Shin Kamen Rider : 50 ปี Kamen Rider หน้ากากนักบิดผู้แบกทุกข์ทั้งมวลเพื่อปวงชน
Lite

Shin Kamen Rider : 50 ปี Kamen Rider หน้ากากนักบิดผู้แบกทุกข์ทั้งมวลเพื่อปวงชน

Focus
  • Shin Kamen Rider เป็นภาพยนตร์ส่งท้ายโครงการ Shin Japan Heroes Universe (SJHU) ประกอบด้วยภาพยนตร์สี่เรื่อง ได้แก่ Shin Godzilla (2016), Shin Evangelion (2021), Shin Ultraman (2022) และ Shin Kamen Rider (2023)
  • Shin Kamen Rider ผลงานการกำกับ ของ ฮิเดอากิ อันโนะ ผู้กำกับที่มีแนวทางเฉพาะตนในการทำภาพยนตร์ที่มีส่วนผสมระหว่างวัฒนธรรมประชานิยมกับเนื้อหาด้านปรัชญา การเมือง ศาสนาที่เข้มข้น

Shin Kamen Rider ภาพยนตร์ส่งท้ายโครงการ Shin Japan Heroes Universe (SJHU) ในความร่วมมือของ 4 สตูดิโอเจ้าดังจากแผ่นดินญี่ปุ่น ได้แก่ Khara, Toei, Toho และ Tsuburaya ซึ่งได้ผนึกกำลังสร้างภาพยนตร์ระดับตำนานของญี่ปุ่นในรูปแบบ “ใหม่” ตามคำว่า shin ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ใหม่ โดยภาพยนตร์ในโครงการมีทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย Shin Godzilla (2016), Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) หรือในอีกชื่อว่า Shin Evangelion, Shin Ultraman (2022) และ Shin Kamen Rider (2023) ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของโครงการนี้แล้วยังเป็นการสร้างในโอกาสครบรอบ 50 ปีซีรีส์ คาเมน ไรเดอร์ (Kamen Rider) และเพื่อเป็นการส่งท้ายโครงการปลุกตำนานบทเก่าสร้างตำนานบทใหม่ ฮิเดอากิ อันโนะ (Hideaki Anno) ผู้พัฒนาสร้างสรรค์โครงการ SJHU ได้มากุมบังเหียนทิศทางในการกำกับ และเขียนบท Shin Kamen Rider ด้วยตนเอง

แน่นอนว่างานนี้ไม่ประนีประนอมตามสไตล์ของผู้กำกับ อันโนะ เช่นเคย ทั้งจังหวะที่หวือหวา มุมกล้องหลายรูปแบบ การเดินเรื่องที่แฝงไว้ด้วยประเด็นการเมือง ปรัชญา ศาสนา ครบครันจนทำให้ Shin Kamen Rider เป็นภาพยนตร์ที่สดใหม่หลุดกรอบภาพยนตร์ฮีโรตามขนบทั้งปัจจุบันและในอดีต กลายเป็นความภาพยนตร์ฮีโร่ที่มีโดดเด่นมีเอกลักษณ์จนเป็นที่น่าจดจำและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ต่อยอดมุมมองภาพยนตร์สกุล โตกุเซตสึ (Tokusatsu) อันเป็นภาพจำของซีรีส์ Kamen Rider ที่เคยมุ่งเน้นการสร้างเทคนิคพิเศษจากวัสดุจริง (practical special effect) และเน้นไปที่ฉากต่อสู้ตามป่าเขา หรือขนบการเดินเรื่องที่เน้นตัวละครลุยปลิดชีพสัตว์ประหลาดแบบตอนต่อตอน องค์ประกอบโตกุเซ็ตสึเหล่านี้ได้พัฒนาเข้าสู่การผลิตภาพยนตร์สมัยปัจจุบัน และขยายกรอบเรื่องให้เล่าประเด็นซับซ้อนยิ่งขึ้นในแบบของอันโนะซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ SJHU ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

