แผงขายหนังสือเก่าริมแม่น้ำแซน มรดกทางวัฒนธรรมปารีส ที่อาจโดนรื้อถอนชั่วคราวใน ปารีส โอลิมปิก 2024
- คนขายหนังสือแห่งปารีส (Les bouquinistes de Paris) เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ค้าขายหนังสือมือสองบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแซนของกรุงปารีสเท่านั้นซึ่งเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของฝรั่งเศส
- บริเวณฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำแซนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโกใน ค.ศ. 1991 ซึ่งผนวกสถานที่สำคัญๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และ มหาวิหารนอเทรอดาม รวมถึงคนขายหนังสือแห่งปารีสด้วย
- ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ทางเทศบาลกรุงปารีสมีแผนจะรื้อถอนแผงขายหนังสือบริเวณนี้ออกไปชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยจากการก่อการร้าย
นอกเหนือจากหอไอเฟลแล้ว แลนด์มาร์กอีกอย่างหนึ่งของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คือ แผงขายหนังสือเก่าริมแม่น้ำแซน ที่ตั้งเรียงรายริมสองฝั่งของแม่น้ำแซนใกล้กับสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) และมหาวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame) ซึ่งถือได้ว่าเป็น ร้านหนังสือกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในปารีส โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 กิโลเมตรตั้งแต่สะพานซุยลี่ (Pont Sully) บริเวณ เก้ย์ เดอ ลาตูแครล (Quai de la Tourelle) ไปจนถึงสะพานครัวยาล (Pont Royal) บริเวณ เก้ย์ เดอ โวลแตร์ (Quai Voltaire) ที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ส่วนฝั่งขวานั้นเริ่มตั้งแต่สะพานมาครี (Pont Marie) บริเวณ เก้ย์ เดอ โลแตล เดอ วิลล์ (Quai de l’Hôtel de Ville) เรื่อยมาจนถึงสะพานเดส์ซาส์ (Pont des Arts) บริเวณ เก้ย์ ดูว์ ลูฟวร์ (Quai du Louvre)
คนขายหนังสือแห่งปารีส (Les bouquinistes de Paris) เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ค้าขายหนังสือมือสองบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแซนของกรุงปารีสเท่านั้น โดยไม่หมายรวมถึงผู้ที่มีแผงค้าขายบริเวณอื่น สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนขายหนังสือแห่งปารีส คือ แผงหนังสือที่ออกแบบในลักษณะเหมือนกล่องหรือหีบเหล็กสีเขียวเข้มที่เรียกกันว่า สีแวต์ วากง (Vert wagon) ซึ่งเป็นเฉดสีเดียวกับสีของเมโทร (Métro) หรือรถไฟใต้ดิน และสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น น้ำพุวาลาซ (Fontaine Wallace) และเสามอร์คริส (Colonne Morris) ซึ่งเป็นเสาทรงกลมที่ใช้ติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์และประกาศต่างๆ ที่พบเห็นในทุกมุมถนนของปารีส
จากหาบเร่แผงลอยในอดีตสู่ยุคของหีบเหล็กสีเขียว
ก่อนจะมีการจัดทำแผงหนังสือในรูปแบบหีบเหล็กสีเขียวริมแม่น้ำแซนอย่างเป็นระเบียบนั้น ในอดีตบริเวณนี้เป็นการค้าขายหนังสือ วารสาร แผ่นพับ ใบปลิวข่าวสารต่างๆ ในรูปแบบหาบเร่แผงลอยโดยพ่อค้าแม่ค้าที่เรียกกันว่า กอล ป็อกเตอร์ (Colporteur) โดยพวกเขาจะนำสินค้าใส่ตะกร้าแบบมีสายคล้องคอหรือสะพายขึ้นหัวไหล่แล้วเดินเร่ขายไปมา และอีกประเภทเรียกว่า เอสตาเลอร์ (Estaleur) ซึ่งจะวางของขายบนพื้นทางเดินหรือใช้โต๊ะที่มีขาหยั่งเป็นที่ตั้งวางสินค้า
ต่อมาราว ค.ศ. 1859 เทศบาลกรุงปารีสได้ยอมรับการค้าขายหนังสือของกลุ่มหาบเร่แผงลอยนี้เป็นวิชาชีพและให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของทางการท้องถิ่น แต่มีข้อห้ามคือห้ามเก็บสินค้าไว้ที่แผงขายในเวลากลางคืน ดังนั้นทุกๆ เย็นพวกเขาจะต้องขนสินค้าที่นำมาขายกลับไปที่พักด้วยทุกครั้ง จนกระทั่งใน ค.ศ. 1891 ทางเทศบาลกรุงปารีสได้ออกพระราชกฤษฎีกาเทศบาลที่อนุญาตให้ผู้ค้าเหล่านี้เก็บสินค้าของตนเองไว้ที่แผงหนังสือริมฝั่งแม่น้ำได้โดยไม่ต้องขนกลับบ้านอีกต่อไป ช่วงแรกๆ พวกเขาจะเก็บหนังสือไว้ในลังไม้ที่สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บสินค้าและปิดได้อย่างมิดชิดแน่นหนา
