย่าง ศิวกานท์ ปทุมสูติ ในนามปากกา “ธมกร” กวีหนุ่มชาวตรังมาแรงที่กวาดมาแล้วหลายรางวัลอย่าง วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีหมอฟันอย่าง ธัชชัย ธัญญาวัลย กวีหนุ่มที่เจนจัดในสำนวนปลุกเร้าอย่าง ชญรัตน์ ชญารัตน์ กวีสาวผู้พิการทางสายตาที่โดดเด่นด้วยงานเชิงฉันทลักษณ์อย่าง รินศรัทธา กาญจนวตี และ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย กวีปริศนาที่ยังไม่ทราบตัวตนที่แท้จริง
รายชื่อทั้ง 8 เล่มที่เข้ารอบ Shortlist ซีไรต์ ได้แก่
- การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง โดย ธัชชัย ธัญญาวัลย
- กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม
- ด้วยก้าวของเราเอง โดย ธมกร
- ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจโดย รินศรัทธา กาญจนวตี
- ฝันของฝูงกระต่าย โดย ศิริวร แก้วกาญจน์
- ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์
- ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้ โดย ชญรัตน์ ชญารัตน์
- ไฮโซ…เชียลHi! So-Cial โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย
ยังมีเล่มที่เข้ารอบแรกหรือรอบรองสุดท้าย (longlist) อีก 10 เล่ม ที่ประกาศผลไปเมื่อกลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่มาพลาดรอบนี้ ทั้งจากนักเขียนคนที่เข้ารอบด้วยผลงานเล่มอื่นและที่ตกรอบไปเลย ในจำนวนนี้มี วัฒนา ธรรมกูร ที่ขนหนังสือมาเข้ารอบแรกถึงสองเล่ม มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม กวีมุสลิมหนุ่มชาวใต้ที่เพิ่งเสียชีวิตไป รวมถึง ปราชญ์ อันดามัน กวีหนุ่มแดนใต้อีกคนที่เป็นจิตรกรด้วย
จากคำนิยมประกอบการแถลง คณะกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตถึงความครบครันในด้านรูปแบบการประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์เบื้องต้นครบทุกแนวทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย รวมไปถึงรูปแบบกระทู้ กลบท และการผสมผสานประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ในส่วนของแนวไร้ฉันทลักษณ์เองก็มีทั้งแบบอิสระ แคนโต้ กวีร้อยแก้ว และเรื่องสั้นกวีนิพนธ์ ในด้านเทคนิคยังพบลีลาเชิงทดลองที่เล่นกับรูปแบบและความเข้มข้นของตัวอักษรการวางตำแหน่งคำการเล่นคำซ้ำรวมถึงทิศทางการไล่อ่าน
ส่วนด้านเนื้อหาก็กว้างขวางและหลากหลายทั้งที่นำเสนอมุมมอง ความคิด ความรู้สึกภายใน การถกปรัชญาหลักธรรมทางศาสนาและถ้อยภาษิตมีการย้อนรอยถึงประวัติศาสตร์ตำนานการอ้างอิงถึงนิทานวรรณคดีโบราณมาเล่าใหม่ การสะท้อนภาพชีวิตครอบครัวชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่นการแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของสังคม การเมืองทั้งในและนอกประเทศตลอดจนการถ่ายทอดเรื่องราวความรักอารมณ์ขัน และอิทธิพลของโลกโซเชียลมีเดียกับความเปลี่ยนแปลงในกระแสแห่งยุคดิจิทัล
ซีไรต์กับกระแสธารวรรณกรรมไทย
การประกาศผลเล่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะจัดขึ้นภายในสามเดือนภายหลังจากนี้ โดยจะมีคณะกรรมการอาวุโสอีกชุดเป็นผู้กลั่นกรองรอบสุดท้ายตามธรรมเนียมปฏิบัติของรางวัล การจัดประกวดครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาสร้างความคึกคักให้กับซีไรต์จากที่ได้มีพิธีพระราชทานรางวัลไปเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากพิธีได้ห่างหายไปสามปี และเกิดการตั้งคำถามกับอนาคตของการจัดของรางวัลวรรณกรรมที่ถือว่าเป็นสุดยอดของประเทศ ท่ามกลางความมืดสลัวของอุตสาหกรรมหนังสือและวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจากทั้งยอดขายหนังสือกลุ่มงานวรรณกรรมที่น้อยมาก