Shin Kamen Rider
K

หน้ากากนักบิดผู้แบกรับความทุกข์ทั้งปวง

ด้วยความสนใจในคริสต์ศาสนาของ ฮิเดอากิ อันโนะ ดังที่เคยได้เห็นในผลงานก่อนหน้าของเขา อาทิ ภาพยนตร์แอนิเมชันสร้างชื่อชุด Evangelion (1995-2021) ที่ตั้งแต่ชื่อเรื่องพ้องกับคำเรียก “ข่าวประเสริฐ” ในพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ไม่ว่าจะสัญลักษณ์ เรื่องราว และแรงบันดาลใจจากศาสนาก็ได้อยู่ในงานของอันโนะหลายชิ้นอย่างชัดเจน แถมยังนำมาต่อยอดคำถามใหม่ๆ โดยประสานองค์ประกอบของศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมประชานิยม แน่นอนว่าใน Shin Kamen Rider ยังคงประยุกต์แนวคิดศาสนาเข้ากับเรื่องราวของ ฮอนโก ทาเคชิ มนุษย์ดัดแปลงตั๊กแตนหรือที่เรียกว่า อ็อกตั๊กแตน ที่จับพลัดจับผลูมาร่วมเส้นทางกับ มิโดริคาวะ รูริโกะ อดีตสมาชิกขององค์กร S.H.O.C.K.E.R. ที่มีแผนใหญ่สะเทือนมวลมนุษยชาติ นั่นคือการผลิตมนุษย์ดัดแปลงที่เรียกว่า อ็อก (Aug) ในรูปแบบมนุษย์ผสมสัตว์เพื่อหาว่าอะไรคือความสุขแห่งมวลมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของเศรษฐีผู้ก่อตั้งองค์กรที่ตั้งไว้ และฆ่าตัวตายหลังจากสร้างปัญญาประดิษฐ์แบบไร้ร่างกายในชื่อ I และแบบมีร่างกายในชื่อ K สำเร็จ

ฮอนโก จึงเป็นหนึ่งในอ็อกที่ใช้แบบของตั๊กแตนเข้ารวมกับมนุษย์โดยใช้พลัง ปราณ (prana) จากพลังงานแบบต่างๆ ของโลก เช่น สายลม พลังงานในมนุษย์เพื่อหล่อเลี้ยงไม่ให้เน่าเปื่อยบุบสลายไป ในฉากเปิดตัวให้ผู้ชมจะได้เห็น ฮอนโกในชุดอ็อกที่เห็นหน้าตาของเขาเน่าเฟะเสียโฉมอยู่ในเกราะดัดแปลง จนมาถึงการใช้ปราณแปลงร่างบนรถมอเตอร์ไซค์ที่ทำท่ากางลำแขนตรงเสมือนถูกตรึงกางเขนก่อนที่เขาจะกลายเป็นยอดมนุษย์ทรงพลังในชุดอ็อกตั๊กแตน เพื่อใช้กำลังที่มีต่อสู้กับเหล่าอ็อกจากองค์กร S.H.O.C.K.E.R. ทั้งหลาย ที่มีอุดมการณ์การทดลองหาความสุขในแบบต่างๆ

จุดที่น่าสนใจคือการนำเสนอประเด็น อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์ อันเป็นประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเหล่าอ็อกจาก S.H.O.C.K.E.R. ใช้สัญชาตญาณดิบของมนุษย์และพลังจากสัตว์ต่างๆ มาทดลองหาความสุขในแบบของตนเอง แต่ความสุขของพวกเขาดันกระทบกับความสุขของผู้อื่น เช่น ความสุขที่จะก่อสงครามฆ่าล้างบางมนุษย์ของอ็อกแมงมุม ที่เขาตั้งคำถามกับฮอนโกว่า ถ้าเราสัมผัสได้ถึงความสุขระหว่างการใช้ความรุนแรงการฆ่าล้างกันล่ะมันเป็นความสุขที่เขาทำได้หรือไม่ ซึ่งในความคิดของฮอนโกเขาไม่อนุญาตให้อ็อกแมงมุมทำอย่างนั้นต่อไปได้เขาจึงต้องฆ่าแมงมุมทิ้งจากโลกนี้เสีย

ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการกระทำกลับด้านโดยใช้หลักเหตุผลคนละหลักและแสดงให้เห็นถึงแนวคิดขอบเขตของการกระทำที่ไปกระทบผู้อื่นซึ่งสิ่งนี้เองทำให้นิยามความดีงามกับความสุขสามารถแยกออกจากกันหากใช้เลนส์เชิงสังคมศาสตร์มอง ความสุขกับความดีงามเป็นคนละประเด็นและยากยิ่งที่จะวินิจฉัยเหมือนที่รูริโกะบอกกับฮอนโกว่า ในภาษาญี่ปุ่น สุขกับทุกข์เปลี่ยนอักษรเพียงนิดเดียวก็จะสลับคำกันได้ง่ายๆ ความสุขของเราจึงอาจสามารถเป็นความทุกข์ของผู้อื่นด้วยเหมือนกัน