ต่อมาช่วง ค.ศ. 1900 เพื่อความเป็นระเบียบและเป็นอัตลักษณ์จึงได้มีการออกแบบแผงหนังสือและบังคับให้มีลักษณะเดียวเหมือนกันหมด คือเป็นรูปทรงหีบเหล็กสีเขียวซึ่งมีความยาว 2 เมตร แต่ละแผงจะประกอบด้วยหีบเหล็กจำนวน 4 หีบและแต่ละหีบติดตั้งให้มีระยะห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร แผงหนังสือหนึ่งแผงจึงมีความยาว 8.60 เมตร ส่วนความสูงของหีบเหล็กรวมทั้งฝาเมื่อถูกเปิดออกมาแล้วมีความสูงจากพื้นไม่เกิน 2.10 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของแม่น้ำแซนและสถาปัตยกรรมด้านหลัง
รื้อถอนแผงหนังสือชั่วคราวในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024
แผงหนังสือริมแม่น้ำแซน เป็นจุดเช็กอินยอดนิยมแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยว แต่สำหรับผู้ที่วางแผนจะมาเยือนกรุงปารีสในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน หรือ ปารีส โอลิมปิก 2024 ที่จะจัดระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024 อาจจะต้องผิดหวัง เพราะทางเทศบาลกรุงปารีสมีแผนจะรื้อถอนแผงขายหนังสือบริเวณนี้ออกไปชั่วคราวโดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัยและเป็นการป้องกันเหตุการณ์ก่อการร้าย
สมาคมวัฒนธรรมของผู้ขายหนังสือแห่งกรุงปารีส (Association culturelle des bouquinistes de Paris) ได้รับจดหมายจากเทศบาลกรุงปารีสลงวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 เรื่องการรื้อถอนหีบเหล็กสีเขียวเป็นการชั่วคราว โดยทางเทศบาลฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนแผงค้าไปจนถึงการจัดเก็บและนำกลับมาติดตั้งที่เดิมเมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิดการแข่งขัน รวมถึงจะพยายามรื้อถอนในจำนวนที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และเสนอให้แผงหนังสือเหล่านี้ย้ายไปอยู่ในโซนที่เรียกว่า หมู่บ้านคนขายหนังสือ (Village des bouquinistes) ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อแสดงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปหลายครั้ง แต่ทว่ายังไม่มีแผนงานหรือมาตรการใดๆ ที่ชัดเจน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ทางเทศบาลฯ ได้มีการซ้อมการรื้อถอนหีบเหล็กออกเพื่อประเมินแนวทางและวิธีที่จะใช้ รวมถึงคำนวณระยะเวลาในการรื้อถอนและประเมินปริมาณของหีบเหล็กที่จะต้องนำออกไปว่าจะมีจำนวนเท่าไร ทางเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ได้กล่าวกับผู้ที่เข้าร่วมในการทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่น ผู้สื่อข่าว ประชาชนทั่วไป และสมาคมคนขายหนังสือแห่งปารีส ว่าการรื้อถอนหีบเหล็กนั้นสามารถทำได้ในสถานการณ์จริงและมั่นใจว่าการดำเนินงานนั้นจะอยู่ในแผนงานและแนวทางที่เหมาะสมและจะพยายามให้มีการรื้อถอนน้อยที่สุด
ในส่วนของผู้ประกอบการยังมีความสับสนในมาตรการของเทศบาลฯ ทั้งในเรื่องระยะเวลาการรื้อถอน และแผงทั้งหมดริมแม่น้ำต้องหยุดการค้าขายหรือไม่ ส่วนสถานที่ของการจัดตั้งหมู่บ้านคนขายหนังสือยังไม่มีความชัดเจนเช่นกันและพวกเขาไม่ต้องการย้ายไปค้าขายที่อื่น
ลุโดวิค โกลูนิเย่ร์ (Ludovic Collunier) เจ้าของแผงหนังสือบริเวณ Quai de Conti กล่าวว่า “จนถึงวันนี้พวกเราก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องหยุดขายเมื่อใด หยุดแค่ช่วงจัดพิธีเปิดหรือตลอดระยะเวลาการจัด ปารีส โอลิมปิก 2024 ทุกอย่างยังคงเป็นแค่แผนงาน ยังไม่มีมาตรการอะไรที่คืบหน้าและเป็นรูปเป็นร่างจากทางเทศบาลกรุงปารีสเลย”
วิชาชีพคนขายหนังสือกับการตั้งเป้าสู่มรดกวัฒนธรรมของโลก
ผู้ค้าหนังสือแห่งกรุงปารีสที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางเทศบาลกรุงปารีสมีจำนวนทั้งสิ้น 240 ราย และใบอนุญาตประกอบการจะมีการต่ออายุทุกๆ 5 ปี และมีหีบเหล็กแผงหนังสือประมาณ 900 หีบบริเวณริมแม่น้ำแซนให้ค้าขายได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
พื้นที่บริเวณฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำแซน (Les Rives de Seine) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1991 โดยการขึ้นทะเบียนในครั้งนั้นได้ผนวกเอาสิ่งก่อสร้างและสถานที่สำคัญๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ดอร์กเซย์ ศาลาว่าการกรุงปารีส รวมถึงคนขายหนังสือแห่งปารีสรวมเข้าไปด้วย