จำนวนร้านหนังสือที่ทยอยปิดตัวลง และการเลื่อนการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม จากคำนิยมของคณะกรรมการคัดเลือกซีไรต์ปีนี้ชี้ให้เห็นว่า มีนิมิตหมายใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังสนใจส่งงานกวีนิพนธ์เข้าประกวดมากถึง 66 เล่ม (ซึ่งรอบกวีนิพนธ์นี้จัดสลับรอบเวียนทุก 3 ปีผลัดกันกับงานนวนิยายและเรื่องสั้น) อีกทั้งยังมีผลิตงานบทกวีสร้างสรรค์แนวใหม่ๆ ออกมา
ทั้งนี้ยังมีคำถามต่อการจัดรางวัลอันทรงเกียรติแห่งนี้ในโอกาสที่ครบรอบการจัด 40 ปีไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะการปรับเปลี่ยนแนวทางอย่างไรหรือไม่ ไม่ว่าจะเปิดให้งานรูปแบบอื่นอย่างบทละครหรือสารคดีมีโอกาสเข้าประกวดได้บ้างหรือไม่ รวมทั้งผลงานที่เผยแพร่ในลักษณะหนังสือทำมือและ e-Book ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม
“ทั้ง 66 เล่มนี้สะท้อนว่างานกวีนิพนธ์ไทยยังคงก้าวไปข้างหน้ามีความวิวัฒน์ พัฒนา ต่อยอด จากขนบดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัยและยังมีรูปแบบการประพันธ์ที่สอดคล้องกับมุมมองตามทิศทางของผู้คนในยุคปัจจุบันสามารถถ่ายทอดสถานการณ์และความเป็นไปต่างๆ รอบตัวเราทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี” คณะกรรมการรอบคัดเลือกได้ให้สาส์นทิ้งท้าย
พิธีประกาศการคัดเลือกรอบ Shortlist ซีไรต์ จัดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) เป็นประธานในพิธี
พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน ได้แก่ ผศ. ดร.สรตีปรีชาปัญญากุล (ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก จาก ม.รามคำแหง) ชัยจักร ทวยุทธานนท์(นักแปลหนังสือด้านประวัติศาสตร์) อ.ดร.ชัยรัตน์ พลมุข (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ (อดีตกวีซีไรต์พ.ศ. 2544) อ.บุษบา ประภาสพงศ์ (นักวิชาการและบรรณาธิการ) สัจภูมิ ละออ (นักเขียน) และ ดร.อลงกต ใหม่ด้วง (นักวิจารณ์) ทั้งยังได้ทาง โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ เป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยมีสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นภาคีในการจัดอย่างเช่นเคย ทั้งนี้เป็นการประกวดคัดเลือกเฉพาะของสายวรรณกรรมไทย โดยยังมีสายของประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่แยกการดำเนินการรอผลอยู่อีก
ข้อมูลเบื้องต้นและคำสรุปเหตุผลที่หนังสือแต่ละเล่มได้เข้ารอบที่เรียบเรียงจากถ้อยแถลงของคณะกรรมการมีดังนี้
“การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” โดย ธัชชัย ธัญญาวัลย
กวีหมอฟันหนุ่มวัยสามสิบกว่าจากแดนอีสานที่นำงานเชิงปรัชญาไร้ฉันทลักษณ์ที่ทั้งย้อนแย้ง ยียวน หยิกหยอก และเย้ยหยัน ผู้นี้อยู่ในกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่แนวอินดี้ชื่อ Young Thai ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับแวดวงน้ำหมึกไทยมากว่าสิบปี และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Arty HOUSE ที่ผลิตทั้งงานตนเองและนักเขียนท่านอื่น และเคยเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นอกจากงานกวีที่กวาดรางวัลวรรณกรรมมาแล้วมากมาย ยังมีผลงานสองชิ้นได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และเจ้าของเพจ ‘หมออาร์ตี้’ ผู้นี้ยังผลิตเรื่องสั้น (ด้วยผลงานที่เด่นอย่าง “นิทานจัญไร”) รักการถ่ายภาพ และเริ่มทำงานทางด้านการเมือง