Shin Kamen Rider
(ซ้าย) Shin Kamen Rider (ขวา) Christ Crucified

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้ชมจึงจะได้เห็นปัญหาของความดี (สำหรับใคร?) ซึ่งน่าสนใจ เพราะมันคือปัญหาหลักของภาพยนตร์แนววีรบุรุษกู้โลกแบบนี้เสมอมา แต่ Shin Kamen Rider ได้ขับเน้นเรื่องนี้เป็นวาระหลักในสมการที่ทบทวนได้อย่างซับซ้อน แน่นอนว่าตามชื่อเรื่องในท้ายที่สุดการมีอยู่ของฮอนโกในฐานะ หน้ากากนักบิด (Kamen Rider) ที่มีมนุษย์ผู้เสียโฉมอยู่ภายในเกราะยอดมนุษย์และพลังจากสัตว์ที่ทำให้เขาแทบจะดูไม่เหมือนสิ่งที่กำเนิดโดยมนุษย์ ร่างกายของฮอนโกในเชิงสัญลักษณ์นอกจากการแปลงร่างด้วยท่าตรึงกางเขน คล้ายกับในภาพจิตรกรรม Christ Crucified ของ ดิเอโก เบลัซเกซ (Diego Velázquez) อีกทั้งฉากแกะหน้ากากแล้วใบหน้ามีบาดแผลจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมยังเชื่อมโยงกับบท “อิสยาห์ 52 : 14” แห่งพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า

“ด้วยคนเป็นอันมากตะลึงเพราะท่านฉันใด– เพราะหน้าตาของท่านเสียโฉมมาก เหลือที่จะเหมือน มนุษย์ และรูปร่างของท่านก็เสียโฉม เหลือที่จะเหมือนบุตรของมนุษย์

Shin Kamen Rider

แถมซ้ำภารกิจที่เขาต้องต่อรองกับความสุขขององค์กร S.H.O.C.K.E.R. อันสร้างความทุกข์ให้ประชาชนชาวโลกมากมายผ่านการต่อสู้ในฐานะ Kamen Rider ก็เสมือนเป็นการรับความทุกข์ทั้งภายในชุดเกราะและภารกิจอุทิศชีวิตผ่านการต่อสู้ที่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจนสามารถทำให้นึกถึงการรับบาปในบท “1 ยอห์น 2 : 2” ที่ว่า

“…และพระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาลบบาปของเรา และไม่ใช่แค่บาปของเราเท่านั้น แต่ของทั้งโลกด้วย…”

Shin Kamen Rider
อ็อกตัวต่อ อ็อกแมงมุม อ็อกแมงป่อง อ็อกค้างคาว

ปัญหาของความสุขส่วนตนกับคนส่วนรวม

ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นคำอธิบายว่าฮอนโกมาเป็นหน้ากากนักบิดด้วยแนวคิดที่ว่า พ่อของเขาที่เป็นตำรวจถูกอาชญากรฆ่าตายอย่างไร้เหตุผล เขาจึงไม่ต้องการให้มีใครตายอย่างไร้เหตุผลอีกต่อไป แม้เขาจะต้องทนทุกข์ในร่างมนุษย์ดัดแปลงเพื่อผู้คนอีกมากมาย ฮอนโกก็พร้อมจะทรมานอย่างไม่ท้อถอย อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญคงเป็นตัวละครปฏิปักษ์ที่ฮอนโกต้องเผชิญ เช่น อ็อกแมงมุม ที่มากับแผนก่อสงครามฆ่าล้าง อ็อกค้างคาว ที่มีแผนสร้างโรคระบาด อ็อกตัวต่อ ที่ต้องการควบคุมผู้คนจากความกระหายพลังต้องการดูดพลังของมนุษย์มาใช้ขับเคลื่อนชีวิตของตนเองและทำให้มนุษย์ไร้เจตจำนงเสรีอย่างอดอยาก และ อ็อกแมงป่อง ที่ปรากฏมาฉากเดียวและทำให้เห็นความตาย

Shin Kamen Rider
Four Horsemen of Apocalypse by Viktor Vasnetsov (1887)

ทั้ง 4 อุดมการณ์ของเหล่าตัวละครอ็อกชุดนี้เป็น 4 เหตุโลกาวินาศที่อยู่ในตำนาน จตุรอาชาแห่งโลกาวินาศ (Four Horsemen of the Apocalypse) อันปรากฏในพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ที่กล่าวถึงสงคราม โรคระบาด ความอดอยาก และความตาย โดยอันโนะใช้เป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ดัดแปลงทั้งสี่ที่ปรากฏตัวในภารกิจครึ่งแรกของภาพยนตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพยายามสละชีพ รับความทรมานส่วนตนเพื่อต่อต้านยับยั้งโลกาวินาศจากสี่อ็อกดังกล่าว