กลุ่มคนขายหนังสือแห่งปารีสได้มีการผลักดันให้วิชาชีพของพวกเขาได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐและสังคมเพื่อความมั่นคงในระยะยาว และในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2010 ได้มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับเทศบาลกรุงปารีสในนาม สมาคมวัฒนธรรมของผู้ขายหนังสือแห่งกรุงปารีส วัตถุประสงค์ของสมาคมคือการสนับสนุน ส่งเสริม และดำเนินมาตรการต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นแกนหลักในการนำเสนอหรือจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวิถีของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มความสำคัญและคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมของวิชาชีพนี้
ใน ค.ศ. 2019 สมาคมประสบผลสำเร็จในการขอขึ้นทะเบียนวิชาชีพของคนขายหนังสือแห่งปารีสเป็น มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติที่จับต้องไม่ได้ของประเทศฝรั่งเศส และเป้าหมายที่สำคัญต่อไปคือการผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติตามหลังรุ่นพี่อย่างขนมปังบาแก็ตฝรั่งเศส (La baquette de pain française) ที่ได้จดทะเบียนมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในสาขานี้เมื่อ ค.ศ. 2022
ความสุขของอาชีพคือเสรีภาพในการทำงาน
แม้ว่ารายได้ของคนขายหนังสือแห่งปารีสจะไม่แน่นอนในทุกๆ เดือน แต่ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นโอกาสทองของพวกเขาจะอยู่ประมาณเดือนเมษายนถึงกันยายนของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศดี ส่วนช่วงเวลาที่เหลือก็จะมีผู้ซื้อน้อยลงตามสภาพอากาศที่เริ่มหนาวเย็นและฝนฟ้าไม่เป็นใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้พวกเขายังคงประกอบอาชีพของตนเองอย่างมีความสุขคืออิสระในการทำงานรวมถึงความรักความหลงใหลในสิ่งพิมพ์
พวกเขาสามารถเลือกวันและระยะเวลาในการทำงานได้ และไม่มีกำหนดเวลาเปิดหรือเวลาปิดเหมือนอาชีพอื่นๆ เพียงแต่ต้องให้เป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานท้องถิ่น คือ ต้องเปิดขายอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 วันต่อสัปดาห์
ฐานิตา โวลล์ คนไทยหนึ่งเดียวที่เป็นคนขายหนังสือแห่งปารีสกล่าวว่า “อาชีพนี้เราเป็นเจ้านายของตัวเอง มีอิสระในการเลือกวันและเวลาทำงานของเราได้เอง จะเปิดหรือไม่เปิดก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความต้องการของตัวเองเป็นหลัก”
สินค้าที่พวกเขานำมาขายอาจมีโปสต์การ์ดและโปสเตอร์งานศิลปะและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในฝรั่งเศส เหรียญตรา แสตมป์ และของที่ระลึกจากปารีส แต่ทั้งนี้ต้องทำตามข้อบังคับของเทศบาลกรุงปารีส คือ ทุกร้านต้องมีหนังสือเก่าหรือหนังสือมือสองมาวางขายด้วยเพื่อให้เป็นไปตามคอนเซปต์ของคำว่า bouquiniste (บูกินิสต์) ที่มีรากคำศัพท์มาจากคำว่า bouquin (บูแก็ง) ซึ่งหมายถึง หนังสือ ในภาษาฝรั่งเศส
แหล่งที่มาของสินค้าที่นำมาวางขายโดยเฉพาะพวกหนังสือมือสอง ผู้ค้าจะไปหาตามตลาดนัดมือสองหรือร้านขายของเก่า รวมถึงมีคนนำมาเสนอขายที่แผงเลยก็มี ส่วนพวกโปสเตอร์และโปสต์การ์ด บางแผงออกแบบและพิมพ์จำหน่ายเองหรือรับมาจากร้านค้าอื่นก็มี อย่างเช่นในกรณีของฐานิตา สามีของเธอเป็นผู้ออกแบบเและพิมพ์เองและยังขายส่งให้กับเพื่อนร่วมอาชีพบางแผงด้วยเช่นกัน
Fact File
- กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน หรือ ปารีส โอลิมปิก 2024 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024
- พิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 บริเวณแม่น้ำแซน ใจกลางกรุงปารีส
- ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารของสมาคมวัฒนธรรมของผู้ขายหนังสือแห่งกรุงปารีส ได้ที่ https://www.facebook.com/bouquinistesdeparis/?locale=fr_FR
อ้างอิง
- https://www.paris.fr/pages/les-bouquinistes-et-paris-histoire-d-amour-en-majuscules-7886#unesco
- https://www.paris.fr/pages/ventes-sur-l-espace-public-3513/#demande-d-emplacement-de-bouquiniste
- https://www.liberation.fr/societe/ville/jo-2024-la-mairie-de-paris-a-teste-le-demontage-de-boites-de-bouquinistes-20231118_DK3HMHOTENACRNXHPUZT3LULOY/