กรรมการคัดเลือกได้ให้ความเห็นว่าผลงาน “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง”ที่มีลักษณะหลังสมัยใหม่ (หรือ Postmodernism)สามารถถ่ายทอดความหมายของคำแต่ละคำด้วยมุมมองที่เป็นสองขั้วตรงกันข้ามกันมีความขัดแย้งกันเองในลักษณะปฏิทรรศน์ (หรือ paradox)สะท้อนความไม่เที่ยงแท้ของนิยามแห่งคำที่แต่ละคนสามารถตีความต่างกันได้มากมาย พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงทางตันของการถกเถียงทางปรัชญาแต่ด้วยน้ำเสียงและการใช้ภาษาด้วยลีลาขบขันทีเล่นทีจริง ธัชชัยสามารถเปิดมุมมองใหม่ให้เราเกิดภาคภูมิใจในความโง่เขลาของมวลมนุษยชาติ
งานรวมบทกวีชิ้นนี้จัดว่ามีลีลาสดใหม่ล้ำสมัยท้าทายกรอบของขนบดั้งเดิมของแนวคิดทางปรัชญา ตลอดจนตั้งคำถามต่อความสำคัญของลีลาวรรณศิลป์ซึ่งอาจเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่ง และยังกระตุกให้ผู้อ่านได้คิดและพิจารณาในทุกๆ ความหมายของคำที่ยังกำกวมอยู่ทุกวันนี้
“กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน” โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม
วิสุทธิ์ กวีชาวตรังวัย46ที่ว่ายเวียนกับงานบทกลอนมากว่ายี่สิบปี เกิดในครอบครัวชาวสวนยาง เริ่มสนในงานวรรณกรรมและฝึกเขียนบทกวีตั้งแต่อยู่ในรั้วรามคำแหงเคยสร้างชื่อในยุคแรกจากบทกวี “การมาเยือนของหายนะ” ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2539 มาได้รางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ จากหนังสือ “ลมมลายู” และได้รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2552 จากผลงานกวีนิพนธ์ “นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย” ล่าสุดได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์จากผลงาน “พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล” เมื่อสามปีก่อนที่จัดเป็นตัวเต็งคนหนึ่ง แต่ก็พ่ายให้กับ “นครคนนอก” ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ (เกริกศิษฏ์ พละมาตร์)
“กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน” ของเขานำเสนอมายาคติต่างๆ ที่เกี่ยวกับเส้นพรมแดน หรือกวีเรียกว่า ‘เส้นแบ่งสมมติ’ ทั้งพรมแดนของรัฐชาติศาสนาชาติพันธุ์ชนชั้น ไปจนถึงกาลเวลา วิสุทธิ์ได้ใช้การหมุนเวียนของเวลาในการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
“กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน” เป็นหนังสือเข้ารอบอีกเล่มที่สามารถผสมผสานบทกวีฉันทลักษณ์กับไร้ฉันทลักษณ์ได้อย่างกลมกลืนและยังทำให้ผู้อ่านได้ซึมซับประสบการณ์ทางผัสสะในความแปรปรวนของฤดูกาล การมาเยือนอย่างผิดฤดูของฝนเป็นฉากหลังให้กับตัวละครของชนเผ่าเร่ร่อนล่องลอยไปมาในความไม่แน่นอนของเวลาและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเวลา นอกจากนี้ยังจับประเด็นข่าวสารในสื่อออนไลน์และปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยความไม่เสถียรของกาละและเทศะท่ามกลางความแปรปรวนของฤดูฝนที่มาเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ดังกล่าวนี้
“ด้วยก้าวของเราเอง” โดย ธมกร
ธมกร เป็นนามปากกาของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ กวีอาวุโส วัย 67 ปี ชาวสุพรรณบุรี อดีตข้าราชการครูที่เคยขนงานเข้ารอบซีไรต์สายกวีนิพนธ์ มาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2529 ด้วยผลงานชื่อ “บทกวีร่วมสมัย”และวนเวียนเข้ารอบอยู่อีกถึงห้าครั้ง นอกจากงานกวีเกือบ 40 เล่ม ครูภาษาไทยท่านนี้ยังโดดเด่นด้วยผลงานวิชาการด้านการเขียนสร้างสรรค์และวรรณกรรมศึกษา
“ด้วยก้าวของเราเอง” ผสานงานฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าอยู่ในเล่มเดียวกัน โดยสะท้อนภาพของสังคมยุคใหม่ไปพร้อมกับนำเรื่องราวจากยุคเก่ามาถก ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เป็นที่ทราบกันว่า ศิวกานท์ เลือกใช้นามปากกา ธมกร กับผลงานที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคและลึกซึ้งทางเนื้อหาเป็นพิเศษ ดังที่ปรากฏในผลงานรวมเล่มก่อนหน้า “กว่าจะข้ามขุนเขา” และ “เมฆาจาริก” ที่ได้เข้ารอบซีไรต์ด้วยกันทั้งสองเล่ม เมื่อ พ.ศ.2550 และพ.ศ.2556 ตามลำดับ
บทกวีทั้ง 108 บทในเล่มนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนที่เชื่อมต่อกัน ผ่านหลากหลายกลวิธีการประพันธ์ โดยมีความโดดเด่นด้านการใช้ภาพพจน์แบบบุคลาธิษฐาน และมีลักษณะเหมือนกึ่งการร้อยเรียงการเดินทางของความนึกคิดและการเฝ้ามองชีวิตที่เป็นเส้นเดียวกัน
“ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” โดย รินศรัทธา กาญจนวตี
เป็นงานรวมบทกลอนสุภาพที่มีลีลาเรียบง่าย กระชับ งดงาม ใช้การสัมผัสคล้องจองอย่างตรงไปตรงมา แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน แต่ก็ไม่ลืมที่จะสร้างจินตภาพทางกวีนิพนธ์ และสอดแทรกวรรคทองที่คมคายและให้แง่คิด
เนื้อหาของรวมบทกวีชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย 1) “โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา” ที่สำรวจความเป็นมาและตัวตนของกวีเองตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน 2) “ประจักษ์ค่าชีวิต (แม้มิดแสง)” นำเสนอประเด็นคุณค่าตัวตนของตนเอง 3) “รู้สึก ความรัก และความเปลี่ยนแปลง” แสดงมิติด้านความรู้สึก อารมณ์ ความรัก การพลัดพราก และความสูญเสียและ 4) “ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด” ที่กวีได้ทบทวนการนำความรู้จากระบบการศึกษาไปใช้ในสังคมจริง
รินศรัทธา กาญจนวตีเป็นนามปากกว่าของ “หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา”เจ้าของเพจ ‘กวีน้อย รินศรัทธา กาญจนวตี’ที่เธอใช้เป็นสนามแสดงผลงานเชิงบันทึกความคิดคำนึงประจำวัน และเป็นที่รู้จักกันในฐานะกวีสาวผู้สูญเสียการมองเห็น ด้วยเอกลักษณ์ในงานที่ใช้สำนวนภาษาที่กระทบใจและสามารถสัมผัสได้ด้วยใจทำให้ “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ”คว้ารางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 16 ประเภทกวีนิพนธ์ มาเมื่อปีที่แล้ว
“ฝันของฝูงกระต่าย” โดย ศิริวร แก้วกาญจน์
เจ้าของ book café ที่จังหวัดสตูลที่ได้รางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2550 ผู้นี้จัดว่าเป็นคนที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์มากที่สุดคนหนึ่งคือมากถึง8 ครั้ง หนุ่มใหญ่จากแดนใต้ที่ปักหลักใช้ชีวิตเพื่อเขียนหนังสือและเป็นบรรณาธิการหนังสือมาอย่างยาวนานจนได้รับการยกย่องว่าทั้งเรื่องสั้น นิยาย และงานกวีของเขามีมุมมองและความเฉียบคมในการนำเสนอประเด็นปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือนสถานะความเป็นคนนอกและคนในของพื้นที่และชุมชนที่มีความซับซ้อนในภูมิภาคบ้านเกิดของเขา
“ฝันของฝูงกระต่าย” เป็นการรวมบทกวีฉันทลักษณ์และบทกวีไร้ฉันทลักษณ์กว่า 130 บท โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ภาคได้แก่ “ชนเผ่าเร่ร่อนในโลกออนไลน์” “ฝันของฝูงกระต่าย” “กาแฟและหนังสือ”และ“ต้นไม้ไม่อยากกลายเป็นเรือ”
ในด้านฉันทลักษณ์นั้น ศิริวรยังรักษาขนบแบบแผนการวางคำและสัมผัสขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงความเข้าใจของตนผ่านถ้อยคำที่เรียงร้อยจัดวางอย่างมีความหมายและความรู้สึก สิ่งที่ชัดเจนตลอดทั้งเล่มคือความเงียบ หรือเสียงอันไร้เสียงที่ต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกเพื่อเข้าถึงประเด็นที่นำเสนอซึ่งมีความร่วมสมัยและหลากหลาย เช่น การค้ามนุษย์จริยธรรมคนชายขอบตัวตนของมนุษย์ในโลกออนไลน์อำนาจ การศึกษา การเมือง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทุนนิยม และ ความแตกแยก
“ระหว่างทางกลับบ้านของ” โดย อังคาร จันทาทิพย์
กวีเจ้าของรางวัลซีไรต์พ.ศ.2556 จากแดนอีสานผู้นี้กลับมาหวนท้าชิงรางวัลด้วยผลงานกลอนสุภาพที่ใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลัง และแจ่มชัดในการเกาะกุมแก่นเนื้อหาหลักที่ว่าด้วย‘บ้าน’ ในหลากหลายมิติ ทั้งบ้านของนักเขียนเองบ้านของแรงงานข้ามชาติบ้านของชาวโรฮีนจาบ้านของผู้ลี้ภัย โดยบ้านของผู้คนเหล่านี้มิได้เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้นหากทว่าบ้านยังเป็นความรักความผูกพันหรือความทรงจำที่งดงามซึ่งอังคารได้สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างทางที่กลับบ้าน เราสามารถมองเห็นประเด็นที่ไม่เพียงได้ทบทวนตนเองอย่างมากมาย แต่ยังเรียนรู้เรื่องราวของผู้อื่นไปพร้อมกัน ทั้งนี้แปลนบ้านแต่ละหลังของแต่ละคนก็มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน
“ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้” โดย ชญรัตน์ ชญารัตน์
นามปากกาของ ปรัชญา พงษ์พานิช นักเขียนหนุ่มจากถิ่นเหนือ ที่เคยได้รางวัลชมเชยจากเวทีพานแว่นฟ้าของรัฐสภามาแล้ว ในเล่มนี้เขาใช้บทกวีไร้ฉันทลักษณ์กระทุ้งสังคมตรงไปที่ปัญหารอบตัวพร้อมเผยมุมมองที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคมอย่างไม่อ่อนข้อด้วยน้ำเสียงที่รุนแรง เย้ยหยัน ประชดประชัน และเอาจริงเอาจัง ประเด็นที่หยิบยกมานำเสนอมีหลากหลากแง่มุมทั้งปัญหาและความขัดแย้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ การแบ่งฝักฝ่าย มาตรฐานค่านิยมที่เกิดขึ้นจากตนเองและจากที่สังคมสร้างขึ้น
จุดเด่นของ“ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้”คืออหังการของกวี และความสามารถในการสร้างผลกระทบทางอารมณ์ที่หลากมิติ แม้กลับมาอ่านซ้ำก็อาจได้ผลลัพธ์ไม่ซ้ำเดิม เนื่องจากมีการประสานความซับซ้อนทางอารมณ์ความรู้สึกไว้ด้วยกัน ทั้งความหวาน ความตื่นตะลึง ความหม่นหมอง และความโกรธเกลียด
“ไฮโซ…เชียล Hi! So-Cial” โดย ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย
เป็นเล่มที่จัดว่าหาอ่านยากในช่วงที่ส่งประกวดเล่มหนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อสำนักพิมพ์ และยังไม่ทราบตัวตนที่แท้จริงของผู้เขียน แต่ก็โดดเด่นด้วยบทกวีฉันทลักษณ์ ที่ทั้ง 40 เรื่องมีความต่อเนื่องกันโดยตลอด โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ และชีวิตจริงของคนรุ่นใหม่เช่น การเสี่ยงโชคที่อาศัยสื่อออนไลน์แชร์ข้อมูลความเชื่อในการตีความเลขเด็ดโลกส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือการสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อออนไลน์ หรือการพรางตนผ่านเฟซบุ๊กโดยใช้นามแฝง ไม่ใช้รูปจริงของตนหรือรูปจริงที่ใช้แอป (application)แต่งภาพจนสวยงามเกินจริง บางครั้งมีการนำไปเทียบกับสังคมยุคก่อน เช่น เทียบการขายสินค้าในออนไลน์กับการเล่นขายขนมดินทรายที่ใช้เงินใบไม้
อ้างอิง
- คำนิยมของคณะกรรมการรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ครั้งที่ 41
Fact File
- ติดตามผลการประกวดซีไรต์ได้ที่ www.seawrite.com