ฮอนโกจึงเปรียบถึงผู้เสียสละแบกรับความเจ็บปวดทั้งมวลเพื่อรักษาโลกเอาไว้ผ่านการต่อสู้ และการทำความเข้าใจเรื่องความสุข ความทุกข์จากสมาชิกองค์กร S.H.O.C.K.E.R. เป็นการผจญภัยของหน้ากากนักบิดที่แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความสุข ความทุกข์ ของสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงกันและกัน หากความสุขหนึ่งกำลังทำให้เกิดทุกข์ขึ้นกับอีกสิ่งหนึ่ง โลกใบนี้อาจไม่น่าอยู่เท่าใดนัก และการแบกทุกข์ทั้งความทรมานใต้เกราะของฮอนโก การยับยั้งเหล่าอ็อกก็เป็นการแบกทุกข์ไว้กับตนเท่านั้น ท้ายที่สุด K ก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจความสุขของมวลมนุษย์ได้ แสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางของนิยามที่ลึกลับยากจะสรุป ฮอนโกทำได้อย่างมากเพียงไม่ให้มนุษย์ล้มตายจากปฏิบัติการของสมาชิกองค์กร และอย่างมากที่สุดก็เพียงให้เสรีภาพกับมวลมนุษย์ที่จะค้นหาความหมายนิยามความสุขด้วยตนเองอย่างปลอดภัยจากการก่อการร้ายทั้งปวงของ S.H.O.C.K.E.R. ซึ่งนี่คือการที่เรื่องราวชี้ให้เห็นถึงปมอันยุ่งเหยิงของสังคมมนุษย์ในความหมายพื้นฐานที่หมายถึงการรวมกลุ่มของมนุษย์ อันนำมาซึ่งความเป็นการเมืองของความสัมพันธ์ที่กระทบกันไปมา ส่งผลถึงกันและกัน ตัวตนของมนุษย์ในสังคมจึงแยกไม่ออกจากความเป็นหมู่คณะที่กว้างขวางกว่าความเป็นปัจเจกเสมอ เช่นเดียวกับการมองโลกาวินาศในฐานะภัยแห่งมวลมนุษย์ เพราะหากสังคมสะเทือนอย่างยิ่งใหญ่เมื่อใด ความเป็นปัจเจกในฐานะผู้รับผลกระทบจะแทบไม่มีความหมายเลยเมื่อผลกระทบนั้นสะเทือนไปถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความเชื่อมโยงทางสังคมนี้จึงทำให้เห็นเครือข่ายของความรับผิดชอบส่วนตนกับสังคมส่วนรวมในพื้นที่บางประการอันซับซ้อนและซ้อนทับกันอยู่

ในท้ายที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมาพร้อมคำถามของการมีความสุขในฐานะสัตว์ร่วมโลกกับสรรพสิ่งอีกมาก การทบทวนผลกระทบบนโลกที่ทุกอย่างเชื่อมกัน และคำตอบนั้นอาจกว้างขวางมากมายจนต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อจะเข้าใจก็ตาม แต่การตระหนักไว้ก็มีส่วนหนึ่งที่จะทำให้คำถามดังกล่าวค่อยๆ กระจ่างทีละนิดมากขึ้น อีกทั้งการเอื้อเฟื้อกันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์มีได้เสมอโดยไม่ต้องดัดแปลงสู่อ็อกอะไร ดังช่วงหนึ่งในบท “1 ยอห์น 4 : 7-21”จากพระคัมภีร์ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า

“ท่านที่รักทั้งหลาย ขอให้เรารักซึ่งกันและกัน เพราะว่าความรักมาจากพระเจ้า และทุกคนที่รักก็บังเกิดจากพระเจ้า และรู้จักพระเจ้า ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก…”

นี่จึงเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องของอันโนะที่ผสานความคิด ความเชื่อ รสนิยมอันเฉพาะและเป็นส่วนตัวของเขาเข้าไปอย่างเต็มขั้น และแสดงให้เห็นถึงศิลปะภาพยนตร์ที่มีบันทึกเรื่องส่วนตัวและสร้างจุดร่วมไปพร้อมกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทั้งชวนขบคิดมากมายและบันเทิงเริงใจกับเทคนิคภาพยนตร์อันสนุกสนานไปได้พร้อมกันทั้งครอบครัว อีกทั้งยังได้ครุ่นคิดกับคำถามใหญ่ว่า อะไรคือความสุข? และมีความสุข “ส่วนตน” อยู่จริงไหมในโลกที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกันหมดราวกับสมองของ I ปัญญาประดิษฐ์ผู้ไร้กายในฐานะหัวหน้าองค์กร S.H.O.C.K.E.R. ที่พยายามเข้าใจเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

อ้างอิง

www.bible.com/th/bible/174/1JN.2.2.THSV11
www.bible.com/th/bible/174/ISA.52.14.THSV11
www.bible.com/th/bible/175/1JN.4.7-21.KJV


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน